TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewเมื่อ “วิทยาศาสตร์”​ และ “โหราศาสตร์”​ มาบรรจบกันที่ Data Analytic

เมื่อ “วิทยาศาสตร์”​ และ “โหราศาสตร์”​ มาบรรจบกันที่ Data Analytic

สิ่งที่ดูเหมือนต่างกันแท้จริงแล้วมีส่วนที่เหมือนกัน เหมือนกับ “วิทยาศาสตร์”​ และ “โหราศาสตร์” ที่ดูเหมือนอยู่คนละด้าน แต่มีความเหมือนกันตรงการทำวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) 

เธียรนิธิ วฤทธิษัย Data Consulting Manager บริษัท บลูบิค กรุ๊ป เป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลผู้มีความสนใจและเชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า โหราศาสตร์ คือ วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่ง เพราะโหราศาสตร์ คือ แนวทางของการสำรวจเก็บข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ประมวลผลเพื่ออธิบายถึงผลลัพธ์ที่จะต้องเกิดขึ้นหากอยู่ในปัจจัย เงื่อนไข และสภาวะการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง 

เธียรนิธิ สนใจโหราศาสตร์จากความชอบส่วนตัว และมองเห็นถึง ความเกี่ยวพันกันระหว่าง วิทยาศาสตร์ กับ โหราศาสตร์ ที่เชื่อมโยงกันด้วย “Data Analytics” 

ในฐานะ Data Scientists ที่ทำงานด้านการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลโดยอาศัย AI (ปัญญาประดิษฐ์) มาจัดการหาโซลูชันต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของคนในสังคม และมีโอกาสได้ศึกษาโหราศาสตร์อย่างจริงจัง สิ่งที่เห็นในโหราศาสตร์ คือ การใช้ประโยชน์จากข้อมูลในรูปแบบหนึ่ง เป็น Data Analytics  

“โหราศาสตร์ ประกอบด้วยศาสตร์ที่สามารถใช้ความรู้สมัยใหม่เข้าไปประยุกต์อธิบายได้ กับส่วนที่เป็นนามธรรม จับต้องไม่ได้ ไม่สามารถอธิบายได้”

โหราศาสตร์ คือ ความพยายามในการนำข้อมูลที่เก็บไว้มาอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ ผ่านระบบสัญลักษณ์ วงโคจรของดวงดาว ฤกษ์ยามเวลา ซึ่งโหราศาสตร์จะสังเกตรูปแบบของคนที่เกิดมาในลักขณาราศีแบบนี้ ว่าจะมีพฤติกรรม ความคิด และชุดความคิด (mindset) เป็นอย่างไร

เธียรนิธิ อธิบายว่า มนุษย์ในอดีตยังไม่มีความเป็นปัจเจกมากนัก จึงถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อม ที่มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งคนที่ทำหน้าที่โหราจารย์ที่คอยทำนายทายทักก็จะอาศัยข้อมูลวันเดือนปีเกิด ฤกษ์ของดวงดาวและเวลาตกฟากมาอธิบายคาดการณ์ลักษณะของบุคคลคนนั้น ทางเลือกของคน ๆ นั้น ความน่าจะเป็นของคน ๆ นั้น

ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าตั้งท้องในช่วงนี้ก็จะมีอาหารแบบหนึ่ง สภาวะจิตใจของแม่ที่ถูกกระทบก็จะส่งผลต่อลูกในครรภ์ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์จะระบุว่า สิ่งเหล่านี้ คือ การกำหนดลักษณะทางชีวภาพของคน ๆ นั้นมาแล้ว แต่ถ้ามองในแง่ของศาสนา สิ่งที่ว่ามานี้ คือ กรรมเก่า เป็นตัวกำหนดพื้นอารมณ์แรกเริ่มในการถือกำเนิดเกิดมา เป็นสภาวะพื้นฐาน

“การที่เราคิดอย่างนี้ การที่เราตัดสินใจแบบนี้ และการที่เรามีทัศนคติที่จะเลือกทำบางสิ่งบางอย่าง มันคือ Chain Reaction ที่เราจะตัดสินใจอย่างต่อเนื่องว่าเราจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ และมันจะเป็นผลกระทบต่อเนื่อง ซึ่งโหราศาสตร์ติดตามและเก็บข้อมูลในส่วนนี้ โดยไม่เพียงแต่เก็บข้อมูลในเชิงสถิติเท่านั้น แต่โหราศาสตร์ยังนำข้อมูลที่ได้มาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเชื่อมโยง”

โหราศาสตร์ คือ Data Analytics

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ชีวิตมีความสะดวกสบายมีทางเลือกและเงื่อนไขที่หลากหลายมากขึ้น  ทำให้ชุดข้อมูลของโหราศาสตร์ที่มีอยู่เดิมอาจไม่สามารถอธิบาย “คน” ในปัจุบันที่มีความเป็นปัจเจกสูง

ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะปรับระบบให้โหราศาสตร์แม่นยำขึ้น ด้วยชุดข้อมูลที่ละเอียดขึ้น และเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น ขยายข้อจำกัดเดิมที่อยู่

“แทนที่เราจะจับคู่ดูแค่สัญลักษณ์ของดวงดาวราศี เราก็จับคู่กับสถานที่เกิด เป็นการใส่เงื่อนไขเพิ่มเติม  ในโหราศาสตร์ฝรั่งยูเรเนียมก็มีความพยายามที่จะทำอยู่ ส่วนในโหราศาสตร์ของจีนก็มีทำอยู่แล้วที่เรียกว่าฮวงจุ้ย”

ทั้งนี้ ในความหมายตามราชบัณทิตยสภาพ โหรา หมายถึงผู้รู้กาล รู้เวลาโมงยาม ซึ่งถ้ายึดตามคำแปลดังกล่าว เธียรนิธิ ระบุว่า โหราศาสตร์ คือ รูปแบบการใช้ Data Analytic ที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ทำตั้งแต่สมัยโบราณ 

โหราศาสตร์เป็นความพยายามจะเก็บสถิติ หาความหมายของสถิติ และอุปนัยสถิติ ทว่าในการอุปนัยสถิตินี้ มีความพยายามอุปนัยที่เป็นทางวิทยาศาสตร์และไม่เป็นวิทยาศาสตร์ 

ในอดีต ชนชั้นปกครองอาศัยการเก็บข้อมูลของผู้คนในทุกด้านให้โหรหลวงทำนาย ซึ่งการทำนายของโหรหลวงก็ไม่ต่างอะไรกับการนำข้อมูลที่เก็บไว้มาถอดหารูปแบบทางสถิติ แล้วถอดเป็นอุปนัย ที่สามารถใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาอธิบายได้ส่วนหนึ่ง 

ทั้งนี้ ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้สังคมมีความซับซ้อน และปริมาณข้อมูลทีเยอะมากขึ้น ส่งผลให้ต้องนำ AI เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูล และมีหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในซีกโลกตะวันออกที่เริ่มมีการใช้ AI เข้ามาใช้งานด้านโหราศาสตร์ เพื่อหารูปแบบของคนและคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

อย่างไรก็ตาม เมื่อข้อมูลที่ต้องใช้ในทางโหราศาสตร์เกี่ยวพันกับข้อมูลส่วนบุคคล  ก็จำเป็นจะต้องมีข้อจำกัด หรือเงื่อนไขกฎระเบียบในการใช้ รวมถึง ผู้ใช้งานต้องมีหลักธรรมจรรยาบรรณในการใช้ด้วย

เมื่อเห็นกลไกและการนำข้อมูลมาประยุกต์ใช้ ภายใต้การจัดการข้อมูลในรูปสัญลักษณ์ที่กำหนด โหราศาสตร์ ก็คือ “เหล้าเก่าในขวดใหม่” ที่เรียกว่า Data Analytics โดยที่ โหราศาสตร์ เป็นทักษะเพิ่มเติมของคนทำดาต้าที่จะมีหรือไม่มีก็ได้ แต่ถ้ามีก็เท่ากับการมีเครื่องมือในการจัดการข้อมูลเพิ่มขึ้น 

อย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยให้สามารถคาดการณ์เพื่อรู้อนาคตได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น เหมือนการเดินทางที่รู้เส้นทางที่ดีสุดเพราะอาศัย Google Map นำทาง 

“โหราศาสตร์มันจะบอกว่าจากจุดเอต้องไปจุดบี แต่ระหว่างทางเอถึงบี เราสามารถสร้างมูลค่าอะไรบางอย่างขึ้นมาได้ ซึ่งมันไม่มีอะไรมากำหนดไว้ คือตรงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่มันปล่อยพื้นที่ช่องทางไว้ให้เรา ถ้ามองในทางวิทยาศาสตร์มัน คือ error ในโมเดล มันคือโมเดลที่ยังไม่สามารถแก้ไขตัวมันเองได้”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ