TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ แนวทางสร้างปราการป้องกันด้านมืด AI

จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ แนวทางสร้างปราการป้องกันด้านมืด AI

สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการเทคโนโลยีนวัตกรรม ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) หรือ AI เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงประมาณทศวรรษที่ 1950 แล้ว และได้รับการพัฒนามาโดยตลอดจนถึงปัจจุบันที่สามารถพูดได้ว่า AI มีความฉลาดเทียบเท่ากับความฉลาดของมนุษย์ จนหลายฝ่ายเชื่อว่า ในที่สุดแล้ว AI อาจจะสามารถพัฒนาไปได้ในลักษณะที่ใกล้เคียงมนุษย์มากที่สุดก็คือการมีความอารมรณ์และประสาทสัมผัส

ทั้งนี้ ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความฉลาดที่วิวัฒนาการจนเทียบเท่ามนุษย์ของ AI ซึ่งหมายรวมถึงความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาต่อไปได้เช่นเดียวกันมนุษย์ กลายเป็นดาบสองคม ที่ทำให้แทบทุกประเทศทั่วโลกเริ่มตั้งคำถามและคิดหาแนวทางเพื่อทำให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุด

ผศ.ดร.รัชฎา ยกตัวอย่างถึงกรณีของ Generative AI อย่าง ChatGPT ที่นอกจากจะเรียกเสียงฮือฮาด้วยความชื่นชมในความสามารถของแชตบอทปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าวแล้ว ยังสร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนหนึ่งที่มองเห็นความเป็นไปไปได้ของการนำ ChatGPT ไปใช้ในทางที่ไม่ถูกไม่ควร

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคยุโรป เริ่มมีความเคลื่อนไหวในระดับที่แตกต่างกันออกไป โดยมีรัฐบาลอิตาลี สเปน หรือฝรั่งเศส ที่ออกคำสั่งแบนการใช้ ChatGPT ในรั้วสถานศึกษาอย่างจริงจัง และอีกส่วนหนึ่งได้เริ่มมีการพูดคุยหารือระหว่างผู้กำกับดูแลกับผู้สร้าง ผู้พัฒนา เพื่อวางแนวทางป้องกันไม่ให้มีการ AI ไปในทางที่ผิด

ผศ.ดร. รัชฎา อธิบายว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์” หรือ “Artificial Intelligence Ethics” (AI Ethics) ขึ้น ซึ่งภูมิภาคที่มีการขับเคลื่อนด้าน AI Ethics มากที่สุดจะอยู่ฝั่งซีกโลกตะวันตกอย่าง สหรัฐฯ และยุโรป โดยที่ยุโรปนั้นเพิ่งจะมีการ AI Ethics Guidelines ในปี 2018 เพื่อให้ผู้กำกับดูแล ผู้สร้างหรือพัฒนา AI และผู้ใช้งาน มีแนวทางในการนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เป็นประโยชน์ตามเจตนาของการมีอยู่ของ AI อย่างแท้จริง

สำหรับในส่วนของประเทศไทยก็มี AI Ethics Guidelines ที่เรียกว่า แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (Thailand Artificial Intelligence Ethics Guideline) ที่คณะรัฐมนตรีให้การรับรองและอนุมัติในช่วงต้นปี 2564

วิสัยทัศน์ KBTG “มนุษย์ x AI” โชว์ “คู่คิด by K-GPT” Generative AI ภาษาไทย

ถามว่า แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Ethics สำคัญอย่างไร ผศ.ดร. รัชฎาชี้ว่า หลักการสำคัญคือการสร้างแนวทางที่ทำให้เทคโนโลยี AI นั้น มีความน่าเชื่อถือ และความน่าเชื่อถือดังกล่าว หมายความว่าผลลัพธ์ของการประมวลผลของ AI นั้นๆ เป็นไปอย่างยุติธรรม ปราศจากอคติใดๆ และการนำข้อมูลหรือดาต้า ที่เปรียบเสมือน อาหาร ในการสอน AI  เป็นไปอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้

นอกจากนี้ AI Ethics ยังมีขึ้นเพื่อให้ผู้วิจัย ผู้ออกแบบ ผู้พัฒนา และผู้ให้บริการปัญญาประดิษฐ์ ใช้เป็นแนวทางสำหรับการดำเนินงานของตนเอง และให้ผู้รับบริการได้ทราบถึงสิทธิ และตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการใช้บริการปัญญาประดิษฐ์

ให้หน่วยงานรัฐและหน่วยงานกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ ทั้งระดับประเทศและระดับองค์กรใช้เป็นแนวทางในการสนับสนุนส่งเสริม และกำกับดูแลเทคโนโลยี AI  เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มั่นคงปลอดภัย รวมถึงทำให้ AI ได้รับการพัฒนาและใช้งานที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับมนุษย์ สังคมและสิ่งแวดล้อมภายใต้ความโปร่งใส ครอบคลุม เป็นธรรม และไม่ขัดต่อกฎหมาย จริยธรรม และสิทธิมนุษยชน

และให้ผู้ใช้งานตระหนักถึงสิทธิที่ตนเองพึงมีพึงได้ในการใช้งานเทคโนโลยี AI ตลอดจนแนวทางที่ถูกต้องเหมาะสมในการใช้งาน AI เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเป้าหมายความต้องการของตนเอง และให้การใช้นั้นถูกต้องเหมาะสม ไม่เกิดผลเสียหายทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ต่อสังคม และต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวม

Generative AI การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ที่ใหญ่กว่าทุกครั้ง

ทั้งนี้ สำหรับหลักการของ แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Ethics  ของไทยนั้น มีอยู่ 6 ประการหลักด้วยกันคือ

  1. ความสามารถในการแข่งขันและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Competitiveness and Sustainablility Development)

2. ความสอดคล้องกับกฎหมายจริยธรรมและมาตรฐานสากล (Laws Ethics and International Standards)

3. ความโปร่งใสและภาระความรับผิดชอบ (Transparency and Accountability)

4. ความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว (Security and Privacy)

5. ความเท่าเทียม หลากหลาย ครอบคลุม และเป็นธรรม (Fariness)

6. ความน่าเชื่อถือ (Reliability)

ผศ.ดร. รัชฎา กล่าวว่า หลักการของ AI Ethics ในแต่ละข้อนั้น กุญแจสำคัญก็คือการคิดสร้าง พัฒนาและใช้ AI เพื่อให้สังคมมนุษย์ ก้าวไปข้างหน้าด้วยความสร้างสรรค์ ปลอดภัย และ มนุษย์ทุกคนได้รับประโยชน์จากการมีอยู่ของเทคโนโลยี AI อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ระดับของ AI Ethics ของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี AI ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันออกไป ซึ่ง ผศ.ดร. รัชฎา อธิบายว่า ในฐานผู้กำกับดูแล ในฐานะผู้สร้าง และในฐานะผู้ใช้งาน จะมีข้อกำหนดของจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ที่ต้องคำนึงถึงแตกต่างกันออกไป

เช่น หน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลจะเน้นการสนับสนุนในโอกาสในการพัฒนาและแข่งขันเป็นไปอย่างเป็นธรรม ในขณะที่ผู้สร้างหรือผู้พัฒนาจะต้องสร้าง AI ภายใต้กรอบกำหนดของกฎหมาย โปร่งใสตรวจสอบได้ มีวัตถุประสงค์ชัดเจน และมีความรับผิดชอบต่อเทคโนโลยี AI ที่สร้างขึ้นมา ส่วนผู้ใช้งานก็มีความรู้เท่าทันในประโยชน์ของ AI รวมถึงตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการใช้งานปัญญาประดิษฐ์ ตลอดจนการขัดเกลาทักษะการใช้งาน AI อย่างถูกต้อง และสามารถรับมือกับภัยคุกคามต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้

ทั้งนี้ เพื่อให้บุคคลทุกฝ่ายที่อยู่ในระบบนิเวศ AI ได้รับทราบถึง แนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Ethics ทาง ผศ.ดร. รัชฎา ได้แนะนำ ถึง การจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ พัฒนาสื่อและคู่มือ สำหรับการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีAI ที่สอดคล้องกับ  AI Ethics ของไทย โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปในช่องทางออนไลน์เพื่อตรวจสอบ  AI Ethics ของตนเอง

ยิ่งไปว่านั้น ผศ.ดร. รัชฎา เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้มีการร่วมมือกับเครือข่ายในการพัฒนาชุดเครื่องมือ ที่ช่วยในการตรวจสอบและเพิ่มประสิทธิภาพระบบปัญญาประดิษฐ์ให้มีจริยธรรมตามแนวปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ ไทย 

ทั้งนี้ AI Ethics ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอีกส่วนหนึ่งในการยกระดับระบบนิเวศเทคโนโลยี AI ของไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนที่สุด จนกระทั่งสามารถบรรลุเป้าหมายของการสร้างสังคมที่ “มนุษย์” กับ “AI” ทำงานร่วมกัน โดยที่ AI จะมีบทบาทที่เปิดทางให้มนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างสรรค์ความเป็นไปได้อย่างไม่สิ้นสุด

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

‘เซลส์ฟอร์ซ’ เร่งทดสอบฟีเจอร์ ‘Einstein GPT’ เสริมแกร่งบริการ CRM

AWS เปิดตัว Amazon Bedrock และบริการด้าน Generative AI

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ