TH | EN
TH | EN
หน้าแรกSustainabilityมิตซูบิชิ หนุนไทยสู่สังคมคาร์บอน สมดุล ติดตั้งแผงโซลาร์ให้ 40 โรงพยาบาลใน 10 ปี

มิตซูบิชิ หนุนไทยสู่สังคมคาร์บอน สมดุล ติดตั้งแผงโซลาร์ให้ 40 โรงพยาบาลใน 10 ปี

มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ตั้งเป้าติดตั้งระบบแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (แผงโซลาร์) ให้กับโรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่ทั่วประเทศไทย สำหรับใช้ในการผลิตพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงพยาบาล ภายใต้โครงการ “Solar For Lives : พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยมีเป้าหมายนอกจากช่วยประหยัดค่าไฟให้กับทางโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลแล้ว ยังเป็นการตอบสนองต่อนโยบายคาร์บอนสมดุล (Carbon neutral) ของรัฐบาลไทย 

โมริคาซุ ชกกิ ประธานคณะกรรมการ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) และประธานมูลนิธิมิตซูบิชิมอเตอร์สประเทศไทย กล่าวว่า “โครงการ Solar For Lives นี้ เป็นส่วนหนึ่งของความตั้งใจของทางมิตซูบิชิที่ต้องการตอบแทนสังคมไทยใน 3 ด้านหลัก ซึ่งประกอบด้วยการศึกษา สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งโครงการ Solar For Lives เป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายสนับสนุนด้านการสาธารณสุขของไทย เพราะการติดตั้งแผงโซลาร์จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาล ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

“โครงการนี้มีแผนการดำเนินงานในระยะยาวและต่อเนื่อง โดยมิตซูบิชิจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้แก่โรงพยาบาลปีละประมาณ 3-4 แห่ง” ประธานชกกิ กล่าว

เพื่อให้สามารถเข้าถึงโรงพยาบาลที่สามารถใช้ประโยชน์จากแผงโซลาร์เซลล์ได้อย่างแท้จริง ทางมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับทางกระทรวงสาธารณสุข การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ในการดำเนินการคัดเลือกโรงพยาบาล และติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในครั้งนี้ 

เอกอธิ รัตนอารี กรรมการรองผู้จัดการใหญ่สายงานทรัพยากรบุคคลและบริหารทั่วไป บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า เกณฑ์ในการคัดเลือกโรงพยาบาล คือเป็นโรงพยาบาลในพื้นที่ชนบท หรือต่างจังหวัด ซึ่งมีพื้นที่ดาดฟ้ารองรับการติดตั้งแผงโซลาร์พร้อมแล้ว และต้องการแผงโซลาร์เซลล์ไปใช้เพื่อประหยัดค่าไฟ และเพื่อให้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอตลอด 24 ชั่วโมง

“เบื้องต้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้จัดงบประมาณไว้ราว 60 ล้านบาท เพื่อใช้ในการติดตั้งและส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนรวม 40 แห่งทั่วไทยภายในระยะเวลา 10 ปีต่อจากนี้ คือจนถึงปี 2575 โดยค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเฉลี่ยแห่งละ 1.5 ล้านบาท และทางมิตซูบิชิตั้งเป้าจะดำเนินติดตั้งให้ได้ไตรมาสละ 3-4 แห่ง” เอกนิธิกล่าว 

เอกนิธิ เสริมอีกว่า งบประมาณที่จัดไว้นี้ ครอบคลุมถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาซ่อมบำรุงแผงโซลาร์เซลล์รายปี และคาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้กว่า 17,300 ตัน ตลอดช่วง 10 ปีนี้ และยังช่วยลดค่าไฟให้โรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้มากถึง 400,000 บาทต่อปี โดยโรงพยาบาลแห่งแรกที่จะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ คือโรงพยาบาล น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

ด้าน เออิอิชิ โคอิโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในฐานะที่เข้ามาทำธุรกิจในไทยร่วม 60 ปี และย่างเข้าปีที่ 61 ในปีนี้ มิตซูบิชิได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยที่ต้องการเห็นคนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งโครงการ Solar For Lives มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้น ด้วยการสนับสนุนช่วยเหลือโรงพยาบาลชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ทำให้โรงพยาบาลสามารถนำงบที่จะต้องไปจ่ายค่าไฟไปใช้ในการรักษาคนในชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะเดียวกัน ก็ช่วยดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของไทยให้ดีขึ้นเพื่อเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน 

ทั้งนี้ นอกจากติดตั้งแผงโซลาร์ให้กับทางโรงพยาบาล มิตซูบิชิยังได้ติดตั้งแผงโซลาร์บนหลังคาโรงงานของบริษัทที่แหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ลดลงมากกว่า 6,100 ตันต่อปี รวมถึงการเปิดตัวรถยนต์มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด จากการศึกษาการประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตามวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment – LCA) ของมิตซูบิชิ มอเตอร์ส คอร์ปอเรชั่น ทั้งยังสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านโครงการ ‘ปลูกป่า 60 ปี 60 ไร่’ อีกทางหนึ่งด้วย 

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากรรอง ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความร่วมมือครั้งนี้ว่า โครงการสามารถช่วยสนับสนุนภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างชัดเจน ด้วยการสร้างแหล่งพลังงานที่มีความยั่งยืนให้แก่โรงพยาบาล ช่วยยกระดับบริการสุขภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเข้าถึงโดยสะดวกของประชาชน อีกทั้งยังสามารถส่งเสริมเป้าหมายยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการนำพาประเทศไทยก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนสมดุลด้วย

สุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ทางกฟผ. เข้าร่วมในฐานะที่ปรึกษา ให้คำแนะนำเชิงเทคนิคในการดูแลรักษาซ่อมบำรุงเซลล์แสงอาทิตย์ รวมถึงสนับสนุนกระบวนการออกใบรับรองสิทธิในการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate หรือ REC) ซึ่ง กฟผ. ได้รับสิทธิ์ให้เป็นผู้ดำเนินการซื้อขายสิทธิ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพียงรายเดียวของประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการของบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน สุทธิพงษ์ยังกล่าวว่า โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายพลังงานสะอาดและนโยบายมุ่งสู่ “EGAT Carbon Neutrality” ภายในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้กลยุทธ์ “Triple S” คือ 1. Sources Transformation การกำหนดสัดส่วนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยบูรณาการนวัตกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนให้สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับเขื่อนพลังน้ำและระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5,325 เมกะวัตต์ ในปี 2037 2. Sink Co-creation การดูดซับเก็บกักคาร์บอนอย่างมีส่วนร่วม เช่น โครงการ โครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ของกฟผ.และพันธมิตร ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปี 2022  – 2031 และ 3. Support Measures Mechanism กลไกการสนับสนุนโครงการชดเชยและหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นรูปธรรม โดย กฟผ. ดำเนินโครงการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความต้องการใช้ไฟฟ้าและช่วยหลีกเลี่ยงการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้า เช่น โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5

ขณะที่ เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงบทบาทและภารกิจขององค์การในฐานะอีกหนึ่งพันธมิตรที่จะให้การสนับสนุนความร่วมมือด้านเทคนิคและวิชาการเกี่ยวกับ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ข้อมูลของกระบวนการและหลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) กล่าวว่า อบก. จะเป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการ และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด/กักเก็บได้ ในหน่วย “ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า” หรือเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” โดยสามารถนำไปแลกเปลี่ยน หรือ ซื้อ-ขาย เพื่อนำไปใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากองค์กร งานอีเวนต์ ผลิตภัณฑ์ หรือบุคคลได้

“การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งมอบและติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับโรงพยาบาลชุมชน ระหว่างบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการส่งเสริมให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับท้องถิ่น และยังเป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลชุมชนอีกด้วย ซึ่งกิจกรรมนี้สามารถพัฒนาเป็นโครงการ T-VER และขอรับรองคาร์บอนเครดิตได้” เกียรติชายกล่าว 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ