สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เตรียมเผยโฉม Thailand Digital Valley พร้อมใช้งานในปีหน้า (2021) ตั้งเป้าสร้างกองทัพสตาร์ตอัพเทคโนโลยีนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ต้นแบบหวังดึงดูดนักลงทุนต่างชาติร่วมลงทุนหนุน EEC ดันเศรษฐกิจไทย
- บำรุงราษฎร์ พร้อมรับ กระแส Wellness Next Normal ธุรกิจการแพทย์และพยาบาล
- สถาบันไอเอ็มซีแนะธุรกิจไทยปรับ 4 ด้านรับมือ 9 เทรนด์แรงปี 64
เพราะตระหนักดีว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักไม่อาจตอบโจทย์ทิศทางของการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีดิจิทัลได้อีกต่อไป แผนการ EEC หรือ Eastern Economic Corridor จึงเกิดขึ้นเพื่อทำให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมไปต่อไปได้และเป็นการสร้างสิ่งใหม่ที่จะผลักดันให้เกิดตลาดและการเติบโตในอนาคต ซึ่งในส่วนของ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า(DEPA) ได้รับโจทย์ใหญ่ในการหาทางสร้างจุดเชื่อมต่อที่จะส่งทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทั้งหลายเกิดขึ้นและนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของไทยได้อย่างเต็มที่
ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวกับ The Story Thailand ว่า Thailand Digital Valley เป็นโครงการขึ้นหลังจากได้พูดคุยกับนักลงทุน จนพบว่า สิ่งที่จะดึงดูดความสนใจของนักลงทุนให้เข้ามาไทยได้ จะต้องเป็นการลงทุนที่ให้โอกาสเข้าสู่ตลาดในด้านใหม่ ๆ ของไทยและของภูมิภาคอาเซียน และต้องเป็นการลงทุนที่จะเปิดโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่สำหรับตลาดโลกหรืออย่างน้อยที่สุดก็เหมาะกับตลาดที่กำลังเติบโตอย่างอาเซียน
ความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ ทำให้ดีป้ามองเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างพื้นที่ขึ้นมาพื้นที่หนี่งสำหรับส่งเสริมการสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อให้เกิดการลงทุนในประเทศ เป็นการขยายต่อยอดจาก EEC จึงกลายเป็นนโยบายให้เกิด EECi ที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรม รับผิดชอบโดยกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และ EECd ที่เน้นด้านดิจิทัล โดยดีป้ารับส่วนของ EECd มาดำเนินการ
“EECI คือ มุ่งเน้นด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ขณะที่ EECD มีแนวคิดว่า กว่าจะวิจัยและพัฒนางานบรรลุเสร็จสิ้นก็อาจไม่ทันกับความต้องการของตลาด”
“ดังนั้น จะดีกว่าไหม หากมีพื้นที่หนึ่งที่นำงานวิจัยและพัฒนาที่ได้มาแปรสภาพ ทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมแบบฉับพลันที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ เป็นความโดดเด่นที่จะดึงดูดนักลงทุนได้ไม่ยาก”
แผนการทำงานครั้งนี้ของดีป้ายังทำควบคู่ไปกับการพัฒนาคน เพื่อแสดงให้นักลงทุนเห็นว่า หากจะเข้ามาลงทุน ประเทศไทยมีพร้อมทั้งคนทำงาน กองทัพสตาร์ตอัพ และเทคโนโลยีนวัตกรรม
เมื่อมองเห็นแนวทางอย่างชัดเจน ดีป้าได้ขอพื้นที่ 30 ไร่จากกรมธนารักษ์มาสร้าง “Thailand Digital Valley” โดยแบ่งพื้นที่สัดส่วนอาคารออกเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย Start Up, Digital Innovation Center, Start Up Go Global และตึกทดลอง
สำหรับ ตึกแรกคือสตาร์ตอัพ สำหรับให้สตาร์ตอัพได้สร้างชุมชน (Community) ที่ตอบโจทย์ทั้งภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม และจะกลายเป็นจุดแข็งของไทย ส่วนตึกที่สองคือ Digital Innovation Center เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนโดยไม่จำเป็นต้องมาสร้างโรงงาน แต่เป็นห้องวิจัย (Lab) เพื่อการพัฒนาใน 4 ด้านหลัก คือ 5G Application, Big Data, Convergence Lab (High-Value Software) และ Hardware Design ซึ่งทั้งหมดดีป้า ระบุว่า จะเป็น Maker Space เพื่อเอาสิ่งที่ได้จากห้องแล็บเหล่านี้มาพัฒนาเป็นสินค้าต้นแบบ
“ตึกนี้ คือ ตึกที่บอกว่า ถ้าคุณมา เรามีกองทัพสตาร์ตอัพที่เข้มแข็งขึ้นและพร้อมจะทำงานกับคุณที่ตึกนี้ สามารถรังสรรค์นวัตกรรมให้เกิดระบบนิเวศขึ้นทันที เวลาที่คุณต้องการทำธุรกิจ Matching Platform เปิดตัวเข้าสู่ตลาดโลก หรือตลาดประเทศไทย โดยมีบริษัทกฎหมายและสถาบันทางการเงินคอยสนับสนุนและมีกลไกของภาครัฐคอยสนับสนุน”
ขณะที่ในส่วนที่ 3 ของ Thailand Digital Valley คือ START UP GO GLOBAL เป็นส่วนที่บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของไทยและต่างประเทศจะได้อยู่ร่วมกัน มีการแบ่งปัน แลกเปลี่ยน และถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม และส่วนที่ 4 คือตึกทดลองหรือตึกแข่งขัน ซึ่งเป็นพื้นที่ไว้สำหรับแสดงเทคโนโลยีนวัตกรรม เป็นชุมชนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการทำงานทางด้าน Product และ Design
ผู้อำนวยการดีป้า กล่าวต่อว่า ต้นปี 2564 อาคารแรกของ Thailand Digital Valley จะพร้อมเปิดดำเนินการ ส่วนตึก Digital Innovation จะใช้เวลาก่อนสร้างประมาณ 1 ปีขณะที่อีกสองตึกอยู่ในระหว่างการของบประมาณ เบ็ดเสร็จในแผนงาน คือ ประมาณ 4 ปี ถ้าได้รับการสนับสนุนในการทำงาน ทุกอย่างก็ขับเคลื่อนไปได้ทั้งในแง่ของทรัพยากรและการก่อสร้าง
“เราไม่ได้วางแผนสร้างให้เสร็จทีเดียวแล้วเปิด แต่เป็นการสร้างแล้วเปิดทีละตึก ขณะที่หลังบ้านมีการดำเนินการทางการทูตสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่เข้ามา”
ในมุมมองของดีป้า สิ่งที่ต้องทำ คือ การสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ และทำให้ไทยได้รับความสนใจในหลายมิติ กระทั่งนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย และผู้ที่จะได้รับประโยชน์ คือ ประชาชนคนไทย
“เมืองไทยต้องสร้างด้วยกันไม่ใช่มัวแต่ซ่อม การซ่อมไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือประชาชนคนไทยเติบโตขึ้น“
ทั้งนี้ ดีป้า ยืนยันว่า โครงการ Thailand Digital Valley จะช่วยทำให้นานาชาติเชื่อมั่นประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ เป็นโอกาสในการทำธุรกิจหรือขยายผลเติบโตเพราะเกิดการปรับเปลี่ยน ที่จะทำให้ไทยไม่เสียเปรียบดุลชำระเงินทางด้านเทคโนโลยี
ซึ่งถ้าไม่ทำประเทศไทยจะกลายเป็นผู้กินน้ำใต้ศอกคนอื่น เป็นโอกาสต่อตลาดการค้าเสรีที่จะทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไม่มองข้ามไทย และท้ายที่สุด คือ เป็นโอกาสที่จะเปิดให้มีการถ่ายทอดพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมของประเทศให้รุดหน้า
“เราไม่ได้บอกว่า Thailand Digital Valley เป็นเอเชียไม่ได้บอกว่าเป็นระดับภูมิภาคแต่เราบอกว่านี่คือของประเทศไทยคือถ้าคุณจะมาประเทศไทยมาดูเทคโนโลยีดิจิทัลให้มาที่นี่เพราะนี่คือไทยแลนด์”
อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง