TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistสงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจโลก ดันเงินเฟ้อพุ่ง-ขวางการฟื้นตัว-ทำท่องเที่ยวสะดุด

สงครามรัสเซีย-ยูเครน สะเทือนเศรษฐกิจโลก ดันเงินเฟ้อพุ่ง-ขวางการฟื้นตัว-ทำท่องเที่ยวสะดุด

แม้ความขัดแย้งรุนแรงจะเกิดขึ้นในยูเครน และมาตรการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกพยายามจำกัดขอบเขตความเสียหาย โดยพุ่งเป้าไปที่รัสเซียให้มากที่สุด แต่ก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบถึงนานาประเทศที่อยู่ร่วมโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม

ทั้งนี้ เดวิด มัลพาส ประธานธนาคารโลก (เวิล์ดแบงก์) ระบุชัดเจนว่า สงครามในยูเครนคือหายนะสำหรับโลกใบนี้ที่จะส่งขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก และว่าสงครามครั้งนี้ยังเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดที่ตัวเลขเงินเฟ้อกำลังถีบตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกประเทศ โดยยังไม่นับรวบความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้อย่างชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายพันคน

ความเห็นของประธานเวิล์ดแบงก์สอดคล้องกับคำเตือนของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ที่พร้อมใจตบเท้าออกมาเตือนในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันว่า ราคาพลังงานครอบคลุมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกลายเป็นแรงผลักดันให้ภาวะเงินเฟ้อเข้าขั้นวิกฤติ 

เหตุผลเพราะผู้บริโภคต้องควักเงินจ่ายค่าไฟ-ค่าน้ำมันแพงขึ้น ในช่วงเวลาที่กำลังการบริโภคของคนสังคมโลกส่วนใหญ่ ยังค่อนข้างอ่อนแอและยังไม่ฟื้นตัวดีจากวิกฤติการระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 อย่างในสหรัฐฯ ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นมาอยู่ 3.84 ดอลลาร์สหรัฐต่อแกลลอน ขยับขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่พายุเฮอร์ริเคนแคทรินาในปี 2005 และคาดว่าในไม่ใช้ราคาน้ำมันในสหรัฐฯ จะขยับแตะเกิน 4 ดอลลาร์สหรัฐแน่นอน

ธนาคารโลกเปิดเผยว่า รัสเซียถือเป็นแหล่งพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดของสหภาพยุโรป และอยู่ในลำดับต้น ๆ ของโลก และราว 39% ของพลังงานไฟฟ้าในอียู มาจากการเผาผลาญน้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต 

นอกจากราคาพลังงานที่น่าวิตกแล้วราคาอาหารยังถือเป็นประเด็นที่น่าวิตกเช่นกัน เพราะทั้งรัสเซียกับยูเครนต่างเป็นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลก โดยยูเครนคือผู้ผลิตน้ำมันดอกทานตะวันที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่รัสเซียตามมาเป็นอันดับที่สอง 

จากข้อมูลของ S&P Global Platts พบว่า ยูเครนกับรัสเซียมีสัดส่วนการผลิตน้ำมันดอกทานตะวันสูงถึง 60% ของการผลิตทั้งหมดของโลก ขณะเดียวกัน ข้อมูลจากเจพีมอร์แกนยังพบว่า ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนส่งออกข้าวสาลีรวมกันถึง 28.9% ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีในตลาดฟิวเจอร์สในชิคาโกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี 

เรียกได้ว่า ราคาสินค้าแพงตามต้นทุนพลังงานบวกกับราคาอาหารที่ขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกที่เพิ่งจะขยับได้อีกครั้งหลังจากถูกแช่แข็งมากว่า 2 ปีมีเหตุให้ต้องสะดุดหัวทิ่ม และคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนยากจนหรือผู้มีรายได้น้อยที่ต้องแบกรับภาระค่าอาหารและน้ำมันแพงไปโดยปริยาย 

หลายประเทศในเวลานี้ต่างออกมาตัดลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกของตนเองลง เช่น รัฐบาลอังกฤษตัดลดจาก 4.2% มาอยู่ที่ 3.6% โดยให้เหตุผลว่า เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจะบั่นทอนกำลังการบริโภคของคนในประเทศ ขณะที่จีนก็ได้มีการปรับลดเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจประจำปี 2022 นี้ลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ที่ราวระดับ 5.5%  ซึ่งถือได้ว่าลดลงอย่างมากจากการขยายตัวในปี 2021 ที่ 8.1% แม้บรรดานักวิเคราะห์จะคาดการณ์ว่าการที่รัสเซียโจมตียูเครนนั้นมีแนวโน้มส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อจีน แต่จีนก็อาจหนีไม่พ้นที่ต้องเผชิญปัญหาจากต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นเช่นกัน 

สำหรับในกรณีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่หลายฝ่ายมองว่าต่อให้ไม่ได้เป็นคู่ค้าใกล้ชิดระดับเดียวกันจีน หรือต้องพึ่งพาพลังงานอย่างหนักอย่างสหภาพยุโรป (อียู) กระนั้นหลายประเทศในอาเซียนก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักหน่วงไม่ต่างกัน 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งออกมาประเมินว่า นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียถือเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มสำคัญในภูมิภาคนี้ ดังนั้น สงครามและการคว่ำบาตรที่คาดว่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียลดลง ย่อมส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียนที่กำลังอยู่ในภาวะเปราะบางจากการฟื้นตัวเพราะการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวรัสเซีย อย่างเกาะบาหลีในอินโดนีเซีย หรือจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย

รายงานระบุว่า ขณะนี้หลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา และไทย ต่างทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนจนครบโดสแล้ว ขณะที่เวียดนามมีแผนที่จะเปิดประเทศในวันที่ 15 มีนาคมนี้ ท่ามกลางความหวังว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลักของอาเซียนจะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคให้กลับมายืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง

ผลการสำรวจขององค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ World Tourism Organization (UNWTO) พบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของประเทศท่องเที่ยวชั้นนำต่างคาดหวังว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปี 2021 ที่ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวขยับขึ้นจากปี 2020 ราว 19% มาอยู่ที่ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ตาม สงครามในยูเครน มาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และการจำกัดน่านฟ้าการบิน ทำให้ความหวังในเรื่องการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และอาเซียน ริบหรี่ลงไปได้ โดยเฉพาะในอาเซียนที่นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ถือเป็นนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักกลุ่มใหญ่ ซึ่งข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน ปี 2021-กุมภาพันธ์ ปี 2022 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนภูเก็ตของไทย 278,000 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวรัสเซียถึง 51,000 คน 

บิลล์ บาร์เน็ตต์ ผู้อำนวยการ C9 Hotelworks บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจในภูเก็ตให้สัมภาษณ์กับทางอัลจาซีราระบุว่า หลายโรงแรมในจังหวัดได้รับแจ้งขอยกเลิกการเดินทางเนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สะดวกที่จะเดินทางเข้ามาได้  

ด้านเกาะบาหลี นักท่องเที่ยวชาวรัสเซียกลายเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่สุดที่มาเยือนเกาะแห่งนี้แทนที่นักท่องเที่ยวออสเตรเลีย ซึ่งยังคงถูกสั่งห้ามจากรัฐบาลไม่ให้เดินทางออกนอกประเทศนับตั้งแต่ปี 2020 โดยทางการบาหลียอมรับว่า การใช้จ่ายในด้านอาหาร ที่พัก ขนส่งและการเที่ยวอื่น ๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเกาะแห่งนี้ซึ่งมีรายได้กว่า 60% จากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

นักวิเคราะห์มองว่า นอกจากจะเดินทางไม่สะดวกแล้ว ค่าเงินรูเบิลที่ร่วงลงอย่างแรงเพราะมาตรการคว่ำบาตร ทำให้ชาวรัสเซียตัดใจไม่เที่ยว หรือจำนวนชาวรัสเซียที่สามารถควักเงินเที่ยวย่อมมีลดน้อยลง 

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากราคาค่าเดินทางทางเครื่องบินที่จะขยับปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะการสั่งปิดน่านฟ้า ทำให้ต้องปรับเส้นทางการบินอ้อมรัสเซีย แต่ด้วยความที่รัสเซียเป็นประเทศขนาดใหญ่และเป็นเสมือนสะพานเชื่อมยุโรปกับเอเชีย ดังนั้น การอ้อมจึงไม่ต่างอะไรกับการเพิ่มชั่วโมงการเดินทางและใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาค่าเดินทางเพิ่มขึ้นราว 11,000 – 20,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อเที่ยว 

แน่นอนว่าในระยะยาว นักวิเคราะห์เชื่อว่า สุดท้ายผู้คนย่อมออกมาท่องเที่ยว แต่กว่าจะถึงเวลานั้น ภายใต้สถานการณ์ที่เงินเฟ้อสูง น้ำมันแพง นักท่องเที่ยวจากยุโรปยังไม่พร้อม และจีนยังต้องจัดการกับโควิด-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของอาเซียนย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงความเสียหายได้เลย 

บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

รัสเซีย-ยูเครน สงครามใหญ่ไฮบริดในยุคดิจิทัล “เทคโนโลยี” ในยุทธวิธีสงครามของยูเครน

เครื่องมือลงทุน กับ เงินเฟ้อ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ