TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเส้นทาง “โกลบิช” กับคู่ผู้ก่อตั้ง "ทรอย-จุ๊ย" จาก "รัก และเกลียด" ภาษาอังกฤษ สู่ EdTech เบอร์ต้นของไทย

เส้นทาง “โกลบิช” กับคู่ผู้ก่อตั้ง “ทรอย-จุ๊ย” จาก “รัก และเกลียด” ภาษาอังกฤษ สู่ EdTech เบอร์ต้นของไทย

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ “กลัว” การเรียนภาษาอังกฤษจนกลายเป็น “เกลียด” หรือถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ต้อง “เลิก” ทั้งที่ “รัก” การเรียนภาษาอังกฤษไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด The Story Thailand ขอแนะนำให้คุณรู้จัก ทรอย-ธกานต์ อานันโทไทย และจุ๊ย-ชื่นชีวัน วงษ์เสรี ผู้ใช้ประโยชน์จากความเกลียดและความรักในการออกแบบ “Globish (โกลบิช)” ให้เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงปมปัญหา เข้าใจทุกความต้องการ และเตรียมตัวทุกคนให้พร้อมเดินหน้าสู่อนาคต

ต่างขั้วกับปัญหาภาษาอังกฤษ

สำหรับเด็กเนิร์ดหน้าห้องจากจังหวัดระนองอย่างจุ๊ยผู้ ”รัก” การเรียนภาษาอังกฤษเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะพลาดการสอบเข้าโรงเรียนมัธยมอินเตอร์ในกรุงเทพฯ และต้องพบเจอการสอนภาษาแบบทางเดียวในมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ช่วยเรื่องการพูดมากนัก ทำให้เธอพยายามขวนขวายการเรียนพิเศษในสถาบันสอนภาษาอังกฤษที่สุดท้ายต้องพับแผนไปเพราะ “ค่าเล่าเรียนที่แพงลิ่วและการเดินทางที่ยากลำบาก” 

ส่วนประสบการณ์ความ “เกลียด” ของทรอยเริ่มต้นจากการถูกเพื่อน หลอกและล้อเลียน เรื่องการพูดภาษาอังกฤษผิดเพี้ยน ซึ่งคงไม่ต่างจากสิ่งที่เด็กไทยหลายคนต้องเผชิญ จนสุดท้ายกลายเป็นปมปัญหาตัวโต ๆ ที่ต่อให้เก่งฉกาจเรื่องไวยากรณ์และจดจำคำศัพท์ได้เป๊ะเว่อร์ขนาดไหน ก็เลือกการเงียบไว้ก่อนเพราะขาดความมั่นใจ แม้การเรียนตัวต่อตัวกับครูสอนภาษาอังกฤษที่คอยสนับสนุนให้เกิดความกล้าในการสื่อสารมากขึ้น แต่เมื่อต้องไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่เยอรมัน ความไม่มั่นใจในการสื่อสารก็ส่งผลถึงความรู้สึกว่าไม่มีตัวตน ขาดการยอมรับจากเพื่อน ๆ จนกระทั่งมาเจอไอเซค (AIESEC) องค์กรนักศึกษานานาชาติเพื่อการพัฒนาความเป็นผู้นำให้กับเยาวชนที่มีอยู่กว่า 120 ประเทศทั่วโลก กุญแจดอกแรกในการไขประตูความเกลียดภาษาอังกฤษ ปลุกความมั่นใจในตัวเอง และปูทางความคิดจิตอาสาบนความเชื่อที่ว่าจะช่วยให้โลกไร้ซึ่งภาวะสงคราม

ทว่าประสบการณ์การทำงานที่ไอเซคยาวนานกว่า 5 ปี จนได้ขึ้นเป็นประธานไอเซคของไทยที่อายุน้อยที่สุด(18-19 ปี) ทำให้ทรอยพบว่า คนไทยต่อให้เรียนภาษาอังกฤษเก่งหรือไม่เก่ง จะได้รับโอกาสมากหรือน้อยในการเรียนภาษาอังกฤษต่างเจอปัญหาคล้ายคลึงกัน คือ พูดได้แต่ไม่กล้าพูดหรือไม่พูดเพราะกลัวพูดผิด ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่พาจิตอาสาไปสอนภาษาอังกฤษให้เด็ก ๆ ในชนบทแล้วพบว่า คนที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ก็คือ ครูที่สอนเด็กเรียนภาษาอังกฤษ หนำซ้ำเมื่อช่วยสอนจบก็จบกัน ไม่มีการสานต่อ หรืออย่างกิจกรรมการพานักศึกษาที่เก่งอังกฤษระดับท็อปจากมหาวิทยาลัยชั้นนำไปประชุมต่างประเทศแล้วพบว่าไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ทันเด็กชาติอื่น เป็นต้น จนเกิดการตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำอย่างไรเราจึงจะมีครูสอนภาษาอังกฤษที่เพียงพอสำหรับผู้เรียน รวมถึงเป็นภาษาอังกฤษที่ทุกคนสื่อสารกันได้ง่าย ๆ และโลกทั้งใบเข้าใจ”

ผุดแนวคิดธุรกิจเพื่อสังคม

“ผมพบกับจุ๊ยตอนไปเข้าโครงการ Asian Leadership Academy ซึ่งนั่นเป็นครั้งแรกที่เราได้ยินคำว่า ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) จังหวะนั้นผมใกล้หมดวาระการเป็นประธานไอเซค ประกอบกับมีศิษย์เก่ารุ่นพี่ชี้เทรนด์การเรียนภาษาออนไลน์แบบตัวต่อตัวของคนญี่ปุ่น ซึ่งยุคนั้นเน็ตยังเป็น 3G เราก็มองว่า มันนามธรรมมาก”

หากในที่สุด ทรอยก็ได้พบกับมาซาฮิโร่ ซากาตะ คนญี่ปุ่นซึ่งมีเงินทุนที่อยากทำเพื่อสังคมไทยเพราะเขารักเมืองไทยมาก เขาเล่าว่า เป็นช่วงที่ยังค้นหาตัวเองอยู่เลยตัดสินใจที่จะให้เวลาตัวเอง 3 ปีในการทำธุรกิจสอนภาษาอังกฤษออนไลน์ทั้งที่ยังไม่แน่ใจว่ามีตลาดหรือไม่ และจะมีสักกี่คนที่สนใจเรียนภาษาออนไลน์ แต่อีกใจก็อยากแก้ปมตอนไปเป็นจิตอาสาแล้วเห็นเด็กไทยเรียนภาษาอังกฤษแต่กลับพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เลยคุยกับจุ๊ยเล่น ๆ ช่วง 4 วันที่ไปเข้าค่ายว่าสนใจมาทำโปรเจคนี้ร่วมกันหรือไม่ซึ่งตอนนั้นน่าจะราวปี 2557

จุ๊ยเล่าเสริมว่า ตอนนั้นก็คิดเหมือนเด็กทั่วไป พอเรียนจบก็ไปสมัครงานบริษัทดี ๆ มีชื่อเสียงแล้วรอเรียกตัวอยู่ ช่วงว่างก็เลยสมัครเข้าค่ายอบรมแล้วก็ได้มาอยู่กลุ่มเดียวกับทรอย ซึ่งค่ายอบรมก็สอนศาสตร์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เช่น กระบวนการคิดเชิงออกแบบ ธุรกิจเพื่อสังคม เทคนิคการพูดในที่สาธารณะ และการสร้างภาวะผู้นำ

“เราก็ไฟแรงชวนกันไปประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม ทำยังไงให้คนกินอาหารสุขภาพมากขึ้นแต่ประกวดที่ไหนก็ตกรอบ จนทรอยบอกว่ามีโมเดลธุรกิจอย่างหนึ่งมาเล่าให้ฟัง ซึ่งก็คือการเรียนภาษาอังกฤษออนไลน์ผ่านโปรแกรมสไกป์ (Skype) กับครูฟิลิปปินส์ จุ๊ยฟังแล้วคลิ๊กเลยเพราะมันตอบโจทย์ปัญหาที่เจอกับตัวเอง เช่น ค่าเล่าเรียนถูกกว่า ไม่ต้องใช้เวลา 3-4 ชั่วโมงเดินทางไกลไปเรียนในเมือง เพราะจุ๊ยเรียนที่รังสิตแล้วชานเมืองตอนนั้นยังไม่มีสถาบันสอนภาษาดี ๆ ทีนี้ถ้าเราอยากได้ คนไทยน่าจะอยากได้ และธุรกิจก็น่าจะไปรอด”

“โกลบิช” ภาษาอังกฤษของคนทั้งโลก

Globish มาจากการสนธิคำระหว่าง Global และ English โดยมีนัยยะที่ต้องการสื่อถึงการพูดภาษาอังกฤษที่คนทั้งโลกฟังเข้าใจ ไม่ใช่แค่เฉพาะเจ้าของภาษา จึงเปิดกว้างให้ภาษาอังกฤษสามารถสอนโดยครูที่ไม่ใช่เจ้าของภาษา โดยมองว่าคนที่ไม่ใช่อังกฤษแท้แล้วมาสอนคนที่ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ ย่อมเข้าใจบริบทของคนที่พูดภาษาอังกฤษไม่เป็นได้ง่ายกว่า ประกอบกับการพูดภาษาอังกฤษมีหลากหลายสำเนียงและการออกเสียง 

แนวคิดแรกก่อตั้งจึงเหมือนคนต่างชาติมาเจอกันและต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง ดังนั้น การพูดคุยจึงเน้นใช้คำศัพท์ง่าย ๆ ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษที่เว่อร์วังจนคนฟังไม่เข้าใจ แนวคิดต่อมา คือ ค่าเล่าเรียนต้องถูก ทุกคนจับต้องได้

“โปรดักส์ของเรา คือ การเรียนออนไลน์แบบสดที่มีครูมาพูดคุยกับนักเรียนแบบตัวต่อตัว ไม่ใช่การดูวิดีโอ ผมขายเลย คลาสสอนพูดภาษาอังกฤษออนไลน์เดือนละ 999 บาท เอากำไรแค่คลาสละ 5 บาทก็พอ เพราะเราตั้งใจดันโครงการเพื่อสังคมเต็มตัว จากนั้น ก็ลองเอาโกลบิชไปนำเสนอตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มนักเรียนนักศึกษา กลุ่มคนทำงานที่ต้องใช้ภาษาอังกฤษแต่ไม่มีรายได้พอจ่ายเงินเรียน เช่นพนักงานร้านแมคโดนัลด์ และกลุ่มคนพิการทางร่างกายและสายตา”

อย่างไรก็ตาม ก้าวแรกของโกลบิชยังไม่อาจเรียกว่าสตาร์ตอัพ เพราะทั้งคู่ทำงานในฐานะลูกจ้าง จนกระทั่งปี 2559 ภายหลังดำเนินงานต่อมาอีกราวปีครึ่ง ธุรกิจก็ประสบภาวะง่อนแง่น 

“ช่วง 2 ปีแรกเราสู้หนักมาก พอเงินคนญี่ปุ่นหมด ไม่มีเงินเดือนจ้าง ทุกคนต้องแยกย้าย จุ๊ยกลับไปทำงานประจำ ทีมงานที่ฟิลิปปินส์ตอนนั้นมีครูอยู่ 300 คน ก็ต้องลดเหลือ 50 คน ครูอินโดนีเซียบินกลับประเทศ ส่วนผมกลับไปขอเงินพ่อแม่เรียนต่อปริญญาโท โดยเอาโกลบิชไปทำเป็นโปรเจ็คต์เรียนจบ  ซึ่งหากให้มองย้อนกลับไปแล้วลองถอดบทเรียนดู ผมว่าธุรกิจเพื่อสังคมคงมาเร็วเกินไป ณ เวลานั้น ส่วนการจินตนาการภาพอินเทอร์เน็ตว่าเป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษก็ดูล้ำเกินไปหน่อย อีกอย่างถ้าผมคิดจะเปลี่ยนประเทศ การขายคลาสเรียนได้กำไรแค่ 5 บาท จะเปลี่ยนประเทศได้ยังไง”

ล้มเพื่อลุกและรุกสู่โมเดลสตาร์ตอัพ

ดูเหมือนการเปลี่ยนโหมดธุรกิจจากลูกจ้างสู่การเป็น “สตาร์ตอัพ” น่าจะเป็นทางรอดที่ดีที่สุดสำหรับโกลบิช ซึ่งทรอยสารภาพตรง ๆ ว่า ไม่มีความรู้เรื่องนี้มาก่อน เพราะทั้งชีวิตรู้จักแต่การกู้เงินและตัวเองไม่อยากกู้เงิน แต่สตาร์ตอัพเป็นการระดมทุนที่ให้หุ้นเป็นประโยชน์ตอบแทน จึงตัดสินใจบินไปคุยกับญี่ปุ่น โดยขอถือหุ้น 90% เพื่อเอามาแจกจ่ายให้คนในทีมบนข้อตกลงว่า จะทำให้มูลค่าหุ้นโตเป็น 30 เท่า 

หลังจากนั้น จึงเริ่มเอาโมเดลสตาร์ตอัพโกลบิชไปเสนอนักลงทุนจนได้พบกับ ดร.กานดี เลียวไพโรจน์ ซึ่งปัจจุบันทำงานอยู่ที่ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา (FutureTales Lab) ท่านก็แนะนำให้มาประลองไอเดียธุรกิจชิงเงินทุนกับสตาร์ตอัพสิงคโปร์ดู

“เราทำสไลด์ไม่ค่อยเป็นเลยใช้วิธีวาดรูปลงกระดาษ แต่ใจนี่คือมาในมุมเพื่อสังคมแบบเต็มร้อย ตอนนำเสนอโมเดลโกลบิชกับคณะกรรมการ ผมแทบบอกไม่ได้เลยว่าเราจะทำธุรกิจยังไง บอกแค่ว่าเราจะช่วยคนยังไง ตอนนั้นคิดว่าต้องได้ก่อน ส่วนกำไรวันหลังค่อยว่ากัน”

และที่นี่เองที่ทำให้ทั้งทรอยและจุ๊ยได้รับการบ่มเพาะอย่างเข้มข้นไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการธุรกิจสตาร์ตอัพ การจัดสรรงบประมาณและเงินอุดหนุนโครงการ การวางแผนการเติบโตของธุรกิจ คุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับจากธุรกิจของโกลบิชอยู่ที่ไหน นิยามความแตกต่างให้ชัดระหว่างการสร้างองค์กรธุรกิจกับการทำธุรกิจเพื่อสังคม และต้องมีการวัดผลเป็นรายสัปดาห์ รายเดือน จนโกลบิชเริ่มจัดระเบียบธุรกิจได้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นราวปี 2559-2560 และสามารถคว้าที่หนึ่งได้จากการเข้าแข่งขันในรายการ “เสือติดปีก”

กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ

เมื่อถามถึงกลยุทธ์สู่ความสำเร็จของโกลบิชที่ถอดความได้จากการสนทนากับจุ๊ยและทรอย สิ่งแรก คือ การทำให้ “ค่าเล่าเรียนที่ถูกกว่าเจ้าที่แพง 30% แต่คุณภาพต้องดีกว่า 10 เท่า” เพื่อให้โกลบิชสามารถเอาชนะเบอร์ 1 ในตลาดและเป็นการเรียกความเชื่อมั่น ตลอดจนเน้นจับตลาดกลุ่มลูกค้าเป้าหมายปัญญาชนและคนที่เรียนเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในอาชีพและต่อยอดสู่อนาคตอย่างจริงจัง

การรับฟังเสียงของลูกค้า เสมอ ซึ่งโกลบิชเน้นการพยายามพัฒนาหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความต้องการของทั้งผู้เรียน ไม่ว่าลูกค้าต้องการคุณครูชาติใด ต้องการรูปแบบการเรียนการสอนแบบไหน ไม่ว่าจะเป็นการเรียนตัวต่อตัว เรียนกลุ่มย่อยครู 1 คนต่อนักเรียน 4 กลุ่ม หรือเรียนกลุ่มใหญ่แบบ 1 ต่อ 10 ชนิดจะเรียนกับนักเรียนคนไทย หรือจะเรียนร่วมกับนักเรียนต่างชาติเพื่อให้คุ้นเคยกับสำเนียงและการออกเสียงที่แตกต่างกันก็ได้ การจัดเวิร์คช้อปให้ทั้งออฟไลน์ออนไลน์ มีระบบอี-เลิร์นนิ่งสำหรับผู้ที่อยากทบทวนไวยากรณ์หรือคำศัพท์ต่าง ๆ  รวมถึงการจัดคลาสเรียนออนไลน์เฉพาะให้กับหน่วยงานหรือองค์กร หรือเพิ่มเติมการสอนภาษาอื่น ๆ ที่ผู้เรียนร้องขอ เช่น ภาษาจีน 

การพัฒนาหลักสูตรที่ล้อตามทักษะแห่งศตวรรษที่ 21”  (21st  Century Skill) ที่ความรู้ในการฟัง พูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษในโลกยุคเก่าไม่เพียงพอต่อการนำไปใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพหากปราศจากทักษะการคิดเพื่อแก้ไขปัญหา การคิดเชิงสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการทำงานเป็นทีม ซึ่งโกลบิชนำมาตรฐานหลักสูตรกลาง CEFR มาพัฒนานวัตกรรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจากบริบทที่เกิดขึ้นรอบตัวทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ภาษาอังกฤษที่คนทั่วไปมักพูดผิด ซึ่งเมื่อจบคลาสแล้ว ผู้เรียนสามารถประเมินตัวเองว่า รู้มากขึ้น เก่งขึ้นกว่าเดิมได้ทันที

การออกแบบฟังก์ชั่นค่าตอบแทน ที่ให้ความสุขครูผู้สอน โดยให้คุณครูสามารถกำหนดวิธีการสอน ช่วงเวลาที่สะดวกในการสอน และสามารถบริหารจัดการรายได้ด้วยตัวเอง ส่วนจะมากน้อยขึ้นอยู่กับภาพรวมคุณภาพการสอน ความขยัน และคะแนนความชื่นชอบจากนักเรียน เช่น ถ้านักเรียนให้ดาวจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มเท่าไหร่ เป็นโค้ชดีเด่นประจำเดือนจะได้ค่าตอบแทนเพิ่มเท่าไหร่ เป็นต้น 

ปัจจุบันโกลบิชมีนักเรียนออนไลน์ประมาณ 5 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน มีคุณครูสอนภาษาอังกฤษในไปป์ไลน์ที่มาจาก 10 กว่าประเทศทั่วโลก เช่น อังกฤษ อเมริกา แอฟริกาใต้ เวียดนาม และอื่น ๆ ร่วม 1 พันคน ดำเนินการสอนอยู่แล้ว 300 คน เป็นการสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษและภาษาจีนแยกตามกลุ่มเป้าหมาย เช่น เด็ก ผู้ใหญ่ โรงเรียน องค์กร 

“ถ้าวัดเฉพาะจำนวนคลาสเรียนสอนภาษาอังกฤษแบบโต้ตอบสองทาง โกลบิชทำได้มากสุดถึง 3 แสนคลาสเมื่อปีที่แล้ว ถือว่าเราใหญ่สุดแล้วในไทย และเวียดนาม เพราะยังไม่มีใครทำได้ ส่วนปีนี้ก็น่าจะไปได้ถึง 5 แสนคลาส แต่ถ้าวัดเฉพาะส่วนแบ่งตลาดการเรียนออนไลน์ เราคือเบอร์ 1 ไทย และติดท็อป 3 ในเวียดนามสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใหญ่

กระบวนท่าที่แตกต่าง 

หากมองจากสายตาภายนอก โกลบิชอาจมีการดำเนินธุรกิจไม่แตกต่างจากสถาบันสอนภาษาออนไลน์ทั่วไป แต่เนื้อในธุรกิจกลับเดินไปในท่วงท่าที่แตกต่าง 

จุ๊ยบอกว่า คนที่มาทำสตาร์ตอัพมักเริ่มต้นจากการคิดเทคโนโลยีออกมาให้ว้าวก่อน แต่โกลบิชเริ่มด้วยระบบแมนนวล ใช้โปรแกรมง่าย ๆ อย่างเอ็กซ์เซลในการจัดตารางการเรียนการสอน เมื่อทำจนแม่นยำดีแล้วจึงค่อยนำไปพัฒนาต่อโดยเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งรวมถึงการพัฒนาระบบหลังบ้านต่าง ๆ เช่น ระบบการจัดการธุรกิจ ระบบเว็บเบสออนไลน์ที่เมื่อลูกค้าล็อกอินแล้วเข้าสู่ระบบที่โกลบิชพัฒนาขึ้นเอง ระบบวิดีโอคอลก็เป็นปลั๊กอินที่พัฒนาขึ้นเองโดยไม่ใช่การใช้งานผ่านสไกป์ หรือเตะออกทางหลังบ้านไปเข้าระบบไอทีของผู้ให้บริการรายใดอีก

ก่อนการสมัครเรียน จะมีทีมที่ปรึกษาพูดคุยกับผู้เรียนเพื่อให้ทราบวัตถุประสงค์การเรียน ซึ่งจะทำให้การจัดระดับ หลักสูตร และครูผู้สอนเป็นไปอย่างเหมาะสม เช่น ถ้าใช้ในทางธุรกิจจะเน้นการพูดภาษาอังกฤษภายใต้การจำลองบทบาทในสถานการณ์การทำงานที่เกิดขึ้นจริง โดยสอดแทรกไวยากรณ์และคำศัพท์เป็นตัวเสริม 

ส่วนอีกความแตกต่างที่น่าสนใจ คือ การจัดนักเรียนแลกเปลี่ยนออนไลน์กับโรงเรียนสอนภาษาอื่นที่ปลั๊กอินกันอยู่ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาทักษะการพูดและฟังภาษาอังกฤษหลากหลายสำเนียง

“จุดที่คนชอบโกลบิชเพราะเรามีการวัดระดับความสามารถภาษาอังกฤษตามมาตรฐานของยุโรป CEFR เรามีการทดสอบตั้งแต่ก่อนเรียน ระหว่างเรียน และหลังเรียน ซึ่งเป็นการสอบการพูดกับคนจริง ๆ ไม่ใช่การสอบกับคอมพิวเตอร์”

วิสัยทัศน์ 10 ปีคนไทยต้องพร้อม

“ถ้ามองวิสัยทัศน์ทางธุรกิจช่วง 3 ปีแรก เราหวังให้คนไทยพูดภาษาอังกฤษเป็น ธุรกิจไม่เจ๊ง เราคิดว่าใหญ่พอแล้ว แต่มันก็ยังเปลี่ยนประเทศไม่ได้ เราเลยเริ่มนับหนึ่งใหม่ตอนปี 2559 และตั้งวิสัยทัศน์ให้ไกลไปอีก 10 ปี ว่า โกลบิชอยากพัฒนาคนไทยให้พร้อมเพื่อไม่ให้พลาดโอกาสในอนาคต (Make People Ready for Tomorrow)”

ภารกิจข้างหน้าจึงเป็นการหนุนเสริมการสร้างวิสัยทัศน์ทางการศึกษา (Learning Vision) และหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาเพื่อวิชาชีพ (Career Language) ที่เติมเต็มให้ครบทั้งทักษะเฉพาะทางที่จำเป็นด้านวิชาชีพ (Hard Skills) และทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน (Soft Skills) เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์เพื่อแก้ปัญหาบนหลักเหตุผล การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัวให้เข้ากับสังคม การทำงานภายใต้ภาวะกดดัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วสามารถไปทำงานได้ทั่วโลก (Global Career) โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือเรียนจบโรงเรียนอินเตอร์แพง ๆ เพื่อให้ได้งานในสาขาวิชาชีพนั้น เช่น ถ้าผู้เรียนเป็นโปรแกรมเมอร์ โกลบิชจะมีหลักสูตรที่สอนคุณได้ทั้งการเรียนเขียนโปรแกรมและภาษาอังกฤษไปพร้อม ๆ กัน

ส่วนก้าวที่อยากเดินต่อ คือ การผลักดันโกลบิชให้เป็นบริษัทในระดับโกลบอลอย่างน้อยใน 10 ประเทศ เพื่อสร้างชุมชนโกลบิชให้เป็นศูนย์กลางในการต่อยอดทั้งธุรกิจการเรียนการสอนภาษาแบบเรียนไปด้วยกัน (Peer to Peer Learning) การพัฒนาหลักสูตรสำเร็จรูปในตัว (Modular Learning) ที่ทุกคนหยิบไปใช้ออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ รวมถึงการจัดตั้งบริษัทเครือข่ายจัดหางาน (Network Company) 

“เรามองจากประสบการณ์ตัวเองตอนไปเป็นจิตอาสาที่ไอเซค เราได้เพื่อนเยอะ มีสายสัมพันธ์ที่ดีที่ทำให้เราสามารถเปิดธุรกิจได้ ดังนั้น ถ้าเราสามารถทำให้โกลบิชเป็นศูนย์กลางที่ทุกคนอยากเข้ามาพัฒนาตนเองเพราะมีงานรออยู่ เขาก็จะมีเหตุผลที่อยากมาเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น และน่าจะตรงโจทย์กลุ่มเป้าหมายที่เราอยากเข้าถึงพวกเขาได้มากกว่าเดิม คือ การปูทางเด็กมัธยมปลายก่อนที่เขาจะรู้ตัวว่า ตัวเองฝันอยากเป็นอะไรต่อ และกลุ่มคนที่ทำงานมาสักพัก เห็นโลกความจริงว่าเป็นยังไง แล้วมหาวิทยาลัยยังสอนพวกเขาไม่พอ”

มุมด้านสังคมกับโกลบิช 

สำหรับจุ๊ยแล้ว โกลบิชเกิดขึ้นมาสำหรับคนที่มีวิกฤติ และคนที่มีวิสัยทัศน์ ซึ่งคือคนที่เห็นว่าตัวเองยังเก่งไม่พอ และต้องการโกลบิชเป็นตัวช่วยให้ตัวเองเก่งขึ้นเพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า ส่วนคนที่มีวิกฤติอยากให้มองโกลบิชเป็นเครื่องมือในการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ค้นพบทางออก ขณะที่ทรอยเสริมว่า โกลบิช คือ เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาที่มีเลือดสตาร์ตอัพ แต่มีหัวใจของความเป็นโรงเรียนที่ในอนาคตจะไม่ใช่โรงเรียนที่เปิดมาเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาอังกฤษ แต่เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านอื่นของชีวิตด้วย

“ตอนแรกจุ๊ยก็ไม่ได้อินเรื่องการศึกษามากขนาดนี้ แต่พอได้คุยได้คุยกับภาครัฐ กระทรวงฯ ก็ยิ่งเห็นปัญหาและเราอยากแก้ อย่างทุนที่ได้รับจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ก็มาช่วยสานฝันในการผลักดันการเรียนพูดภาษาอังกฤษเข้าไปในโรงเรียน การจัดการเรียนภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียนดอนบอสโกที่อุดรธานีและยังอยู่แผนที่ต้องทำต่ออีกประมาณ 30 โรงเรียน การจัดคลาสเรียนราคาถูกให้กับโรงเรียนในต่างจังหวัด หรือ จะเป็นกลุ่มคนพิการทางร่างกายและสายตาที่เราเคยทำไป 3 โครงการ มีผู้พิการเข้าอบรม 300 คน เป็นต้น มันเป็นฝันของจุ๊ยอย่างหนึ่งที่อยากให้เด็กไทยสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ก่อนจบม.3 เพื่อไม่ต้องมาเรียนกันใหม่ตอนเป็นผู้ใหญ่แล้ว”

ความสำเร็จที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เพราะความสำเร็จล้วนมีราคาที่ต้องจ่าย และสิ่งที่จุ๊ยและทรอยต้องเผชิญกับภาวะวิตกกังวลเรื่องอนาคตและการบริหารความคาดหวังให้เกิดสมดุลให้ได้ระหว่างสิ่งที่อยากเป็นกับความจริงที่ต้องเจอ

“ปีที่แล้วยังจะเจ๊งอยู่เลย เกือบต้องให้คนออกถึง 30-40% เพราะเราพยายามไปโตที่เวียดนาม แต่ทุกครั้งที่ไปก็ต้องอัดฉีดเงินกันกือบร้อยล้าน ธุรกิจขาดสภาพคล่อง ค่าการตลาดก็กินไปเกือบ 80% ของราคาขาย โควิดเด็กปิดเทอมมีผลกับยอดขายหมด ทุก ๆ ปี ผมต้องถามตัวเองเสมอ ๆ ว่า ยังอยากทำโกลบิชต่อไปไหม”

ความที่ทั้งคู่เอาโกลบิชมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ แรงกดดันต่าง  ๆ ทำให้ต้องเผชิญช่วงชีวิตที่ยากลำบาก พวกเขาเลือกที่จะปลีกวิเวกไปอยู่เกาะ ไปดำน้ำ ทำกิจกรรมที่ชอบ ศึกษาเรื่องอิคิไกเพื่อผ่อนภาระชีวิตให้เป็น 

ทรอยเปรียบสตาร์ตอัพเหมือนการแข่งฟอร์มูล่าวันที่ต้องรู้จังหวะขับเคลื่อนของตัวเอง ไม่ใช่เหยียบคันเร่งเผาตัวเองจนเครื่องพัง การวิ่งให้สุดเพื่อทำตามความฝันเป็นเรื่องดี แต่เมื่อใดที่ชีวิตเริ่มส่งสัญญาณอันตราย เช่น นอนไม่หลับ ไม่มีความรู้สึกกับสิ่งที่เคยทำให้ตัวเองมีความสุข และความสัมพันธ์กับคนรอบข้างเริ่มแย่ลง ขอให้หยุดพักแล้วค่อยกลับมาเริ่มต้นเดินใหม่

 “เพราะสารแห่งความสุขกับความทุกข์เป็นสิ่งเดียวกัน การด้านชากับความทุกข์บางครั้งก็ทำให้เราเลิกยินดีในความสุข ซึ่งชีวิตไม่ควรเป็นเช่นนั้น”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
WASINA- เรียบเรียง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

HUMANSOFT – HR CLOUD SOLUTION PLATFORM ตอบโจทย์บริหารงานบุคคลที่มี “คน” เป็น CORE VALUES

บทบาท TRUE DIGITAL PARK กับการสร้าง TECH ECOSYSTEM ให้ประเทศไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ