TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistโลกร้อน …… ภัยเงียบ "ส่งออก"

โลกร้อน …… ภัยเงียบ “ส่งออก”

แม้ในบ้านเราจะพูดคุยถึงเรื่องโลกร้อนกันมานาน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่มีความชัดเจน แทบไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “คาร์บอนเครดิต” ที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักกันน้อยมากทั้งที่มีความสำคัญระดับโลก คงถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกคนต้องตระหนักว่า ภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ไม่ใช่แค่เรื่องที่พูดถึงกันลอย ๆ แต่ต้องลงมือทำอย่างจริงจังเพราะมันใกล้ตัวเราเข้ามาทุกที

หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าประเทศไทยถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยติดอันดับ 9 ของโลกจาก 180 ประเทศ แต่ละปีจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 350 ตัน เข้าขั้นวิกฤติ

ทุกวันนี้หลาย ๆ ประเทศที่ทำมาค้าขายกับไทยต่างกระตือรือร้นในเรื่องนี้อย่างมาก ได้ออกกฎหมายที่จะเก็บภาษีสูงขึ้น หากสินค้าที่ส่งไปขายไม่มีมาตรฐานด้านการลดภาวะโลกร้อน ถ้าไทยไม่ปรับตัวจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเรื่องที่ต้องเร่งทำ ถ้าไม่ทำก็จะถูกบังคับให้ทำ

กลุ่มประเทศอียูได้ให้ความสำคัญกับเรื่องมาก ๆ โดยออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในอียู (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) จะเริ่มทยอยออกมาใช้ 1 ตุลาคม 2566 เพื่อบังคับให้ประเทศนอกอียูต้องเพิ่มความรับผิดชอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่ากับอียู 

นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงส่งสินค้าออกไปยังอียูจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM เพื่อชำระส่วนต่างราคาคาร์บอนในประเทศที่ผลิตสินค้ากับราคาคาร์บอนในอียู ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าไทยมีราคานำเข้าสูงขึ้น ความสามารถการแข่งขันลดลง สินค้าที่อียูจะนำร่อง ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า ไฮโดรเจน เคมีภัณฑ์ และพลาสติก ในอนาคตจะทยอยขยายไปสินค้าอื่น ๆต่อไป

ในฝั่งของสหรัฐฯ ทางสมาชิกวุฒิสภาได้เสนอร่างกฎหมาย Clean Competition Act (CCA) ตั้งเป้าเก็บภาษีคาร์บอนกับสินค้าที่กระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนปริมาณสูง คาดว่าจะบังคับใช้ในสินค้าหลายชนิด อาทิ เชื้อเพลิงฟอสซิล ผลิตภัณฑ์จากการกลั่นปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ปุ๋ย ไฮโดรเจน กรดอะดิพิก ซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม กระจก เยื่อกระดาษและกระดาษ และเอทานอล โดยจะเริ่มในปี 2567 และภายในปี 2569 จะขยายให้ครอบคลุมสินค้าสำเร็จรูปที่มีสินค้าข้างต้นเป็นส่วนประกอบในการผลิตอีกด้วย

ต้องบอกว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก ๆ เนื่องจากมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังอียูและอเมริกามีสัดส่วนประมาณ 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และในอนาคตญี่ปุ่นและจีนก็มีแนวโน้มจะใช้มาตรการนี้เช่นกัน ในด้านหนึ่งก็เป็น “มาตรการกีดกันทางการค้า”​ นั่นเอง

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ โครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาได้เปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยตั้งเป้าปลูกป่าชายเลนในปีแรกเนื้อที่ 44,721.9 ไร่ เงื่อนไข ภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90% และรัฐบาลจะได้ 10% ระยะเวลาโครงการ 30 ปี

10 ข้อควรรู้เกี่ยวกับที่มา และ ตลาดคาร์บอนเครดิต

COP 27 กับการหารือกลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

สำหรับ คาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการปลูกป่าชายเลนเรียกว่า “บลูคาร์บอน” เป็นคาร์บอนที่ดีที่สุด ส่วนพื้นที่ที่เอกชนได้รับอนุมัติถือเป็นการได้มาซึ่งสิทธิ์ในการปลูกป่าและดูแลรักษาป่าชายเลนให้มีทัพยากรธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น ทำให้ระบบนิเวศสมบูรณ์ขึ้นเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ไปล้อมรั้วหรือไปปิดกั้นคนในชุมชน คนในชุมชนเข้ามาทำเกษตรกรรม ทำประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำได้ ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งยังได้ประโยชน์จากการจ้างงานเพื่อดูแลพื้นที่ป่าอีกด้วย 

ทุกวันนี้ภาคเอกชนเองเริ่มเห็นแล้วว่าคาร์บอนเครดิตมีความสำคัญต่ออนาคตของประเทศและต่อการทำธุรกิจ เฉพาะอย่างยิ่งเอกชนรายใหญ่ที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมาก ๆ เช่นกลุ่มธุรกิจพลังงาน อุตสาหกรรมเหล็ก ถ่านหิน ซีเมนต์ ต่างก็เข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต แต่ทั้งหมดทำเพื่อทดแทนในส่วนที่บริษัทได้ก๊าซปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่านั้นไม่ได้มีเป้าหมายในเชิงธุรกิจ 

แต่ทำในเชิงธุรกิจจริง ๆ โดยมีเป้าหมายผลิตป้อนให้กับบริษัทส่งออกสินค้าไปยุโรปและสหรัฐและประเทศอื่น ๆ ที่มีมาตรการนี้ เท่าที่เห็นมีเพียง บริษัท ดิทโต้ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทมีพื้นที่ปลูกป่าชายเลนกว่า 20,000 ไร่ เป้าหมายทั้งหมด 100,000 ไร่ 

”ฐกร รัตนกมลพร” ซีอีโอของดิทโต้ เล่าให้ฟังว่าสาเหตุที่ดิทโต้สนใจเรื่องปลูกป่าเพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต เนื่องจากแต่เดิมดิทโต้ทำธุรกิจที่ช่วยลดโลกร้อนมาตลอด กลุ่มธุรกิจหลักอย่างระบบการจัดการเอกสารในรูปแบบดิจิทัลแบบครบวงจร ได้เปลี่ยนเอกสารที่เป็นกระดาษมาเป็นระบบไร้กระดาษ ลดการใช้กระดาษมากกว่า 800 ล้านแผ่น เท่ากับกระดาษกว่า 1.6 ล้านรีม แปลงมาเป็นกระดาษได้กว่า 4,000 ตัน ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์กว่า 16,000 ตัน จำนวนกระดาษที่ใช้ลดลงช่วยลดการตัดต้นไม้ในแต่ละปีจำนวนมาก และนำไปคำนวณคาร์บอนเครดิตได้

ในส่วนโครงการคัดแยกขยะด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งจะช่วยลดโลกร้อน ปัจจุบันดิทโตเข้าไปคัดแยกขยะให้กับอบจ.แห่งหนึ่ง มีปริมาณขยะ 160 ตันซึ่งคำนวณคาร์บอนเครดิต 0.5-0.6% ต่อตันต่อวัน หากรวมทั้งปีจะได้คาร์บอนเครดิต 30,000-40,000 ตันต่อปี สามารถนำมาคำนวณคาร์บอนเครดิตได้เช่นกัน

“ส่วนที่เลือกปลูกป่าชายเลน เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการยินยันว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับคาร์บอนเครดิตได้มากถึง 8-10 ตันต่อไร่ต่อปี สูงกว่าป่าบกหลายเท่า ขณะที่บริษัทเอกชนที่ส่งสินค้าออกไปยังตลาดยุโรปจะได้รับผลกระทบจากระเบียบ CBAM ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจากการที่ทางยุโรปเรียกเก็บภาษีการปล่อยคาร์บอน ถึงตอนนั้นเอกชนไทยต้องซื้อมาชดเชยหากลดในกระบวนการอื่นแล้วยังมีส่วนที่ปล่อยเกิน ตอนนี้ทางบริษัทมีความพร้อมอย่างมากและได้ทยอยปลูกในหลายพื้นที่แล้ว” ฐกร กล่าว

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยยังเป็นวิธีสมัครใจแต่ถ้าจะให้ได้ผลและทันสถานการณ์การค้าที่กำลังทวีความเข้มข้น รัฐบาลจะต้องผลักดันให้เป็นภาคบังคับโดยออกกฎหมายมาบังคับใช้โดยเร็วที่สุด เพราะนี่คือภัยเงียบที่จะส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยมหาศาลในอนาคต

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

“Virtual Bank”… อาวุธลับเขย่า “แบงก์รูปแบบเดิม”

จีนเทา-จีนขาว ยึดเมือง !!!

บางจาก ฮุบ เอสโซ่ … ท้าชน ปตท.

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ