TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistฝุ่นพิษ PM 2.5 ... วิกฤติที่ถูกลืม

ฝุ่นพิษ PM 2.5 … วิกฤติที่ถูกลืม

ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก การแพร่ระบาดโควิด-19 กำลังคลี่คลายแต่ฝุ่นพิษ PM 2.5 กลับหนักขึ้นเรื่อย ๆ เป็นช่วงจังหวะที่ไทยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ครั้นพอมีฝุ่น PM 2.5 ปริมาณสูงขึ้นเรื่อย ๆ นักท่องเที่ยวก็เริ่มจะถอยหนี เมื่อสองสามวันก่อนมีข่าวโรงแรม รีสอร์ต ในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกนักท่องเที่ยวยกเลิกการจองกันเป็นแถวแทนที่จะได้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวที่หายไปนานถึง 3 ปี

แต่น่าห่วงตรงที่ข่าว PM 2.5 ในบ้านเราพื้นที่เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ มีปริมาณฝุ่นสูงติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกสลับกันไปมาติดต่อกันหลายวัน ส่งผลลบต่อภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะเมืองท่องเที่ยวอย่างมิอาจปฏิเสธได้ 

สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวการยกเลิกโรงแรม อาจจะไม่น่ากลัวเท่าข่าวฝุ่น PM 2.5 แพร่ไปทั่วโลก ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศไม่กล้ามาหรือชะลอออกไปก่อน คงไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนอยากมาเที่ยวเมืองไทยด้วยการยอมเอาสุขภาพตัวเองมาเสี่ยงแน่ ๆ อาจจะหันไปเที่ยวที่อื่นแทน  

ผลกระทบจากวิกฤติ PM2.5 เรื้อรัง ส่งผลยีนส์กลายพันธุ์ก่อโรคมะเร็งปอด ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

ความเสียหายจากปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ไม่ได้จำกัดวงอยู่เฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหาให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศรวมถึงปัญหาสุขภาพที่มีราคาที่ต้องจ่ายอีกด้วย 

ผลการศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยรศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช พบว่า ในปี 2562 ฝุ่น PM2.5 สร้างมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐศาสตร์ต่อครัวเรือนไทย 2.173 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 9% ของจีดีพี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ประมาณ 6,800 บาท/ครัวเรือน/1 ไมโครกรัมของฝุ่น PM2.5 ที่เกินมาตรฐาน/ปี

แต่หากรวมทุกสารมลพิษ ได้แก่ PM10, PM2.5, CO, NOx และ NO2 พบว่า ในปี 2562 มูลค่าความเสียหายต่อครัวเรือนไทยจะสูงถึง 4.616 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 14-15% ของจีดีพี หรือคิดเป็นค่าใช้จ่ายของครัวเรือนเดือนละหลักหมื่นบาทกันเลยทีเดียวความเสียหายมากกว่างบประมาณประจำปีหลายเท่า 

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ข้อมูลจาก State of Global Air รายงานว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอากาศพิษฝุ่น PM 2.5 สูงถึง 32,200 คน ในปี 2562 ช่วงปี 2563 โควิดระบาด การเดินทางมีน้อย ฝุ่นพิษก็มีน้อย แต่ปี 2564 อากาศพิษจากฝุ่นพิษกลับมาเข้มข้นเหมือนเดิม ทำให้คนไทยต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควรสูงถึง 29,000 คน สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ยาเสพติด และฆาตกรรม ช่วง 4 ปี

ปีนี้ 2566 อากาศพิษจากฝุ่นพิษ PM 2.5 กลับเข้มข้นยิ่งกว่าเดิม เพราะมีการเดินทางมากขึ้นหลังจากเปิดประเทศ มีการเผาป่ากันมากขึ้น มุ่งหวังทำให้เป็นป่าเสื่อมโทรม แล้วนายทุนจะได้เข้าครอบครอง เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงที่มีการปิดประเทศเพราะโควิด-19 แพร่ระบาด ฝุ่นพิษ PM 2.5จะน้อยกว่าสถานการณ์ทุกวันนี้ เพราะรัฐบาลประกาศ “ล็อกดาวน์” มีนโยบายปิดเมือง กิจกรรมต่าง ๆ ทั้งทางธุรกิจและกิจกรรมทางสังคม ทั้งหมดต้องหยุดชะงัก คนส่วนใหญ่ต้องทำงานแบบ work from home ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร แหล่งบันเทิงก็ปิดตัวลง 

ธุรกิจท่องเที่ยวปิดหมดทำกิจกรรมไม่ได้ การเดินทางระหว่างจังหวัดก็น้อยลง คนไม่กล้าออกจากบ้าน บรรดาโรงงานอุตสาหกรรม รถขนส่ง รถที่ใช้น้ำมันดีเซล รถเมล์ยูโร 2 ก็น้อยลง การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ก็หยุดหรือชะลอออกไปเพราะไม่มีแรงงาน สิ่งเหล่านี้ คือ ตัวการสำคัญทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เมื่อมนุษย์มีกิจกรรมน้อยลงฝุ่นก็เบาบาง

อันที่จริงฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แต่ไม่มีใครทำจริง ๆ จัง ๆ วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าแบบง่าย ๆ คือ ใช้มาตรการ “ล็อกดาวน์” ปิดเมืองเหมือนช่วงโควิด-19 ระบาด แต่ “ปิดแบบชั่วคราว” แค่ช่วงสั้น ๆ อาจจะ 1-2 วันต่อสัปดาห์ในวันที่มี PM 2.5 หนาแน่น เพื่อหยุดกิจกรรมในการเดินทางให้ทำงานที่บ้านแทน โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ต้องหยุด รถที่ปล่อยควันพิษห้ามออกมาวิ่งชั่วคราว วิธีนี้พอจะบรรเทาปัญหาลงได้ ซึ่งประเทศจีนได้นำมาใช้ได้ผลมาแล้ว

ในระยะยาวต้องมีกฎหมายสำหรับแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยเฉพาะและต้องบังคับใช้อย่างจริงจังไม่มียกเว้น ทุกวันนี้เราใช้กฏหมายสิ่งแวดล้อม กฎหมายขนส่ง ซึ่งเป็นแบบคลุม ๆ ไม่เฉพาะเจาะจง จึงไม่ได้ผล ไม่ทันสถานการณ์ และยังกลายเป็นแหล่งแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐในการเก็บส่วยจากรถควันดำและชาวไร่เผาอ้อย สุดท้ายก็ปล่อยไปปัญหาก็กลับมาเหมือนเดิม

มีหลายประเทศที่แก้ปัญหาฝุ่นควันประสบความสำเร็จโดยเฉพาะสิงคโปร์ที่เคยประสบปัญหาฝุ่นควันจากการเผาป่าของชาวบ้านจากอินโดนีเซีย จึงออกกฎหมาย Transboundary Haze Pollution Act ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2014 ซึ่งเป็นกฎหมายจัดการมลภาวะข้ามแดนที่ทำให้สิงคโปร์จัดการฝุ่น PM 2.5 อยู่หมัด แม้จะเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดอธิปไตยของประเทศเพื่อนบ้านอยู่บ้างก็ตาม 

กฎหมายฉบับนี้กำหนดว่าหากบุคคลหรือองค์กรใดเผาป่าหรือพื้นที่เกษตรจนเกิดมลภาวะต่อคุณภาพอากาศของสิงคโปร์ต้องจ่ายสูงสุด 3.5 ล้านบาทต่อวัน และมีเพดานค่าปรับสูงสุด 70 ล้านบาท ด้วยกฏหมายที่มีโทษปรับสูงและมีการบังคับใช้อย่างจริงจังทุกวันนี้สิงคโปร์ไม่มีปัญหาฝุ่นพิษเหมือนเมื่อก่อน

สำหรับประเทศไทยในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้แก้ไขปัญหาอากาศพิษฝุ่นพิษให้ดีขึ้นเลย ได้แต่เตือนให้คนไทยดูแลตัวเอง ยิ่งตอนนี้ทั้งรัฐมนตรีที่ข้าราชการและคณะกรรรมการชุดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพากัน “เกียร์ว่าง” เพราะใกล้เลือกตั้งปัญหานี้ก็เลยถูกละเลยแบบไม่สนใจใยดี 

ความเสียหายจากฝุ่นพิษจากฝุ่น PM 2.5  ต่อเศรษฐกิจ และจากการที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อรักษาสุขภาพมากกว่าโควิด-19 หลายเท่า แต่ความกระตือรือร้นในการแก้ปัญหาช่างต่างกันลิบลับแบบไม่เห็นฝุ่น

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ระวังสำลัก “ประชานิยม” 

ปัญหา “ราคาน้ำมัน”… ต้องเกาให้ถูกที่คัน

เหลียวมองเพื่อนบ้าน ทำไม “เศรษฐกิจไทย” โตช้า

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ