TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityเปลี่ยนอนาคตประเทศไทย ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

เปลี่ยนอนาคตประเทศไทย ด้วยเศรษฐกิจสีเขียว

หากไม่นับช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เผชิญกับโควิด ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา GDP ของประเทศไทย โตกว่า 3 เท่ามาถึงปี 2564 GDP ของไทยอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท การพัฒนาทั้งหลายทั้งปวงนี้ สิ่งที่ตามมาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

World Economic Forum ได้เปิดรายงานความเสี่ยงของโลก ปี 2022 การที่จะเผชิญกับ Climate Change การแก้ปัญหาโลกร้อน เป็นสิ่งที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในงานเสวนา “ปลุกพลังความร่วมมือสู่เป้าหมายความยั่งยืน” ที่จัดโดยกลุ่มธุรกิจ TCP ว่า ที่ผ่านมา ถึงปี 2559 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก 354 ล้านตัน ภาคที่ปลดปล่อยมากที่สุดคือภาคพลังงาน และภาคการเกษตร แม้ว่า 354 ล้านตัน ฟังดูเหมือนมาก และเมื่อเทียบกับทั่วโลก ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงแค่ 0.8 % เท่านั้น แต่เวลาเกิด Climate Change เกิดน้ำท่วม น้ำแล้ง ขึ้นมา ประเทศไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศแรกของโลกที่จะเจอผลกระทบ ทางด้าน Climate Change 

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติสภาพภูมิอากาศ ยุโรปเจอคลื่นความร้อน กรุงโซลน้ำท่วม อิตาลีธารน้ำแข็ง ยุบตัว เป็นต้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นสิ่งที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ 

นอกจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว ยังมีปัญหา PM2.5 ปัญหาเรื่องสุขภาพที่เจอกันทุกปีในกรุงเทพฯ ในเมืองใหญ่ ๆ นอกจากในประเทศ แล้วยังเจอปัญหา trans boarding pollution ทั้งทางทิศตะวันออกและตะวันตกจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งปัญหา PM2.5 มีมูลค่าความเสียหาย 2 ล้านล้านบาท ทั้งสุขภาพ ทั้งเศรษฐกิจและอีกหลาย ๆ อย่าง 

สำหรับเรื่องขยะ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่ามีการทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลกันมากเป็นอันดับที่ 10 ของโลก ดีขึ้นกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน ที่อยู่อันดับที่ 6 เพราะประเทศไทยตื่นตัว ประชาชนใส่ใจกับการทิ้งขยะมากขึ้น 

การใช้มาตรการ Non-Tariff Barriers กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ยกตัวอย่างเช่น ในยุโรป Carbon Border Adjustment Mechanism วันนี้ CBAM ครอบคลุมสินค้าอยู่ 5 ชนิด มีปุ๋ย พลังงาน ซีเมนต์ เหล็กและกล้า และอลูมิเนียม คณะกรรมการของ EU กำลังพิจารณาผลิตภัณฑ์ที่ 6 เกี่ยวกับยานยนต์ ในอนาคตมีการขยายรวมไปถึงเครื่องดื่มและสินค้าเกษตร จะเป็นตัวผลักดันภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจของทุกประเทศทั่วโลก จะต้องตื่นตัวและเร่งมาว่าจะทำอย่างไรให้คาร์บอนฟุตปริ้นท์เล็กลง

นอกจาก CBAM ของ EU แล้ว หลายประเทศอย่าง แคนาดา สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ กำลังพิจารณาจะเอา Non-Tariff Measures แบบนี้มาใช้ เกี่ยวกับเรื่องควบคุมคาร์บอนฟุตปริ้นท์ของสินค้าต่าง ๆ เช่นกัน 

ประเทศไทยภาครัฐและเอกชนต้องมาร่วมมือกันในการจะทำอย่างไรให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถทำธุรกิจกับนานาอารยะประเทศได้ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืน SDG ที่รัฐบาลได้เข้าไปร่วมภายใต้ข้อตกลงปารีส Paris Agreement เมื่อปลายปีที่แล้ว 

“ที่ประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกลว์ นายกรัฐมนตรี ได้ไปแถลงถึงเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยของเรา จะก้าวเข้าสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และก้าวเข้าสู่สถานะ Net Zero Emission ภายในปี 2065” วราวุธ กล่าว

วราวุธ กล่าวว่า การปล่อยสุทธิ ให้เป็นศูนย์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อมี 3 สิ่งนี้ คือ เงิน เทคโนโลยี และความรู้ จะทำให้ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่ Net Zero Emission และ Carbon Neutrality ภายในปี 2065 และ 2050 ไม่ได้ไกลเกินฝัน ทุกประเทศต้องมาช่วยกัน

“Net Zero จะทำให้โลกของเรา อุณหภูมิเพิ่มขึ้นไม่ถึง 1.5 องศาเซลเซียส อย่าไปเปรียบเทียบอุณหภูมิของโลกกับอุณหภูมิแอร์ เพราะโลกใบนี้เปรียบเสมือนมนุษย์คนหนึ่ง มีความเปราะบาง ความอ่อนไหวมาก ดังนั้น วันนี้ถ้าเราไม่ทำอะไร โลกของเรากำลังจะป่วยขึ้น ๆ แล้วเวลาโลกป่วยมนุษย์ก็จะป่วยตาม ดังนั้น จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมประเทศไทยถึงได้เข้าสู่การเข้าร่วมกับนานาอารยะประเทศ ในการที่จะเดินหน้าก้าวเข้าสู่สถานะ Net Zero” วราวุธ กล่าว

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีแผนระยะยาวในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะต่ำ (Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy) ปี 2030 จะต้องลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ 40% มีการปรับปรุง Naturally Return in Contribution วางแผนว่าต้องทำอะไรบ้าง จะเห็นมาตรการต่าง ๆ ที่เริ่มออกมาใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้พลังงานทดแทนที่มากขึ้น การใช้ EV รัฐบาลส่งเสริมการใช้ EV ให้มากขึ้น

แม้แต่การใช้ปูน ปูนซีเมนต์ การผลิตปูนซีเมนต์ 1 ตัน มันผลิตก๊าซเรือนกระจกออกมา 1 ตัน เท่ากันกับปูนซีเมนต์ เพราะฉะนั้น วันนี้กำลังปรับเปลี่ยนจาก Portland Cement มาเป็น Hydraulic Cement คือระหว่างการผลิตปูน จะลดคาร์บอนฟุตปรินท์ของปูนแต่ละตัน จะเอื้อเวลาส่งปูนไปยุโรปเช่นกัน 

การปรับปรุงการทำนา เพราะการทำนาเป็นหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด เพราะการปลูกข้าว เกษตรกรจะเอาน้ำเข้าไปอยู่ในนา ตลอดระยะเวลา 3-4 เดือนในการทำนา น้ำที่อยู่ในนาหมักหมม กันอยู่นาน ๆ ตอซังข้าวที่อยู่ในนา จะเกิดการหมักหมม ปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นมาภาคการเกษตรเป็นอีกหนึ่งภาคอุตสหากรรมเราสามารถใช้เทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 

การจัดการขยะ น้ำเสียในชุมชน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม การผลิตพลังงานจากขยะ หรือ Waste-to-Energy เริ่มมีการใช้มากขึ้น อาทิ ที่ภูเก็ต มีโรงกำจัดขยะที่ผลิตไฟฟ้า ได้มาตรฐาน และมีศักยภาพพอสมควร 

รัฐบาลมีการดำเนินนโยบายด้านต่าง ๆ ดังนี้ ….

ด้านนโยบาย มีการบูรณาการเป้าหมาย Net Zero ไม่ว่าจะเป็น Greenhouse Gas หรือ Net Zero CO2 Emission เข้าสู่นโยบายยุทธศาสตร์ชาติ แผนระดับกระทรวง ระดับกรม ไม่ใช่เฉพาะแค่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่กระทรวงสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญ ที่จะต้องไปผนวกรวมแผนเข้าด้วยกันว่าจะต้องมีแผนระยะยาวของการลดคาร์บอนฟุตปรินท์ของการทำงานในแต่ละภาคสาขาอย่างไร

การขับเคลื่อนนโยบาย BCG-Bio Circular Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว นี่จะเป็นหัวใจสำคัญ ในการที่จะสามารถลดคาร์บอนฟุตปรินท์ การสร้าง S-Curve ใหม่ทางเศรษฐกิจ เป็นการที่จะทำให้ การเติบโตทางเศรษฐกิจจากนี้ไป 

“ไม่กี่ครั้งที่มนุษย์เราจะได้รับโอกาสครั้งที่ 2 จากธรรมชาติ กระทรวงทรัพย์ฯ เราถือว่าโควิด 19 เป็นสัญญาณเตือนจาก Mother of Nature ว่าที่คุณทำมาทั้งหลาย ปู้ยี้ปู้ยำโลกใบนี้มา พอมนุษย์หยุด  ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ทั้งทางบกและทางทะเล มีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นมากมาย เมื่อมนุษย์หยุด ธรรมชาติก็จะออกมาฟื้นฟู” วราวุธ กล่าว

ดังนั้น การที่เราจะสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้มีความมั่นคงจากนี้ และยั่งยืน ไม่ไปสร้างปัญหาให้กับลูกหลานในอนาคต ดังนั้น โมเดลทางเศรษฐกิจใหม่ จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องใช้หลักคิด BCG 

การส่งเสริมภาคการเกษตร มีการใช้เทคโนโลยี NAMA เกิดเป็นโครงการ Thai Rice NAMA ย่อมาจาก Nationally Appropriate Mitigation Action คือ การปลูกข้าวโดยใช้เทคโนโลยีเปียกสลับแห้ง

การใช้เทคโนโลยีเปียกสลับแห้ง คือ ช่วงเวลาที่ข้าวกำลังตั้งท้องจะออกรวง จะปล่อยน้ำให้แห้ง ไม่จำเป็นต้องมีน้ำในนาตลอด 4 เดือนที่ทำนา เมื่อทำอย่างนี้แล้ว น้ำก็จะไม่หมักอยู่ในท้องนา 3-4 เดือน ปริมาณก๊าซเรือนกระจก หายไปประมาณเกือบ 70% และใช้น้ำน้อยลงไปเกือบครึ่งนึง พลังงานที่จะใช้สูบน้ำเข้านาก็หายไปครึ่งหนึ่ง สามารถเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรต่อไร่จากที่ปกติอยู่ที่ 600-700 กิโลกรัมต่อไร่ ได้ขึ้นไปเป็น 800 กิโลกรัมต่อไร่

“แต่ยังอยู่ในช่วง pilot project เพราะว่า การที่จะทำให้นาปลูกเปียกสลับแห้งได้ ต้องใช้เทคโนโลยี Laser Land Levelling ให้พื้นนาเรียบเท่ากันเสียก่อน แล้วเวลาทำให้แห้ง บางที่จะมีปัญหามีหญ้าขึ้น ก็อยู่ในขั้นตอนการศึกษาว่าการใช้เทคโนโลยีมาลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการเกษตรจะทำได้อย่างไร” วราวุธ กล่าว

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ นอกจากเราจะลดการปลดปล่อย ลดคาร์บอนฟุตปรินท์ เทคโนโลยี CCS – Carbon Capture and Storage และ CCUS – Carbon capture, utilization and storage จะเริ่มมีบทบาทเข้ามามากขึ้น วันนี้ต้นทุนของการจะกักเก็บ CO2 1 ตันอยู่ที่ประมาณ 100 เหรียญสหรัฐ ภาคที่จะใช้กันมากขณะนี้เป็นภาคพลังงาน 

ยกตัวอย่าง ปตท. เวลาผลิตก๊าซธรรมชาติ extract ออกมามันจะมีก๊าซ CO2 ออกมาอยู่ที่ 30% สกัดออกมา ทำเป็น Liquid Form แล้วอัดลงไปใต้ดินใหม่ เป็นเทคโนโลยี CCS เทคโนโลยีจะต้องมีการพัฒนาและใช้ให้มากขึ้น ๆ 

“เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วมนุษย์เรา ตราบใดที่มีมนุษย์อยู่บนโลกนี้ ตราบนั้นก็ยังมีก๊าซเรือนกระจกอยู่ แม้แต่เวลาเราหายใจออกมา ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กิจกรรมด้านธุรกิจต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น เทคโนโลยีการดักจับ และใช้ประโยชน์การกักเก็บคาร์บอนจะต้องมีการพัฒนาขึ้น” วราวุธ กล่าว

รวมถึงนวัตกรรมการดักเก็บขยะทางทะเล ขยะลอยน้ำ การเอาขยะพลาสติกมารีไซเคิลใหม่ วันนี้จะเห็นเทคโนโลยี Upcycle เปลี่ยนขยะพลาสติกมาเป็นเสื้อผ้า เป็นไฟเบอร์มาถักทอเป็นเสื้อผ้า เอาขยะพลาสติกมาเข้ากระบวนการ Pyrolysis ปรับสภาพออกมาเป็นน้ำมัน 

ส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ประเด็นที่ 3 เกี่ยวกับการลงทุนในประเทศไทย กระทรวงฯ ได้ประสานกับ BOI ในการจัดทำมาตรการการส่งเสริมการลงทุนในสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดการลงทุนที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยลง เป็น Responsible Investment หรือ RI ให้มากขึ้น

แม้แต่ภาครัฐเองการส่งเสริมให้มี Green Procurement การจัดซื้อจัดจ้าง ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ถ้ามีการก่อสร้าง วันนี้กำลังเปลี่ยนสเปกของปูน จาก Portland Cement มาเป็น Hydraulic Cement เพราะจะลดคาร์บอนฟุตปรินท์ การใช้ยานพาหนะ EV ตอนนี้หลายกระทรวง เริ่มมี EV เข้ามามากขึ้น กระทรวงทรัพยฯ เองตอนนี้ มีการจัดซื้อรถไฟฟ้ามาใช้ (ไม่ใช่ว่าตามอุทยาน เพราะถ้าอยู่ไกล ไม่มีที่ชาร์จ) แต่รถที่วิ่งในเมือง ส่งเอกสาร ทุกวันนี้เราใช้ EV ได้ เพราะฉะนั้น Green Procurement ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทางรัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กลไกตลาดคาร์บอนเครดิต

ด้านต่อมา ด้านกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ ประเด็นนี้จะเริ่มมีความสำคัญและมีผลกระทบกับภาคธุรกิจแล้ว ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ซึ่งทางคณะรัฐมนตรีนั้น ได้รับทราบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่ผ่านมา รวมทั้งองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก เป็นองค์การมหาชนที่อยู่ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกระเบียบการขึ้นทะเบียน การซื้อ การขาย คาร์บอนเครดิต ในปี 2565 ได้ออกมารองรับแล้ว 

“วันนี้ประเทศไทยของเราเป็นประเทศแรกในโลกที่ไปเซ็นสัญญา กับสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้ Paris Agreement ภายใต้ข้อ 6.2 จะมีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกัน และในขณะเดียวกัน ทางสวิตฯ ก็จะให้งบประมาณมา ให้เทคโนโลยีมา มาสร้าง capacity ให้กับประเทศไทย ทำให้วันนี้ กทม.ของเราจะมีการปรับเปลี่ยน รถ ขสมก. ทั้งหมด เกือบ 5,000 คัน แบบ Internal Combustion Engine ไปเป็น EV 100% นี่ก็คือสิ่งที่เรากำลังดำเนินการภายใต้  Paris Agreement เป็นประเทศคู่แรกในโลก เราสามารถพูดได้ว่า ถึงแม้เราจะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% แต่ความที่เราโดนผลกระทบแรก ๆ เลยทำให้เราต้องมีการตื่นตัว ปลายปีนี้ที่เราจะเดินทางไป COP 27 ที่อียิปต์ เราจะเอาความก้าวหน้านี้ไปพูดให้ประชาคมโลกฟังว่า ประเทศไทยของเรานั้น ได้ดำเนินการไปมากขนาดไหนแล้ว” วราวุธ กล่าว

ประเด็นต่อมา คือการดูดซับคาร์บอน หรือการปลูกต้นไม้ ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าอยู่ 31-32% ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ได้กำหนดไว้ว่าประเทศไทยจะต้องมีพื้นที่สีเขียว 55% คือ ป่าธรรมชาติ 35% ป่าเศรษฐกิจ 15% และพื้นที่สีเขียว นันทนาการในเมืองใหญ่ อีก 5% ดังนั้น วันนี้ ยังมีพื้นที่ที่ต้องเร่งในการปลูกป่า จาก 31.6 ให้กลายเป็น 35% 

“บางคนยังสงสัยว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร ถ้าจะให้พูดกันง่าย ๆ คือ ศักยภาพการหายใจของต้นไม้ ต้นไม้หายใจตรงข้ามกับมนุษย์ มนุษย์เราหายใจเอาออกซิเจนเข้าไป หายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ส่วนต้นไม้ช่วงกลางวันหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป แล้วหายใจออกมาเป็นออกซิเจน ศักยภาพการหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไป 1 ตัน เรียกว่า 1 คาร์บอนเครดิต แล้วต้นไม้ที่จะสามารถนับคาร์บอนเครดิตได้ ต้องเป็นต้นไม้ที่มีวงปี มีลำต้นที่ขยายใหญ่ขึ้นได้เท่านั้น ถึงจะนับ คาร์บอนเครดิต บางท่านบอกว่าจะไปปลูกกาแฟ บางคนบอกกำลังฮิตกันเลย ปลูกกัญชา ลดคาร์บอนเครดิตได้มั้ย ไม่ได้ มันต้องเป็นต้นไม้ที่เป็นวงปีเท่านั้น ถ้าปลูกพืชแบบอื่นจะยังไม่มีศักยภาพในการสังเคราะห์แสงออกมา” วราวุธ กล่าว

ขณะนี้ กรมป่าไม้ กรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ได้ออกระเบียบ ส่งเสริมให้ประชาชน ได้เข้ามาทำกิจกรรมในการปลูกป่ามากขึ้น 

เมื่อก่อนเวลาปลูกป่า หลายบริษัทจะทำในลักษณะ CSR แต่วันนี้หลายบริษัทเริ่มปลูกกันเป็นกิจลักษณะ บางบริษัทปลูกเพื่อเก็บคาร์บอนเครดิตเอาไว้ขาย วันนี้คาร์บอนเครดิตในประเทศไทย อยู่ที่ตันละ 100 กว่าบาท เพราะว่ากฎหมายไทยยังไม่มีบังคับออกมาว่าภาคธุรกิจแบบไหน ๆ ต้องมีคาร์บอนฟุตปรินท์เท่าไร 

“ตอนนี้รัฐบาลกำลังเร่งคำนวณกันอยู่ว่า คาร์บอนฟุตปรินท์ ในแต่ละธุรกิจเป็นอย่างไร แล้วในที่สุดจะต้องออกกฎหมายบังคับใช้ออกมา  ซึ่งถ้าถึงเวลานั้นราคาคาร์บอนฟุตปรินท์ในประเทศไทย ก็จะมีราคาไม่ต่างกับในยุโรป ตันนึงประมาณ 3-4 พันบาท จะมีสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ” 

ในปี 2565 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เตรียมพื้นที่ในการปลูกป่า ทั้งป่าชายเลนและป่าบนบก มีพื้นที่อยู่ประมาณ 6 แสนไร่ จะให้พี่น้องประชาชนและทางบริษัทห้างร้าน สามารถเข้ามาปลูกป่ากันได้ 

Climate Change Act ฉบับแรกของไทย

ส่วนภาคกฎหมาย กระทรวงทรัพยฯเองอยู่ในขั้นตอนการผลักดัน พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นกฎหมาย Climate Change Act ฉบับแรกของประเทศไทย 

“ตอนแรกจะเอาเข้าครม. เข้าสู่สภาฯ แล้วแต่ว่าต้องดึงกลับ เพราะว่าในกฎหมายตอนที่ร่าง เราใช้เป็นภาคสมัครใจ แต่เหตุการณ์ผ่านไปไม่ถึงปี voluntary ไม่ได้แล้ว มันต้อง Mandatory ต้องบังคับใช้” วราวุธ กล่าว

ดังนั้นกฎหมายจะเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวสู่อีกบริบทหนึ่งของการต่อสู้กับ Climate Change 

“เราต้องพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสในการเดินไปข้างหน้า วันนี้หลายกองทุนทั่วโลกกำลังมองหาการลงทุนในธุรกิจ อุตสาหกรรม ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Investment) สอดคล้องกับนโยบาย Bio Circular Green Economy และแนวคิด ESG ของทางภาคเอกชน เชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทย เมื่อคนไทยร่วมมือกัน จับมือกัน เราจะทำได้จริง” วราวุธ กล่าวทิ้งท้าย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ