TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสิบเดือนหลังโควิดเศรษฐกิจยังโอเคมั้ย

สิบเดือนหลังโควิดเศรษฐกิจยังโอเคมั้ย

เศรษฐกิจตกอยู่ใต้อิทธิพลของสภาวะถดถอย นับแต่วิกฤติโควิดอุบัติขึ้นเมื่อ 10 เดือนก่อนหน้านี้ หรือวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินสั่งล็อกดาวน์ หรือปิดเมืองตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมเป็นจุดเริ่มต้น 

ก่อนหน้าโควิด-19 มาเยือนมีการคาดการณ์ (ช่วงปลายปี 2562) ว่าปี 2563 เศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณ 3.2% ส่งออกขยายตัว2.3% และท่องเที่ยวจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยไม่น้อยกว่า 40 ล้านคน แต่พอโควิด-19 มาเยือน ภาพเศรษฐกิจก็เปลี่ยน หน่วยงานทางเศรษฐกิจได้ประเมินภาพเศรษฐกิจใหม่แบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกประเมินผลถึงเดือนมีนาคม ช่วงที่สองรวมเอาผลจากมาตรการล็อกดาวน์ (ปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องพฤษภาคม) เข้าไปด้วย และช่วงที่สามคือ ช่วงฟื้นฟูเปิดประเทศ

ในการประเมินช่วงแรกนั้น ทั้งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งแห่งชาติ หรือเรียกกันคุ้นปากว่า “สภาพัฒน์ฯ”  และธนาคารแห่งประเทศ ประเมินใกล้เคียงกันว่า เศรษฐกิจจะติดลบประมาณ 5.3% (จากเติบโต 3.2%)  

ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาฯ สภาพันฒ์ฯ (ตอนนั้น) ออกมาคาดการณ์ราวเดือนพฤษภาคมว่า เศรษฐกิจปีนี้จะติดลบ 5-6% ภายใต้เงื่อนไขว่าการระบาดจบไตรมา 2 ไตรมาส 3 เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และไม่มีการระบาดระลอกสอง

แต่ปัจจัยเงื่อนไขที่สภาพัฒน์ฯ กำหนดไว้ไม่เป็นตามนั้น อย่างที่ทราบกันว่าโควิด-19 พิชิตโลกได้ภายใน 3 เดือน กว่า 213 ประเทศทั่วโลกได้รับเชื้อระบาดกันโดยถ้วนหน้า และมาตรการสำคัญที่ทุกประเทศนำมาใช้หยุดโควิด-19 คือ “ล็อกดาวน์” รวมทั้งประเทศไทยของเรา มาตรการล็อกดาวน์สามารถชะลอการระบาดได้จริงแต่มีผลข้างเคียงต่อเศรษฐกิจไม่น้อย

ในการประเมินของแบงก์ชาติช่วงเดือนมิถุนายน ได้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2563 เป็นครั้งที่สอง เป็นติดลบ 8.1% (จากเดิมติดลบ 5.3%) โดยรวมเอาผลจากมาตรการล็อกดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าไปด้วย โดยเศรษฐกิจไตรมาสสองติดลบถึง 12.2% จากไตรมาสแรกที่ติดลบเพียง 2%

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการแบงก์ชาติตอนนั้น ออกมาบอกว่า “เศรษฐกิจไทยลงถึงจุดต่ำสุดแล้ว” และบอกด้วยว่าเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ช้าหน่อย ไม่ใช่แบบ V shape ที่ลงถึงจุดต่ำสุดแล้วเด้งขึ้นทันที แต่เป็น “ไนกี้เชฟ” หรือ  เครื่องหมายถูกหางยาวเป็นพิเศษ ซึ่งหมายถึงเศรษฐกิจจะค่อย ๆ ฟื้นตัวในท่วงทำนองเนิบ ๆ นาบ ๆ

ส่วนการประเมินครั้งที่สามเป็นผลรวมจากการคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล ที่เริ่มต้นในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม ที่มีการคลายล็อกดาวน์ช่วงที่หก หรือธุรกิจ ธุรกรรมส่วนใหญ่กลับขับเคลื่อนได้เกือบปกติ

รายงานแบงก์ชาติเดือนสิงหาคม เศรษฐกิจครึ่งปีหลังจะติดลบน้อยลง และปรับคาดการณ์เศรษฐกิจทั้งปีใหม่เหลือ ติดลบ 7.8% (เดิมติดลบ 8.1%) เนื่องจากกิจกรรมธุรกิจเริ่มกลับมาเป็นเกือบปกติดังกล่าวข้างต้น การส่งออกติดลบลดลง การบริโภคในประเทศดีขึ้น กลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มฟื้นกลับมาเป็นสภาพเกือบปกติ

การเริ่มฟื้นตัวเล็ก ส่งออกติดลบน้อยลง ท่องเที่ยวเริ่มมีนักท่องเที่ยวเข้ามาตามโปรแกรมกักตัวในเดือนตุลาคม แม้มีจำนวนแค่หลักพัน การบริโภคที่มีมาตรการรัฐหนุน และจีดีพีติดลบน้อยลง โดยรวมแล้วถือว่า 11 เดือนเศรษฐกิจหลังโควิด-11 ยังโอเคอยู่ ยังห่างจากสถานการณ์ “เผาจริง” ที่กลัว ๆ กัน

ส่วนแนวโน้นปีหน้า แม้หลายสำนักคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะกลับมาบวกประมาณ 4% แต่เป็นการเติบโตจากฐานที่ลดลงเกือบ 8% จากปีนี้ ความสำเร็จในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เริ่มนับถอยหลัง แต่คงต้องใช้เวลาพักใหญ่กว่าจะได้ฉีดกันโดยถ้วนหน้า และผลจากวิกฤติที่ภาคเศรษฐกิจภาคธุรกิจเผชิญในปีนี้จะเริ่มส่งผลปีหน้า ภาพเศรษฐกิจในช่วงจากนี้ไปจึงอยู่ในสภาวะแบบว่า “มีความไม่แน่นอนสูง”

ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ ที่ผ่านทั้งช่วงเวลา เฟื่องฟู โรยรา จนถึง ถดถอย จากวิกฤติค่าเงินปลายทศวรรษ 2530   
วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และล่าสุดวิกฤติโควิด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ