TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyความท้าทาย ความเป็นไปได้ และโอกาสของ Open Thai GPT แชตบอทสัญชาติไทย

ความท้าทาย ความเป็นไปได้ และโอกาสของ Open Thai GPT แชตบอทสัญชาติไทย

เรียกกระแสความฮือฮาไม่หยุด ตั้งแต่การเปิดตัวเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 กับแชทบอทอัจฉริยะ ChatGPT จากบริษัท OpenAI ทั้งคำกล่าวขวัญถึงความฉลาดในการตอบคำถามที่ค่อนข้างซับซ้อนให้คู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยภาษาที่เป็นสละสลวย และถูกต้อง ในขณะเดียวกันคำวิจารณ์แง่ลบถึงความกังวลต่อระบบการศึกษาก็มาแรงเช่นกัน รวมถึงข้อกังวลเรื่องการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (The National Electronics and Computer Technology Center – NECTEC) หรือ เนคเทค สวทช. ในฐานะหน่วยงานวิจัยและขับเคลื่อนด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับประเทศของไทย ได้รับฟีดแบคโดยตรงจากการเปิดตัวของ ChatGPT กับคำถามว่า เนคเทคทำอะไรอยู่? เนคเทคจะทำอะไรหรือไม่เกี่ยวกับ ChatGPT

บทบาทเนคเทค สวทช. ในการขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ เนคเทค สวทช. อธิบายกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ของเนคเทคว่า ย้อนกลับไปในปี 2562 เนคเทค ได้ให้กำเนิดแพลตฟอร์ม AI for Thai รวบรวมบริการเกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งมีเทคโนโลยีพื้นฐานที่สำคัญ คือ Natural language processing (NLP) ปัจจุบัน AI for Thai มีบริการทั้งหมด 58 API Services ประกอบด้วย บริการด้านภาษา ด้านภาพ ด้าน speech & chatbot และด้านฐานข้อมูล หรือ Corpus 

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้งาน 33.6 ล้านรีเควส มีนักพัฒนาอยู่มากกว่า 1 หมื่นคน และยังมีการพัฒนา Chat Bot ชื่อ ADBUL ที่ทางทีมงานมีความฝันอยากให้สามารถสื่อสารกับคนได้อย่างมีความเป็นธรรรมชาติ เหมือนกับ ChatGPT ในปัจจุบัน ซึ่งการที่จะเช่นนั้นได้ต้องการข้อมูลมหาศาลมาป้อนให้กับ AI ทางเนคเทค จึงได้มีโครงการ Language Processing เพื่อเพิ่มฐานข้อมูลเข้าไปอยู่เรื่อย ๆ 

แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(พ.ศ. 2565 – 2570) หรือ Thailand National AI Strategy คือ อีกหนึ่งความพยายามสำคัญในการขับเคลื่อน AI อย่างเป็นระบบ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง เนคเทค และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 โดยประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การเพิ่มศักยภาพบุคลากรและการพัฒนาการศึกษาด้านปัญญาประดิษฐ์

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบปัญญาประดิษฐ์ในภาครัฐและภาคเอกชน

Open Thai GPT แชตบอทสัญชาติไทย

แม้ ChatGPT จะถือเป็นมิติใหม่ในการสร้างสรรค์ของ Large Language Model ที่สามารถช่วยให้ชีวิตมนุษย์ทำงานได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ย่อมมีความเป็นไปได้มากกว่า หาก Model อย่าง ChatGPT จะเป็น Open Source ที่เปิดให้ทุกคนใช้ได้โดยเสรี ฟรี ไม่มีข้อผูกมัด ทุกคนสามารถนำไปใช้ นำไปปรับปรุงต่อ (Finetuning) เพื่อสร้างการใช้งานหรือ Service ใหม่ ๆ จากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ ย่อมเกิดประโยชน์มหาศาล และแน่นอนหมายถึงการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจจากการปฏิวัติของปัญญาประดิษฐ์

โครงการ Open Thai GPT จึงเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างเนคเทค สวทช. ร่วมกับ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) สมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) หน่วยงานเครือข่ายพันธมิตร และอาสาสมัคร โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบ Chatbot ภาษาไทย ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบภายนอกและสามารถดึงข้อมูลได้อย่างยืดหยุ่น สามารถขยายและปรับแต่งได้อย่างง่ายดาย พัฒนาขึ้นเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ฟรีสำหรับทุกคน และสามารถใช้ในทางการค้าได้ เพื่อเป็น Building Block สำคัญในการปฏิวัติ AI ของประเทศไทยต่อไป

ดร.กอบกฤตย์ วิริยะยุทธกร นายกสมาคมผู้ประกอบการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIEAT) ให้ภาพโรดแมพการทำงานของโครงการ Open Thai GPT ในปี 2566 นี้ว่า มีการพัฒนา OpenThaiGPT ใน 3 เวอร์ชั่นด้วยกัน 

ไตรมาสแรก เดือนมีนาคม ได้มีการเปิดตัว Proof of Concept (PoC) เวอร์ชั่น 0.0.4 ทดลองเทรนบนโมเดลขนาดเล็ก 120 ล้านพารามิเตอร์ มีความสามารถในการแชตพูดคุยได้อยู่บ้าง แต่ตอบคำถามยังไม่ตรง สามารถนำไปต่อยอดได้ ที่ผ่านมามีนักพัฒนาหลายท่านนำโมเดลนี้ไปใช้ในพัฒนา Math GPT เพื่อใช้ในการตอบคำถามด้านคณิตศาสตร์ 

เวอร์ชั่นที่ 2 ได้แก่ เวอร์ชั่น 0.1.0 ใช้สถาปัตยกรรม ByT5 ขนาด 3 พันล้าน พารามิเตอร์ ซึ่งเป็นโมเดลที่ถูกฝึกมาด้วยคำศัพท์แบบ Unicode ซึ่งเป็นตัวอักขระที่แสดงภาษาอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ โดยได้มีการปล่อยตัวเวอร์ชั่นทดลอง 0.1.0 – alpha ไปในเดือนเมษายน และมีแผนจะปล่อยเวอร์ชั่น 0.1.0 ในเดือนพฤษภาคม

ดร.สุเมธ ยืนยัง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล ผู้ดูแลทีมพัฒนาเวอร์ชั่น 0.1.0 อธิบายความสามารถที่เพิ่มขึ้นของเวอร์ชั่น 0.1.0 – alpha ว่าสามารถตอบคำถามได้ค่อนข้างตรง แต่การสะกดคำยังผิดอยู่บ้าง สามารถอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ได้ แปลภาษาได้ ตอบคำถามปลายเปิดได้ดี  สามารถแปลงหน่วยโดยเป็นการคำนวณขั้นพื้นฐาน แต่ยังไม่สามารถจัดเรียงเลขได้หรือเขียนโปรแกรมได้ และตอบคำถามที่เป็นตรรกะได้ไม่ดี

เวอร์ชันที่ 3 คือ เวอร์ชั่น 1.0.0 ซึ่งมีแผนเปิดตัวในเดือนมิถุนายน 2566 มีการใช้ Large Language Model ขนาด 10 พันล้านพารามิเตอร์ ในการพรีเทรน ได้แก่ โมเดล LLAMA ซึ่งมีความสามารถหลากหลาย และเป็นหนึ่งในเบื้องหลังของ ChatGPT ของ Open AI แต่ข้อเสียคือขนาดที่ใหญ่ทำให้ต้องรันในคอมพิวเตอร์ที่มีแรมการ์ดจอ 30 GB ขึ้นไป 

ดร.ปรัชญา บุญขวัญ หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีภาษาธรรมชาติและความหมาย กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. ผู้ดูแลการพัฒนา เวอร์ชั่น 1.0.0 อธิบายเพิ่มเติมเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า Language Model คือ โปรแกรมทายคำ เกิดจากการที่เราให้ข้อมูล เหมือนให้มันอ่านหนังสือมาก ๆ มันจะเรียนรู้สำนวน วลี ไวยากรณ์ของภาษา ตอบคำถามเราได้ใกล้เคียงมนุษย์ 

ส่วนคำว่า Parameter เปรียบเทียบง่าย ๆ คือ จำนวนเส้นประสาทในสมอง อย่างเช่น Open Thai GPT เวอร์ชัน 1.0.0 มีเส้นประสาทในสมอง 3 พันล้านเส้น ใช้ภาษาได้เหมือนเด็ก ป.6 ในอนาคตก็จะมีการเพิ่มจำนวนเส้นประสาทมากขึ้นไปอีก ก็จะพูดได้เก่งขึ้น ไปเป็นเด็ก ม.3 จนกลายเป็น ม.6 ซึ่งการจะสอนหรือ Pretrain เด็กจนพูดได้ จะต้องมีข้อมูลมากมาย และเมื่อเด็กพูดเก่ง ก็ต้องมาสู่การปรับให้มีพฤติกรรมที่เหมาะสม พูดจาไพเราะ นั่นคือ ขั้นตอนการ Finetuning  

“เมื่อเราสามารถฝึกโมเดลใหญ่จนสำเร็จ เราจะเริ่มถ่ายทอดความรู้จากโมเดลตัวใหญ่ ลงมาสู่โมเดลตัวเล็ก ๆ ที่สามารถอยู่ในมือถือหรือในคอมพิวเตอร์แล็ปทอปของเราได้ เพื่อให้เข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้น สามารถนำไปสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ได้มากมาย แม้กระทั่ง เด็ก ป.ตรี ยังสามารถทำโปรแกรมที่ใกล้เคียงกับ ChatGPT ในอนาคต” ดร.ปรัชญา กล่าว

ปัจจุบัน Open Thai GPT เวอร์ชัน 0.4.0 และ 0.1.0 สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ https://oopenthaigpt.aieat.or.th ส่วนเวอร์ชั่น 1.0.0 เวอร์ชั่นแรก ตั้งเป้าปล่อยตัวในเดือนมิถุนายน และคาดว่าจะออกเวอร์ชันที่พร้อม production ได้ ประมาณช่วงเดือนสิงหาคม  

พันธมิตรร่วมสร้างสรรค์ Open Thai GPT 

ดร.เทพชัย ทรัพย์นิธิ ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทช. และอุปนายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) อธิบายว่า การจะทำให้ Chat GPT ภาษาไทยเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยกลไกและความพร้อมหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรวมรวบข้อมูลภาษาไทยเป็นโมเดลขนาดใหญ่  ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรันโมเดลขนาดใหญ่ได้ ต้องมีการปรับพฤติกรรมของ AI ให้มีความเหมาะสม และมีความปลอดภัยในการใช้งาน 

การที่ต้องอาศัยทรัพยากรมหาศาล ทั้งจำนวนผู้เชี่ยวชาญ จำนวน Dataset และปริมาณ GPU ที่ใช้ประมวลผลจำนวนมหาศาล และไม่สามารถเกิดได้จากความพยายามของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การทำขึ้นมาจึงควรเป็นประโยชน์กับคนหมู่มาก แนวคิดในการเปิดเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์สให้คนใช้ได้จึงสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาคนที่เข้าใจและสนใจมารวมตัวกัน ทั้งในระดับองค์กรคือ เนคเทค สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร และในระดับบุคคล คือ อาสาสมัครจำนวนมากที่ให้ความร่วมมือในการสร้างสรรค์ระบบ Open Thai GPT 

วันฉัตร ผดุงรัตน์ Founder of Pantip.com และบริษัท อินเทอร์เน็ตมาร์เก็ตติ้ง จำกัด อธิบายเสริม ถึงความตั้งใจในการมอบข้อมูลกระดานสนทนาเพื่อมาใช้เป็น Dataset สอนโมเดล AI ในโครงการนี้ว่า 

ข้อมูลในพันทิปเป็นข้อมูลเปิดเผยต่อสาธารณะ ทุกท่านสามารถเปิดอ่านเปิดใช้ได้อยู่แล้ว  หากช่วยให้งานวิจัยง่ายขึ้นก็ยินดีมาก และมองว่าช่วงแรกของการพัฒนาเป็นช่วงที่ค่อนข้างท้าทายเพราะยังเป็นสิ่งใหม่ เวลาที่มนุษย์ทั่วไปเผชิญหน้ากับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะมีพฤติกรรมป้องกันตัวเองค่อนข้างสูง ต้องผ่านการพิสูจน์และทำให้สังคมยอมรับ รวมถึงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นให้รอบด้าน และในอนาคตทุกคนในสังคมจะสามารถเข้าถึงเทคโนโลยี AI ได้อย่างเท่าเทียม  

ดร.วิวรรณ จรีรัตนชาติ หัวหน้าทีมสนับสนุนงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (Thai SC) สวทช. เผยว่า Thai SC คืออีกหนึ่งกลไกสำคัญในการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน Computing Resource ที่ใช้ในการรันระบบ Open Thai GPT โดยเฉพาะในเวอร์ชั่นที่เป็นการพัฒนาโมเดลขนาดใหญ่ หรือ Large Language Model ขนาด 10 พันล้านพารามิเตอร์ขึ้นไป ซึ่งหมายถึงการที่ต้องอัปโหลด Data จำนวนมหาศาลเข้าไป ต้องใช้การ์ดจอหรือ CPU Ram 30 GB หรือมากกว่านั้น

Thai SC มี Super computer เครื่องใหม่ที่ชื่อว่า LANTA ซึ่งติดตั้งเสร็จเมื่อปลายปี 2565 เครื่องนี้มี GPU ทั้งหมด 704 การ์ด NMEDEA A100 40 GB การมี GPU จำนวนมหาศาล Parallel Computing จะช่วยในการกระจายข้อมูล และจัดการเมโมรี่ เป็นการเร่งความเร็วในการพรีเทรนโดยใช้ทรัพยากรคำนวณให้สำเร็จเร็วขึ้น นี่คือบทบาทของ Computing Power ที่มีต่อตัว Open Thai GPT  

ดร.อภิวดี ปิยธรรมรงค์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ เนคเทค สวทชให้ข้อมูลในด้านการสร้างความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญว่า การสร้าง AI Product จะประสบความสำเร็จหรือไม่ 

ความน่าเชื่อ หรือ Trustworthy ในแง่ของจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ มีการถกเถียงกันในเรื่องนี้กันอย่างมากในต่างประเทศ โดยมีการออกคู่มือวิธีการจัดทำ Trustworthiness/Ethic AI ซึ่งในประเทศไทยองก็มีการจัดทำคู่มือเป็นของตัวเอง และประกาศใช้โดยกระทรวงดีอี เมื่อสองปีที่แล้ว หน่วยงานภาครัฐก็มีการประกาศ AI Ethic แนวทางปฏิบัติทางจริยธรรมออกมาแล้วเช่นกัน  

นอกจากนี้ ยังมีในส่วนของมาตรฐานสากล ซึ่ง ISO ร่วมมือกับ IEC จัดทำ Overview of ethical and societal concerns การทำให้ AI system มี Trustworthiness ซึ่งมีประเด็นหลัก 3 ประเด็นด้วยกัน ได้แก่ 

หนึ่ง ความปลอดภัย (Safety) คือ ข้อกำหนดที่ไม่ให้ AI Product ทำอันตรายทั้งในแง่ชีวิตและทรัพย์สิน ต้องมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น สอง ความโปร่งใส (Transparency) ต้องเห็นที่มาที่ไปของข้อมูล ที่มาที่ไปของโมเดล และชี้แจงเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์  และ สาม ความรับผิดชอบ ความเชื่อถือได้ และธรรมาภิบาล (Responsibility, Accountability และ Governance) เนื่องจาก AI System ต้องผ่านการพัฒนาหลายระยะด้วยกัน ในขั้นตอนการใช้งานก็อาจจะมีการใช้งานหลายระยะเช่นกัน ถ้าเกิดการผิดพลาดในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ต้องมีการระบุชัดเจน ว่าความรับผิดชอบอยู่ที่ใครบ้าง ที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นฟูสถานการณ์ตรงนั้น   

ความท้าทายความเป็นไปได้และโอกาส

ดร.วิวรรณ  มองอนาคตและโอกาส ของ Open Thai GPT ว่า การสร้าง Pre-train Model,  Large Language Model ต้องการทรัพยากรสูงมาก ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล ซึ่งได้ Data Set ขนาดใหญ่จากทาง Pantip.com ทรัพยากรบุคคลทั้งนักวิจัยและอาสาสมัครจำนวนมาก ระบบ Computing Power ขั้นสูง และความรู้เชิงเทคนิคที่มีความซับซ้อนมากขึ้นกว่าการเทรนโมเดลภาษาในระดับปกติ Open Thai GPT จึงไม่ได้เป็นเพียงแค่ผลลัพธ์สุดท้าย แต่เป็นการเก็บเกี่ยวการเรียนรู้ระหว่างทางของทีมงาน และจะกลายเป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทย หากจะมีโมเดลที่สร้างไว้แล้วและเปิดเสรีให้ผู้ใช้งานทั่วไป สตาร์ตอัพ หรือบริษัทต่าง ๆ เป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และยกระดับพัฒนาระบบนิเวศทางด้าน AI ของประเทศไทย  

ในแง่ความท้าทาย ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของการตั้งไข่ ลองผิดลองถูก และแข่งกับเวลา เพราะต่างประเทศก็พยายามทำอยู่เหมือนกัน นอกเหนือจากนั้น ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสร้างสรรค์สูง ทวิตเตอร์มีคำศัพท์ใหม่เกิดขึ้นแทบทุกวัน บริบททางภาษาที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ต้องมีโมเดลภาษาไทยที่เข้ามาจับกับสังคมบริบทแบบนี้ได้ นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องของการพัฒนาด้านความปลอดภัย ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่ต้องติดตามดูการพัฒนา 

ดร.เทพชัย ให้มุมมองในการเข้ามาของ ChatGPT ว่ากลายเป็นความท้าทายของวงการ AI ของประเทศไทย ในการที่เราจะเปลี่ยนตัวเองจาก “ผู้ใช้ที่ดี” เป็น “ผู้สร้างที่ดี” การรวมพลังในโครงการ Open Thai GPT จึงเป็นการทำให้เกิดก้าวแรกของการสร้างภายใต้จังหวะที่เหมาะสม ได้ Data ขนาดใหญ่จาก Pantip.com มี Lanta Super Computer เกิดขึ้นพอดี เป็นความประจวบเหมาะ หวังว่าการเริ่มต้นเป็นผู้สร้างที่ดีในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความสามารถประยุกต์เปลี่ยนแปลงและทำประโยชน์อะไรต่าง ๆ ได้อีกมากมาย และกลายเป็นฐานสำคัญในการปฏิวัติวงการปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทยต่อไป

ดร.ปรัชญา ให้ความคิดเห็นในแง่ความท้าทายต่อระบบการศึกษาว่า ปัจจุบัน AI ได้เข้าไป disrupt ทุกวงการ และที่มากที่สุด คือ วงการการศึกษา เด็กนักเรียนเริ่มไม่ทำการบ้านด้วยตัวเอง แต่ว่าใช้ ChatGPT ทำให้ การจะสร้างสมดุลได้จำเป็นต้องมีการปรับตัวทั้งทางฝั่งครูและนักเรียน ซึ่งทางฝั่งยุโรปกับอเมริกา เริ่มมีการปรับตัวแล้ว 

ยกตัวอย่างเช่น จากเดิมที่ครูถามนักเรียนว่า โลกมีรูปทรงเป็นอย่างไรทรงกลมหรือเป็นระนาบ นี่คือคำถามแบบ simple ครูจะไม่ถามแบบนี้อีกแล้ว แต่จะถามคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น เพื่อให้ใช้ ChatGPT ตอบไม่ได้ คำถามของครูเปลี่ยนไปเป็น มีผู้ถกเถียงกันว่ารูปทรงของโลกมีได้หลายแบบมีแบบไหนบ้างและท่านคิดว่ารูปทรงของโลกเป็นแบบไหนเพราะอะไร 

จะสังเกตได้ว่า คำถามจะเพิ่มในส่วนความคิดเห็นของนักเรียน และในวิธีการทำ ขั้นแรก ครูจะให้นักเรียนสำรวจข้อมูลมาก่อนว่ามีอะไรบ้าง จะใช้การถาม ChatGPT ก็ได้ แต่ครูอาจจะกำหนดว่านักเรียนกรุณาเขียนด้วยมือ ทำให้อย่างน้อยต้องได้ความจำจากการเขียน และขั้นตอนต่อไป คุณครูจะเริ่มให้นักเรียนลองตรวจสอบดูว่าผลลัพธ์จาก ChatGPT มีข้อผิดพลาดหรือไม่ ให้นักเรียนลองแก้ไข และท้ายที่สุด คุณครูสอนนักเรียน ให้เป็นอิสระจาก ChatGPT สามารถคิดและค้นหาข้อมูลด้วยตัวเองได้ นี่คือมายด์เซ็ตในการปรับตัวทั้งครูและนักเรียน  

“ChatGPT เกิดขึ้น และก็กำลังจะมี Google Bard มาแข่ง แล้วเดี๋ยวก็จะมี Auto GPT ที่เราแค่บอกจุดประสงค์ว่าอยากทำอะไร มันจะไปคิดวิธีการมาให้หมดเลย นั่งรอคำตอบอย่างเดียว เราต้องปรับตัวตามเครื่องมือ เพราะ AI เป็นเครื่องมือ และอนาคตต่อจากนี้จะเป็นยุค AI แต่ไม่ใช่ Artificial Intelligence มันจะเป็น Augmented Intelligence คือหมายความว่ามนุษย์สร้าง Data ให้ AI ฉลาดขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน AI จะกลายเป็นเครื่องมือให้มนุษย์อยู่ในสังคมได้ดีขึ้น แล้วผลิต Data ออกมามากขึ้นไปทำให้ AI ฉลาดกว่าเดิม จะวนลูปอย่างนี้ เรากับ AI จะโตไปด้วยกัน นั่นคือยุคของ AI” ดร.ปรัชญา กล่าวทิ้งท้าย 

ชวนส่อง ChatGPT รุ่นอัปเกรดล่าสุด GPT-4 แชตบอทเอไอ กับความสามารถใกล้มนุษย์ไปอีกขั้น

จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ แนวทางสร้างปราการป้องกันด้านมืด AI

ยุค “มนุษย์อยู่ร่วมกับ AI” กำลังจะเกิดขึ้นจริง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ