TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist"Virtual Bank"... อาวุธลับเขย่า "แบงก์รูปแบบเดิม"

“Virtual Bank”… อาวุธลับเขย่า “แบงก์รูปแบบเดิม”

วิวัฒนาการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยแต่ก็เป็นเพียงพัฒนาการในเชิงรูปแบบเท่านั้น ทุกวันนี้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทยยังเป็นระบบผูกขาดอยู่กับแบงก์ใหญ่ราว 4-5 แห่ง ซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายราคา/อัตราดอกเบี้ย โดยที่ธนาคารขนาดเล็กต้องดำเนินนโยบายตามอย่างไม่มีทางเลือก ทำให้บรรดาลูกค้ารายย่อยและผู้ประกอบการ SME เข้าไม่ถึงแหล่งทุนต้องหันไปกู้นอกระบบต้องรับภาระดอกเบี้ยสูง

ขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ “แบงก์ชาติ” มีนโยบายเปิดให้มี Virtual Bank หรือ “ธนาคารไร้สาขา” บางคนก็เรียกว่า “ธนาคารเสมือน” ซึ่งในต่างประเทศจะเรียกว่า “Digital Bank” โดยจะเข้ามาช่วยตอบโจทย์กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการการเงิน พร้อมวางกรอบการอนุญาตจัดตั้ง โดย Virtual Bank สามารถทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้เต็มรูปแบบ 

ศูนย์วิจัยกสิกร มองปี 65 ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจะทยอยเติบโต เนื่องจากอยู่ในช่วงเริ่มต้น

ทั้งนี้ผู้ขอจัดตั้งจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์การกำกับดูแลเหมือนธนาคารพาณิชย์ทุกอย่าง เพื่อให้ดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงิน โดยจะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 5,000 ล้านบาท ณ วันเปิดดำเนินการ และทยอยเพิ่มทุนให้มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท เมื่อเข้าสู่ดำเนินธุรกิจเต็มรูปแบบ

ในช่วงเริ่มต้นถือเป็นขั้นทดลองหาข้อบกพร่องเพื่ออุดช่องโหว่ แบงก์ชาติจึงจะออกใบอนุญาตให้แค่ 3 ใบก่อนเป็นการชิมลาง รูปแบบในการจัดตั้งกำหนดไว้ 3 รูปแบบ คือ 1.ตั้งบริษัทลูกแยกออกจากธนาคารพาณิชย์เดิม 2.ตั้งเป็นบริษัทลูกของ Non-Bank และ 3.การร่วมทุนระหว่างธุรกิจต่าง ๆ เช่น การร่วมทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์เดิมกับ Non-Bank หรือการร่วมทุนระหว่าง Non-Bank ต่างประเภทที่สามารถเสริมจุดแข็งระหว่างกันได้

ด้านคุณสมบัติผู้ที่จะขอจัดตั้ง Virtual Bank ได้จะต้องมีความเชี่ยวชาญการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัล พร้อมทั้งเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีและข้อมูลที่หลากหลาย เช่น นำพฤติกรรมการใช้จ่ายมาใช้ประเมินความเสี่ยงวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้องนำเสนอบริการการเงินรูปแบบใหม่ให้ลูกค้ากลุ่มต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมและครบวงจร

ทันทีที่แบงก์ชาติมีนโยบายออกมา หลายๆกลุ่มเริ่มเคลื่อนไหวจะเข้ามาแย่งเค้กก้อนนี้ จากการเปิดเผยของแบงก์ชาติอย่างเป็นทางการมีผู้สนใจที่จะลงทุนใน Virtual Bank มากกว่า 10 รายทั้งหน้าใหม่ที่อยู่นอกวงการธนาคารและกลุ่มธนาคารเดิม แต่ทีประกาศความพร้อมเป็นรายแรก ๆ คือ กลุ่ม “กัลฟ์-เอไอเอส-กรุงไทย” ที่ประกาศพร้อมยื่นขอใบอนุญาตทันทีที่แบงก์ชาติเปิดให้ยื่นใบสมัคร 

อีกลุ่มหนึ่งที่ไม่น่าพลาด คือ กลุ่มซีพีที่มีความสนใจจะเข้าธุรกิจธนาคารมานาน เที่ยวนี้ถือเป็นโอกาสดีโดยมีบริษัทในเครืออย่างกลุ่มทรูและแอสเซนด์ กรุ๊ป ที่เป็นเจ้าของอีวอลเลต “ทรูมันนี่” อีกทั้งมีร้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” อยู่เกือบ 14,000 แห่งทั่วประเทศ เป็นช่องทางเติมเต็มการบริการ ประกอบกับเมื่อต้นปีนี้ “แจ็ค หม่า” มาเมืองไทยมีผู้บริหารซีพีให้การดูแลไม่แน่ใจว่าจะมีส่วนกับเรื่องนี้หรือไม่

กลุ่ม JMART ก็เป็นอีกรายที่ประกาศตัวว่าจะเข้าชิง จะมีพันธมิตรอย่าง KB Financial Group และกลุ่มธุรกิจการเงินของเกาหลีใต้ ที่น่าสนใจกลุ่มนี้มีฐานลูกค้าจากซิงเกอร์ ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานจากสถาบันการเงินในระบบได้ ทำให้ JMART มีความพร้อมในการเข้าลงทุนในธุรกิจนี้ ไม่น้อยกว่ารายอื่น ๆ

เมื่อยุคของ Web 3.0 มาถึง โลกเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าที่คุณคิด

สำหรับ Virtual Bank นั้นมีข้อดีกว่าธนาคารรูปแบบเดิม คือ จะไม่มีสาขาและตู้ ATM ให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งกระบวนการ จะมีความยืดหยุ่นกว่าธนาคารรูปแบบเดิม สามารถออกนวัตกรรมทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ตามการเปลี่ยนแปลงและความต้องการของผู้บริโภค 

อีกทั้ง มีบัญชีเงินฝากแบบไม่มีสมุดคู่ฝาก ซึ่งเจ้าของบัญชีสามารถแบ่งบัญชีออกเป็นบัญชีย่อยได้ตามวัตถุประสงค์ในการฝากเงิน บัญชีเงินฝากจะได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไป และอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน และมี AI ที่ช่วยแนะนำการออมและการใช้จ่ายให้เหมาะกับพฤติกรรมของเจ้าของบัญชี   

นอกจากนี้ ให้สินเชื่อโดยผู้กู้ไม่ต้องแสดงหลักฐานรายได้ และมีการอนุมัติสินเชื่ออย่างรวดเร็ว มีบริการสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และรายย่อย เช่น เชื่อมบัญชีเงินฝากกับระบบทำบัญชีออนไลน์ เป็นต้น

จากประสบการณ์ของ Virtual Bank ในต่างประเทศได้มีผลิตภัณฑ์และบริการที่น่าสนใจ เช่น บัญชีเงินฝากที่ไม่มีสมุดคู่ฝาก โดยให้ดอกเบี้ยเงินฝากสูงกว่าบัญชีเงินฝากทั่วไป และอาจได้รับดอกเบี้ยเป็นรายวัน ที่สำคัญเปิดบัญชีได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนก็เปิดได้แล้ว

ปัจจุบันมีหลายประเทศได้ออกหลักเกณฑ์ใบอนุญาตให้จัดตั้ง Virtual Bank และดำเนินธุรกิจไปบ้างแล้ว เช่น บราซิล สหราชอาณาจักร ไต้หวัน  ฮ่องกง เกาหลีใต้ และจีนโดยเฉพาะ ANT เป็น Virtual Bank ที่มีมูลค่าธุรกิจมากที่สุดในโลก และมีผู้ใช้งานมากถึง 1,300 ล้านคน  

บทบาท True Digital Park กับการสร้าง Tech Ecosystem ให้ประเทศไทย

ในอาเซียนก็มีสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซีย มีการดำเนินการธนาคารดิจิทัลภายใต้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ทั่วไป จากประสบการณ์ในต่างประเทศ พบว่า Virtual Bank มีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะรับสมัครลูกค้าได้ง่าย

เหนือสิ่งใด Virtual Bank หรือ “ธนาคารไร้สาขา” จะช่วยลดต้นทุนทั้งพนักงาน อาคาร/สถานที่ ที่ถือเป็นต้นทุนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ ทำให้ต้นทุนการให้บริการประชาชนได้ต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิม ซึ่งจะจูงใจให้คนรุ่นใหม่เข้ามาใช้บริการมากขึ้น

เหรียญมีสองด้าน ในจุดแข็งย่อมมีจุดอ่อน ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหาตามมา แบงก์ชาติจึงกำจัดจุดอ่อนด้วยการออกประกาศข้อห้ามว่า Virtual Bank ต้องไม่กระตุ้นให้เกิดการแข่งขันปล่อยสินเชื่อ จนประชาชนมีหนี้สินเกินตัว และไม่เอื้อประโยชน์ให้ใช้อำนาจเหนือตลาด หรือผูกขาดให้แก่ธุรกิจในเครือจนกระทบต่อระบบการเงิน

แต่สิ่งที่อยากจะฝากแบงก์ชาติคือ จะต้องคุมเข้มไม่ให้ Virtual Bank มีการขยายธุรกิจเกินตัวจนนำไปสู่การล้มละลายจนอาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงทางการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้  

ที่สำคัญเนื่องจากเป็นของใหม่แบงก์ชาติต้องเร่งให้ความรู้และความมั่นใจกับประชาชนที่ใช้บริการ อย่าลืมว่า คนจำนวนหนึ่งค่อนข้างกังวลเรื่องของความปลอดภัย ด้วยความที่ธุรกรรมทุกอย่างอยู่บนออนไลน์ ดังนั้นก็อาจจะกังวลไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเงินของพวกเขาหรือไม่ 

เมื่อ Virtual Bank สมบูรณ์แบบคงทำให้วงการธนาคารคึกคักมากขึ้นส่วนผู้บริโภคก็คงสะดวกขึ้นและมีตัวเลือกการใช้บริการมากขึ้นบรรดาธุรกิจรายเล็กรายน้อยมีช่องทางเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

จีนเทา-จีนขาว ยึดเมือง !!!

บางจาก ฮุบ เอสโซ่ … ท้าชน ปตท.

“รื้อ-ล้างไพ่” ท่องเที่ยวไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ