TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเหลียวมองเพื่อนบ้าน ทำไม "เศรษฐกิจไทย" โตช้า

เหลียวมองเพื่อนบ้าน ทำไม “เศรษฐกิจไทย” โตช้า

ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายๆคนอาจจะเกิดอาการช็อกอย่างไม่ทันตั้งตัว โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดหุ้นดัชนีตลาดหุ้นติดลบเมื่อเห็นตัวเลขเศรษฐกิจจริงในปี 2565 ที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศออกมาเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก คือขยายตัวได้เพียง 2.6% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะขยายตัวได้ที่ประมาณ 3.2% 

ปัจจัยที่ฉุดรั้งให้ GDP เติบโตไม่ได้ตามที่คาดการณ์ไว้ คือเรื่องของภาคการส่งออกสินค้าที่ติดลบถึง 10.5% ในแง่ของปริมาณการส่งออก ซึ่งการส่งออกในปีที่ผ่านมาเดือนสุดท้ายติดลบ 2 หลักทำให้ส่งผลต่อ GDP อย่างมาก โดยในแง่ของมูลค่าติดลบมากถึง 7.5% เลยทีเดียว

ทั้งนี้เนื่องจากภาคการส่งออกถือว่าเป็นหัวใจของเศรษฐกิจไทย เป็นเครื่องยนต์ที่ปั๊มรายได้เข้าประเทศ มีสัดส่วนมากถึงกว่า 70% ของจีดีพี การส่งออกที่ติดลบจึงฉุดให้ GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวได้เพียง 1.4% เท่านั้น   

ขณะที่คาดการณ์กันว่าในปี 2566 ภาคการส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้การส่งออกทั้งปีจะติดลบโดยเมื่อคิดในรูปของเงินดอลลาร์จะติดลบ 1.6% เทียบกับการขยายตัว 5.5% ในปี 2565 โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกจะลดลง 0.6% จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1% นอกจากนี้ ยังมีการปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจในปีนี้จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 3-4% เหลือ 2.7-3.7% เท่านั้น

อันที่จริงเศรษฐกิจไทยเริ่มแผ่วมานานหลายปีติดต่อกันตั้งแต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 จีดีพีแตะ5% แค่ไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับ 3.5% อย่างมาก ทำให้ไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางมานานถึง 30 ปี ข้อมูลล่าสุดเมื่อในปี 2564 คนไทยรายได้ต่อหัว 7,097 เหรียญสหรัฐ ตั้งเป้าจะยกระดับรายได้ให้ถึง 9,300 เหรียญสหรัฐ ระหว่าง 2566-2570 พิจาณาจากปัจจัยต่าง ๆ แล้วฝันอาจไม่เป็นจริง

ลองย้อนดูตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี 5 ปี และ 3 ปี อยู่ที่ 3.5%, 3.6% และ 3.4% ต่อปี ตามลำดับ ดังนั้นหากไทยตั้งเป้าว่าภายใน 10-15 ปี จะหลุดจากกลุ่มประเทศกับดักรายได้ปานกลาง นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 5% ต่อปีขึ้นไป หากอัตราการเติบโตไม่ 3.5% ต่อปีโดยเฉลี่ย จึงไม่แรงพอที่จะผลักดันให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้ 

เหตุที่เศรษฐกิจไทยต้องต่ำเตี้ยเรี่ยดินมาอย่างยาวนาน ก็เนื่องมาจากในห้วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่มีปัจจัยอะไรใหม่ ๆ ที่นำมาสู่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ ไม่มีโมเดลการพัฒนาใหม่ ๆ นโยบายต่าง ๆ อยู่กับปัจจัยเดิม ๆ ยังต้องอาศัยเนื้อนาบุญเศรษฐกิจโลกพึ่งพาการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนสูงกว่า 70% ของ GDP เป็นหลักและกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายลด แลก แจกแถม ไม่ได้สร้างผลผลิตของประเทศ

สะท้อนจากการลงทุนทั้งภาคภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับไม่เกิน 25% ของ GDP มาตั้งแต่ปี 2541 สะท้อนว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมาสัดส่วนการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐน้อยมาก ๆ จนแทบจะเรียกว่าส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด จึงไม่แปลกใจที่อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของไทยต่ำที่สุดในกลุ่ม 6 ประเทศเศรษฐกิจอาเซียน 

เมื่อมองบ้านเราแล้ว หันไปมองเพื่อนบ้าน สำหรับประเทศที่ขยายตัวมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ มาเลเซีย ขยายตัว 8.7% เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง และการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะหลังจีนเปิดประเทศได้ช่วยชดเชยความต้องการสินค้าจากมาเลเซียที่ชะลอตัวลงได้ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 

ล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียเปิดเผยรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปี 2565 ชาวมาเลเซียมีรายได้เฉลี่ยต่อหัว13,268 เหรียญสหรัฐ ต่อคนจากปี 2564 ที่มีรายได้ 11,399 เหรียญสหรัฐ ต่อหัวทำให้มาเลเซียกลายเป็น “ประเทศที่มีรายได้สูง” ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการสร้างรายได้จากการขุดเจาะน้ำมัน ทำให้มาเลเซีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 37 ของโลก และเป็นอันดับที่ 3 ในอาเซียน

รองลงมาคือ เวียดนามที่ 8.0% ดาวเด่นอย่าง “เวียดนาม” ก็ยังเนื้อหอมนักลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาลงทุนหรือย้ายฐานการลงทุนจากที่อื่น ๆโดยเฉพาะจากจีนกันอย่างคึกคัก แม้แต่นักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนไม่น้อย เวียดนามมีจุดแข็งหลาย ๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิพิเศษเต็มที่ มีประชากรในประเทศกว่า 100 ล้านคน เป็นฐานค่อนข้างใหญ่และส่วนใหญ่เป็นคนในวัยหนุ่มสาววัยทำงานมีรายได้ ส่งผลให้คนชั้นกลางในเวียดนามขยายใหญ่ขึ้น คนกลุ่มนี้กล้าจับจ่ายใช้สอยทำให้มีกำลังซื้อสูง 

แต่ที่เป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนมากที่สุด น่าจะมีผลมาจากที่รัฐบาลเวียดนามได้ทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับ 54 ประเทศ เวียดนามได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งใหม่ของโลก นักลงทุนต่างชาติได้พาเหรดย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เข้ามาลงทุนในเวียดนามกันอย่างคึกคักจนได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานโลกแห่งใหม่” 

รัฐบาลเวียดนามไม่ได้ต้องการเป็นแค่โรงงานโลกแต่ต้องการเป็น “ผู้ผลิต” และ “สร้างแบรนด์” สินค้าเป็นของตัวเอง จะเห็นได้จากกรณีการผลิตรถยนต์สัญชาติเวียดนามภายใต้แบรนด์ “วินฟาสต์” ออกสู่ตลาดโลก รวมถึงมีแผนปฏิบัติการ ที่จะสร้าง Silicon Valley เอกชนเป็นทัพหน้าโดยมีรัฐบาลหนุนเต็มที่ จึงไม่แปลกใจว่าทำไม เวียดนามกลายเป็นประเทศที่กำลังถูกจับตามองถึงความโดดเด่นและร้อนแรงในทุก ๆ ด้าน

ส่วนอินโดนีเซียรั้งอันดับ 4 โดยมีแรงหนุนจากการผ่อนคลายมาตรการป้องกันโควิดของรัฐบาล ที่ทำให้การบริโภคของภาคครัวเรือนซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ อินโดนีเซียซึ่งเป็นซับพลายเออร์น้ำมันปาล์ม แร่นิกเกิล และถ่านหินเชื้อเพลิงให้ความร้อนหลักของโลก ยังได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ทำให้การส่งออกภาคบริการเริ่มฟื้นตัว

ด้าน “โจโควี” ผู้นำอินโดนีเซียก็ไม่นิ่งเฉย พยายามฟื้นเศรษฐกิจของประเทศที่บอบช้ำจากโควิดให้เร็วที่สุด เห็นจากตอนที่ไปเยือนสหรัฐฯ เพื่อร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว “โจโควี” ได้โน้มน้าว “อีลอน มัสก์” แห่ง Tesla และ SpaceX เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย โดยชี้ให้เห็นว่าเห็นว่าอินโดนีเซียไม่ได้มีเพียงแค่ทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการผลิตแบตเตอรี่เท่านั้นแต่ยังมีศักยภาพด้านอื่น ๆ  อีกมากมาย 

ส่วนฟิลิปปินส์ในปีที่ผ่านมาก็เติบโตอย่างไม่น่าเชื่อถึงร้อยละ 7.6 เลยทีเดียว แต่พื้นฐานเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ นอกจากแรงงานส่งเงินกลับประเทศแล้วด้วยความที่ประชากรฟิลิปปินส์มีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษค่อนข้างดี รายได้หลักของประเทศในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา คือ กิจการรับจ้างบริหารธุรกิจ (Business Process Outsourcing: BPO) ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาลจนได้รับฉายาว่า เป็น “แบ๊คออฟฟิศของโลก” ส่วนสิงคโปร์เศรษฐกิจโตถึง 3.6% ไม่น้อยเลยสำหรับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่

ตราบใดที่ประเทศไทยไม่ปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตมากขึ้น ยังหวังพึ่งแต่การส่งออกสินค้าแบบเดิม ๆ และธุรกิจท่องเที่ยวที่มีความเปราะบางคงยังติดกับดักรายได้ปานกลางอีกนาน จะต้องปรับโครงสร้างสินค้าจากปัจจุบันที่เคยผลิตใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านโดยยกระดับการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและเป็นสินค้านวัตกรรมและเทคโนโลยี จึงจะส่งออกได้มูลค่าเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งเจรจาทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ให้มากขึ้นด้วย

นั่นแปลว่าจะต้องมีรัฐบาลที่กล้าหาญจัดสรรงบประมาณแบบยกเครื่องใหม่ทั้งหมด ต้องกล้าตัดงบประมาณในส่วนที่ไม่จำเป็นลงเพื่อนำมาใช้เพื่อการลงทุนของภาครัฐ และต้องจริงใจในการขจัดคอรัปชั่นที่ทำให้ประเทศต้องเสียโอกาสจึงจะรอด

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

โลกร้อน …… ภัยเงียบ “ส่งออก”

“Virtual Bank”… อาวุธลับเขย่า “แบงก์รูปแบบเดิม”

จีนเทา-จีนขาว ยึดเมือง !!!

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ