TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเก่งสร้างได้ เพราะ I AM ABLE สไตล์ “แอม” ชญาน์นัทช์ ไชยวัฒนพงศ์ มนุษย์เป็ดยุคดิจิทัล

เก่งสร้างได้ เพราะ I AM ABLE สไตล์ “แอม” ชญาน์นัทช์ ไชยวัฒนพงศ์ มนุษย์เป็ดยุคดิจิทัล

การได้รู้จัก แอม ชญาน์นัทช์ ไชยวัฒนพงศ์ ผู้บริหารและโค้ชด้านการพัฒนาคนและสร้างแรงจูงใจเพื่อปั้นคนเก่งให้กับองค์กรและสังคม จากบริษัท ไอแอมเอเบิล (I AM ABLE) หรือที่คนรู้จักในนาม AMABLE ทำให้ทึ่งกับคน ๆ หนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงองค์ความรู้ และประสบการณ์จุดต่อจุด จากทุกช่วงชีวิตที่แตกต่างให้กลายเป็นทั้งจุดแข็งและโอกาสในการสร้างตัวให้เก่งเรื่องงานและสร้างงานที่เก่งเรื่องคนได้อย่างลงตัว

แอม-บิเวิร์ตสร้างเรื่อง

แอมเล่าว่า ตัวเองเป็นคนชอบอะไรที่สนุก ตื่นเต้น ไม่กลัวการพบปะผู้คน ซึ่งเข้าข่ายบุคลิกแบบเอ็กช์โทรเวิร์ต (Extrovert) แต่พอต้องออกงานจริงจะรู้สึกว่าใช้พลังงานเยอะ อยากกลับบ้านมาพักและอยู่เงียบ ๆ หนึ่งวันทันทีโดยไม่ยุ่งกับใคร เหมือนสลับขั้วกลายเป็นอินโทรเวิร์ต (Introvert) ทำให้บุคลิกภาพที่แท้จริงไปตกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แอมบิเวิร์ต (Ambivert) ในแบบ Extrovert By Design คือ พอใจกับการอยู่คนเดียวแต่ก็สามารถออกแบบตัวเองให้อยู่ท่ามกลางสังคมและคนทั่วไปได้เมื่อมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งกลายเป็นข้อดีที่ทำให้เป็นคนที่มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวเก่งในการทำงานหรือรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี

“ถ้ามองจากบุคลิกภาพและอาชีพการงานที่ทำในปัจจุบัน คนมักเดาไม่ค่อยออกว่าแอมจบอะไรมา เพราะแอมจะพูดเสมอว่า ไม่ชอบการนั่งติดโต๊ะ ทำงานซ้ำ ๆ วน ๆ อยู่เหมือนเดิม แต่รู้ไม๊ว่างานแรกในชีวิตของแอม คือ เป็นนักบัญชี”

จากคนบัญชีสู่นักขาย

ใจลึก ๆ ที่อยากเรียนนิเทศศาสตร์และชอบการแสดงออก แต่ยอมเรียนบัญชีตามที่แม่ขอเพราะแม่คิดว่าจบบัญชีมีงานทำแน่ พอจบปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้านบัญชีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพณิชยการพระนคร ก็มุ่งหน้าสู่งานสายการเงินที่บลจ.ทิสโก้ ทำหน้าที่ปิดงบการเงินให้กับกองทุนส่วนบุคคลอยู่ 2 ปีเศษ จึงเดินเข้าไปหาหัวหน้าเพื่อของานที่ท้าทายกว่าเดิม และถูกเปลี่ยนไปทำงานปิดงบการเงินให้กับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีกราว 2 ปี ก็เริ่มอิ่มตัวกับงานที่ทำวน ๆ ไปทุกวัน

“ใจเราเรียกร้องให้ไปทำงานด้านการขาย การตลาด แล้วยุคนั้นเป็นยุคหางานตามเว็บไซต์ ส่งประวัติสมัครงานผ่านอีเมล ก็ส่งเลย 30 ที่แต่ไม่ได้งานเลยสักที่ เอชอาร์บางที่ ๆ ยอมคุยด้วย เขาบอกว่า ประวัติของแอมตั้งแต่เรียนจนทำงานทั้งหมด 12 ปี มีแต่บัญชี ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับงานขายหรือการตลาดเลย”

การเติมคุณสมบัติให้เต็มชนิดเข้าตากรรมการ ทำให้แอมใช้เวลา 1 ปี ในการปรุงตัวเองให้เก่งขึ้นเรื่องภาษาอังกฤษ ขับรถให้เป็นแล้วกลับไปสู้ใหม่ด้วยเทคนิคการสมัครงานที่ไม่ใช่การขายตัวเองด้วยกระดาษแผ่นเดียว แต่ขุดทุกกิจกรรมที่เคยทำมาตั้งแต่การประกวดมิสเพียวฟู้ดส์ การเป็นท็อป 10 เพื่อเฟ้นหาสาว Fun Fearless Female ของนิตยสารคอสโมโพลิแทน  หรือแม้แต่การเป็นนักแสดงโฆษณา นำเสนอในรูปแบบพาวเวอร์พอยต์ เดินไปสมัครงานที่ “ร้อกเวิธ” (Rockworth) บริษัทออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ที่ติดท็อป 3 แล้วเปิดเกมการ ขายตัวเองก่อนจะถูกสัมภาษณ์จนบริษัท ซื้อ และได้งานที่ทำให้คนทำบัญชีซึ่งวัน ๆ นั่งนิ่งติดโต๊ะ จมอยู่กับกองเอกสารและตัวเลขมาเป็นสนุกแบบเปลี่ยนชีวิต 

Aniverse Metaverse จับมือ 17 มหาวิทยาลัยปักหมุดอาณาจักรเมตาเวิร์ส ด้านการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในไทย

หน้าที่ตอนนั้น คือ การดูแลลูกค้าหลักประกอบด้วยกลุ่มบริษัทรับออกแบบตกแต่งประมาณ 30 ราย องค์กรหน่วยงานราชการทั้งหมด รวมถึงนักออกแบบรายย่อยอีกเป็นร้อย ๆ ราย การปรับปรุงข้อมูลประวัติบริษัทพร้อมนำเสนอภาพลักษณ์องค์กรและสินค้าแบบจัดเต็มผ่านแคมเปญโรดโชว์ในธีมต่าง ๆ  เช่น ธีม “Rockworth Flight” ในชุดแอร์โฮสเตส ธีม “Tea Time” จิบชายามบ่ายกับแกสบี้ เป็นต้น ซึ่งประสบผลสำเร็จทั้งการเข้าไปวางสเปคสินค้าตั้งแต่ต้น การสร้างการจดจำและเพิ่มการปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ยังทำตัวเสมือนเพื่อนคู่คิดของนักออกแบบในการวางสเปคงาน ช่วยออกแบบการใช้พื้นที่ และบริหารงบประมาณ จนสุดท้ายได้กลายมาเป็นเพื่อนกันจริง ๆ

ลับคมสายงานพัฒนาธุรกิจ

งานพัฒนาธุรกิจ (Business Development) เป็นสิ่งที่แอมได้ยินตั้งแต่สมัยทำงานที่ร้อกเวิธ จึงติดต่อกลับไปหาเพื่อนเก่าซึ่งได้รับทั้งคำปรึกษาและการแนะนำให้ไปทำงานที่บริษัทก่อสร้างสัญชาติสิงคโปร์ “จิมแอนด์ฮอลส์ (Jim & Hall’s) สาขาประเทศไทย แอมเล่าว่า เป็นการทำงานกลับด้านจากขายเฟอร์นิเจอร์ให้กับผู้ออกแบบ  เปลี่ยนมาเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้างเสียเอง ดูแลตั้งแต่การหาโปรเจคใหม่ การจัดผังพื้นที่การทำงาน กำหนดงบค่าใช้จ่าย ทำให้มีโอกาสได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ด้านบัญชีพาตัวเองทะลุไปถึงงานจัดการโครงการ (Project Management หรือ PM) ทำอยู่ 2 ปีเศษจนในปี 2559 ก็เริ่มรับงานด้านที่ปรึกษาให้กับบริษัทเรียลเอสเตส เช่น โครงการนครเรสซิเดนช์ ที่นครศรีธรรมราช ชนิดรื้อทั้งระบบเพื่อแก้ปัญหาเงินรั่วไหลและงานที่ไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา  การรับงานที่ปรึกษาให้บริษัท สยามสตีลอินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อสร้างทีมดูแลลูกค้าหลักอย่างกลุ่มดีไซเนอร์ ด้วยการโค้ชให้น้อง ๆ มีทักษะการนำเสนองานลูกค้า

หลังจากนั้นไม่นานก็ลาออกจากงานประจำที่จิมแอนด์ฮอลส์มารับงานโปรเจกต์อย่างเดียว เป็นจังหวะที่พี่สมบัติ งานเฉลิมศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง “เปเปอร์สเปซ” (Paperspace) พื้นที่ทำงานแบบโคเวิร์กกิ้งสเปซซึ่งรวบรวมนักออกแบบตกแต่งและช่างฝีมือเจ๋ง ๆ ในแต่ละด้าน ชักชวนมาเป็นพาร์ทเนอร์ในการมาทำงานโปรเจกต์ร่วมงานกัน แถมให้ออฟฟิศใช้ฟรี รวมถึงให้คำแนะนำ ณ วันที่แอมเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจ จึงไปปักหลักทำงานอยู่ที่นั่นจนได้รู้จักกับ “ฮับบา” (HUBBA) ผู้บุกเบิกโคเวิร์กกิ้งสเปซ และเป็นผู้รวบรวมสตาร์ทอัพรายแรกๆ ของประเทศไทย 

เราคุยกันว่า ทีมเขาอยากโต อยากไปต่อ และแอมทำอะไรให้เขาได้บ้าง จนตกลงร่วมงานกันในตำแหน่งที่ปรึกษาช่วงเดือนตุลาคม 2559 ตอนนั้นฮับบามี 3 สาขา คือที่เอกมัย อ่อนนุข สยามดิสคัฟเวอรี่ และมีแผนขยายสาขาเพื่อรับตลาดแฮกกาธอนกับโคเวิร์กกิ้งสเปซที่บูมขึ้นมากๆ และเริ่มมีนักลงทุนเข้ามาเยอะในช่วงปี 2560-2561 จึงตัดสินใจเข้าไปทำงานแบบเต็มตัว 

แอมเริ่มจากการรื้อระบบหลังบ้านเช่น เอชอาร์ จัดซื้อ และงานบัญชีทั้งการทำบัญชีงบประมาณ งบการเงิน การดูแลบัญชีการเบิกจ่ายเงิน จนเมื่อระบบหลังบ้านเริ่มนิ่งในปี 2560 ก็โดดมาทำงานหน้าบ้านในการช่วยเฟ้นหาทำเลที่ตั้งดี ๆ ควบคู่ไปกับการทำงานออกแบบและรับเหมาก่อสร้าง วางแบบการจัดพื้นที่ทำงาน ตลอดจนศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบของรายได้ที่เข้ามา เช่น ถ้ามีพื้นที่เท่านี้ จะใส่ที่นั่งลงไปเท่าไหร่ ต้องมีห้องทำงานส่วนตัวกี่ห้อง ห้องประชุมกี่ห้อง คิดเป็นรายได้ที่กลับเข้ามาเท่าไหร่ คุ้มทุนหรือไม่และจะคุ้มทุนในกี่ปี รวมถึงต่อสายสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ ในกลุ่มนักออกแบบตกแต่งภายในให้นำเฟอร์นิเจอร์ หรือชิ้นงานออกแบบต่าง ๆ มาจัดแสดง

“การรับฟังสรุปแนวคิดที่ลูกค้าต้องการเพื่อนำกลับมาคุยกับทีมเป็นสิ่งที่แอมถนัด แต่วิชาบัญชีที่แอมไม่เคยชอบเรียนเลยกลับกลายเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการทำงานในสายบีดีหรือพีเอ็มแทบทุกเรื่อง แอมอ่านงบการเงินเป็น มองการลงทุนอย่างไรให้คุ้มค่าใช้จ่าย จัดทำงบบัญชีการเงินแบบสวย ๆ ไว้เสนอนักลงทุนเวลาที่บริษัทต้องการระดมทุน ทุกอย่างเกิดขึ้นและจบได้อย่างสวยงามลงตัวเพราะแอมใช้หลักทางบัญชี ซึ่งเป็นจุดแข็งของแอมจริง ๆ”

สู่เส้นทาง Coaching

แอมเล่าต่อว่า ตอนเป็นที่ปรึกษาที่นครเรสซิเดนช์ซึ่งต้องบินไปทำงานวันจันทร์กลับวันพุธทุกอาทิตย์เพื่อคุยกับทุกทีม ซึ่งหลายครั้ง พบว่าเมื่อบินกลับไปในอาทิตย์ถัดไปแล้วลูกค้ายังรอทำงานพร้อมแอม ซึ่งอาจทำให้งานล่าช้ากว่าเป้าที่แอมกำหนดไว้เอง หรือแม้กระทั่งตอนมาทำให้ฮับบาก็ยังเจอปัญหางานที่คืบหน้าไม่เท่าที่วางแผนกัน จนเกิดความ “เอ๊ะ” ว่า หรือเป็นเพราะตัวเราเองที่สื่อสารได้ไม่ดีจนเขาไม่สามารถทำต่อได้ หรือพูดไม่เคลียร์ว่าที่ทำแบบนี้มาจากหลักคิดแบบไหนจนเขาเอาไปต่อยอดไม่ได้ ก็เริ่มมองหาว่า มีศาสตร์อะไรบางที่ทำให้ผู้ถูกสอน “คิดเก่งทำเป็น” โดยไม่ต้องผูกติดอยู่กับผู้สอนงานหรือที่ปรึกษาตลอดเวลา จนมาเจอสายของการโค้ชคน (Coaching)

แอมเริ่มต้นเรียนศาสตร์เรื่องการโค้ชไปทีละตัว สะสมชั่วโมงบินการฝึกสอนมาตลอดตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่เพราะโปรเจกต์ที่ฮับบาร้อนแรงมากจนแทบไม่มีเวลา ประกอบกับ BD (Business Development) ที่สามารถคุยกับลูกค้าแล้วจุดประกายได้ทั้งโอกาสทางธุรกิจไปจนจบกระบวนการก่อสร้างและการจัดการงบประมาณยังมีอยู่น้อยคน ซึ่งชาล เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง และผู้บริหารฮับบารู้ดีว่า แอมอยากมุ่งไปสายการพัฒนาคนแต่ขอให้อยู่ช่วยกันไปอีก 2 ปี พอเข้าปี 2562 ครบตามเวลาที่ตกลง ฮับบามีผู้บริหารใหม่เข้ามาและทุกอย่างเข้าที่ จึงตัดสินใจถอยตัวเองออกมาเป็นแค่พาร์ทเนอร์ และเอาเวลามาจัดการงานบริษัทตัวเอง “ไอแอมเอเบิล” ซึ่งเปิดไว้นานแล้วตั้งแต่ปี 2559 เพื่อให้บริการการจัดการธุรกิจ และการพัฒนาคนแบบเต็มตัว ด้วยศาสตร์โค้ชชิ่งแบบ NLP (Neuro Linguistic Programming) และเครื่องมือที่เรียกว่า “Fingerprint for Success” (F4S)  ซึ่งในปัจจุบันแอมก็เป็นCertified NLP Master Practitioner, Mind Transformation PTE., Singapore และ Certified Life Coach, Approved By ICI, Germany โดยปัจจุบันมีเพียง 9 คนในประเทศไทย

“F4S จะช่วยเราในการวิเคราะห์ทัศนคติและแรงจูงใจ รวมถึงข้อดีข้อด้อยในตัวคนแต่ละคน เพื่อให้องค์กรวางคนได้ถูกที่ถูกตำแหน่ง หรือควรโค้ชอย่างไรให้คน ๆ นั้นเก่งขึ้นในแบบที่ต้องการ ธุรกิจนับว่าไปได้ดี มีคนมาจ้างให้ไปทำหน้าที่ฝึกสอนหรือเป็นพี่เลี้ยงอยู่เรื่อย ๆ เช่น การบ่มเพาะทักษะการนำเสนอและขายงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Pitching Mentor) จนสามารถออกแบบเป็นคลาสอบรมชื่อว่า “Pitching Tips”

5 สายอาชีพบล็อกเชน ที่ตลาดต้องการ

เปิดโลกบล็อกเชนการศึกษาไทย xCHAIN

ปี 2564 เป็นปีที่โลกของบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัลมาแรง ความอยากรู้อยากลองประกอบกับการฝึกอบรมขาออฟไลน์เริ่มซาเพราะโควิด ก็เลยโดดมาโลกบล็อกเชน จนสบโอกาสพูดคุยกับ ทาโร่ ธนวัฒน์ เลิศวัฒนรักษ์ ซีอีโอ บริษัท เจเวนเจอร์ส ผู้บุกเบิก JFIN และเพื่อนร่วมชั้นเรียนการโค้ชมาด้วยกันว่า มีอะไรน่าสนใจในโลกบล็อกเชนที่เราจะมาร่วมมือกันได้

“แอมเตรียมมาขอคำปรึกษา มาขายแผนเต็มที่ เพื่อวางต้นแบบธุรกิจชนิดเห็นเป็นรูปเป็นร่างใน 4 เดือน แต่เจอพี่ทาโร่สู้กลับด้วย 4 เสาหลักทางธุรกิจที่กำลังทำอยู่ และหนึ่งในนั้นเป็นสิ่งที่ต้องการคนมาขับเคลื่อน คือ พันธกิจด้านการพัฒนาภาคการศึกษาของประเทศไทยด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งตรงกับสิ่งที่แอมอยากทำอยู่แล้วเรื่องการพัฒนาคน จึงเป็นโปรเจกต์ที่กระตุ้นต่อมอยากเอาชนะของแอม มาด้วยโจทย์ทำยังไงให้เกิด ซึ่งน่าสนใจ ไหนเอามาดูสิ”

การสร้างระบบนิเวศบนแพลตฟอร์ม “เอ็กซ์เชน” (xCHAIN) เปรียบเสมือนถนนที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการพัฒนา dApps (Decentralized Applications-dApp) เพื่อให้มีแอปพลิเคชันขึ้นไปอยู่บนนั้นมาก ๆ เอ็กซ์เชนถึงจะเกิดได้จริง และสามารถสนับสนุนการจัดการระบบการศึกษาภายในให้ง่ายดายยิ่งขึ้น เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันการเช็กอินเช็กเอาต์นักศึกษา การเก็บหน่วยกิจเป็น NFT เป็นต้น รวมถึงการจัดกิจกรรมต่อเนื่องในหลายมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจข้อมูลพื้นฐานและประโยชน์ของบล็อกเชนอย่างถูกต้อง ทั้งยังสามารถพัฒนาอะไรก็ได้ภายใต้เทคโนโลยีที่เรามีกึ่ง ๆ เป็นมินิแฮกกาธอน โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญจากเจ เวนเจอร์ส หรือ ไอแอม คอนซัลติ้ง หรือ Aniverse เมตาเวิร์สสำหรับภาคการศึกษา คอยให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ อาทิ การให้องค์ความรู้ การเชื่อมต่อแอปพลิเคชัน หรือสร้างตลาดซื้อขายในรูปแบบ JNFT เป็นต้น ส่วนใครที่ทำอะไรเกี่ยวข้องกับการศึกษา ก็พร้อมเปิดรับจับมือเป็นพันธมิตรกัน

“บล็อกเชนในภาคมหาวิทยาลัยควรเกิดได้แล้วในปีนี้ เพราะเราเตรียมเทคโนโลยี อินฟราสตรัคเจอร์ ระบบลงทะเบียน เมตาเวิร์สต่าง ๆ ไว้ให้มหาวิทยาลัยมาใช้ได้อย่างเต็มที่ภายใต้รูปแบบองค์กรไม่แสวงหากำไร จะมีก็แค่ค่าธรรมเนียมการใช้ธุรกรรม (Gas Fee) ในอัตรา10-25 สตางค์ต่อ 1 ธุรกรรม ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของสัญญา (Smart Contact) แอมหวังให้ทุกมหาวิทยาลัยลองเปิดใจรับเทคโนโลยีบล็อกเชน และลองดูว่าสามารถทำประโยชน์อะไรได้บ้าง หากไม่เริ่มตอนนี้อาจช้าเกินไป”

เก็บทุกพันธกิจด้านการพัฒนาคน

ย้อนกลับมาที่ธุรกิจไอแอมเอเบิล แอมเล่าว่า จะเน้นเรื่องการโค้ช การฝีกอบรม การพัฒนาทักษะการสื่อสาร และเวิร์กช็อปมากขึ้น ส่วนงานพัฒนาธุรกิจหรือจัดการโครงการแล้วแต่การว่าจ้างเป็นโปรเจกต์ไป เพราะตั้งแต่ออกจากฮับบาก็ได้งานจากคนที่รู้ว่าเราทำอะไรได้บ้างมาจ้างไปเป็นที่ปรึกษาและฝึกสอนวิธีการนำเสนอและขายงานบ้าง ไปเป็นพี่เลี้ยงในการบ่มเพาะวิธีคิดและทักษะให้กับน้อง ๆ บ้าง  แต่ในปีนี้ถึงเวลาที่จะเดินออกไปเพื่อขายความเป็นไอแอมเอเบิลด้วยตัวเอง

“นอกจากทูลเรื่อง F4S ในการวิเคราะห์ทัศนคติและแรงจูงใจ และ NLP แล้ว ยังมีอีกศาสตร์ที่แอมได้เล่าเรียน คือ LAB Profile (Language And Behavior Profile) ในมุมของการพัฒนาทักษะการสื่อสาร ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจกลไกกระบวนการคิดในสมองและออกแบบการสื่อสารที่ให้ผลลัพธ์เป็นเลิศ ซึ่งได้ทดลองเอาไปใช้กับการทำงานในหลายองค์กรแล้วเวิร์ค ก็จะหยิบมาย่อยให้ง่ายขึ้นเพื่อเปิดเป็นคลาสฝึกอบรมเพื่อเจาะกลุ่มองค์กรเป็นหลัก และบุคคลทั่วไปบ้างเป็นบางโอกาส”

อีกทั้งมุมมองของการพัฒนาคนซึ่งตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) ทำให้แอมได้พบคนเก่งที่ไร้แสงแต่มีของอยู่เยอะ ยังนำไปสู่การเกิดชึ้นของ “เฟรชไฮร์” (Freshhire Talent Platform) แพลตฟอร์มกลางเพื่อพาคนเก่งมีฝีมือมาเจอกับองค์กรที่กำลังมองหาคนเจ๋ง ๆ ไปร่วมงาน ด้วยการเฟ้นหาทาเลนต์จากน้อง ๆ ที่กำลังเริ่มต้นหางานหรือที่ร่วมงานกันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้องค์กรได้คนที่ไม่ใช่แค่ทักษะดี แต่ต้องมีแรงจูงใจในการทำงานที่เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรได้ดีอีกด้วย ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงวางแผนและเตรียมความพร้อมเพื่อออกสู่ตลาด

“เราพยายามโค้ชน้อง ๆ ที่เข้ามาเพื่อให้เขาค้นพบตัวเองว่ามีจุดแข็งด้านไหน มีแรงจูงใจในชีวิตและการทำงานอย่างไร รวมถึงช่วยให้องค์กรแตะถึงทาเลนต์ที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว เช่น ถ้าองค์กรอยากได้พนักงานขายเก่ง ๆ เราก็จะไปช่วยกำหนดคุณสมบัติให้ว่า ต้องเก่งเรื่องใด มีแรงจูงใจในการทำงานแบบไหน พอมีคนมาสมัครงาน เราจะช่วยคัดกรองและจับคู่ให้ เป็นต้น”

ซึ่งที่ผ่านมา แอมร่วมทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับภาคมหาวิทยาลัย เช่น โครงการ U2T for BCG (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) จัดแฮกกาธอนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยร่วมกับเทคซอส มีเดีย เป็นต้น ส่วนในปีนี้ยังคงทำเอ็กช์เชนต่อเนื่อง โดยเกาะกลุ่มไปกับตลาดการศึกษาในกลุ่มเด็กมหาวิทยาลัยขยายผลสู่ภาคประชาสังคม ซึ่งก็มีกิจกรรมออกมาเรื่อย ๆ อาทิ การลงนาม MOU กว่า 20 มหาวิทยาลัย ในการขับเคลื่อน ซึ่งในปีนี้ก็จะมีกิจกรรมที่เชื่อมโยงนักศึกษา ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจต่อไป

ความสุขของเป็ด แบบฉันเป็นฉันเอง

คุณแอมเปรียบเทียบตัวเองเหมือนเป็ดที่ทำงานมาแล้วหลายอย่าง หากแต่ละอย่างก็ลงลึกในทุกเรื่องที่ทำ การปักหมุดความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมในทุกงานที่ผ่านมาเพื่อสื่อสารความเป็นไอแอมเอเบิลให้ชัดเจนว่า เรามีความสามารถรอบด้านพอในการทำสิ่งต่างๆให้เป็นจริงได้  

แม้แต่ชื่อบริษัทที่เคยปรับเปลี่ยนจากไอแอมเอเบิลเมื่อแรกก่อตั้งบริษัท ปี 2559 มาเป็น “ชญาน์นัทช์โค้ชชิ่งแอนด์คอมมิวนิเคชัน” ในปี 2562 ก็ถูกรีแบรนด์กลับมาเป็น “แอมเอเบิล (AMABLE)” อีกครั้งในปี 2566 เพื่อตอกย้ำจุดแข็งของแบรนด์ 

ส่วนจุดอ่อนที่เหลือ คือ การสื่อสารแบรนด์ตัวเองให้ชัดขึ้น ถึงขนาดลงทุนจ้างโค้ชด้าน การสร้างแบรนด์บุคคล (Personal Branding)” เพื่อลับคมตัวเองในฐานะทรัพยากรคนสำคัญขององค์กร และตัวแทนภาพลักษณ์ของแบรนด์เพื่อนำ “การพัฒนาคน” และ “ทักษะการสื่อสาร” ออกไปให้ตลาดรับรู้อย่างแจ่มแจ้ง

จากตัวตนในอดีตที่เคยเป็นคนอยากได้ อยากเอา มุ่งอยู่การอยากเอาชนะและทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ไม่ต่างจากพลุที่ทะยานตัวขึ้นสูงสุดแล้วก็ดับ แล้วก็ต้องวิ่งวนหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา จนเมื่อหันเข็มทิศสู่งานพัฒนาคน การรับบทโค้ชฝึกสอนและพี่เลี้ยงในการช่วยให้คน ๆ หนึ่งมีความมั่นใจและทำทุกอย่างสำเร็จตามเป้าหมายแล้วรู้สึกดีกับตัวเองเหมือนได้รับความสำเร็จไปด้วย รวมถึง “คำขอบคุณ” ที่ได้รับกลับมา คือ รางวัลแห่งความสุขใจในทุก ๆ วัน ซึ่งหากให้ชั่งน้ำหนักระหว่างการพัฒนาคนกับบล็อกเชนหรืองานที่เคยทำผ่านมา คุณแอมตอบได้ไม่ลังเลว่า อินกับงานพัฒนาคนมากที่สุด

“แอมอยากเป็น AMABLE ในเรื่องการสื่อสารและการสร้างคน เป็นแอมที่สามารถเชื่อมโยงทุกทักษะและประสบการณ์แบบเป็ดของเรา ให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างมีกลยุทธ์มากขึ้น เพื่อให้ใครก็แล้วแต่ที่เข้ามาหาเราได้รับโอกาสในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ใช่แค่พาตัวเองไหลไปตามโอกาสที่เข้ามา และปล่อยให้คนอื่นเข้าใจไปเองว่า เราเป็นแบบไหนและทำอะไรได้บ้าง แอมอยากสื่อสารความเป็นตัวเองออกไปในสิ่งที่ได้คิดและเลือกมาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าจะทำ เพื่อให้เราได้เป็นตัวของตัวเองในแบบที่ดีที่สุด”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

ดร.มหิศร ว่องผาติ สตาร์ตอัพ “ไฮฟ์กราวนด์” ปั้นหุ่นยนต์ไทยสู่ตลาดโลก

อเล็กซ์ ถัง ผู้บริหารคนใหม่ของ Xiaomi Thailand เปิดกลยุทธ์ครองตลาดสมาร์ทโฟน

YourNextU by SEAC สไตล์ “บุ๋ม” บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ … underdog ที่ไม่ขอเป็นรองใคร

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ