TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyจาก “เชียงใหม่คริปโท" สู่ “บล็อกเมาน์เทน” งานอีเวนต์บล็อกเชนไทย เดินหน้าสู่ระดับภูมิภาค

จาก “เชียงใหม่คริปโท” สู่ “บล็อกเมาน์เทน” งานอีเวนต์บล็อกเชนไทย เดินหน้าสู่ระดับภูมิภาค

การเติบโตของตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ดึงดูดนักลงทุนจากทุกมุมโลกแบบ และส่งผลให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนผ่านตัวเองในการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดังกล่าวเพื่อสร้างการเติบโต เป็นที่มาของการจัดงาน “Block Mountain CNX 2022” งานประชุมบล็อกเชนและเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือที่มุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ ขับเคลื่อนธุรกิจและพัฒนาความเป็นเมืองแห่งคริปโท (Crypto City) ในอนาคต

จาก “เชียงใหม่คริปโท” สู่ “บล็อกเมาน์เทน” 

ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัล บล็อกเชน และสกุลเงินดิจิทัล เมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่ทำให้ ดร.นที เทพโภชน์ ประธานกรรมการ บริษัท ออมแพลทฟอร์มจำกัด (Om Platform) ตัดสินใจเริ่มต้นศึกษาหาความรู้เรื่อง Blockchain จากอินเทอร์เน็ต 

“ผมก็ค้นมาเรื่อยจนมาเจอกลุ่มดิจิทัลโนแมด (Digital Nomad) ของชาวต่างชาติที่มาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่และทำงานด้านดิจิทัลออนไลน์ เช่น งานกราฟิก งานพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นต้น ซึ่งมีการรวมกลุ่มพูดคุยเรื่องบล็อกเชนบ้าง สกุลเงินดิจิทัลหรือเหรียญคริปโทบ้าง เราก็ไปร่วมกับเขาเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน แต่ปัญหา คือ พื้นฐานผมเป็นสายธุรกิจ ไม่ใช่สายนักพัฒนา พอไปเจอศัพท์เทคนิคยาก ๆ เยอะ ๆ แถมยังเป็นภาษาอังกฤษเกือบ 80-90% รู้ตัวเลยว่า เราเก็บความรู้ได้ไม่เต็มร้อยแน่ ก็เลยเกิดไอเดียลองจัดงานพบปะระหว่างคนไทยที่สนใจเรื่องนี้น่าจะดีกว่า” 

“เชียงใหม่คริปโท” ชุมชนคนไทยในเชียงใหม่ที่ ดร. นที บอกกับ The Story Thailand ว่า มาจากการรวมกลุ่มน้อง ๆ เพื่อน ๆ ที่สนใจเรื่องบิตคอยน์ซึ่งบางคนมีอาชีพเป็นนักพัฒนา บางคนเป็นนักลงทุน โดยเริ่มจากการจัดงานพบปะพูดคุยกันครั้งแรก มีคนเข้าร่วมแค่หลัก 10 คน จนเป็น 20-30 คน ในครั้งถัดไป พอกลุ่มเริ่มโตชึ้น เริ่มรู้จักกลุ่มชุมชนบิตคอยน์จากกรุงเทพฯ ก็ลงไปร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกลุ่มต่าง ๆ จนขยายไปสู่ชุมชนที่สนใจเหมือนกันในต่างประเทศ เช่น เวียดนาม เกาหลี ญี่ปุ่น 

“ตอนนั้น ยังไม่มีการจัดงานใหญ่เกี่ยวกับสกุลเงินคริปโท หรือสินทรัพย์ดิจิทัลในเมืองไทย บางคนยังเข้าใจว่า เป็นแชร์ลูกโซ่ด้วยซ้ำ พอไปเข้ากลุ่มชุมชนในต่างประเทศก็เจอปัญหาเดิมอีก คือ ภาษาและค่าบัตรแพง แต่ข้อดีคือ เนื้อหามีความหลากหลายและไม่จำกัดเฉพาะเรื่องเทคนิค แต่เป็นการให้มุมมองธุรกิจ และการประยุกต์ใช้ในเรื่องต่าง ๆ เลยได้แนวคิดอยากจัดงานลักษณะนี้ที่เมืองไทยบ้าง” 

ดร.นทีเริ่มต้นจากการได้มีโอกาสติดต่อกลุ่มชุมชนทั้งในเชียงใหม่และกรุงเทพฯ กลุ่มสื่อมวลชนและเว็บเพจต่าง ๆ  เช่น บิตคอยน์แอดดิค (Bitcoin addict) บล็อกเชน รีวิว (Blockchain Review) สยามบล็อคเซน (Siam Blockchain) มาพุดคุยและรวมตัวกันจัดงาน โดยร่วมกันจัดงานครั้งแรกขึ้นที่กรุงเทพฯ ชื่องาน Blockchain Thailand Genesis เมื่อปี 2561 จากนั้นก็ได้นำรูปแบบงานดังกล่าวกลับมาจัดต่อที่เชียงใหม่ และเป็นที่มาของงานบล็อก เมาน์เทน 

ภารกิจหลัก คือ สร้างเวทีหรือพื้นที่ในการเผยแพร่แบ่งปันความรู้เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลให้กับกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมที่อยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว หรือกำลังสนใจเข้ามาในแวดวงนี้ ตลอดจนบุคคลทั่วไป 

อุตสาหกรรมด้านสินทรัพย์ดิจิทัลนับว่าโตต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ พร้อมกับเรื่องราวที่เปลี่ยนไป อย่างปี 2562 มีการพูดถึงเทคโลยีบล็อกเชนที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือระดมทุนผ่านการเสนอขายเหรียญโทเคนให้กับนักลงทุนทั่วโลก (ICO) พอปี 2563- 2564 เริ่มคุยกันเรื่องแนวคิดการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Finance) ที่ไม่ต้องมีคนกลาง หรือ การพัฒนาระบบธนาคารที่นำเอาสินทรัพย์ดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในวงการการเงิน พอมาถึงปี 2565 กลายเป็นเรื่องสกุลเงินดิจิทัลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคน ชุมชน ธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนความเป็นเมืองที่ใช้คริปโท (Crypto City) หรือเทคโนโลยีอนาคตอย่างบล็อกเชนมากขึ้น ทั้งยังจุดประกายเมตาเวิร์ส (Metaverse) เพิ่มขึ้นอีก

เปิดประตู่สู่โลกอนาคต ในงาน “Blockchain Thailand Genesis 2022 : Road to Web3”

ก้าวสู่ Web 3.0 กับงานบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุดของไทย “Blockchain Thailand Genesis 2022” 26 – 27 พ.ย. นี้

ชูธงงานคริปโทถิ่นล้านนา 

“เดิมผมอยู่ในวงการก่อสร้าง ทำธุรกิจเกี่ยวกับเมืองและสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ ก็มีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำคอนโดมิเนียม โครงการก่อสร้างในเชียงใหม่ และเครื่องจักรกลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เช่น นวัตกรรมเครื่องแปรรูปขยะอินทรีย์ให้กลายเป็นปุ๋ย ส่วนธุรกิจด้านบล็อกเชน จะอยู่ในรูปแบบของบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์”

ดร.นที กล่าวว่า เดิมการจัดงานเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลเหมือนทำเป็นงานอดิเรก พอผ่านไปปีที่ 2 และ 3 เริ่มเห็นประโยชน์ในเชิงสาธารณะมากขึ้น การจัดงานก็ได้ผลตอบรับที่ดี อย่างภายหลังเสร็จสิ้นการจัดงานวันที่ 9 เมษายนที่ผ่านมา ก็มีหน่วยงานติดต่อผ่านพาร์ทเนอร์มาว่า สนใจจัดงานเกี่ยวกับเมตาเวิร์สหรือไม่ อยากให้มาเป็นเจ้าภาพร่วมเลยมีโอกาสทำงานร่วมกับสื่อยักษ์ใหญ่เนชั่น จนเกิดเป็นงาน Thailand Metaverse Expo 2022 ที่ได้เข้าไปร่วมรับผิดขอบเรื่องการจัดเนื้อหา หัวข้อการบรรยาย และเชิญวิทยากรเป็นหลัก

ส่วนตัวบริษัท ออมแพลทฟอร์ม ดร. นที เรียกว่า เป็นผู้ให้คำปรึกษาและบริการโซลูชันด้านบล็อกเชนแบบครบวงจรให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ต้องการนำไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจ หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้แพลตฟอร์มเดิมที่ใช้งานอยู่ในการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีจากเว็บ 2.0 เป็น 3.0 เพื่อสนับสนุนการทำธุรกิจและธุรกรรมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นการออกแบบโมเดลธุรกิจ การออกแบบโซลูชัน แล้วไปทำการทดสอบว่าทำได้จริงและต่อยอดธุรกิจได้ จากนั้น จึงเริ่มประสานงานกับบริษัทเอาต์ซอร์สด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลในเครือข่ายมาร่วมพัฒนาติดตั้งระบบให้ลูกค้า ซึ่งถือเป็นความร่วมมือกันทำงานทั้งวงการอุตสาหกรรม

“บล็อก เมาน์เทน เป็นงานที่เกิดขึ้นก่อน ส่วนออมแพตฟอร์มก็เติบโตตามมาคู่กัน เราแค่แยกให้ชัดว่า ออมแพลทฟอร์มเป็นเรื่องของการให้คำปรึกษาและจัดหาโซลูชัน ส่วนบล็อก เมาน์เทนเป็นการจัดพื้นที่หรือเวทีที่ทำให้ทุกคนมาเจอกัน เพียงแต่เวลาที่เรานำเสนอเกี่ยวกับบล็อก เมาน์เทน กลุ่มที่คุยก็เป็นคนในวงการอุตสาหกรรม และเราก็ได้รับการสนับสนุนจากคนในวงการมาช่วยเรื่องทำเนื้อหา พอทำเสร็จก็จะมีแฟนคลับของเขามาฟัง อย่างงานที่จัดปีที่แล้ว ไลฟ์ต่อเนื่อง 10 ชั่วโมง วิทยากร 59 ท่าน เนื้อหาบรรยาย 45 หัวข้อ เกี่ยวกับบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล แม้จะได้ฟังไม่ครบทุกหัวข้อ หรือฟังได้แค่ระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 10-30 นาทีต่อหัวข้อ แต่ก็เป็นการได้ฟังผู้ที่เป็นตัวจริงเสียงจริงของวงการ ส่วนงานภาคค่ำเป็นงานเลี้ยงเพื่อขอบคุณวิทยากร ขอบคุณคนในวงการที่มาร่วมชับเคลื่อนงาน ซึ่งทำให้เกิดการเชื่อมต่อเครือข่ายของผู้ที่สนใจเหมือนกันให้สามารถขยายผลความร่วมมือด้านต่าง ๆ ออกไปอย่างกว้างขวางและหลากหลายมากขึ้นกวาเดิม”

ตั้งเป้าจัดงานระดับภูมิภาค 

ดร.นที กล่าวว่า อุตสาหกรรมบล็อกเชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับว่าแข็งแกร่ง สังเกตได้จากประเทศ เช่น เวียดนาม สิงค์โปร์ มีการจัดงานใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้เยอะมาก เช่น ถ้าพูดถึงสิงค์โปร์ คนจะนึกถึงงาน “Token 2049” ถ้าเป็นเวียดนามก็คืองาน “Vietnam Blockchain Week” พอพูดถึงประเทศไทย ดร.นที อยากให้นึกถึงงานอย่าง บล็อก เมาน์เทน 

ทั้งนี้ในปีหน้าวางแผนขยายการจัดงานเป็น 2 วัน คือ 24-25 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยรูปแบบการจัดงาน Blockchain Week ที่เชียงใหม่ ซึ่งจะมีทั้งเวทีบรรยายหลัก และการจัดทำปฏิทินการบรรยายกลุ่มย่อยคู่ขนานไปกับพาร์ทเนอร์ เพื่อเป็นการโปรโมทงานบล็อกเชนร่วมกันและในช่วงเวลาเดียวกันโดยกลุ่มชุมชนใหญ่ ๆ เหมือนที่ประเทศเกาหลีซึ่งเพิ่งจัดงาน “Korea Blockchain Week” เพียง 2 วัน แต่มีการจัดบรรยายกลุ่มย่อยคู่ขนานอีกประมาณ 40-50 งาน

“สำหรับเทรนด์เรื่องเมตาเวิร์ส ซึ่งใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเป็นเครื่องมือในการจัดการอินฟราสตรัคเจอร์เรื่องข้อมูล ผมมองว่า การอิมพลิเม้นท์เรื่องราวเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่เมื่อไปถึงปีหน้าน่าจะมียูสเคสให้เราได้ศึกษาหรือถอดบทเรียนเยอะขึ้น และน่าจะทำให้เวทีบล็อก เมาเท่น มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเมตาเวิร์สมากขึ้น”

มีความตั้งใจจะจัดงานให้เป็น Chiangmai Blockchain festival เพื่อขยายกรอบเนื้อหาให้กว้างขึ้นและขยายระยะเวลาการจัดงานเหมาะสม หน่วยงานหรือโครงการที่สนใจเข้าร่วมงานหรือร่วมจัดงาน ทั้ง Main event และ Side Event สามารถติดต่อเข้ามาได้ ตาม Facebook Page หรือ Website

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

AIS จัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ด้วย Blockchain บนแพลตฟอร์ม E-Waste+ รายแรกของ SEA

พระจอมเกล้าลาดกระบัง – CMKL จับมือมหาวิทยาลัยชั้นนำ ตั้ง “สถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์” ปั้น AI, Blockchain แห่งแรกของไทย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ