TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessIMET MAX “อุทยานผู้นำ” บ่มเพาะผู้บริหารเปิดตัว IMET MAX 5 รุ่นปี 2023

IMET MAX “อุทยานผู้นำ” บ่มเพาะผู้บริหารเปิดตัว IMET MAX 5 รุ่นปี 2023

กว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อสถาบันการศึกษาวิชาการจัดการแห่งประเทศไทย หรือ IMET ได้จัดโครงการให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการ ผ่านงานอบรมสัมมนาวิชาการต่าง ๆ กับสถาบันการศึกษา ทั่วประเทศ มีคนเข้ารับการอบรมมากกว่า 18,000 คน ปัจจุบันมูลนิธิมีการพัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมให้เข้ากับยุคสมัย และเมื่อ 4 ปีที่แล้วได้เกิดโครงการ IMET MAX ขึ้น โครงการบ่มเพาะผู้นำรุ่นใหม่ที่เก่งและดี ที่มูลนิธิให้การสนับสนุนเต็มรูปแบบ โดยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายหลักทั้งหมด โครงการนี้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเป็นนักบริหารที่ดีและมีความเก่ง ให้มีความคิดเกี่ยวกับเรื่องของสังคมมากขึ้น

ธนพล ศิริธนชัย ประธานโครงการ IMET MAX และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ธนพล ศิริธนชัย ประธานโครงการ IMET MAX และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (Country CEO) บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ด้วยความเชื่อที่ว่า “เหล็กต้องลับคมด้วยเหล็ก คนลับคนด้วยคน” จึงเป็นที่มาของ “กระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้เกิดจากการอ่านตำราหรือการสอน” ของโครงการ IMET MAX แต่เลือกใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการพูดคุยกับผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในเรื่องของการงานและการใช้ชีวิตที่จะมาชวนคุยและชวนคิด และชวนมองไปข้างหน้าว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นสิ่งที่ต้องการหรือไม่ (Mentoring) 

โครงการ IMET Mentorship Academy for Excellent Leaders หรือ IMET MAX เป็นโครงการที่มุ่งเน้นส่งต่อปัญญา เพื่อพัฒนาชีวิตและสังคม (Wisdom for Life and Social Values) 

“กระบวนการของเราไม่ได้ต้องการสร้างนักธุรกิจที่มีความเก่งกาจมากขึ้น เพราะทุกคนเก่งและมีความชาญฉลาดในเรื่องของธุรกิจการค้าอยู่แล้ว แต่เรา Mentoring ในบริบทของ Wisdom for life and Social Values ชวนคิดว่าการทำงานของแต่ละคนในทุกวันนี้เราทำไปเพื่ออะไร การใช้ชีวิตต้องการอะไร การแสวงหาความสมดุลของการงานและการใช้ชีวิต ส่วนตัว เป็นอย่างไร ที่สำคัญเราชวนให้ดูในเรื่องของ Social Value คนรอบข้าง สังคม และประเทศ” ธนพล กล่าว

โครงการ IMET MAX ใช้กระบวนการเรียนแบบ Mentoring ที่เป็นการชวนคิด และช่วยคิด เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้เมนที (Mentee) ได้พบปะพูดคุยกับเมนเทอร์ (Mentor) และสามารถเรียนรู้อย่างใกล้ชิดแบบกลุ่มย่อย โครงการ IMET Max ไม่มีห้องเรียน ไม่เน้นงานปาร์ตี้ แต่เป็นกระบวนการที่ให้ผู้นำหรือผู้บริหารที่มีประสบการณ์ มีแนวทางการใช้ชีวิต และเป็นจิตอาสา มาเป็น Mentor ทั้งหมด 12 คน โดยจับกลุ่มย่อยกับ Mentee ทั้งหมด 36 คน 

“ที่ผ่านมามูลนิธิได้รับความกรุณาจากผู้บริหารระดับประเทศ ยินดีมาแบ่งปันประสบการณ์ ชวนผู้นำรุ่นใหม่ให้คิด ในแง่ของการสะท้อน การใช้ชีวิตและการงาน ซึ่งทุกท่านมีคุณสมบัติข้อแรกคือ “ไม่มีเวลา” งานยุ่งมาก แต่หลังจากพูดคุยถึงวัตถุประสงค์และแนวทางของโครงการทุกท่านก็ยินดีตลอดเวลา เข้ามาร่วมในการเป็น Mentor โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ” ธนพล กล่าว

เกณฑ์ในการพิจารณา Mentee 36 คน คือ เป็นผู้นำรุ่นใหม่ อายุระหว่าง 35-45 ปี เป็นทายาทธุรกิจ เป็นมืออาชีพ ซึ่งมาจากภูมิหลังจากหลากหลายอาชีพ อาทิ นักธุรกิจ ข้าราชการ นักวิชาการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้นำที่สามารถไปสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและประเทศได้ ที่ผ่านมาโครงการ IMET MAX มี Mentee รวม 132 คน ใน 4 รุ่น 

ธนพล กล่าวว่า ความยากที่สุดในการเลือกไม่ใช่ความเก่ง เพราะเชื่อว่าทุกคนเก่งอยู่แล้ว แต่โครงการ IMET MAX จะต้องเลือก Mentee ที่เป็นผู้นำที่มีศักยภาพสูง ที่สามารถจะส่งผลกระทบให้คนรอบข้าง ที่สำคัญคือสามารถขัดเกลาและปลูกฝังแนวคิดเรื่อง Wisdom for life และ Social Values ได้ 

“เราไม่มีคลาสรูม แต่เรามีกระบวนการสร้างแนวคิดผ่านกิจกรรมการพูดคุย (Orientation) โดยมีกิจกรรมตลอด 1 ปี ผู้นำที่พร้อมจะเข้าโครงการ มีความอยากอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีความพร้อม มีเวลา มีพันธสัญญามี Open Mind พร้อมที่จะเปิดรับ พร้อมที่จะ Sharing และมี Need ล้วนเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาคัดเลือก”​ ธนพล กล่าว 

ยิ่งให้ยิ่งได้

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัทโตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ในฐานะ Mentor ของ IMET MAX มา 3 รุ่น กล่าวว่า ภารกิจที่จะทำให้ประเทศไทยเจริญมากขึ้น คือต้องสร้างคนที่จะไปสร้างประเทศต่อได้อย่างไร โครงการนี้ไม่ได้สร้างนักธุรกิจที่เก่ง แต่สร้างผู้นำที่ดีเพื่อประเทศชาติ เพราะความเก่งอย่างเดียวไม่พอ การที่จะสามารถนำประเทศไทยคงความเป็นผู้นำ และความเป็นผู้นำที่ไม่ได้วัดที่เงินเป็นหลัก แต่เป็นการเป็นผู้นำในเรื่องของการเติบโตอย่างยั่งยืน ต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์คล้าย ๆ กัน เป็นวิสัยทัศน์ที่สร้างความสมดุล การทำธุรกิจ การดูแลสิ่งแวดล้อม และการลดความเหลื่อมล้ำ 

“ภารกิจในแง่ของการสร้างชาติ ไม่ได้ชี้นิ้วบอกให้คนอื่นทำ แต่มาลงมือทำเอง ถ้า Mentor 1 คนสามารถสร้าง น้อง ๆ ได้อีก 3 คน และอีก 3 คนไป สร้างคนต่อ ๆ ไป เป็นสิ่งที่จับต้องได้จากโครงการนี้ จาก 2 ครั้งที่ผ่านมา เรามีความรู้สึกดีมาก ๆ ที่เห็นน้อง ๆ เขามีความสุข กับสิ่งที่เขาทำ แล้วเขามีพลังกลับขึ้นมาได้มากขึ้น และเขาชัดเจนกับชีวิตว่าจะไปต่อได้อย่างไร เขาสามารถที่จะดูแลครอบครัวเขาเอง ธุรกิจหรือการงานของเขา และเขาจับมือกันที่จะสร้างประเทศที่ดีขึ้นต่อไป ได้อย่างไร”  กอบกาญจน์ กล่าว

การที่ได้มีโอกาสเป็น Mentor ของ IMET MAX เป็นส่วนที่สำคัญที่จะช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ต่อประเทศเพื่อนบ้านและต่อโลกต่อไป ซึ่งขึ้นกับความสามารถของผู้นำ

“ทุกคนมีความคิดที่ดี ทุกคนต้องการสร้างสิ่งที่ดี ทุกคนต้องการอยากจะทำดีต่อไป และเมื่อได้มีเวทีพูดคุยกัน ได้เรียนรู้กันและกัน กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนได้ดึง Wisdom ออกมา และเป็น Wisdom ที่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่มีแรงที่จะส่งต่อไป เพื่อพัฒนาให้สังคมโลก ดีขึ้นต่อไปในอนาคต” กอบกาญจน์ กล่าว

โครงการ IMET MAX มี Orientation ให้กับ Mentor ด้วย เมนเทอร์ที่ดีเป็นอย่างไร Mentor ต้องเรียนด้วย Mentor เองก็ได้รับพลังจากการที่ได้เพิ่มพลังให้กับผู้นำรุ่นใหม่กลับมาด้วย IMET MAX เหมือนเป็นโรงเรียนชีวิต ที่ทำให้เข้าใจว่า ณ วันนี้ คนรุ่นใหม่คิดอะไร แล้วเขาต้องการอะไร IMET MAX เป็นเวทีสำคัญที่ทำให้ได้สื่อสารและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

“ตั้งใจเข้าร่วมโครงการในฐานะผู้ให้ คือ ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ถ่ายทอดประสบการณ์ แต่ท้ายที่สุดแล้ว กลับได้มีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะ มุมมอง และความคิดของผู้นำรุ่นใหม่ จึงทำให้เมนเทอร์ (Mentor) และเมนที (Mentee) ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราคิดว่าเราส่งพลังใจให้เขา แต่กลายเป็นเขาส่งพลังใจมาให้เรามากกว่า เห็นชัดเลยว่า อนาคตของชาติอย่างน้องๆ มีไฟมาก ไฟนี้ไม่ใช่เพียงแค่จะเติบโตแล้วเก่งอย่างเดียว แต่เป็นไฟที่อยากจะทำความดีให้กับผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ และเราได้เข้าใจมากขึ้นว่า ณ วันนี้คนรุ่นใหม่เขาต้องการอะไร เขามองอะไร เขาทำอะไรอยู่ อะไรที่เป็นสิ่งที่เขาคิดว่ามีความสำคัญในชีวิตเขา” กอบกาญจน์ กล่าว 

เห็นดาวเหนือชัดขึ้น

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน)

ปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) และเป็นคณะกรรมการทำงานของโครงการ IMET MAX แบ่งปันประสบการณ์การเข้าร่วมเป็น Mentee of IMET MAX รุ่นที่ 1 ว่า การที่อยู่ใน Mid-Career คือเดินทางมาอยู่ในจุดหนึ่งของชีวิต อายุ 30 กว่า 40 ต้น ๆ เดินทางมาด้วยความสำเร็จจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่สำเร็จไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าอนาคตจะเดินไปอย่างสำเร็จและมีความสุข การเข้าร่วมโครงการ IMET MAX เป็นเหมือนการที่กำลังเดินทางไปหาดาวเหนือของตัวเอง เป็นโครงการที่ทำให้ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง

“การเดินทางไปดาวเหนือชัดขึ้น เนื่องจากเราเห็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช่แค่เรื่องธุรกิจ แต่เป็นเรื่องสังคม Wisdom คือปัญญาได้มีการส่งต่อกัน ได้มีการเล่าสู่กันฟัง กระบวนการคำถามที่เกิดขึ้น แนะนำสิ่งที่คิด ชวนคิดชวนคุย ทำให้เราเกิดความมั่นใจในการเดินทางต่อไป โจทย์ของเราเริ่มกว้างขึ้น ลึกขึ้น” ปิยะดิษฐ์ กล่าว

“ดีใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของ IMET MAX และมั่นใจว่าการสร้างอุทยานผู้นำเป็นความหวัง และทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีโอกาสอีกมากที่จะเจริญก้าวหน้าต่อไป เราจะได้ส่งต่อประเทศที่ดีที่มีความเจริญให้แก่คนรุ่นต่อไปด้วย Wisdom for lifeและ Social Values”

สร้างอุทยานผู้นำที่เก่งและคนดี

คนที่เข้าโครงการจะต้องมี Need for mentoring เป็นคนที่เปิดรับและมีความต้องการที่อยากจะพัฒนา ซึ่งกระบวนการของโครงการสามารถช่วยเหลือเขาได้ กระบวนการรับสมัคร ผู้สมัครจะต้องเขียน Essay โดยมีคำถามว่าผู้สมัครอยากจะเห็นอะไร เขามองอย่างไรกับอนาคต เขามองอย่างไรกับสิ่งรอบตัว

ธนพล กล่าวว่า โครงการ IMET MAX ไม่เชิงเรียกว่าหลักสูตร เพราะไม่มีห้องเรียน ไม่มีตำราเรียน และไม่มีเวลาเรียน แต่เป็นกระบวนการ Pairing ของกลุ่ม Mentor กับ Mentee พูดคุยกัน ใช้เวลาพูดคุยกันทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องการทำงาน การใช้ชีวิตหรือเรื่องสังคม การกำหนดเวลาขึ้นอยู่กับแต่ละ  Pair อาจจะเดือนละครั้ง อาจจะใช้เวลา 2-3 ชั่วโมง หรือ 4 -5 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่ม 

“เราไม่ได้มีจัดหลักสูตรตายตัวว่าต้องมาเรียนที่ไหนอย่างไร ไม่ได้มีงานที่บอกว่าเสร็จแล้ว ต้องมีปาร์ตี้ทำ Network ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ หลักสูตรเนื้อหาขึ้นอยู่กับโจทย์ของแต่ละ Mentee ในแง่ของ Mentor จะชวนคิดยังไง ไม่ได้มีว่าจะต้องสอนเรื่องนี้เรื่องนั้นก่อนหลัง ทั้งหมดคือเรื่องของ Wisdom for life and Social Values” ธนพล กล่าว

กอบกาญจน์ กล่าวว่า การจัดกลุ่มมีพลังมาก ๆ สัมผัสได้ว่าเขามี Passion ที่อยากจะทำอะไรให้ได้มากขึ้น เสน่ห์ของ IMET MAX ที่สำคัญ คือส่วนผสมของคนที่ได้รับเลือกเข้ามา

“ความพิเศษของโครงการนี้ คือ การ Pairing เป็นการจับกลุ่มที่ดีมาก และเมนเทอร์จะรู้สึกดีมาก ๆ  เวลาฟังน้อง ๆ Pitch แต่ละกลุ่มจะมีไอเดีย น่าสนใจมาก รู้สึกถึงพลังแม้กระทั่งหลังจากจบโครงการไปแล้ว จนมาถึงวันนี้พลังนั้นยังอยู่ และอาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ ซึ่งอันนี้เป็นกำลังใจที่ทำให้เมนเทอร์ที่ต่อให้ยุ่งยังไง เราจะพยายามหาเวลาเพราะเรารู้ว่า มันมีคุณค่าจริง ๆ” กอบกาญจน์ กล่าว

“ในรุ่นที่ 4 กลุ่มที่ดูแลสนใจเรื่องการแก้หนี้ เขา Pitch มีอินเนอร์ของเขาจริง ๆ เป็นตัวตนของเขาจริง ๆ แล้ว Mentoring ทำให้เขามีความชัดเจนกับสิ่งที่เขาคิด ว่ามันคือดาวเหนือของเขา และเขาก็มีพลังที่จะไปหาดาวเหนือของเขาต่อไป” กอบกาญจน์ กล่าว

ดัชนีชี้วัดความสำเร็ของโครงการ IMET MAX คือ พัฒนาการของกระบวนการคิดของ Mentee และการส่งต่อคุณค่า (Pay it Forward) คือการที่เขาได้นำความคิดที่ได้จากการบ่มสร้างจากโครงการไปทำประโยชน์เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคมต่อไป (Social Value) อาจจะในสังคมเล็ก ๆ อาจจะในบริษัท เช่น ในการดูแลพนักงาน การเอื้อเฟื้อต่อชุมชน รวมถึงการมองกว้างว่าจะ Pay it Forward อย่างไร

“เราเห็นพัฒนาการของ Mentee เขาจะมีความสุขกับชีวิตมากขึ้นเขาสามารถ Contribute ได้มากขึ้น เขามีชีวิตครอบครัวที่ดีขึ้น และความเป็นผู้นำของเขาจะชัดเจนขึ้น บางคนมีความก้าวหน้าในแง่ของอาชีพการงาน และบางคนเราไปเสริมพลังให้คนอื่นต่ออีกมาก คนที่ตอนแรกมาเหมือนจะ Give up เขาไปต่อ เขาไปต่อได้อย่างดีและได้อย่างเข้มแข็ง การเห็นทุกคนสามารถก้าวต่อไปได้ เป็นผู้นำที่ดี นี่คือความสำเร็จของโครงการ” กอบกาญจน์ กล่าว

ปิยะดิษฐ์ กล่าวว่า โครงการ IMET MAX ไม่มีหลักสูตร แต่คือบทเรียนชีวิต เป็นบทเรียนที่ผู้เข้าร่วมโครงการต้องมาถามตัวเองว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นประเด็นปัญหา สิ่งที่ทำให้รู้สึกอึดอัดขัดข้อง บทเรียนนั้นเป็นบทเรียนที่จะต้องเขียนด้วยตนเอง เพื่อตั้งใจจะไปถาม ตั้งใจจะไปคุยกับ Mentor แล้วเปิดหัวใจ 

“บอกตรง ๆ ว่าไม่เคยเจอที่โครงการไหน”  ปิยะดิษฐ์ กล่าว

Mentor และ Mentee หัวใจของ IMET MAX

โครงการนี้ Mentor สำคัญมาก ๆ จึงเป็นความท้าทายในการเชิญ Mentor และคัดเลือก Mentee ธนพล กล่าวว่า ในส่วน Mentor มีทีมงานและได้รับคำแนะนำจากกรรมการของมูลนิธิ ในการที่จะแนะนำ Mentor แต่ละท่าน ซึ่งต้องบอกว่าหลาย ๆ ครั้งคำแนะนำเหล่านี้ มาจากการที่ท่านได้สัมผัสกับตัวตนของ Mentor ที่แท้จริง ทั้งเรื่องความซื่อสัตย์และความสามารถ

กระบวนการของ IMET MAX คือ Mentor จะรับฟังและชวน Mentee คิดตาม จะไม่ใช่เรื่องการที่จะมาเล่าความสำเร็จของตัว Mentor เอง แต่เป็นการชวนน้อง ๆ Mentee ให้คิดและมองไปข้างหน้าด้วยกัน ซึ่ง IMET MAX มีการทำ Orientation ให้ทั้ง Mentor และ Mentee เพื่อเป็นกระบวนการในการตั้งความคาดหวังให้ตรงกัน หลังจากนั้นจะเป็นการ Pairing และ Mentoring กัน เดือนละครั้ง ระหว่างทางอาจจะมีการสลับบ้าง แต่เมนหลักคือแต่ละ Pair คือ Mentor 1 คน กับ Mentee 3 คน เพราะต้องการให้คุยกันได้ลึกขึ้น ประมาณ 8-9 ครั้ง ประมาณเดือนพฤศจิกายนจะปิดโครงการ สำหรับปีนี้ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 5 ระยะเวลาเปิดรับสมัคร คือ 1-31  มกราคม เปิด Orientation วันที่ 19 กุมภาพันธ์

การสร้างผู้นำ ไม่สามารถผลิตปั๊มออกมาแล้วเป็นได้เลย แต่จะต้องค่อย ๆ บ่มเพาะและพัฒนาศักยภาพและหัวใจ ให้เห็นศักยภาพของตัวเอง และมีความมั่นใจในการที่จะเดินต่อไปข้างหน้าอย่างถูกต้อง และรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม การทำ Mentoring ของ IMET MAX เป็นการดูแลตลอดชีวิต แม้โครงการจะจบไปแล้ว Mentor และ Mentee ยังติดต่อกัน และชวนกันพูดคุย

โครงการ IMET MAX รุ่นที่ 5 

ตลอดระยะเวลา 4 ปีของโครงการ IMET MAX และกำลังก้าวสู่ปีที่ 5 มูลนิธิ IMET ได้สร้างอุทยานผู้นำ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้กับ เมนเทอร์ (Mentor) และเมนที (Mentee) รวมแล้วกว่า 155 คน โดยในปีนี้โครงการ IMET MAX เปิดรับสมัครผู้นำรุ่นใหม่ที่เป็นคนดี มีศักยภาพสูง และมีความต้องการพัฒนาตนเองด้วยกระบวนการ Mentoring ให้เข้าร่วมโครงการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด  

สำหรับโครงการ IMET MAX รุ่นที่ 5 ได้รับเกียรติจาก 12 ผู้บริหารชั้นนำของประเทศที่ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงและเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคมมา ร่วมเป็นเมนเทอร์ (Mentor) ได้แก่

กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร
ประธานกรรมการบริหาร บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด

จรีพร จารุกรสกุล
ประธานคณะกรรมการบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม 
บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

จรัมพร โชติกเสถียร
กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ธีรพงศ์ จันศิริ
ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

บรรยง พงษ์พานิช
ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน)

ปรีชา เอกคุณากูล
กรรมการ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน)

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร
ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

ภาณุ อิงคะวัต
ผู้ริเริ่มและก่อตั้งบริษัท Greyhound และ Greyhound Café ประเทศไทย

วรรณิภา ภักดีบุตร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน

ดร.วิรไท สันติประภพ
อดีต ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

วิบูลย์ ตวงสิทธิสมบัติ
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทนันยางเท็กซ์ไทล์

สมประสงค์ บุญยะชัย
ประธานกรรมการ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)

ผู้สนใจสมัครเป็นเมนที (Mentee) ในโครงการ IMET MAX สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.imet.or.th/imetmax  และ YouTube Channel: IMET MAX Thailand และสมัครเข้าร่วมโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 มกราคม 2566 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ