TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessYourNextU by SEAC สไตล์ "บุ๋ม" บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ... underdog ที่ไม่ขอเป็นรองใคร

YourNextU by SEAC สไตล์ “บุ๋ม” บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ … underdog ที่ไม่ขอเป็นรองใคร

เพราะชีวิตคือการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด และการพัฒนาตนเองให้เป็นนักเรียนรู้ตลอดเวลาจะทำให้มนุษย์มีศักยภาพในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และเติมเต็มพัฒนาการการทำงาน สังคม อารมณ์ ปัญญา สู่การเป็นทรัพยากรบุคคลที่องค์กรและสังคมโลกต้องการ แต่ขอบฟ้าของการเรียนรู้นั้นกว้างและยังมีวิชาชีวิตอีกมากที่ห้องเรียนไม่ได้สอน ซึ่งนั่นเองคือเป้าหมายของ “บุ๋ม” บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ในการปั้น YourNextU by SEAC (ยัวร์เน็กซ์ยู บาย ซีแอค) ให้เป็นดาวเหนือนำทางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของผู้คนที่มุ่งมั่นเปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนที่เก่งกว่าเดิมเพื่อเดินหน้าสู่ความสุขและความสำเร็จ ณ ปลายทาง

จากธุรกิจอาหารสู่ธุรกิจศึกษา

ชื่อของคุณบุ๋มในแวดวงธุรกิจอาหารต่างเป็นที่ทราบกันดีว่า เธอคือหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการทำตลาดเพื่อสร้างแบรนด์ “บาร์บีคิว พลาซ่า” และ “มังกรน้อย บาร์บีกอน” ผู้ส่งความสุขให้ทุกคนผ่านรสชาติอาหาร ซึ่งตลอดสิบปีของการทำงานที่นั่น บุ๋มได้รู้จักกับซีแอค บริษัทที่ได้รับการว่าจ้างให้มาจัดคลาสฝึกอบรมให้พนักงาน และนั่นมีส่วนสำคัญในการเพิ่มพูนทักษะความรู้ของเธอในหลายด้าน จนกระทั่งช่วงก่อนโควิดสักประมาณ 5-6 ปีที่แล้วได้ผุดไอเดียการทำโมเดลระบบสมาชิก (subscription) อย่าง “GONGANGFLIX” แพ็คเกจเหมากินรายเดือนเป็นเจ้าแรกในธุรกิจอาหาร ก็ได้ซีแอคมาติวเข้มเรื่อง 9 องค์ประกอบสำคัญทางธุรกิจ การคิดเชิงออกแบบในการพัฒนานวัตกรรม จนกระทั่งมาจับเรื่องกลยุทธ์ Licensing Partnerships โดยพาพี่กอนไปทำกิจกรรมกับพันธมิตรข้ามสายธุรกิจเพื่อสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์ ก็เป็นจังหวะที่ “ขวัญ” อริญญา เถลิงศรี ผู้ก่อตั้งซีแอค ซึ่งเริ่มทำยัวร์เน็กซ์ยูมาสักพักติดต่อให้มาช่วยเรื่องทำคลาสเรียนและรีแบรนด์โปรดักส์ให้

ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงใกล้ลาออกจากงานเดิม เพราะมีเป้าหมายใหม่ที่อยากทำ อยากเขียนหนังสือ อยากมีเวลาให้ตัวเองมากขึ้น ไม่อยากมีใครเป็นเจ้านายแล้ว แต่เอาเข้าจริงก็มีบริษัทหลายแห่งติดต่อให้ไปทำงานด้วย “พอพี่ขวัญชวนจริงจังให้มาปั้นแบรนด์นี้ด้วยกัน ก็ใช้เวลาตัดสินใจไม่น่าเกินสองอาทิตย์เพื่อมายืนในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการร่วมเพราะรักที่นี่”

“บุ๋มทำงานที่บาร์บีคิวพลาซ่ามาสิบปี รู้จักซีแอคมาก็ร่วมแปดปี หลายอย่างที่เรียนรู้จากซีแอคแล้วเอาไปปล่อยของที่บาร์บีคิวก็เยอะ แต่พอตกปากรับคำมาทำจริงจัง มันไม่ใช่แค่ยัวร์เน็กซ์ยูล่ะ มันแฉลบไปทางซีแอคด้วย ทั้งการทำแผนพัฒนาบุคลากร แผนการตลาดองค์กร จัดโครงสร้างและทิศทางธุรกิจ งานด้านเอชอาร์ ประชาสัมพันธ์ เพราะเราอยากให้ภาพธุรกิจการศึกษาดูสนุกและเซ็กซี่มากขึ้น”

ยัวร์เน็กซ์ยู โรงเรียนวิชาชีวิต

ทุกคนบนโลกนี้ไม่ได้เกิดมาแล้วเป็นคนเก่งเสมอไป ต้นทุนชีวิตแต่ละคนก็ไม่ได้เท่าเทียมกัน และคนเหล่านี้มีอยู่มากมายในสังคม การศึกษานั้นสร้างโอกาสแต่การสร้างโอกาสให้ชีวิตผ่านวิธีเดิม ๆ ด้วย “การเรียนให้จงหนักในรั้วโรงเรียน” เพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ เพราะท้ายที่สุดทุกคนต้องเดินออกจากห้องเรียนไปสู่สภาพแวดล้อม การทำงาน สังคม และผู้คนที่ต้องมีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ในทุกย่างก้าวเสมอ

“บุ๋มชอบเรียนรู้แต่ไม่ใช่คนเรียนเก่ง ตอนเอนซ์ไม่ติดก็งง ๆ กับชีวิต พอเรียนจบทำงานก็มีหลายอย่างที่ตำราไม่ได้เขียนโรงเรียนไม่ได้สอน เช่นถ้าเจอเจ้านายที่ไม่ปลื้ม เพื่อนร่วมงานที่ชอบขโมยซีน การประเมินผลงานแบบไม่เข้าท่า งานน่าเบื่อแต่เงินดี เซ็งเหลือเกินกับการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปมา เราจะรับมือยังไงให้งานยังมีคุณภาพ เข้ากับคนอื่นได้ และยังคงมีความสุขกับสิ่งที่ทำ”

เพราะเหตุนี้ เป้าหมายของเธอจึงต้องการยกระดับ “ยัวร์เน็กซ์ยู บาย ซีแอค” ให้เป็น ศูนย์รวมวิชาชีวิต (School of life) ที่เข้าถึงคนทุกระดับชั้น ทุกสาขาอาชีพ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นมนุษย์ออฟฟิศหรือปัญญาชน เพื่อพัฒนา “คุณให้เป็นคนใหม่” ที่เฉียบคมกว่าเดิมทั้งทักษะในการประกอบวิชาชีพ (Hard Skills) และทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้คนในสังคม (Soft Skills) รวมถึงผลักดันการเรียนรู้ให้เป็นปัจจัยที่ห้าในการดำรงชีวิตให้ได้

“ขนาดบุ๋มชอบความสำเร็จ ชอบการเรียนรู้ วันนั้นยังไม่ยอมจ่ายเงินเรียนเองเลย ต้องขอให้บริษัทจ่ายให้ ก็เลยเป็นความท้าทายที่ทำอย่างไรจะสร้างโมเดลธุรกิจที่ทำให้ทุกคนพร้อมยอมจ่ายเงินเพื่อพัฒนาตัวเอง ซึ่งก็ต้องนำธุรกิจไปในท่วงท่าใหม่ แล้วซีแอคช่วงที่เปิดเซ็นเตอร์หลังจากจับมือกับบริษัท เอพี ไทยแลนด์ แล้ว คือ หลักสูตรดี สถานที่เจ๋ง ผู้ฝึกสอนเก่ง เราจึงอยากส่งต่อสิ่งนี้ออกไปยังผู้คน อีกอย่างมันเป็นแพสชั่นส่วนตัวของบุ๋มที่จะรู้สึกฟินมากเวลาที่เห็นคนเก่งขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น”

สันทนาการเพื่อการเรียนรู้

“สนุก ไม่น่าเบื่อ ใช้ได้ในชีวิตจริง” คือ คอนเซ็ปต์การเรียนที่ยัวร์เน็กซ์ยู

บุ๋มเล่าว่า ก่อนมาทำงานที่นี่ ได้เคยเดินสำรวจการจัดงานการศึกษาในที่ต่าง ๆ แล้วพบว่าอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ทุกที่เป็นการสื่อสารทางเดียวโดยผู้สอน แต่ไม่มีงานใดที่ทำให้ผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์จริง ได้ไปชิม ไปเวิร์กช็อป ดังนั้น ถ้าอยากโตต่อก็ต้องหาจุดต่าง

การจัดกิจกรรมบู๊ทแคมป์เรื่องซอฟต์สกิล ซึ่งผู้ที่ซื้อบัตรเข้างานจะมีการประเมินสุขภาพความรู้ล่วงหน้าก่อนวันงาน เมื่อถึงวันงานจะได้รับสมุดพกแจ้งจุดอ่อนจุดแข็ง และสามารถเลือกเข้าคลาสอภิปรายและทำเวิร์กช็อปเป็นการเรียกน้ำย่อยเพื่อให้มั่นใจว่าต้องการพัฒนาทักษะด้านใด โดยหลังจบงานสามารถมาเลือกคลาสเรียนแบบเต็มที่ศูนย์ยัวร์เน็กซ์ยูได้ตามที่ลงชื่อจองไว้ในวันงาน

การเรียนรู้ทฤษฎีการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ DISC ของ คาร์ล กุสตาฟ จุง ผ่านละครเวทีที่ไม่มีเก้าอี้ ซึ่งผู้ชมต้องเดินตามนักแสดง 6-7 คน เพื่อเรียนรู้ภาพสะท้อนความเป็นตัวตนของมนุษย์ในโลกของความเป็นจริง โดยดึงศิลปินคนรุ่นใหม่มาร่วมปักหมุดมิติการเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการสื่อสารด้วยศิลปะ

การเรียนรู้ผ่านโครงการสร้างความหมายแบบใหม่ที่เรียกว่า IWA-Iconic Woman Alliance ซึ่งเดิมคุณขวัญผู้ก่อตั้งซีแอคและยัวร์เน็กซ์ยูทำไว้บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก มีผู้ติดตามประมาณ 6-7 หมื่นคน ก็นำมาแต่งตัวเสียใหม่ให้เป็นการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองใน 4 เสาชีวิต ทั้งชีวิตส่วนตัว การงาน ครอบครัว และสังคม บนแนวคิดที่ “ตัวเราสามารถประสบความสำเร็จในแบบที่เราเป็น ไม่ใช่แบบที่สังคมอยากให้เป็น” ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโครงการซีเอสอาร์ที่คืนกลับไปให้ลูกค้าทั้งของซีแอคและยัวร์เน็กซ์ยู“แคมเปญการตลาดที่ส่งออกไป ทำให้ตัวเลขผู้สนใจติดตามในช่องทางสื่อต่าง ๆ โตมากกว่า 50-60% ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า สิ่งที่ทำไป ตลาดกำลังตื่นตัว และขยายวงออกไปสู่คนที่อาจไม่ได้สนใจเรียนมากนักให้รู้ว่า มีสถานที่แห่งหนึ่งที่ทำให้การเรียนรู้ของเขาสนุกได้ด้วยวิธีที่ต่างไปจากเดิมที่เขาเคยเรียนมา ด้วยราคาที่จ่ายได้และเลือกได้ว่าจะจ่ายแบบไหน

“โครงการซีเอสอาร์ที่ทำให้กับลูกค้ามาจากประสบการณ์ที่บุ๋มเคยเป็นพนักงานออฟฟิศแบบกลาง ๆ มาก่อน จะให้ไปจ่ายเงินเข้าคลาสเรียนที่ละสองสามแสน เราไม่มีเงินจ่ายหรอก คนที่จะโตไปเป็นระดับบริหารขององค์กร ไปเป็นอนาคตของชาติ เราต้องทำให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้”

เทรนด์โลกเรื่อง Soft Skill

ปัจจุบัน เทรนด์โลกกำลังชี้ไปในทิศทางของการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้านซอฟต์สกิลมากขึ้น ยกตัวอย่างงานวิจัยของสแตนฟอร์ดและฮาร์เวิร์ดซึ่งเผยว่า ทักษะด้านซอฟต์สกิลจะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนความสำเร็จมากกว่าทักษะทางเทคนิคถึง 85% รวมถึงงานวิจัยจากหลายแห่งที่ระบุว่า การจ้างงานที่ล้มเหลวมากที่สุด คือ การได้บุคลากรที่ไม่มีทักษะด้านซอฟต์สกิล หรือ คุณภาพของคนที่เข้าสู่การทำงานโดยไม่ได้ถูกฝึกอบรมเรื่องซอฟต์สกิลจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้องค์กรเดินไม่ถึงเป้าหมาย

ส่วนยัวร์เน็กซ์ยูเองมีการทำวิจัยเพิ่มเติมว่า ซอฟต์สกิลที่ขาดแคลนเป็นลำดับต้น ๆ คืออะไร ซึ่งพบว่า อันดับหนึ่ง 37% ขาดทักษะในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพซึ่งผลกระทบต่องานและคนทั้งในและนอกองค์กรอันหมายรวมถึงลูกค้า อันดับสอง 32% ขาดทักษะในการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ทำให้การตัดสินใจขาดความความเฉียบแหลมและแม่นยำ และอันดับสาม คือ 31% ขาดความคิดสร้างสรรค์

“ลมกำลังเปลี่ยนทิศมาทางเรา เพราะทั้งซีแอคและยัวร์เน็กซ์ยูมีคลาสการพัฒนาทักษะทั้งซอฟต์สกิล และทักษะทางธุรกิจเป็นพันคลาส และหลายคลาสเป็นหลักสูตรคุณภาพในระดับโกลบอล เราแค่ต้องวิ่งให้เร็วในการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจ การวางตำแหน่งและชื่อชั้นของแบรนด์ในตลาดให้ชัดเจน โดยเอากลยุทธ์การตลาด 6P และ 5C เข้ามาเสริม เติมด้วยการสร้างเครือข่ายผองเพื่อนในชื่อ Friend of YourNextU เพื่อให้เกิดมิติการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่กว้างขวางจากมิตรสหายข้ามสายธุรกิจ ซึ่งเมื่อมารวมกับเม็ดเงินลงทุนและสินทรัพย์ที่มี เป็นไปได้สูงมากที่เราจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการก้าวสู่การเป็นศูนย์การเรียนรู้ทั้งทักษะด้านซอฟต์สกิลและฮาร์ดสกิลในระดับเอเชีย”

ขยายผลกลยุทธ์ 5C และ 6P

บุ๋มขยายความเส้นทางธุรกิจผ่านการเดินเกมกลยุทธ์ 5C ซึ่งได้แก่ Contextual การพัฒนาเนื้อหาด้วยรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ ใน 8 ทักษะสำคัญของการพัฒนาตนเองให้ครบถ้วนทั้งทักษะด้านเทคนิคและซอฟต์สกิลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะความคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Agility & Change) ทักษะการสร้างชุดความคิดที่พร้อมโตต่อเนื่อง (Growth Mindset) ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) ทักษะการสื่อสารที่รวมพลังผู้คน (Communications & Collaboration) ทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์และเกิดเป็นนวัตกรรมได้ (Innovation and Creativity) ทักษะไหวพริบและความเฉียบแหลมด้านธุรกิจ (Business Acumen) ทักษะการเพิ่มประสิทธิผลในการทำงาน (Productivity) และทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skill)

Collaboration การสร้างแบรนด์ที่รวมคนซึ่งมีเป้าหมายเดียวกัน และเปลี่ยนการเรียนรู้ให้เป็นกิจกรรมสันทนาการยามว่างสำหรับทุกคนที่ไม่จำกัดเฉพาะหนอนหนังสือ การสร้างเครือข่ายเพื่อนยัวร์เน็กซ์ยู เช่น คุณลูกกอล์ฟ เพื่อนคนแรกที่ถูกเชิญมาพูดคุยกันเรื่องปัญหาชีวิตผู้คน และร่วมออกแบบการเรียนรู้ซอฟต์สกิลเพื่อนำไปแก้ปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น หรือการทำกิจกรรมไลฟ์สดพร้อมกัน 17 เพจ เพื่อนำบุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดหรือสามารถให้แรงบันดาลใจมาพูดคุยกัน ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะพายัวร์เน็กซ์ยูออกไปแตะผู้คนใหม่ ๆ ที่เขาอาจไม่เคยสนใจ และทำให้เราขยายกลุ่มเป้าหมายใหม่ออกไปได้กว้างขวางมากขึ้น รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรในระดับโกลบอลเพื่อต่อยอดการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ที่ได้คุณภาพระดับสากล

Creative การออกแบบการเรียนรู้ทฤษฎีที่น่าเบื่อ เช่น DISC กระบวนการคิดและออกแบบ ก็ปรับให้มาอยู่ในรูปแบบการเล่มเกม (Game Based Learning) ที่สร้างสรรค์ Continuity สร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในแบบ 4 Line ซึ่งเป็นการเรียนแบบบูรณาการที่ต้องเอาใปใช้ได้ในชีวิตจริงโดยได้มีการจดทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว ได้แก่ Online เรียนสะดวกผ่านออนไลน์ Inline เรียนสนุก ณ สถานที่เรียน Beeline เรียนรู้ซึ่งกันและกัน และ Frontline เรียนแล้วลงมือทำ และสุดท้ายต้องมี Community การสร้างศูนย์แห่งนี้ให้เป็นชุมชนที่คนอยากใช้เวลายามว่างมาเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ร่วมกับเพื่อนที่ชื่นชอบการเรียนรู้เหมือน ๆ กัน

ส่วนในปีหน้าจะเป็นการนำกลยุทธ์ 6P กลับมาทบทวนใหม่ เนื่องจากยัวร์เน็กซ์ยูเปิดตัวก๋อนเกิดโควิด 3 ปี ถึงปัจจุบันสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยที่ดำเนินการไปบ้างแล้ว เช่น การปักธงตำแหน่งของแบรนด์ไว้ชัดเจนแล้วว่า ยัวร์เน็กซ์ยู คือ ศูนย์รวมวิชาชีวิต

ส่วนเรื่องของผลิตภัณฑ์ (product) ได้นำหลักสูตรวิชามาจัดเรียงหมวดหมู่กันใหม่ เช่น เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราก็ได้คัดหลักสูตร 5 วิชาชีวิตมาเปิดสอน ได้แก่ Growth Mindset ปลดล็อกศักยภาพตัวเองด้วยวิธีคิดแบบพลิกชีวิต Outward Mindset อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ มองตัวเองและผู้อื่นอย่างเท่าเทียม  Design Thinking กระบวนการคิดเชิงออกแบบ Self-Leadership ปลุกภาวะผู้นำตัวเอง และ Emotional Intelligence การใช้อารมณ์อย่างฉลาด

การกำหนดราคาและการส่งเสริมการขายที่สามารถเลือกได้ระหว่างการเรียนเป็นคลาสเดี่ยว ๆ หรือเรียนแบบเหมาผ่านระบบสมาชิก ราคาที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่เพื่อให้ทุกคนเข้ามาเรียนได้ การจัดสถานที่เรียนทั้งรูปแบบการเรียนแบบสดที่ศูนย์ หรือออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มกลางซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการปรับปรุง UX/UI เพื่อการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพและทำให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่ดี  

ส่วนการจัดการภายใน ก็คือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กรให้เข้าที่เข้าทางกว่าเดิม การบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีประสิทธิภาพเพื่อไม่ให้เสียชื่อการเป็นองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาบุคลากร

รุกคืบตลาด B2B และ B2C

จากตัวเลขล่าสุดของมูลค่าตลาดการศึกษาที่ได้จากผลประกอบด้านธุรกิจการศึกษา 8 แห่งที่เปิดเผยอย่างเป็นทางการ โดยกรมพัฒนาธุรกิจ พบว่า ตลาดการศึกษาของไทยช่วงปี 2020-2021 มีมูลค่ารวม 1,100 ล้านบาท ซีแอคและยัวร์เน็กซ์ยูกินส่วนแบ่งตลาดรวมกันอยู่ประมาณ 35% หรือราว 415 ล้านบาท

บุ๋มกล่าวว่า พยายามวางตำแหน่งของผลิตภัณฑ์และแบรนด์ให้ชัดขึ้น เช่น ซีแอคจะเน้นการแก้ปัญหาหัวใจให้องค์กรแล้วปรับหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรให้ตรงโจทย์ที่องค์กรต้องการ (Custom Service) ขณะที่ยัวร์เน็กซ์ยูเหมือนแพลตฟอร์มสำเร็จรูป 8 หมวดหมู่วิชาที่วางอยู่บนชั้นหนังสือให้ลูกค้ามาหยิบไป (Service on Shelf) โดยช่วยแนะนำว่า ควรอ่านเล่มไหน เรียนเรื่องอะไร

โดยซีแอคจะเน้นกลุ่มเป้าหมายไปที่ตลาดบีทูบีระดับบน เช่น เจ้าของธุรกิจ หรือผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้พวกเขากลับมาเป็นหัวเชื้อในการขยายผลการเรียนรู้ เช่น การซื้อคลาสอบรมหลักสูตรอื่น หรือสนับสนุนให้บริษัทส่งพนักงานระดับกลางและล่างเข้าฝึกอบรม ซึ่งยัวร์เน็กซ์ยูจะมารับไม้ต่อในการจัดคลาสการเรียนรู้ให้พนักงานผ่านออนไลน์ หรือมาเรียนแบบสดที่ศูนย์ ทำให้องค์กรสามารถบริหารงบในการพัฒนาบุคลากรได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นั่นก็ทำให้กลุ่มเป้าหมายยังคงเกาะกลุ่มที่ตลาดบีทูบีอยู่ดี 

แม้ยัวร์เน็กซ์ยูจะได้รับอีกหนึ่งโจทย์ในการเจาะตลาดบีทูซีให้มากขึ้น เพราะต้องการให้องค์ความรู้แบบนี้กระจายไปสู่วงกว้าง และเห็นว่าบีทูซีเป็นฐานใหญ่และโตได้เรื่อย ๆ แต่เอาเข้าจริงก็ยังต้องจับตลาดธุรกิจเป็นหลักไว้ก่อน เพราะคนที่จะจ่ายเงินเรียนเองยังมีน้อย และด้วยชุดความคิดของคนบีทูซีอาจจะมีกลุ่มหนึ่งที่อยากเรียนรู้ แต่คงไม่ใช่ทั่งหมดที่จะเลิกเดินห้างแล้วหันมาเรียนแทน อย่างไรก็ตาม ในอนาคตก็ต้องทำให้ยัวร์เน็กซ์ยูเข้าไปนั่งในใจลูกค้าฝั่งบีทูซีที่อยากพัฒนาตัวเองให้มากขึ้น รวมถึงพนักงานระดับกลาง-ล่างที่อยากพัฒนาตัวเองเพราะอยากเติบโต และรู้อยู่แก่ใจดีว่า ถ้าเขายังทำอยู่อย่างเดิม เขาจะไปต่อไม่ได้

underdog ที่คิดไว ทำไว และฝันไกล

เพราะตลาดการศึกษานั้นใหญ่ และมีคู่แข่งอยู่เยอะ ทำให้ทุกวันนี้ คุณบุ๋มยังมองยัวร์เน็กซ์ยูเป็นแค่สตาร์ทอัป แม้ว่าจะมีแบ็คที่แข็งแรงอย่างซีแอคและเอพี เพราะการเข้ามาร่วมงานอย่างเต็มตัวภายในชั่วระยะเวลา 4 เดือน กับภารกิจการวางตำแหน่งแบรนด์ในทางการตลาดใหม่ มีภาระงานอีกมากมายในการปรับแต่งธุรกิจ ทำให้เธอมองว่า ยัวร์เน็กซ์ยูยังเหมือนเด็กน้อยในวงการและขอเรียกตัวเองว่าเป็น “อันเดอร์ด็อก” ดีกว่า

“บุ๋มสะกดจิตตัวเองและทีมงานว่า ถ้าเราคิดว่าตัวเองเป็นที่หนึ่ง คุณจะไม่เห็นคนที่อยู่ข้างบน บุ๋มเคยเขียนโพสต์อันหนึ่งว่า จงฝันให้ใหญ่ แต่ทำตัวให้เล็ก อ่อนน้อม ลู่ลม และให้เกียรติคน แล้วจักรวาลจะดึงดูดพลังมหาศาลมาหาคุณ เพราะเวลาที่เราคิดแบบนี้ เราจะไม่ยอมหยุดนิ่ง ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ใช่คนที่กระสันต์อยากจะสำเร็จจนตัวเองไม่มีความสุข คนทุกคนอยากประสบความสำเร็จในชีวิตทั้งนั้น แต่ต้องเป็นการออกแบบความสำเร็จที่ทำให้เรามีความสุข”

แต่การเป็นอันเดอร์ด็อกซ์ก็ใช่ว่า “ต้องเป็นสองรองใคร” เธอบอกว่า การมองหาเป้าหมายที่คิดว่าสำเร็จได้ง่ายและทำได้อย่างรวดเร็ว Quick Win เป็นเสมือนกุศโลบายอย่างหนึ่ง เพราะการเก็บเกี่ยวความสำเร็จทีละเล็กละน้อยระหว่างทาง จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจในการเดินสู่เป้าหมายความสำเร็จที่ใหญ่ขึ้นและปิดเกมส์ได้ในที่สุด ซึ่งเธอพยายามสร้างทีมที่มีจิตวิญญาณของความสำเร็จแบบนี้

อย่าง Quick Win แรกที่ทำไปแล้ว คือ ทำให้คนภายในและภายนอกเชื่อว่า ยัวร์เน็กซ์ยูเป็นศูนย์รวมวิชาชีพได้จริง หรือ การทำแคมเปญเพื่อให้คนเข้ามาในช่องทางโซเชียลมีเดียมากขึ้นเพื่อเพิ่มยอดไลค์หรือกดติดตามมากขึ้น 3 แสนกว่าเป็น 5 แสน หรือทำให้ฐานลูกค้าผู้เรียน 5 หมื่นรายจากปีที่แล้ว กลายเป็น 7 หมื่น ส่วน Quick Win ที่สองคือการพาเพื่อนในวงการธุรกิจอื่น ๆ เข้ามาร่วมเส้นทางการเรียนรู้ด้วยกันให้มากขึ้น ซึ่งอาจเริ่มต้นจากการส่งต่อสาระความรู้แบบไม่เสียค่าใช้จ่ายไปก่อน โดยจะค่อย ๆ ปล่อยสิ่งเหล่านี้เข้าไปในช่องทางมีเดียต่าง ๆ ให้มากกว่าเดิมในปีหน้า

“บางคนอาจมองว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่เรื่องยิ่งใหญ่อะไร แต่เป้าหมายที่เล็กแต่ทำสำเร็จได้เร็วเป็นตัวชี้วัดของบุ๋มอย่างหนึ่งว่า ถ้าแค่นี้ยังทำไม่ได้ ก็ไม่ต้องคิดไกลถึงเป้าหมายใหญ่ที่เราฝันไว้หรอก แล้วส่วนตัวบุ๋มเองเป็นคนที่ปักหมุด Quick Win ไว้ตลอดการเดินทางแล้วมีหมุดหมายสุดท้ายเป็นตัวปิดเกมเสมอ ไม่ได้วางแค่เป้าใหญ่อย่างเดียวแล้วก็นั่งรอว่าเมื่อไหร่จะสำเร็จ”

ซึ่งหมุดหมายที่เป็นตัวปิดเกมฝันที่ยิ่งใหญ่ของเธอ คือ การทำให้ยัวร์เน็กซ์ยูกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ในทุกวิถีทางชีวิต (Lifestyle Learning Center) ที่เติบโตสู่ระดับเอเชีย และเป็นเพื่อนที่รู้ใจไปตลอดเส้นทางการศึกษาวิชาชีวิตของผู้คนบนโลก

“ที่นี่อาจถูกเรียกว่าเป็นศูนย์รวมวิชาชีวิตตอนเริ่มต้น แต่เราต้องการส่งพวกเขาให้ไกลถึงความเข้าใจในวิถีแห่งชีวิต อยากแตะให้ถึงความเชื่อของคนไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามว่า พวกเขาไม่ได้มาอยู่ตรงนี้แค่เพื่อให้ได้พัฒนาตัวเอง แต่การเรียนรู้ยังสามารถเปลี่ยนพวกเขาให้กลายเป็น Somebody ที่สามารถทำสิ่งดี ๆ เพื่อผู้อื่น ครอบครัว สังคม และประเทศ และนั่นเป็นหน้าที่ของเราในการส่งต่อยัวร์เน็กซ์ยูไปถึงมือคนทุกระดับชั้นให้ได้

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

บทสัมภาษณ์ ๆ ที่น่าสนใจ

เปิดใจ “ยอด ชินสุภัคกุล” แห่ง LINE MAN Wongnai กับความฝันสู่ “แพลตฟอร์มบริการแห่งชาติ”

Health at Home สตาร์ตอัพโตช้า แต่โตชัวร์

เส้นทาง “โกลบิช” กับคู่ผู้ก่อตั้ง “ทรอย-จุ๊ย” จาก “รัก และเกลียด” ภาษาอังกฤษ สู่ EdTech เบอร์ต้นของไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ