TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเครื่องมือลงทุน กับ เงินเฟ้อ

เครื่องมือลงทุน กับ เงินเฟ้อ

เวลาพูดถึงปัญหาที่เราไม่ประสบความสำเร็จในการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เรามักจะพูดว่าเพราะไม่มีเป้าหมาย ทำให้เราไม่ได้มีวิธีการ เราพูดถึงเวลาที่น้อยเกินไป คือมารู้ตัวอีกทีตอนอายุมาก ๆ  ทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่อีกปัญหาหนึ่งที่เรามักไม่ค่อยพูดถึง คือ การใช้เครื่องมือที่เหมาะสม

ในยุคที่ผมเป็นคนหนุ่มที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว จะถูกสอนให้เก็บเงินเก็บทองด้วยวิธีฝากเงินไว้ในธนาคาร โดยเปิดบัญชีไว้ 2 เล่ม ๆ หนึ่งเป็นบัญชีที่ใช้ประจำวัน อีกบัญชีเก็บไว้เป็นเงินสำหรับอนาคต แล้วก็ย้ำกันนักหนาว่าบัญชีสำหรับอนาคตห้ามเอาออกมาใช้ ไม่ว่าจะเดือดร้อนขนาดไหน

คราวนี้ก็จะมาถึงวิธีการสร้างเงินออม หรือเงินในอนาคตว่าใช้สูตรไหน บางคนบอกว่า เงินออม = รายได้ – รายจ่าย ขณะที่อีกสูตรบอกว่า เงินได้ – เงินออม = เงินใช้จ่าย ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน หากใช้สูตรแรก มักจะได้เงินออมค่อนข้างน้อย เพราะจะหมดไปกับรายจ่ายเสียส่วนใหญ่ บางเดือนก็อาจจะไม่เหลือเลย หากมีค่าใช้จ่ายที่เกือบเท่าเงินได้ 

สูตรสร้างเงินออม ผมว่ายังใช้ได้ทุกสมัย เพียงแต่ในยุคผม การหารายได้อาจจะไม่เหมือนปัจจุบัน ที่มีวิธีการไม่กี่อย่าง ไม่มีเครื่องมือให้เลือกใช้ได้มากมาย ประการสำคัญอัตราดอกเบี้ยธนาคารมันมากพอจะอยู่เฉย ๆ สะสมเงินออมแล้วงอกเพิ่มมาได้ทุกปี แต่วันนี้ อัตราดอกเบี้ยที่ 0.5-1.5% มันไม่ทำให้เงินมันงอกเงยได้ 

ประการสำคัญที่เรามักจะมองข้ามไป คือ อัตราเงินเฟ้อ

ปัจจุบันค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อคือ 3% ที่บางปีก็อาจจะขยับเพิ่มมากกว่านี้ ซึ่งเงินเฟ้อเป็นตัวลดมูลค่าของเงินออมเราลงไปเรื่อยๆ เพราะมันอยู่กับเราทุกปี มันเป็นนามธรรมที่ทำร้ายเราอย่างเป็นรูปธรรม วันนี้เรามีเงินร้อยบาท แต่มูลค่าเหลือเพียงแค่ 97 บาท เราซื้อสินค้าได้น้อยลง หรือได้ไม่มากเท่าเดิม วันนี้เราซื้อข้าวแกงจานละ 40 บาท ในอนาคตสัก 10-20 ปีผ่านไป เราอาจจะต้องซื้อข้าวแกงจานละ 50 บาทขึ้นไป (บางคนเรียกเงินเฟ้อ คือสาเหตุที่ทำให้สินค้าแพงขึ้น หรือ ของแพง)

สมาคมนักวางแผนการเงิน ได้ลองคำนวณ ให้ดูว่า หากในอนาคต เราต้องการใช้เงินเกษียณเดือนละ 20,000 บาท สักเวลา 20 ปี ต้องเตรียมเงินไว้ตอนอายุ ประมาณ 4.8 ล้านบาท ซึ่งในความเป็นจริง เมื่อบวกเงินเฟ้อ3% ทุกปี คุณต้องมีเงินเดือนละ 36,122 บาท เพียงเพื่อจะได้ใช้เดือนละ 20,000 บาท โดยส่วนที่เกินนั้น คืออัตราเงินเฟ้อที่ถูกบวกไว้ 3% ทุกปี (ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http//tfpa.or.th)

ดังนั้น หากเรามีวิธีสร้างเงินออมของเราแล้ว ก็ต้องหาวิธีให้เงินออมของเราสามารถสร้างมูลค่าได้อย่างน้อยก็เท่ากับเงินเฟ้อก็ยังดี มูลค่าจะได้ไม่ลดลง ส่วนเงินฝากในบัญชีธนาคารควรเก็บไว้สำหรับเป็นเงินฉุกเฉิน เพื่อใช้ข้อดีคือเบิกถอนได้ง่ายเก็บไว้มีเหตุจำเป็นต้องใช้วัก 3-6 เดือน กรณีที่คาดไม่ถึง เช่นตกงาน หรือถูกลดเงินเดือน 

อีกวิธีหนึ่งที่คนรุ่นผมนิยมกันก็คือ เอาเงินออมไปซื้อสลาก ที่ฮิตกันก็คือ สลากออมสินของธนาคารออมสิน ที่มีออกมาเป็นระยะ ๆ 3 ปีบ้าง 5 ปีบ้าง ราคาก็เริ่มต้นกันตั้งแต่หน่วยระดับพันไปจนถึงระดับหมื่นบาท ที่ชอบกันก็คือ เงินอยู่ครบ ได้ดอกเบี้ยมานิดหน่อย ประมาณ 0.50 แต่ที่ชอบก็คือได้ลุ้นทุกเดือน ถ้าสลากถูกก็ได้เงินเป็นล้านเหมือนกัน ที่ชอบคือทุนอยู่ครบ แต่ก็แพ้เงินเฟ้ออยู่ดี  

โชคดีที่ปัจจุบันมีทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่าแต่ก่อน อาทิการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม ซึ่งจะให้ผลตอบแทนไม่เลวเลยทีเดียว แต่ความหลากหลายสร้างทางเลือกไว้มาก การมีข้อมูลที่มหาศาลก็ทำให้เลือกไม่ถูกได้เหมือนกัน รวมทั้งตราสารหนี้ ทั้งในส่วนของภาคเอกชนและของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ล้วนสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าอัตราเงินเฟ้อ

มีข้อเตือนใจก็คือยิ่งมีทางเลือกมาก ก็ยิ่งสร้างความกังวลไม่แน่ใจว่าจะเลือกอะไร คนกลุ่มหนึ่งจึงเลือกที่จะเดินช้า ๆ ไม่รีบไม่เร่งแต่เลือกการลง ทุนที่คุ้นเคยไม่เสี่ยงไปหนทางที่ไม่แน่ใจจะดีกว่า

คอลัมน์: Personal Finance ที่ผมรู้จัก (แต่ทำไม่ได้) EP 9

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

Key of Success

ไม่มีวิกฤติสำหรับคนที่แสวงหาโอกาส

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ