TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnist“บ๊ะจ่าง” ของกินดั้งเดิมชนชาติไท

“บ๊ะจ่าง” ของกินดั้งเดิมชนชาติไท

เทศกาลไหว้บ๊ะจ่างวันที่ 14 มิถุนายนปีนี้ ผ่านไปแล้วแบบเหงา ๆ เพราะพิษจากสถานการณ์โควิด-19

แต่ข่าวที่เป็นสีสันแบบคาดไม่ถึง ก็คือ ที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มีการเผยโฉมหุ่นยนต์สองตัวที่สามารถทำบ๊ะจ่างอย่างคล่องแคล่ว เริ่มตั้งแต่ การห่อ การมัด จนใส่หม้อต้มสำเร็จออกมาเป็นบ๊ะจ่างที่พร้อมกินได้

เราอาจคิดไม่ถึงว่า เรื่องแค่นี้ทำไมต้องลงทุนพัฒนาหุ่นยนต์มาทำแทนคนด้วย ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะจีนอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ การสร้างงานที่ตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวันได้เป็นตัวอย่างที่ดี

จากประสบการณ์ที่เคยเห็นการทำบ๊ะจ่างของคุณย่ากับคุณแม่ รู้ได้เลยว่าขั้นตอนการห่อเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะ เพราะการห่อด้วยใบไผ่ทรงยาวให้ได้รูปทรงสามเหลี่ยมไม่ง่ายนัก อีกทั้งตอนมัดต้องอาศัยเทคนิคนำเชือกผูกติดกับเสาไว้เป็นพวง ดึงเชือกมามัดทีละห่อด้วยมือข้างเดียวจนได้เป็นพวงใหญ่ค่อยนำไปต้มให้สุก

ต้องเข้าใจว่าในประเทศจีนมีการบริโภคบ๊ะจ่างเป็นอาหารเช้าแบบเดียวกับทางภาคใต้ของไทย แต่ปริมานความต้องการมหาศาลจนต้องมีสายพานการผลิตกันเป็นล่ำเป็นสัน

เคยดูสารคดีโรงงานทำบ๊ะจ่างขนาดใหญ่ของจีน ขั้นตอนการห่อและมัดใช้แรงงานชายหนุ่มที่มีความชำนาญมาก เขาทำงานรวดเร็วแข่งกับเวลาเป็นวินาที มัดห่อแล้วห่อเล่าแบบ non-stop ราวกับเครื่องจักรเลย ดังนั้น การมีหุ่นยนต์มาช่วยก็อาจเป็นสิ่งจำเป็นของจีน

ในเมืองไทยเวลานี้คงเหลือผู้มีทักษะทำบ๊ะจ่างเองได้น้อยแล้ว ช่วงเทศกาลส่วนใหญ่อาศัยซื้อจากผู้ผลิตที่คุ้นเคย แต่เดี๋ยวนี้ก็สามารถสั่งซื้อทางออนไลน์จากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้ด้วย

บ๊ะจ่าง หรือที่คนไทยเรียกว่า ขนมจ้าง ทำจากข้าวเหนียวห่อด้วยใบไผ่ให้ได้รูปทรงสามเหลี่ยมที่สวยงาม มีด้วยกันสองชนิด คือแบบอาหารคาว และแบบของหวาน

ชนิดอาหารคาวจะมีไส้ประกอบด้วยหลายอย่างแล้วแต่สูตรของใคร หลักๆ คือ เนื้อหมู กุนเชียง ถั่วลิสง เห็ดหอม ผัดรวมกัน ปรุงรสทั้งเค็มและหวาน เผ็ดร้อนด้วยพริกไทย เรียกว่า “บ๊ะจ่าง” ตามสำเนียงจีนฮกเกี้ยน และแต้จิ๋ว

เดี๋ยวนี้ไส้บ๊ะจ่างหรูหรากว่าสมัยผมเป็นเด็กมาก มีการใส่ไข่แดงเค็ม กุ้งแห้ง แปะก้วย บางรายเติมหวานด้วยเผือกกวน ทำให้น่ากินขึ้นมาก ลูกใหญ่ขึ้น แต่ราคาก็แพงขึ้นมากเช่นกัน

อีกชนิดเป็นแบบจืดห่อสามเหลี่ยมขนาดเล็ก (คล้ายข้าวต้มน้ำวุ้น) เรียกว่า “กีจ่าง” เป็นข้าวเหนียวล้วน ไม่มีไส้ เนื้อข้าวเหนียวสีเหลืองใส เป็นของหวานกินเปล่า ๆ หรือจิ้มกินกับน้ำตาลทราย หรือน้ำตาลอ้อยก็ยิ่งอร่อย

จำได้ว่าคุณย่าจะใช้เปลือกทุเรียนเผาเป็นเถ้า นำเถ้านั้นมาแช่น้ำหลายวันทำน้ำด่างสำหรับแช่ข้าวเหนียว ทำให้ข้าวเหนียวที่สุกจากการต้มเป็นสีเหลืองใส เนื้อนุ่มเหนียว มีกลิ่นหอมเล็กน้อย

การไหว้บ๊ะจ่าง เป็นเทศกาล 5 ค่ำ เดือน 5 ตามปฏิทินทางจันทรคติ คนจีนแต้จิ๋วเรียกว่า “โหงวเหว่ยโจ่ย” (เทศกาลเดือนห้า) มีประวัติว่ามาจากการระลึกถึงวันที่กวีเอกผู้จงรักภักดีต่อบ้านเมืองแห่งรัฐฉู่ ปลายยุคจั้นกั๋ว (พ.ศ. 67-322) นามว่าชีหยวน กระโดดน้ำเสียชีวิต หลังจากถูกฮ่องเต้เนรเทศเพราะพวกขุนนางกังฉินรวมหัวกันใส่ร้าย

ชาวบ้านที่นับถือท่านต่างออกเรือตามหาศพ โดยเตรียมอาหารไปโปรยลงแม่น้ำเพื่อล่อให้สัตว์น้ำมากิน จะได้ไม่กัดกินซากศพของชีหยวน

พวกเขาทำเช่นนี้ในวัน 5 ค่ำ เดือน 5 ต่อเนื่องได้ 2 ปี จนมีชาวบ้านผู้หนึ่งฝันว่าชีหยวนมาบอกว่าอาหารที่นำไปโปรยถูกสัตว์น้ำกินเสียหมด ชีหยวนแนะนำให้นำอาหารห่อด้วยใบไผ่ก่อนโยนลงน้ำ เพื่อทำให้สัตว์น้ำเข้าใจว่าเป็นต้นไม้ และไม่แย่งกินอาหารนั้น ปีต่อ ๆ มาชาวบ้านจึงห่ออาหารด้วยใบไผ่แล้วโยนลงน้ำเพื่อเซ่นไหว้กวีผู้นี้ สืบต่อกันกลายเป็นที่มาของการไหว้บ๊ะจ่างเช่นทุกวันนี้

ปัจจุบันในประเทศจีนเรียกว่า เทศกาลตวนอู่ ถือเป็นเทศกาลใหญ่ที่สำคัญเพราะมีความเกี่ยวเนื่องด้วยฤดูกาล ความเชื่อ พิธีกรรม การรำลึกถึงวีรชน และการเฉลิมฉลองรวมอยู่ด้วยกัน

โดยทุกปีจะมีเทศกาลแข่งเรือมังกรที่ยิ่งใหญ่จัดในแม่น้ำฉางเจียง (แยงซีเกียง) มีการกินบ๊ะจ่าง หรือชาวจีนเรียกว่า “จ้งจื่อ” เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีเฉลิมฉลองเทศกาล นอกจากนี้ ทางการจีนยังกำหนดให้เป็นวันกวีแห่งชาติของจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม ในการสัมมนาวิชาการเรื่องพิธีกรรมเกี่ยวกับข้าวของชนเผ่าไทในอาเซียน ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี 2556 มีตัวแทนชาวไทจากประเทศเพื่อนบ้าน และจากจีนตอนใต้เข้าร่วมด้วย

มีประเด็นการพูดคุยกันเกี่ยวข้องกับที่มาของขนมจ้างว่า ไม่ได้เริ่มมาจากชาวจีน แต่บรรพบุรุษชนชาติไทเป็นผู้ริเริ่มประเพณีทำขนมจ้างขึ้นมา โดยเทียบยุคสมัยตามตำนานที่มาของเทศกาล 5 ค่ำ เดือน 5 จะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชนชาติไทตั้งอาณาจักรอ้ายลาวอยู่แถบตอนใต้ลุ่มน้ำแยงซีเมื่อ 2,200-2,400 ปีก่อน

สิ่งสำคัญที่ยืนยันความเป็นประเพณีของชนชาติไทที่สืบทอดต่อกันมามี 2 ประการ คือ การใช้ข้าวเหนียวเป็นวัตถุดิบหลัก และเอกลักษณ์รูปทรงสามเหลี่ยมห่อด้วยใบไม้ ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่านอกจากขนมจ้างแล้ว ขนมเทียนเข้าเกณฑ์สองข้อนี้อย่างชัดเจน

ข้อสนับสนุนว่าขนมจ้างเป็นของชนชาติไท เนื่องจากแต่เดิมชาวจีนฮั่นที่อยู่ทางตอนเหนือแถบลุ่มน้ำฮวงโหไม่รู้จักวิธีกินข้าวเหนียว พวกเขากินแต่อาหารที่ทำจากข้าวสาลีเป็นหลัก เช่น หมั่นโถว มีแต่ชนชาติไทเท่านั้นที่รู้จักการกินข้าวเหนียว

ภายหลังยุคสามก๊กชาวจีนฮั่นแผ่ขยายอำนาจลงมาทางใต้ มีการบังคับชนพื้นเมืองให้ยอมรับวัฒนธรรมของตน เช่น การไหว้เจ้าตรุษจีน จึงเกิดการนำขนมเข่ง ขนมเทียน บ๊ะจ่าง ที่ทำจากข้าวเหนียวมาไหว้เจ้าตรุษจีนด้วย

ทุกวันนี้ชนชาติไทในดินแดนภาคใต้ของจีน แถบมณฑลยูนนาน กวางตุ้ง กวางสี ยังคงปลูกข้าวเหนียว และใช้ข้าวเหนียวทำขนมจ้างรูปร่างต่าง ๆ เซ่น ไหว้ผีบรรพชน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของท้องถิ่น เช่นเดียวกับวัฒนธรรมของคนไท-ลาวในอุษาคเนย์

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี ที่สนใจศึกษาเกี่ยวกับชนชาติไทมานานหลายสิบปี ยืนยันว่าคนตระกูลไทย-ลาว มอญ-เขมร เดิมกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักมาก่อน โดยมีร่องรอยหลงเหลือตามท้องถิ่นดั้งเดิมจากพิธีกรรมใช้ข้าวเหนียวเป็นอาหารไหว้ผี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบรรพชนเดิมกินข้าวเหนียว ดังนั้น ขนมที่ทำจากข้าวเหนียวใช้ไหว้เจ้าในเทศกาลตรุษจีน จึงเป็นเครื่องแสดงสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติวัฒนธรรมข้าวเหนียวเก่าแก่ร่วมกัน

สมชัย อักษรารักษ์

ที่มา: ฟื้นฝอยหาอดีต

ขอบคุณภาพจาก: Thaiphdinchina

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ