TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย อีกหนึ่งข้อต่อฟื้นฟูธุรกิจยุคโควิด ลดเงื่อนไขให้สะดวก/ง่ายขึ้น

ปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย อีกหนึ่งข้อต่อฟื้นฟูธุรกิจยุคโควิด ลดเงื่อนไขให้สะดวก/ง่ายขึ้น

ท่ามกลางกระแสระบาดของโควิด-19 ที่ต่อเนื่องเป็นระลอกที่ 3 นับจากปี 2563 เป็นต้น ไม่แต่เพียงสร้างการติดโรคและการล้มเจ็บล้มตายของผู้คนเท่านั้น มาตรการในการควบคุมการแพร่กระจายของโรค ไม่ว่าจะเป็นการสั่งปิดกิจการ(ชั่วคราว) การกำหนดเวลาให้อยู่กับบ้าน ล้วนแต่เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างช่วยไม่ได้

ปัญหาการปิดกิจการ การล้มละลาย การปลดคนทำงาน หรือลดชั่วโมงทำงาน ได้สร้างปัญหาหนี้สินให้กับผู้ประกอบการและพนักงานเป็นจำนวนมาก แม้ว่าจะมีความพยายามจากทางภาครัฐในการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน หรือสร้างโครงการคนละครึ่ง เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อและให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ไปจนถึงนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีตั้งแต่การให้ธนาคารพาณิชย์และธนาคารภาครัฐพักหนี้พักดอกเบี้ย ไปจนมาตรการซอฟท์โลน ไปจนถึงการทำโครงการ “พักทรัพย์ พักหนี้”

หลาย ๆ โครงการที่รัฐคิดออกมาเยียวยานั้น ถูกมองว่าเป็นแค่ “กอเอี๊ยะ” ที่บรรเทาได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ไม่สามารถบรรเทาอาการปวดไปได้ เนื่องจากไม่สามารถทำให้ภาคธุรกิจลืมตาอ้าปากได้ แม้แต่การพักหนี้ก็เป็นแค่ระยะเวลาสั้น ๆ 2 เดือน(แบงก์รัฐบางแห่งให้ถึง6 เดือน) แต่เงินต้นและดอกเบี้ยยังคงอยู่และต้องชำระคืนในภายหลัง ธนาคารพาณิชย์อาจจะได้ประโยชน์มากกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องกันสำรองมากขึ้นในช่วงเวลาที่พักหนี้

ล่าสุดแม้จะมีข่าวว่าธนาคารแห่งประเทศไทย กำลังจัดยาชุดใหม่ ที่จะกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ทำโปรแกรมปรับโครงสร้างหนี้ให้กับบรรดาลูกหนี้ ทั้งการลดต้น ลดดอกและทำแฮร์คัท ที่มีระยะเวลายาวนานกว่า 2-6 เดือน เพื่อให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถฟื้นตัวได้จริง ๆ มิฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจะกู่ไม่กลับ มาตรการจูงใจที่แบงก์ชาติจะพูดคุยกับบรรดาธนาคารพาณิชย์นั้น ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร รู้แต่กำหนดเวลาว่าน่าจะออกมาภายใน1-2 อาทิตย์ข้างหน้า เท่าที่ทราบจะเป็นมาตรการปรับเกณฑ์ และการตั้งสำรอง โดยจะพยายามรักษาสมดุลทั้งธนาคารพาณิชย์ที่จะกระทำได้ และให้โอกาสลูกหนี้ฟื้นตัวได้จริง ๆ

แต่ …. มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่…) พ.ศ. …ว่าด้วยเรื่องกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ที่เป็นหนึ่งในกฎหมายที่ต้องเร่งปฏิรูป เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้ทางรอดอีกทางกับภาคธุรกิจ ก่อนที่เดินทางไปสู่การปิดกิจการ

ที่ผ่านมาอาจคุ้นเคยกับกฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ล่าสุด กิจการการบินไทยก็เป็นดีลหนึ่งที่เข้าแผนฟื้นฟู เพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจกลับขึ้นมาใหม่ กฎหมายฉบับนี้มีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2483 มีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ และล่าสุดเป็นการปรับปรุงเมื่อปีพ.ศ.2551

ประเด็นสำคัญของการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่

  1. กำหนดให้ลูกหนี้ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจากัด หรือนิติบุคคลอื่น ตามที่กำหนดไว้ใน กฎกระทรวงมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชาระหนี้ตามกำหนดได้ และเป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคน รวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท(จากเดิมกำหนดไว้ 10 ล้านบาท) ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชาระโดยพลันหรือในอนาคตก็ตาม ถ้ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ ยื่นคำร้องขอต่อศาลให้มีการฟื้นฟูกิจการได้
  2. กำหนดให้ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ลูกหนี้ที่ประกอบธุรกิจที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมต้องขึ้นทะเบียนกับสานักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่จดทะเบียนกับ หน่วยงานอื่นของรัฐ จึงจะสามารถร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการได้
    2.1 กำหนดให้ลูกหนี้สามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้ โดยที่ลูกหนี้ยังไม่ต้อง จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสนอศาลเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และกำหนดให้มีการพักชาระหนี้เมื่อศาลมีคำสั่งให้ ฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถยื่นคาร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนศาลมีคาสั่งฟื้นฟูกิจการได้
  3. กำหนดให้มีกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัดซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ ในคดีฟื้นฟูกิจการ ได้แก่ ลูกหนี้ที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ และลูกหนี้ที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สามารถเลือกยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แบบเร่งรัดได้ โดยแนบแผนพร้อมหลักฐานแสดงว่าเจ้าหนี้ได้ มีมติยอมรับแผนแล้ว (prepackaged plus) ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดต่อศาล โดยให้ศาลพิจารณาคำร้องขอดังกล่าวเป็นการด่วน และถ้าได้ความจริงและมีเหตุอันสมควรที่จะฟื้นฟูกิจการและแผนเข้าหลักเกณฑ์ตามที่ กฎหมายกำหนด ทั้งลูกหนี้ยื่นคำร้องขอโดยสุจริต ให้ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน แต่หากศาลมี คำสั่งยกคำร้องขอเพราะแผนไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะสามารถให้ความเห็นชอบได้ ลูกหนี้อาจยื่นคำร้องขอให้มีการฟื้นฟู กิจการของลูกหนี้ได้อีก โดยไม่ติดเงื่อนไขข้อห้ามเรื่องระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ศาลยกคำร้องขอกระบวนการ พิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการแบบเร่งรัด
    ขั้นตอนต่อจากนี้ คือการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นผู้ตรวจสอบ กระทรวงยุติธรรมเป็นเจ้าภาพ (กรมบังคับคดี) รวมทั้งประสานงานกับสภาผู้แทนราษฎร เพื่อบรรจุเข้าสภาต่อไป

ไม่ว่าจะเป็น “ทางรอด” หรือ “ทางเลือก” ก่อนธุรกิจในช่วงโควิด ก็อาจจะได้ยินเรื่องการฟื้นฟูกิจการมากขึ้น ในเมื่อมีกฎหมายที่เอื้อให้ล้มแล้วลุกใหม่ได้

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ