TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistตลาดรถยนต์ในวิกฤติโควิด

ตลาดรถยนต์ในวิกฤติโควิด

วิกฤติโควิกฤติสร้างปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และธุรกิจในหลาย ๆ ด้านชนิด สร้างสถิติใหม่ รวมทั้งตลาดรถยนต์ ที่ชะลอคัวตั้งแต่ต้นปีและทรุดตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงล็อกดาวน์ที่เริ่มต้นในช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงมิถุนายน ตัวเลขจากสภาอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ ระบุว่า เดือนมีนาคม ตลาดรถยนต์มียอดขายรวม 60,105 คัน(ลดลง 41.74%) จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เดือนเมษายนตลาด”หดตัว”อย่างรุนแรงมียอดขายเพียง 30,109 คัน (ลดลง 65.02%) เดือนพฤษภาคม ยอดขาย 40,418 คัน (ลดลง 54.12%) เดือนมิถุนายน 58,013 คัน (ลดลง 32.6%)

และสำหรับตัวเลข 10 เดือน แรกของปีนี้ (2563) ตลาดรถยนต์รวมมียอดขาย 592,448 คัน (ลดลง 27.4%) ส่งออก 10 เดือนแรก 592,829 คัน (ลดลง34.61%) มีมูลค่าส่งออก 329,020.34 ล้านบาท (ลดลง29.85%) และผลิตเพื่อส่งออกรอบ 10 เดือน มียอดรวม 1,111,426 คัน (ลดลง 35.53%)

ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์ระบุ 10 เดือนแรกปีนี้ว่า สินค้าส่งออกกลุ่ม รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ลดลง 12.6% ลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 สาเหตุจาก การหดตัวในตลาด ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเชีย จีน ซาอุดีอาระเบีย และอินโดนิเชีย แต่ยังขยายตัวในตลาด ญี่ปุ่น เวียดนาม สหรัฐฯ และเม็กซิโก อนึ่ง กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม 10 เดือนแรก หดตัว 7%

กาหดตัวของตลาดภายในและส่งออกเป็นผลจาก มาตรการล็อกดาวน์(ปิดเมือง)เพื่อชะลอการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระหว่าง ปลายเดือน มีนาคม-มิถุนายน 2563 ที่ทำให้ตลาดหายไปอย่างเฉียบพลัน (ดูตัวเลขเดือนเมษายน) เช่นเดียวกับภาคส่งออกที่นอกจาก “ความต้องการหาย”  แล้ว ห่วงโซ่อุปทานในการจัดส่งชิ้นส่วนและรถได้รับผลกระทบเนื่องจากทุกประเทศล็อกดาวน์ ซึ่งพูดได้ว่า ไตรมาสสองของปีนี้เป็นช่วงเวลาที่พลเมืองโลกจำใจจำศีลจากมาตรการล็อกดาวน์ที่รัฐบาลแตละประเทศนำมาบังคับใช้

ห้วงเวลานั้น ค่ายรถยักษ์ใหญ่ในไทยหยุดสายการผลิตชั่วคราว เช่น โตโยต้าหยุดระหว่าง 7-17 เมษายน อีซูซุ หยุดผลิตทั้ง 2 แห่ง ระหว่างวันที่ 13-30 เมษายน ฮอนด้าหยุด 2 โรงานเช่นกัน ระหว่าง 27 มีนาคม – 30 เมษายน ค่ายมาสด้า 28 มีนาคม – 30 เมษายน เช่นเดียวกับค่าย ฟอร์ดที่หยุดผลิตระหว่าง27 มีนาคม – 30 เมษายน ในช่วงเวลานั้นคงจำกันได้ว่ามีข่าวการเลิกจ้างแรงงานในค่ายรถยนต์บางแห่งและโรงงานผลิตชื้นส่วนอีกหลายราย ณ ปี 2562 อุตสาหกรรมยานยนต์และชื้นส่วนจ้างงานรวม 500,000 คน

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานสภา และโฆษก อุตสาหกรรมยานยนต์ ประเมินภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ปีนี้ให้ฟังว่า ยอดการผลิตลดลงจากปีที่แล้ว ที่ผลิต 2 ล้านคันโดยประมาณเหลือประมาณ 1.4 ล้านคัน แบ่งเป็นผลิตเพื่อส่งออกและขายในประเทศส่วนละ 7 แสนคันโดยประมาณ ส่วนยอดขายจริงในประเทศคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 7.5-7.6 แสนจากแรงส่งของกิจกรรมช่วงท้ายปี (รวมยอดรถยนต์นำเข้าและยกมาจากปีก่อนหน้า) ยอดส่งออกลดลง 35%  ยอดขายในประเทศลดลงประมาณ 27%

โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ประเมินว่า ตลาดรถยนต์ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีจะพลิกกลับอยู่ในจุดก่อนเกิดวิกฤติโควิด เช่นเดียวกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง เพราะหลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบ เช่น ท่องเที่ยวส่งออก ตอนต้มยำกุ้ง ตลาดหายไป 75% จากปี 2539 ที่ตลาดรวมรถยนต์มียอดขายเกือบ 6 แสนคัน ในปี 2541 ยอดขายเหลือ 1.5 แสนคัน ส่วนช่วงวิกฤติโควิดจากที่เคยผลิตได้เกือบ 2 ล้านคัน ลดเหลือ 1.4 ล้านคัน ลดลงไปประมาณ 30% จากเดิมที่คาดว่าจะลดไปประมาณ 50%

ความต้องการในตลาดรถยนต์ที่หายไปจากพิษโควิดกระทบต่อภาคส่งออก เพราะรถยนต์และอุปกรณ์เป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกมูลค่าสูงลำดับต้นของเมืองไทย พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงาน นโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) แถลงตัวเลขส่งออก 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค. 63)  เมื่อเร็ว ๆ นี้ ระบุว่า มีมูลค่ารวม 19,376.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 6.71% จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 17,330.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ส่งออกที่หายไปยึดโยงไปถึง “จีดีพี” เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาส่งออกเป็นหลัก ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีที่เริ่มนับถอยหลังกันแล้ว ทุกฝ่ายลุ้นไม่ให้ส่งออกติดลบมากไปกว่าที่คาดกันไว้คือ 8% เพื่อดึงไม่ให้ จีดีพี ติดลบมากกว่า 8% เช่นเดียวกัน ความต้องการรถยนต์ในตลาดส่งออกที่หายจึงเกี่ยวโยงถึง จีดีพี ด้วยเหตุผลดังที่ลำดับมาข้างต้นนั่นเอง 

ส่วนตลาดรถยนต์ยุควิกฤติโควิด-19 จะซึมยาวเหมือนช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งหรือใม่?  ยอดขายเดือนแรกปีหน้า จะเป็นดัชนีชี้ว่าตลาดรถยนต์ปี 2564 จะไปทางไหน

ชญานิน ศาลายา” เป็นนามปากกาของ “คนข่าว” ที่เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของวัฎจักรเศรษฐกิจตลอดช่วง 4 ทศวรรษเศษ ที่ผ่านทั้งช่วงเวลา เฟื่องฟู โรยรา จนถึง ถดถอย จากวิกฤติค่าเงินปลายทศวรรษ 2530   
วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 และล่าสุดวิกฤติโควิด

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ