TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyสงครามยูเครน ระอุไกลถึงนอกโลก .... เมื่อรัสเซียต่อกรด้วย "เทคโนโลยีอวกาศ"

สงครามยูเครน ระอุไกลถึงนอกโลก …. เมื่อรัสเซียต่อกรด้วย “เทคโนโลยีอวกาศ”

นอกเหนือจากการเป็นผู้ส่งออกพลังงานอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลกแล้ว อุตสาหกรรมที่เชิดหน้าชูตาสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศรัสเซียมากที่สุดก็คือ อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ 

พิสูจน์ได้จากการเป็นชาติพันธมิตรหลักในการร่วมก่อตั้งและขับเคลื่อนสถานีวิจัยอวกาศนานาชาติ (ISS) การเป็นซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนเครื่องยนต์จจรวดให้กับทางสหรัฐฯ และชาติตะวันตกอื่น ๆ รวมถึงการให้บริการฐานปล่อยจรวดและดาวเทียมแก่หลายองค์กรสื่อสารชั้นนำ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป

ทั้งนี้ หนึ่งสัปดาห์หลังสหรัฐอเมริกาและชาติพันธมิตรประกาศบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตร รอสคอสมอส (Roscosmos) องค์กรบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติรัสเซีย เทียบเท่ากับองค์การนาซาของสหรัฐฯ ก็ออกมาประกาศระงับความร่วมมือกับการดำเนินการทดลองต่าง ๆ บนสถานีวิจัยอวกาศนานาชาติ โดยระบุชัดเจนว่าเป็นไปเพื่อตอบโต้การคว่ำบาตรของชาติตะวันตก

แถม ดิมิทรี โรโกซิน ผู้อำนวยการของรอสคอสมอส ยังส่งคำเตือนแกมข่มขู่มาอีกว่า เมื่อปราศจากความร่วมมือกับรัสเซียก็ให้ระวังไว้ให้ดีว่า สถานีวิจัยอวกาศนานาชาติแห่งนี้อาจร่วงลงโหม่งพื้นโลกได้ทุกเมื่อ ก่อนที่หลังจากนั้นไม่กี่วันจะมีภาพคลิปวีดีโอเผยบนทวิตเตอร์ของรอสคอสมอส แสดงภาพชิ้นส่วนส่วนหนึ่งที่รัสเซียผลิตมีการแยกตัวออกจากสถานี ISS

ตามข้อมูลของรอสคอสมอส รัสเซียได้จัดส่งชิ้นส่วนต่าง ๆ รวมถึงเครื่องยนต์ในการผลิตจรวดและยานอวกาศแล้วทั้งหมดมากกว่า 200 ชิ้นนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ในจำนวนนี้เกือบ 100 ชิ้นเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ให้พลังงานในการปล่อยยานอวกาศแอตลาสของสหรัฐฯ 

นอกจากนี้ เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการคว่ำบาตรรุนแรงกับรัสเซีย รอสคอสมอสยังยุติบริการเครื่องยนต์จรวดทั้งหมดกับทางสหรัฐฯ หมายความว่า เครื่องยนต์ 24 ตัวที่สหรัฐฯ มีอยู่ในขณะนี้จะไม่ได้รับบริการความช่วยเหลือทางเทคนิคใด ๆ กับทางรัสเซียอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านั้น รอสคอสมอสกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาทบทวนข้อตกลงด้านดาวเทียมและการปล่อยดาวเทียมกับบริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสัญชาติตะวันตกหลายราย หนึ่งในนั้นก็คือ OneWeb บริษัทดาวเทียมอังกฤษที่มีรัฐบาลแดนผู้ดีถือหุ้นใหญ่อยู่ โดยรอสคอสมอสขอคำยืนยันว่าดาวเทียมดังกล่าวจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านการทหารโดยเด็ดขาด 

แต่จนกว่าจะได้รับคำตอบที่ชัดเจน ทางรอสคอสมอสก็ประกาศระงับโครงการปล่อยดาวเทียมที่มีสัญญาผูกพันกันอยู่ในช่วงปี 2022-2023 ทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว 

เว็บไซต์ข่าวด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแห่งอวกาศอย่าง spacenews.com รายงานว่า ดาวเทียมของบริษัทเอกชนกว่า 20 ดวงต้องเร่งหายานพาหนะและฐานปล่อยดาวเทียมแห่งใหม่ หลังทางการรัสเซียสั่งระงับภารกิจปล่อยดาวเทียมที่ไม่ใช่ของรัสเซียโดยยานโซยุซทั้งหมด

โดยปีนี้ โซยุสมีข้อตกลงปล่อยดาวเทียมให้กับบริษัทต่างชาติทั้งหมด 12 ดวง และอีก 3 ดวงในปี 2023 และ 1 ดวงในปี 2024 ซึ่งผู้ใช้บริการมีทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนในอังกฤษ สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ สวีเดน และญี่ปุ่น

งานนี้ แม้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย รวมถึงองค์กรนาซาจะออกมายืนยันว่า การตัดสินใจของรอสคอสมอสไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญกับโครงการอวกาศที่มีอยู่ทั้งหมด กระนั้น ฟิล สมิธ (Phil Smith) นักวิเคราะห์ของ BryceTech ที่ติดตามอุตสาหกรรมการปล่อยยานอวกาศในเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า การนำ โซยุซ (Soyuz) ออกจากตลาดอย่างไม่มีกำหนดอย่างกะทันหัน “ทำให้ลูกค้าบางรายไม่อาจเลี่ยงวิกฤติได้” และต่อให้จะมี “ตัวเลือกอื่น ๆ อยู่” ในตลาดด้วย มีบริษัทหน้าใหม่เข้ามาเปิดตัวมากขึ้น เช่น  Arianespace ฯลฯ แต่ “การจัดกำหนดการใหม่โดยทันทีก็ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายเนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีงานล้นมืออยู่แล้ว”

รายงานระบุว่า สหภาพยุโรปมีกำหนดใช้บริการจรวดโซยุซอย่างน้อย 6 ลำในปีนี้ สำหรับปล่อยดาวเทียมเพื่อการนำทาง การสังเกตการณ์โลก และดาวเทียมด้านวิทยาศษสตร์ ขณะที่ญี่ปุ่นกับสวีเดน กล่าวว่า ต้องเร่งหายานปล่อยลำใหม่ ส่วนดาวเทียมภาพถ่ายของเกาหลีใต้ที่ค้างเติ่งอยู่ที่ฐานปล่อยของรัสเซียในคาซัคสถานก็ยังไม่ทราบชะตากรรมที่แน่นอนในขณะนี้ 

ขณะเดียวกัน บริษัทที่น่าจะได้รับผลกระทบหนักสุดก็คือ OneWeb ของอังกฤษ ที่แผนที่จะปล่อยดาวเทียมวงโคจรต่ำ 6 ชุดสุดท้ายภายในกลางปีนี้ โดยใช้จรวดโซยุซของรัสเซีย 

ทั้งนี้ ตัวอย่าง ภารกิจของยานโซยุสที่ให้บริการแก่ต่างประเทศ ในปี 2022-2023 เช่น

  • ดาวเทียมสองคู่ของระบบนำทางด้วยดาวเทียมในโครงการกาลิเลโอของยุโรป
  • กล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิดอินฟราเรดและดาวเทียม EarthCARE ของ ESA
  • ดาวเทียมเรดาร์ Sentinel 1C สำหรับโครงการสังเกตการณ์ Copernicus Earth ของยุโรป
  • ไมโครแซทเทลไลท์ MATS ที่ทางสำนักงานอวกาศแห่งชาติสวีเดนให้ทุนสนับสนุนสำหรับการวัดปริมาณก๊าซในชั้นบรรยากาศของโลก
  • ไมโครแซทเทิลไลต์ตรวจจับระยะไกล GRUS สี่ดวงสำหรับ Axelspace ผู้ให้บริการภาพถ่ายโลกของญี่ปุ่น
  • ดาวเทียมสาธิต StrX-1 สำหรับ Synspective บริษัทเรดาร์รูรับแสงสังเคราะห์ (SAR) ของญี่ปุ่น

นินจา เมนนิง โฆษกขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) กล่าวว่า ขณะนี้ยุโรปกำลังพิจารณาทางเลือกอื่นและแผนงานสำหรับการปล่อยดาวเทียม Galileo, Euclid และ EarthCARE โดยไม่ต้องพึ่งพาโซยุซ โดยสภา ESA จะมีการประชุมหารือในวันที่ 16 มีนาคมนี้ ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อยในการดำเนินการขั้นต่อไป แต่อย่างน้อยก็ช่วยให้ ESA มีทางเลือกที่เป็นไปได้ที่หลากหลายมากขึ้น 

ด้าน แอนนา รัธส์แมน ผู้อำนวยการสำนักงานอวกาศแห่งชาติสวีเดน กล่าวว่า ทางหน่วยงานกำลัง “มองหาทางเลือกอื่นนอกจากรัสเซีย” สำหรับการปล่อยดาวเทียม Mesospheric Airglow/Aerosol Tomography and Spectroscopy หรือ MATS 

ส่วน เมอิ อิคุโมโต โฆษกบริษัท Axelspace ของญี่ปุ่นกล่าวว่า ทางบริษัทกำลังติดตามสถานการณ์ปัจจุบันอย่างใกล้ชิดและพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งหมด สำหรับดาวเทียม GRUS สี่ดวงที่กำหนดให้ใช้กับโซยุซในปลายปีนี้

ขณะที่ EUMETSAT หน่วยงานดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาของยุโรป ได้วางแผนที่จะเปิดตัวดาวเทียมสภาพอากาศ Metop-SG ดวงแรกกับ Soyuz จากฐานปล่อยจรวดในเฟรนช์เกียนา (French Guiana)ในปี 2024 ทั้งยังมี ดาวเทียม Metop เพิ่มเติมอีก 2 ดวงซึ่งกำหนดปล่อยในปี 2025 และ 2031 กับยานโซยุซ และ Ariane 6 ร่วมกัน 

พอล คูว์เน็ต หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ การสื่อสาร และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของ EUMETSAT กล่าวว่า หน่วยงานกำลังประเมินสถานการณ์กับ Arianespace และไม่สามารถพูดอะไรเพิ่มเติมได้ในขณะนี้

ในส่วนของ OneWeb ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด นักวิเคราะห์รวมถึง Gunter Krebs นักประวัติศาสตร์ยานอวกาศและวิศวกรซอฟต์แวร์ ผู้สร้าง Gunter’s Space Page ในปี 1996 เพื่อติดตามดาวเทียมและกิจกรรมการเปิดตัว กล่าวว่า ในระยะเวลากระชั้นชิดเช่นนี้ ไม่มีผู้ให้บริการปล่อยจรวดแม้เพียงรายเดียวที่สามารถนำมาปรับใช้กับดาวเทียมที่เหลืออยู่ของ OneWeb ได้ ไม่ว่าจะเป็นดาวรุ่งที่กำลังมาแรงอย่างจีน หรือ บริษัทเอกชนอื่น ๆ ในรัสเซียเองก็ตาม 

หรือต่อให้จะหันไปใช้บริการของสเปซเอ็กซ์ ของมหาเศรษฐีนักธุรกิจอีลอน มัสก์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งเดียวที่น่าจะมีความพร้อมมากที่สุดในเวลานี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ต่างเห็นตรงกันว่า สเปซเอ็กซ์ ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ไม่พึงปรารถนาสักเท่าไรนัก

คาเลบ เฮนรี นักวิเคราะห์อาวุโสของ Quilty Analytics กล่าวว่า ถ้าไม่นับรวมสเปซเอ็กซ์ ผู้ให้บริการปล่อยจรวดส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในเวลานี้กำลังอยู่ในระหว่างการโละหรือปลดระวางจรวดที่มีอยู่ หมายความว่า บริษัทหลายแห่งกำลังอยู่ในช่วงของการผลิตจรวดใหม่แทนที่จรวดเก่า ทำให้ต้องใช้เวลาอีกสักระยะ กว่าที่จรวดใหม่จะได้รับความมั่นใจออกมาใช้งานในตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป 

ส่วนในส่วนที่ว่าทำไม สเปซเอ็กซ์ ถึงเป็นตัวเลือกที่ OneWeb อย่างอังกฤษไม่ค่อยอยากได้มากนัก ทั้ง ๆ ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์มากที่สุดตามเงื่อนไขด้านระยะเวลาที่ OneWeb มีเป็นเพราะสเปซเอ็กซ์ถือเป็นคู่แข่งในการผลิตและพัฒนาดาวเทียมของ OneWeb แม้จะมีกลุ่มเป้าหมายต่างกัน โดยสเปซเอ็กซ์เน้นผู้บริโภคเป็นหลัก แต่ OneWeb เน้นกลุ่มลูกค้าองค์กร ก็ตาม แต่ทั้งสองแห่งยังคงแข่งขันกันเพื่อเป็นลูกค้าภาครัฐ และเสี่ยงต่อการแข่งขันที่มากขึ้นเนื่องจากบริการที่แตกต่างกันออกไป

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า การเตรียมการปล่อยดาวเทียมแต่ละครั้งนั้นต้องมีการวางแผนล่วงหน้านานหลายร่วมเดือน กำหนดงบประมาณล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ข้อติดขัดเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลเสียหายต่อบริษัทได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งเชื่อว่า ในวิกฤติย่อมมีโอกาส เพราะอุตสาหกรรมอวกาศที่ค่อนข้างผูกขาดนี้ ได้เปิดพื้นที่ให้บริษัทเอกชนหน้าใหม่ได้เข้ามาเสนอตัวพิสูจน์ฝีมือแล้ว

โคล์ด รอสโซว์ (Claude Rousseau) ที่ปรึกษาของบริษัทวิจัย Northern Sky Research กล่าวว่า จรวดหรือยานปล่อยดาวเทียมที่ไม่ได้รับการพิสูจน์เหล่านี้อาจทำให้ผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าจำนวนมากไม่สบายใจ แต่ในที่สุดจรวดเหล่านี้จะช่วยแก้ไขปัญหาคอขวดของการปล่อยจรวดได้ เช่น Terran 1 ของ Relativity Space, Alpha ของ Firefly และ RS1 ของ ABL ซึ่งทั้งหมดระบุว่ายานของตนสามารถแบกรบน้ำหนักสิ่งของ 1,000 กิโลกรัมขึ้นไปไปยังวงโคจรต่ำของโลก 

อย่างไรก็ตาม Quilty Analytics ประมาณการว่า ยานเกราะปล่อยจรวดขนาดเล็กที่ใหญ่ที่สุดจะมีความสามารถในการบรรทุกดาวเทียม OneWeb ขนาด 150 กิโลกรัม ได้ 4-6 ดวงต่อจรวดหนึ่งลำ โดยจะคำนวณจากมวลดาวเทียม ความเอียงของวงโคจร และระดับความสูงในการแยกโดยทั่วไป ดังนั้น จึงหมายความว่าต้องใช้เวลา 4-9 เท่าของการปล่อยจรวดหลายครั้งเพื่อเติมช่องว่างทดแทนการใช้ยานโซยุซหนึ่งลำ ซึ่งไม่ต้องสงสัยต้องมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากขึ้นเพียงใด 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า ขณะนี้ ทั่วโลกต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24-36 เดือนกว่าจะพร้อมมียานปล่อยดาวเทียมหนึ่งลำ ที่มีสมรรถนะและขีดความสามารถเทียบเท่ากับยานโซยุซของรัสเซียในเวลานี้ 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

รัสเซีย-ยูเครน สงครามใหญ่ไฮบริดในยุคดิจิทัล “เทคโนโลยี” ในยุทธวิธีสงครามของยูเครน

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจโลก ดันเงินเฟ้อพุ่ง-ขวางการฟื้นตัว-ทำท่องเที่ยวสะดุด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ