TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyAlibaba Cloud เดินหน้าลงทุนและขยายตลาดคลาวด์ในประเทศไทย

Alibaba Cloud เดินหน้าลงทุนและขยายตลาดคลาวด์ในประเทศไทย

ปฏิเสธไม่ได้เสียแล้วว่า คลาวด์คือโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี แม้ว่าความเข้มข้นของการใช้คลาวด์ของแต่ละองค์กรในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีความแตกต่างลดหลั่นกันไปตามความต้องการ แต่ตลาดคลาวด์ในประเทศไทยและทั่วโลกมีการเติบโตในอัตราที่น่าสนใจทุกปี ผู้เล่นระดับโลกในตลาดนี้ต่างทยอยตบเท้าประกาศการลงทุนในเฟสถัดไปเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งการตลาด

ไทเลอร์ ชิว ผู้จัดการทั่วไปประจำประเทศไทย อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ ให้สัมภาษณ์กับ The Story Thailand ถึงการเติบโตของตลาดคลาวด์ในประเทศไทย และแผนการลงทุนและการดำเนินธุรกิจของ อาลีบาบา คลาวด์ อินเทลลิเจนซ์ในตลาดที่น่าจับตามองนี้

อาลีบาบามองโอกาสตลาดคลาวด์ในไทยปีนี้อย่างไร?

ตลาดคลาวด์ในประเทศไทยกำลังขยายตัว ผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเห็นพ้องกันว่าตลาดยังมีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ข้อมูลของ Statista ระบุว่า รายได้ IaaS ของประเทศไทยคาดว่าจะสูงถึง 543.90 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2566 ส่วนอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR 2023-2027) คาดว่าจะอยู่ที่ 23.40%

เราเห็นว่าธุรกิจไทยมีความต้องการใช้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับยุทธศาสตร์ของประเทศที่สนับสนุนนวัตกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต่างต้องการใช้คลาวด์เพื่อทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลให้ได้เร็วขึ้นแล้ว กลุ่มธุรกิจรุ่นใหม่ที่เป็นดิจิทัลมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ต้องการใช้คลาวด์เพิ่มขึ้นเช่นกัน เราคาดว่าธุรกิจสองประเภทนี้จะทำให้เกิดการใช้คลาวด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้การยอมรับว่าคลาวด์คอมพิวติ้งมีความสำคัญอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการเงิน การสื่อสารและสื่อ ภาคการผลิต บริการสาธารณะต่าง ๆ ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมอื่นอีกมากที่พร้อมนำคุณประโยชน์ของคลาวด์ คอมพิวติ้งไปใช้อย่างจริงจัง

กลยุทธ์ทางธุรกิจของอาลีบาบา คลาวด์ สำหรับตลาดประเทศไทยในปีนี้คืออะไร?

เป้าหมายหลักของเราในปีนี้ยังคงเป็นเรื่องของการสร้างระบบนิเวศในประเทศไทยร่วมกับพันธมิตร เมื่อปี 2564 อาลีบาบา คลาวด์ ได้เปิดตัว Thailand Partner Alliance 100 ซึ่งเป็นโครงการด้านระบบนิเวศที่ออกแบบมาเพื่อให้การสนับสนุนด้านการตลาด การขาย และด้านเทคนิคให้กับพันธมิตรในประเทศไทยและส่งเสริมความร่วมมือกัน ตั้งแต่เปิดตัวโปรแกรมนี้ เรามีพันธมิตรมากกว่า 40 รายที่ร่วมเติบโตไปด้วยกันกับอาลีบาบา คลาวด์ เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT), สมาคมฟินเทคประเทศไทย (Thai Fintech Association), ทีเอ็มอีเอส (TMES), ทรูไอดีซี (True IDC), ทรู ดิจิทัล อคาเดมี (True Digital Academy), เอสไอเอส (SIS) นอกจากงานด้านการขายแล้ว อาลีบาบา คลาวด์ยังร่วมกับพันธมิตรสร้างสรรค์โซลูชันใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจไทยอีกด้วย

เราจะยังคงยกระดับข้อเสนอด้านผลิตภัณฑ์และบริการของเราให้เป็นโซลูชันที่เฉพาะเจาะจงกับอุตสาหกรรมแต่ละประเภทอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยลดข้อจำกัดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมค้าปลีก ภาคการผลิต ฟินเทค สื่อและความบันเทิงรูปแบบดิจิทัล ฯลฯ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้เราได้เปิดตัวโซลูชันสำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมการเงินและค้าปลีกหลายรายการ

ภาคการเงิน: เดือนกันยายน 2565 อาลีบาบา คลาวด์ได้เปิดตัวชุดโซลูชันสำหรับบริการด้านการเงิน ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์มากกว่า 70 รายการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้ให้บริการด้านการเงินทุกขนาดทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ประกันภัย หลักทรัพย์ และฟินเทค ปรับการดำเนินงานของตนให้เป็นดิจิทัล (ข้อมูลเพิ่มเติมจากข่าวประชาสัมพันธ์)

อุตสาหกรรมค้าปลีก: เดือนมกราคม 2566 อาลีบาบา คลาวด์เปิดตัว EMAS (Enterprise Mobile Application Studio) เพื่อช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันสร้างซูเปอร์แอป (superapps) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าใช้จ่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้นักพัฒนาฯ สามารถใช้ความสามารถที่มีอยู่อย่างมากมายของแพลตฟอร์มสร้าง superapps ได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เป็นการเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันให้กับบริษัทและองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก โซลูชันที่ครบวงจรนี้ใช้แนวปฏิบัติของ Taobao และ Tmall ซึ่งเป็น superapps ด้าน  อีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา เพื่อมอบระบบนิเวศที่ครบครันและหลากหลายให้แก่นักพัฒนาฯ รวมถึงองค์ประกอบต่าง ๆ สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของแอปฯ และฟีเจอร์ทางธุรกิจ, คอนเทนเนอร์เพื่อรัน miniapps และบริการสำหรับ DevOps และการดำเนินงานด้านต่าง ๆ

อะไรเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการใช้คลาวด์ขององค์กรในประเทศไทย

องค์กรไทยมีการนำคลาวด์มาใช้และส่วนมากตระหนักถึงความสำคัญของคลาวด์คอมพิวติ้ง และโยกย้ายการทำงานไปใช้คลาวด์ เพื่อวัตถุประสงค์ด้านค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม (เช่น ประหยัดเวลาและเงินในการสร้างและรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ภายในองค์กรซึ่งต้องทำด้วยตนเอง) อย่างไรก็ตามองค์กรต่าง ๆ ยังไม่ได้นำคุณประโยชน์ด้านความยืดหยุ่น ความปลอดภัย และความพร้อมใช้งานของคลาวด์ รวมถึงพลังของการวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ บน คลาวด์ และบริการที่ช่วยในการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลเชิงลึก มาใช้ในเชิงธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ

บุคลากรที่มีความสามารถพิเศษในสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น ไอที คลาวด์คอมพิวติ้ง AI การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยให้นำคลาวด์มาใช้ได้เร็วขึ้น

ร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย พ.ศ. 2566-2570 ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถด้านดิจิทัล ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะความท้าทายด้านการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทางดิจิทัล ทั้งได้มีการกำหนดกลยุทธ์เพื่อเพิ่มศักยภาพและทักษะด้านดิจิทัลให้กับผู้มีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบการกำกับดูแลข้อมูล, ระบบการเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิกส์ และแนวทางปฏิบัติของชุมชน

ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ ที่มีชุมชุนสตาร์ทอัปที่เปี่ยมด้วยพลังและใช้ดิจิทัลมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจ และเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่นำคลาวด์มาใช้ และเมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นก็เป็นการสั่งสมประสบการณ์และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดจากการใช้ประโยชน์ของคลาวด์ไว้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาผู้มีความสามารถด้านคลาวด์ในประเทศไทย

อาลีบาบา คลาวด์ มุ่งมั่นสนับสนุนบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทยในอนาคต โดยในปี 2564 อาลีบาบา คลาวด์ เปิดตัว Academic Empowerment Program ซึ่งเป็นโครงการเสริมศักยภาพทางวิชาการให้กับนักศึกษา นักวิชาการ และนักวิจัย ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับทรัพยากรด้านคลาวด์คอมพิวติ้งฟรี รวมถึงโอกาสในการฝึกอบรม และความช่วยเหลือทางการเงิน เพื่อเสริมสร้างความรู้ให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งเป็นกลยุทธ์ 20 ปีของรัฐบาลไทยในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านดิจิทัลและการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกอบรมทักษะดิจิทัลให้กับผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 20,000 คนภายในปี พ.ศ.2566 โดยมีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในประเทศไทยที่เข้าร่วมกับอาลีบาบา คลาวด์ ในโครงการด้านนี้ (ข้อมูลเพิ่มเติมจากข่าวประชาสัมพันธ์)

อาลีบาบา คลาวด์ มีจุดแข็งและแตกต่างจากผู้ให้บริการคลาวด์รายอื่นอย่างไร

อาลีบาบา คลาวด์ เป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และหน่วยงานหลักด้านอินเทลลิเจนซ์ของอาลีบาบา กรุ๊ป จึงได้สะสมแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดมากมาย รวมถึงแนวปฏิบัติที่ได้จากการเป็นผู้สนับสนุนทางเทคโนโลยีให้กับการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในเครือ เช่น ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ สื่อและความบันเทิงดิจิทัล การชำระเงิน และอื่น ๆ เราจึงสามารถให้การสนับสนุนองค์กรธุรกิจในประเทศไทยได้อย่างดีด้วยความรู้ความชำนาญ และโซลูชันที่เจาะจงใช้งานกับแต่ละอุตสาหกรรม เพื่อช่วยขจัดความท้าทายทางเทคโนโลยีและธุรกิจในเวลาที่องค์กรไทยเร่งขับเคลื่อนตัวเองสู่ดิจิทัล

กรณีศึกษา NaRaYa: บริษัท นารายณ์อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายไลฟ์สไตล์แบรนด์นารายา (NaRaYa) กำลังเปลี่ยนสู่ดิจิทัลด้วยโซลูชันของอาลีบาบา   คลาวด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ รองรับการขยายตัวธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัทฯ ทั้งในประเทศไทยและในภูมิภาค  NaRaYa สามารถสร้างแพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นและมีลาเทนซีต่ำ เพื่อมอบประสบการณ์การช้อปปิงที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า ด้วยการใช้คุณประโยชน์จากโซลูชันคลาวด์ที่มีประสิทธิภาพชั้นนำ ได้แก่ Elastic Compute Services, Alibaba Cloud CDN และ Object Storage Service (OSS) ซึ่งโซลูชันเหล่านี้เป็นโซลูชันเดียวกันที่ใช้รองรับเทศกาลช้อปปิงระดับโลก 11.11 โดยไม่เกิดดาวน์ไทม์ (ข้อมูลเพิ่มเติมจากข่าวประชาสัมพันธ์)

ในช่วงกิจกรรมออนไลน์ขนาดใหญ่ เช่น เทศกาลช้อปปิงระดับโลก 11.11 อาลีบาบา คลาวด์ ประสบความสำเร็จในการช่วยให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบากรุ๊ปดำเนินไปอย่างราบรื่น ความสามารถของอาลีบาบา คลาวด์ ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถจัดการกับสถานการณ์ที่ซับซ้อนต่าง ๆ จะช่วยให้ธุรกิจที่ใช้ดิจิทัลในตลาดสามารถเอาชนะอุปสรรคทางธุรกิจและทางเทคโนโลยีของตนได้

ในปี 2565 อาลีบาบา คลาวด์ ได้เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์แห่งแรกในประเทศไทย โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการชั้นนำอย่างเต็มรูปแบบเพื่อสนับสนุนธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการประมวลผลแบบยืดหยุ่น (elastic computing), ดาต้าเบส, สตอเรจ, บริการเน็ตเวิร์กเวอร์ชวลไลเซชัน, การประมวลผลขนาดใหญ่, โซลูชันด้านความปลอดภัย, บริการด้านการบริหารจัดการและแอปพลิเคชัน, การวิเคราะห์ข้อมูล และแมชชีนเลิร์นนิ่ง

หลังจากที่ผู้ให้บริการรายอื่นประกาศตั้ง local zone ในไทยแล้ว อาลีบาบา คลาวด์ มีแผนการลงทุนในไทยอย่างไรต่อไป

อาลีบาบา คลาวด์ จะยังคงทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรเพื่อขยายระบบนิเวศในประเทศอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับกลยุทธ์ด้านต่างประเทศของบริษัทฯ ที่ได้ประกาศในระหว่างการประชุม International Summit ที่ประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ซึ่งอาลีบาบา คลาวด์ ได้ประกาศความมุ่งมั่นใช้งบประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยีให้กับพันธมิตร และสนับสนุนพันธมิตรให้ขยายตลาดด้วยเทคโนโลยีของอาลีบาบา คลาวด์ ภายในระยะเวลาสามปีงบประมาณ การลงทุนนี้ประกอบด้วยรางวัลทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น การให้เงินทุน การให้เงินคืน และความคิดริเริ่มในการนำเสนอสินค้าและบริการออกสู่ตลาด (go-to-market)

นอกจากนี้ อาลีบาบา คลาวด์ ยังได้ออกโปรแกรม “Regional Accelerator” เพื่อเร่งสร้างการเติบโตให้กับพันธมิตร โดยให้พันธมิตรที่ดำเนินธุรกิจในตลาดที่แตกต่างกันได้ปรับรูปแบบการทำธุรกิจร่วมกันให้เหมาะกับตลาดในแต่ละท้องถิ่น รูปแบบนี้ได้รับการออกแบบโดยพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับความเข้าใจทางเทคโนโลยีของตลาด การเจาะตลาดเฉพาะทาง ความต้องการด้านดิจิทัล และความต้องการทางธุรกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้และส่งเสริมความเชี่ยวชาญทางเทคนิคให้กับพันธมิตร พันธมิตรของอาลีบาบา คลาวด์ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากโปรแกรมนี้ ประกอบด้วย ผู้ค้าปลีก พันธมิตรทางเทคโนโลยี (ISV, SaaS และ SI) และพันธมิตรด้านการให้บริการและคำปรึกษา

การพัฒนาความสามารถทางดิจิทัล: อาลีบาบา คลาวด์ ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา สมาคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดการฝึกอบรมและจัดหลักสูตรเกี่ยวกับคลาวด์คอมพิวติ้ง, AI, ความปลอดภัย และอื่น ๆ เพื่อร่วมบ่มเพาะผู้มีความสามารถด้านดิจิทัลซึ่งสามารถสนับสนุนการพัฒนาและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในระยะยาวของประเทศได้

ตลาดคลาวด์ไทยคึกคัก เมื่ออาลีบาบา คลาวด์ เปิดตัวดาต้าเซ็นเตอร์ในไทย ปักธงผู้นำตลาด

อาลีบาบา คลาวด์ เปิดตัวโซลูชัน Energy Expert วัด-วิเคราะห์การปล่อยก๊าซคาร์บอน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ