TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistภูมิทัศน์ "คริปโต" ... จาก global สู่ local

ภูมิทัศน์ “คริปโต” … จาก global สู่ local

ทุกวันนี้คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า คริปโตเคอร์เรนซี เป็นหนึ่งในกระแสที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลัง “Bitcoin” ทำราคาสูงสุดพุ่งทะลุ 1 ล้านบาท เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้กระแสการลงทุนในคริปโตฯ กลับมาเป็นประเด็นร้อนในสังคมอีกครั้ง และไม่เพียงแต่การลงทุนในคริปโตฯ เท่านั้น กระแสการลงทุนใน DeFi (Decentralize Finance) และ NFT (Non-Fungible Token) ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน 

เมื่อต้นปี 2021 ที่ผ่านมา กระแสการลงทุนทางเลือกในคริปโตเคอร์เรนซี ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง การกลับมาของตลาดกระทิง (Bull run) ในปีนี้ได้สร้างผลลัพธ์และการยอมรับเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของนักลงทุนรายใหญ่ กองทุน และเงินทุนจากสถาบันที่เริ่มปรับแผนการลงทุนด้วยการเข้าลงทุนในคริปโตฯ ไม่ว่าจะเป็น บริษัทผลิตรถไฟฟ้า Tesla ที่ประกาศลงทุนใน Bitcoin มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์, บริษัท Microstrategy ที่เข้าลงทุนใน Bitcoin อย่างต่อเนื่อง มูลค่ารวมกว่า 3.57 พันล้านดอลลาร์, การเข้าจดทะเบียนของ Coinbase ผ่านการ Direct Listing ในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ด้วยมูลค่าบริษัทกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์, การจัดตั้งกองทุน ETF ของ Bitcoin และ Ethereum ในหลายประเทศ รวมถึงธนาคารทั่วโลกเริ่มเปิดให้บริการการซื้อ-ขาย คริปโตฯ แก่ลูกค้า

เว็บไซต์ Business Insider รายงานว่า J.P. Morgan สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐฯ ได้เปิดให้บริการลูกค้าระดับ Ultrarich และลูกค้ารายย่อยเข้าลงทุนใน Bitcoin โดยไม่มีการจำกัดจำนวนการลงทุน และเว็บไซต์ CNBC รายงานว่า ธนาคารหลายแห่งทั่วโลกเตรียมให้บริการซื้อ-ขาย คริปโตฯ แก่ลูกค้าแล้ว ไม่ว่าจะเป็น Bank of America, Sygnum ธนาคารคริปโตฯ รายใหญ่ในสวิตเซอร์แลนด์, Woori Financial Group ธนาคารยักษ์ใหญ่ในเกาหลีใต้ เป็นต้น

ผู้ให้บริการชำระเงินรายใหญ่ของโลกอย่าง Paypal ประกาศให้ร้านค้าทั่วโลกกว่า 29 ล้านร้านค้า สามารถรับชำระด้วยคริปโตฯ ได้ รวมถึง Visa และ Mastercard ผู้ให้บริการบัตรเครดิตได้ประกาศผลิตบัตรเครดิตคริปโตฯ ด้วยเช่นกัน

จากการรายงานของ CNBC ระบุว่า Visa วางแผนที่จะสร้างระบบนิเวศเพื่อให้สกุลเงินดิจิทัลสามารถใช้งานได้มากขึ้นเหมือนกับสกุลเงินอื่น ๆ โดย Visa ยังคงเดินหน้าพัฒนาและศึกษาตลาดคริปโตฯ อย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่จะผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด 

Exchange Traded Fund หรือ ETF ของคริปโตฯ เริ่มได้รับการอนุมัติในหลายประเทศในทวีปอเมริกาและยุโรป ไม่ว่าจะเป็น กองทุน Bitcoin ETF และ Ethereum ETF ของแคนาดาและบราซิลที่ได้รับการอนุมัติเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และมีหลายบริษัทในสหรัฐฯ เข้าขอจัดตั้งกองทุน Bitcoin ETF กับทาง SEC โดย BNN Bloomberg รายงานว่า หากกองทุน Bitcoin ETF ในสหรัฐฯ ได้รับการอนุมัติจะเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างมาก

Ray Dalio ผู้ก่อตั้งบริษัท Bridgewater Associates ซึ่งเป็นกองทุน Hedge fund ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ให้สัมภาษณ์ในงาน Consensus 2021 ที่จัดโดย CoinDesk ว่า “เขาถือ Bitocoin อยู่ และเขาอยากถือ Bitcoin มากกว่าพันธบัตร” โดย Ray เป็นหนึ่งในผู้ที่สนับสนุน Bitcoin และเชื่อว่ามันสามารถป้องกันเงินเฟ้อที่รุนแรงได้และเขายังกล่าวอีกว่า “ความเสี่ยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือความสำเร็จของ Bitcoin”

ไม่เพียงแต่การยอมรับของนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้น เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศเอลซัลวาดอร์ได้สร้างประวัติศาสตร์ โดยการประกาศให้ Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นประเทศแรกของโลก และหลังจากนั้นไม่กี่เดือน สมาชิกผู้แทนสภานิติบัญญัติของประเทศปารากวัยได้ประกาศผ่านทาง Twitter ส่วนตัวว่าเขาเตรียมการที่จะยื่นเอกสารไปยังสภาแห่งชาติเพื่อทำให้ Bitcoin กลายเป็นเงินสกุลหลักของประเทศด้วยเช่นกัน

การยอมรับคริปโตเคอร์เรนซี ได้แพร่หลายไปในหลายประเทศทั่วโลกและเริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้นในระดับท้องถิ่น จากการรายงานของ Forbes ระบุว่า นายกเทศมนตรีเมืองไมอามีในสหรัฐฯ ประกาศให้พนักงานในเมืองสามารถจ่ายภาษีและรับเงินเดือนเป็น Bitcoin แทน USD ได้ โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ส่งผลให้หลายรัฐในอเมริกาเริ่มให้ความสนใจและพิจารณาการชำระด้วยคริปโตฯ ด้วยเช่นกัน และจากการสำรวจโดย Kraken (แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโตฯ) พบว่ามากกว่า 50% ของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในออสเตรเลีย มีความเห็นว่าการลงทุนในคริปโตฯ นั้นดีกว่าการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และหลายงานวิจัยพบว่าคนรุ่นใหม่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและเลือกลงทุนในตลาดคริปโตฯ มากกว่าสินทรัพย์อื่น ๆ 

นประเทศไทยเอง กระแสการลงทุนในคริปโตฯ ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน จากการรายงานของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า การเปิดบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนธันวาคมปี 2563 มีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขาย(Active) อยู่ที่ 6.6 หมื่นบัญชี และตั้งแต่เดือนมกราคมในปี 2564 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขาย (Active) ทั้งสิ้น 1.17 ล้านบัญชี เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,000% ภายใน 7 เดือนเท่านั้น รวมถึงวอลุ่มการซื้อขายคริปโตฯ ในประเทศไทยพุ่งสูง จากเดิม 2 พันล้านบาท/วัน ในปี 2563 เป็น 7 พันล้านบาท/วัน ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ นับเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 300% และมีมูลค่าการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลรายเดือนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่ต้นปีและได้ทำจุดสูงสุดที่ 2 แสนล้านบาท/เดือน ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

นอกจากนักลงทุนรายย่อยจะให้ความสนใจคริปโตฯ เพิ่มขึ้นแล้ว นักลงทุนรายใหญ่รวมถึงธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในประเทศไทยได้เริ่มศึกษาและปรับแผนการดำเนินงานในคริปโตฯ อีกด้วย เช่น เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศจัดตั้งบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเซท ด้วยทุนจดทะเบียนรวมกว่า 70 ล้านบาท เพื่อให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล รวมถึง บริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด (SCB 10X) หนึ่งในฝ่ายของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้จัดตั้งกองทุนกว่า 50 ล้านดอลลาร์หรือ 1.5 พันล้านบาท เพื่อเข้าลงทุนในสตาร์ตด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน, DeFi และสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะ  

ตั้งแต่ต้นปี 2021 พบว่า มีนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนหน้าใหม่จำนวนมากเลือกลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล สังเกตได้จาก ยอดการเปิดบัญชีผู้ใช้งานของ Exchange ทั่วโลกพุ่งขึ้นทำจุดสูงสุด และมีหลายประเทศเริ่มหันมาใช้งานสกุลเงินดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้น เช่น การชำระในห้างสรรพสินค้า, ร้านสะดวกซื้อ, ธุรกิจ SMEs และธุรกิจ Start-up ทำให้ Exchange รายใหญ่เริ่มเปิดบริการ Payment เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Binance Pay, FTX Pay เป็นต้น เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถชำระและรับสกุลเงินดิจิทัลได้ทั่วโลก 

หลังการลงทุนในคริปโตฯ ได้รับการยอมรับมากขึ้นในหลายอุตสาหกรรมกระแสการลงทุนใน DeFi (Decentralized Finance) ก็ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นด้วย ปัจจุบัน DeFi มีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นถึง 2,100% จากปี 2020 รวมถึงมีการเติบโตของ​​ Total Value Locked (TVL) จาก 2.52 พันล้านดอลลาร์ ขึ้นมาที่ 101.6 พันล้านดอลลาร์ ภายใน 1 ปี  ทำให้การเติบโตของแพลตฟอร์ม DeFi ไม่ว่าจะเป็น AAVE, Curve และ Compound ได้รับความนิยมและมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

อีกหนึ่งกระแสการลงทุนที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน นั่นคือ การลงทุนใน NFT (Non-Fungible Token) จากการรายงานพบว่า มีเหล่าศิลปิน ดาราและคนดังทั่วโลก เริ่มหันมาศึกษาและนำเสนอผลงานศิลปะในรูปแบบของ NFT ไม่ว่าจะเป็น Katy Perry, Eminem และศิลปินรายย่อยทั่วโลก รวมถึงมีหลายบริษัท เช่น สำนักข่าว CNN, KFC, Gamestop, Marvel และ Grammy ได้เตรียมออกสินค้าและบริการในรูปแบบของ NFT ด้วยเช่นกัน โดยการเติบโตของ NFT ได้พุ่งขึ้นมหาศาลในช่วงต้นปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้งานของแพลตฟอร์ม NFT ขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ ไม่ว่าจะเป็น Opensea และ Foundation เป็นต้น

จากการรายงานของ TechCrunch พบว่า OpenSea สามารถระดมทุนในรอบ Series B ไปได้มากถึง 100 ล้านดอลลาร์และกำลังก้าวสู่การเป็น Unicorn แห่งวงการ NFT 

บทบาทของตลาดคริปโตเคอเรนซีในปีนี้ เริ่มได้รับการยอมรับที่มากขึ้นในหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การยอมรับในระดับประเทศ เช่น สถาบันการเงิน, นักลงทุนสถาบันและบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลก การยอมรับในระดับท้องถิ่น เช่น การรับชำระสินค้าด้วยคริปโตฯ, การเข้ามาของนักลงทุนรายย่อย, การเติบโตของ DeFi และ NFT เป็นต้น โดยนักวิเคราะห์ทั่วโลกเชื่อว่าตลาดยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มมากขึ้นและยังสามารถเติบโตไปได้ไกลอีกมาก

การเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัลในปีนี้ถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในช่วงเวลาเพียง 1 ทศวรรษ คริปโตเคอเรนซีและเทคโนโลยีบล็อกเชนได้เข้ามามีบทบาทในการแลกเปลี่ยนมูลค่าอย่างมหาศาลในแบบที่ไม่สามารถทำได้มาก่อน

การเติบโตครั้งนี้จะเป็นไปอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด เราสามารถคาดการถึงจำนวนผู้ใช้งานที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น, ความสามารถในการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น, การปรับใช้ในหลายอุตสาหกรรม, การสร้างผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ และความสามารถที่จะสร้างประโยชน์อีกมากมาย คล้ายกับอินเตอร์เน็ตในยุคแรก ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในปัจจุบัน สินทรัพย์ดิจิทัลเองก็เช่นกัน การเริ่มต้นของเทคโนโลยีใหม่นี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกในแบบที่เราไม่สามารถจินตนาการได้

ผู้เขียน: Sanjay Popli CEO of Cryptomind Group

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ