TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistระวังสำลัก "ประชานิยม"

ระวังสำลัก “ประชานิยม”

ปี่กลองยังไม่ทันจะเริ่ม รัฐบาลยังไม่มีประกาศยุบสภาฯ พรรคการเมืองต่าง ๆ พากันตะลุยหาเสียงกันแล้ว แต่ละพรรคพยายามสรรหานโยบายลด แลก แจก แถม เอาใจประชาชนแบบไม่มีใครยอมใคร จึงจะเห็นนโยบายแปลก ๆ ออกมาเป็นระยะ ๆ เอาใจกันตั้งแต่เกิด วัยทำงาน กระทั่งสู่วัยชรา อย่างพรรคก้าวไกลที่มีของขวัญแรกเกิด 3,000 บาทเงิน เด็กเล็กเดือนละ 1,200 บาท และแก่ผู้สูงวัย 3,000 บาท นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทขึ้นทันที เพื่อไทยขึ้นค่าแรง 600 บาทต่อวันในปี 2570 และเงินเดือนปริญญาตรีเริ่ม 25,000 บาท พรรคอื่นก็เหมือน ๆ กันไม่ด้อยกว่ากันเท่าไหร่ แถมมีของแถมตามมาเพียบ

นโยบายหลัก ๆ แต่ละพรรคก็จะประมาณนี้ จะแตกต่างกันในรายละเอียด อย่างกรณีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ “บัตรคนจน” ที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะเพิ่มเงินจากเดิม 200-300 บาทต่อเดือนเป็น 700 บาทต่อเดือน ล่าสุด“บิ๊กตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ก็ได้ออกมาเกทับเป็น 1,000 บาทต่อเดือน

ทว่าชุดนโยบายสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ส่วนใหญ่มักหนีไม่พ้นนโยบาย “พัก” ได้แก่ การพักหนี้ 3 ปี ปลอดต้น/ปลอดดอกเบี้ย “ลด” ทั้งค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า-ค่าก๊าซหุงต้ม “เพิ่ม” บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 700 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท/วัน ปริญญาตรี 25,000 บาท/เดือน

รวมไปถึงนโยบาย “ฟรี” เช่น รักษามะเร็ง ฟอกไต วัคซีนมะเร็งปากมดลูก บัตรประชาชนรักษาฟรีทั่วไทย นมโรงเรียนฟรี 365 วัน ป่วย 16 โรครับยาฟรี ไปจนถึงนโยบาย “ประกัน” รายได้เกษตรกร ข้าว-มันสำปะหลัง-ยางพารา-ข้าวโพด-ปาล์มน้ำมันนโยบาย “อุดหนุน” เช่นชาวประมงกลุ่มละ 100,000 บาท ชาวนารับ 30,000 บาท/ครัวเรือน ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ออกกรรมสิทธิ์ที่ทำกิน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทุกหมู่บ้าน บำนาญประชาชน และนโยบาย “เลิก” เช่น ยกหนี้ กยศ. เป็นต้น

แต่ละพรรคที่หาเสียงจะมีแต่นโยบายใช้เงินงบประมาณ เช่น ลุงตู่ประกาศจะขึ้นเงินเดือนให้กับนายกฯ อ.บ.ต.ทั่วประเทศ หรือไม่ก็เอาเงินภาคเอกชนมาหาเสียง เช่น นโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ หรือการปรับเงินเดือนขั้นต่ำคนที่จบปริญญาตรี เป็นต้น ไม่มีพรรคการเมืองใดบอกว่าจะมีวิธีหารายได้มาจากไหนในการชดเชยงบประมาณที่ใช้ไป หรือจะสร้างผลผลิตของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างไร จะสร้างรายได้เข้าประเทศด้วยวิธีการใด

สารพัดนโยบายประชานิยมที่ทุกพรรคการเมืองมีแต่จะ  “ลด แลก แจก แถม” กลายเป็นการ “เสพติด” ประชานิยมสร้างนิสัยให้ประชาชนที่คอยแต่จะแบบมือรับอย่างเดียว จนกลายเป็นภาระงบประมาณแบบดินพอกหางหมู

ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) TDRI ได้ร่วมทำรายงานวิจัยเรื่อง “ข้อสังเกตและข้อห่วงใยนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2566” พบว่า จากการรวบรวมนโยบายจาก 9 พรรค รวม 86 นโยบาย เฉพาะที่มีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอ ณ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 อย่างน้อย 2 พรรคการเมืองที่น่าจะต้องใช้เงินงบประมาณเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอีกกว่า 2 ล้านล้านบาทต่อปี หากรวมต้นทุนด้านการคลังของนโยบายของทั้ง 9 พรรคการเมือง (โดยไม่นับนโยบายที่ซํ้ากัน) ก็จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นทั้งหมด 3.14 ล้านล้านบาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากงบประมาณรายจ่ายสำหรับปี 2566 ที่มีวงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท

ถามว่า หากพรรคการเมืองนั้น ๆ ได้เป็นรัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหนชดเชย ส่วนคำตอบมักจะได้ยินจากนักการเมืองว่า งบประมาณมีเพียงพอหากจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำได้ คำยืนยันจากปากนักการเมืองเพียงแค่ว่า งบประมาณจะมีเพียงพอถ้าจัดสรรอย่างมีประสิทธิภาพนั้น เป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดิน ไม่ได้บอกว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคให้ความสำคัญต่อวินัยการเงินการคลังแค่ไหน

การประกาศแต่ว่าจะใช้เงินอย่างไร แต่ไม่บอกว่าจะหาเงินด้วยวิธีไหนจึงเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างยิ่ง ซึ่งเรื่องนี้ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “แบงก์ชาติ” เคยได้แสดงความกังวลกับสื่อมวลชนกลุ่มหนึ่งว่า “นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะ “นโยบายแปลก ๆ จากการหาเสียง” เป็นความเสี่ยงที่ต้องระวังให้มาก มีบทเรียนจากต่างประเทศที่ชัดเจน คือ อังกฤษ ตัวอย่างจากที่นั่นคือ ตลาดจะ “ลงโทษ” นโยบายที่นักลงทุนใช้ศัพท์ว่าเป็น “นโยบายโง่เขลา” หรือ stupid policy และการทำอะไรผิดพลาด ยังต้องจ่าย “ค่าโง่” หรือ stupid premium อีกต่างหาก”

สำหรับนโยบายแปลก ๆ ที่เห็นอยู่และค่อนข้างกังวลนั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยกมาให้เห็นตัวอย่าง เช่น นโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับหนี้ อาทิ พักหนี้เท่านี้ปี หรือพักหนี้แล้วพักดอกเบี้ยด้วย ไม่คิดดอกเบี้ย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกที่ทำแบบนี้ จากเดิมไทยถูกวางในจุดที่เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะปัจจัยพื้นฐาน แต่หากเริ่มมีนโยบายที่ไม่สนใจวินัยการเงินการทอง ภาพก็จะเปลี่ยน ไทยก็จะถูกมองว่ามีความเสี่ยงทางการเมืองสูง ทำอะไรแปลก ๆ ทำอะไรที่กระทบต่อเสถียรภาพ

อะไรที่ทำแล้วอาจจะฟังดูดีในระยะสั้น แต่ในระยะยาวมีผลข้างเคียงเยอะ ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เช่น การที่จะลบข้อมูลเครดิตบูโร เข้าใจว่าเป็นวิธีซื้อใจคน หาเสียง แต่มันมีผลข้างเคียง และท้ายที่สุดคนจะยิ่งเข้าถึงสินเชื่อไม่ได้” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าว

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติยังบอกอีกว่า การพักหนี้ ไม่ได้ลดหนี้ หนี้ยังอยู่ แล้วไม่คิดดอกอีก ยิ่งไปกันใหญ่จะเป็น “massive moral hazard” ถ้านโยบายการเงินการคลังไม่ประสานกัน ตลาดก็จะปั่นป่วน อย่างอังกฤษที่เห็นกันก็เพราะเหตุนี้ มีการประกาศนโยบายว่าจะลดภาษี แต่การชดเชย (financing) งบประมาณไม่พูดถึง

ดร.เศรษฐพุฒิ ยังบอกอีกว่า การพูดเช่นนี้อาจจะมีคนไม่ชอบใจ เพราะไม่ให้ประชานิยม แต่ยืนยันว่าประเทศต้องเน้นเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการกระตุ้น ณ จังหวะนี้ เทียบกับก่อนหน้านี้ที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมีการระบาดของโควิดที่มีผลกระทบหนัก แต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าแม้จะฟื้นช้าแต่ฟื้นการที่จะเหยียบคันเร่งตลอดเวลาไม่เหมาะสม

ส่วนทางการคลังก็ได้เห็นว่ากำลังที่จะรวบ (consolidate) นโยบาย และหากละเลยเรื่องเสถียรภาพ ตลาดก็จะมาตีกระทบ ฉะนั้น ถ้าดูจากปัจจัยพื้นฐานของไทยดีอยู่แล้ว อย่าสร้างความเสี่ยงของเราเพิ่มเติม ความเสี่ยงด้านนี้มีพอสมควร เพราะเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง ปัจจัยโลกเราคงควบคุมไม่ได้ ปีหน้าอาจจะไม่ราบรื่น ยกเว้นสร้างภูมิคุ้มกันไว้ แต่ตัวเราอย่าไปสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติม

“การออกนโยบายตอนหาเสียงก็ขอว่า อย่าออกอะไรที่แปลก ๆ แล้วคำนึงถึงผลข้างเคียง ถ้าคิดผลระยะสั้น ไม่คิดถึงระยะยาว ไม่คิดถึงผลข้างเคียงบทเรียนจากอังกฤษสอนเราว่าถ้าออกนโยบายแบบ “โง่ ๆ” ไร้ตรรกะ เพียงแต่จะเอาใจเพื่อหาเสียง ตลาดก็จะลงโทษ … และลงโทษหนักเสียด้วย” ดร.เศรษฐพุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

เหนือสิ่งใด พรรคการเมืองควรมองหานโยบายเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าจะเน้นประชานิยมเพียงอย่างเดียว เช่น การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจในระยะยาว ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน และหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ เช่น ลดกฎระเบียบที่ซ้ำซ้อนซึ่งเป็นต้นทุนที่ลดความสามารถในการแข่งขัน และเน้นส่งเสริมยกระดับโครงสร้างการผลิต นวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มมูลค่ารายได้ให้แก่สินค้า ประชาชน และประเทศชาติ

นโยบายระยาวที่สร้างความยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ อาจจะต้องใช้เวลาและออกแรงเยอะ คงไม่ถูกจริตนักการเมืองบ้านเรา ที่มักจะมองอะไรเฉพาะหน้า ได้คะแนนทันใจ จึงไม่แปลกใจ 20 ปีที่ผ่านมา จึงมีแต่แข่งกันว่าใคร จะลด แลก แจก แถมมากกว่ากันจนประชาชนแทบจะสำลักเลยทีเดียว

ผู้เขียน: ทวี มีเงิน

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

ปัญหา “ราคาน้ำมัน”… ต้องเกาให้ถูกที่คัน

เหลียวมองเพื่อนบ้าน ทำไม “เศรษฐกิจไทย” โตช้า

โลกร้อน …… ภัยเงียบ “ส่งออก”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ