TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyNT เปลี่ยนเกมรัฐวิสาหกิจสู่นักลงทุนปั้นรายได้

NT เปลี่ยนเกมรัฐวิสาหกิจสู่นักลงทุนปั้นรายได้

เมื่อมีการพูดถึงคำว่า ‘Tech Company’ ในเมืองไทย แน่นอนว่ามีบริษัทสัญชาติไทยที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ไม่มากนัก หลายบริษัท Born to be แต่มีอีกหลายบริษัทเกิดมาจากการให้บริการเทคโนโลยี และต้องการทรานส์ฟอร์มสู่ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็น Tech Company การทรานส์ฟอร์มจึงอาจเป็นกระบวนเดียวของความอยู่รอดในการทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดการเติบโตด้านรายได้ที่ยั่งยืน 

บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT รัฐวิสาหกิจหนึ่งเดียวของไทยที่ให้บริการด้านโทรคมนาคมภาครัฐรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ประกาศจุดยืนชัดเจนหลังผ่านการควบรวมกิจการเมื่อต้นปี 2564 ที่ผ่านมาในการเปลี่ยนผ่านจากผู้ให้บริการแบบเดิมเป็น Tech Company ของภาครัฐที่ต้องการสร้างรายได้ในรูปแบบใหม่

หากมองย้อนกลับไป NT เกิดจากการควบรวมกิจการของ 2 รัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมของไทย คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT Public Company Limited และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT Telecom Public Company Limited โดยทั้งคู่เป็นบริษัทที่มีธุรกิจบริการและการลงทุนที่ทับซ้อนกันอย่างชัดเจนจึงทำให้การบริหารจัดการมีปัญหาส่งผลให้ผลประกอบการขาดทุนสะสมอย่างต่อเนื่อง 

จากข้อมูลในปี 2562 ก่อนการควบรวม TOT มีสินทรัพย์ ได้แก่ โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง 1.5 ล้านคอร์กิโมเลตร, เคเบิลใต้น้ำ 2 ระบบ, ท่อร้อยสายใต้ดิน 32,173 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 13,445 เสา และData Center 4 แห่ง ขณะที่ CAT มีสินทรัพย์ ได้แก่ โครงการเคเบิลใต้น้ำ 6 ระบบ, โครงการเคเบิลใยแแก้วนำแสง 0.7 ล้านคอร์กิโลเมตร, เสาโทรคมนาคม 18,159 เสา, ท่อร้อยสาย 5,677 ไมโครดักส์ต่อกิโลเมตร และ Data Center 9 แห่ง โดยเมื่อควบรวมกิจการแล้วทำให้ NT มีมูลค่าสินทรัพย์ที่สูงถึง 3 แสนล้านบาท

สินทรัพย์ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ

ทั้งนี้ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ที่สูงทำให้ NT ต้องรื้อระบบการบริหารจัดการใหม่ทั้งโครงสร้างเพื่อให้การทำธุรกิจหลังควบรวมกิจการไม่สูญเปล่า โดยเป้าหมายแรกหลังผ่านการเกิดใหม่มาแล้ว 2 ปี NT มีความชัดเจนในการเปลี่ยนเกมการทำงานแบบเดิมของรัฐวิสาหกิจ เปลี่ยนจากการหาพันมิตรเพื่อนำบริการมาใช้ เป็นการมองหาบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องเพื่อเข้าลงทุน หรือการมองหา Strategic Partnership เพื่อสร้างรายได้เติบโตไปด้วยกัน 

รวมถึงการ Spin off ธุรกิจในกลุ่มดิจิทัลเพื่อสร้างรายได้แบบคล่องตัวมากขึ้น แต่ความท้าทายที่น่าสนใจคือ NT จะทำตามความมุ่งหวังได้หรือไม่ เพราะแกนสำคัญในการทำงานส่วนใหญ่คือ บุคลากรที่จะต้องมีทักษะตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีในปัจจุบัน

NT โชว์ผลงาน ปี 65 กำไร 1.3 พันล้าน ปรับโครงสร้างใหม่ ชูบริการดิจิทัล ตั้งเป้าสู่การเป็น Tech company

3 ภารกิจหลักรัฐวิสหกิจปั้นรายได้

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ปีนี้ NT ครบรอบ 2 ปี ต้องบอกว่าองค์กรอายุครบ 2 ขวบเริ่มพูดได้แล้ว ถือว่าได้ทรานส์ฟอร์มจากองค์กรที่มีอายุอาวุโส 2 องค์กรมาเป็นองค์กรใหม่ ทำให้มีหลายอย่างที่เราต้องใช้เวลาเปลี่ยนแปลงปรับปรุง โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564-2565 สิ่งที่ NT ทำและเห็นผลชัดเจนมากขึ้นคือการปรับโครงสร้างองค์กร แม้ยังไม่ตอบโจทย์ธุรกิจในตลาดปัจจุบันเท่าที่ควร แต่ก็เดินหน้าปรับโครงสร้างมาได้ถึง 50% แล้ว ซึ่งในปี 2566 นี้จะมีการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อีกครั้ง

เรื่องที่สองที่จะต้องเร่งทำคือ การปรับโครงสร้างรายจ่ายที่ยังคงซ้ำซ้อนอยู่ ซึ่งเชื่อว่าสามารถปรับลดได้อีก 10-20% รวมถึงระบบงานหลังบ้านที่ยังคงทับซ้อนกัน องค์กรนี้เป็นองค์กรใหญ่ระบบงานมีความสืบเนื่องจำนวนมาก มีการเชื่อมต่อกันในหลายจุด การคัดแยกระบบงานที่ทับซ้อนออกจากกันอาจต้องใช้ระยะเวลานาน 1- 3 ปี จึงจะแล้วเสร็จ 

ทั้งนี้ ภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจ คือ การพัฒนาธุรกิจให้สอดรับกับนโยบายภาครัฐ ซึ่งสิ่งที่ภาครัฐต้องการเห็นคือหน่วยงานรัฐมีการทรานส์ฟอร์มการทำงานด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง NT มีหน้าที่ผลักดันให้เกิดการเชื่อมต่อกันในระบบการทำงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ของภาครัฐ เช่น GDCC, Gov cloud,-การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ (Big Data and AI) ในกลุ่มท่องเที่ยวเกษตร สาธารณสุข แรงงาน การศึกษา และการเพิ่มศักยภาพการสื่อสารภายในหน่วยงานรัฐด้วยระบบ Trunk LTE PPDR เป็นต้น

ส่วนภารกิจที่ 2 คือ ทำอย่างไรให้สินทรัพย์ที่ NT มีอยู่สามารถสร้างรายได้ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากเดิม โดยปัจจุบัน NT มีสินทรัพย์ ได้แก่ เสาโทรคมนาคม จำนวนกว่า 25,000 เสาทั่วประเทศ, เคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีปในโลก,คลื่นความถี่หลักในการให้บริการ 6 ย่าน ปริมาณรวม 600 MHz, สายใยแก้วนำแสงกว่า 4 ล้านคอร์กิโลเมตร, ท่อร้อยสายใต้ดินระยะทางกว่า 4,600 กิโลเมตรทั่วประเทศ, Data Center 13 แห่งในทุกภูมิภาคของประเทศ และระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก

ทั้งนี้ มองว่าการสร้างรายได้จาก Non telecom เป็นส่วนสำคัญเนื่องจากตอนนี้การบริหารจัดการสินทรัพย์เดิมยังไม่แล้วเสร็จ ซึ่งสินทรัพย์ดังกล่าวมีทั้งที่เช่าใช้และเป็นสินทรัพย์ของ NT เอง โดยเราต้องต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มจากสินทรัพย์ที่มีเพื่อไปทำธุรกิจใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากส่วนนี้ที่ 6% โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้เป็น 10% 

และภารกิจที่ 3 คือทำอย่างไรในการจัดตั้งบริษัทใหม่จากบริการเดิมที่มีอยู่เพื่อให้การบริหารจัดการด้านธุรกิจมีความคล่องตัวมากขึ้น 

ชูแนวคิด Neutral Operator 

กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า บทบาทของ NT คือการเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ นั่นหมายความว่า การมีโอเปอร์เรเตอร์หลายรายแข่งขันกันลงทุนในอินฟราทรัคเจอร์อาจไม่ตอบโจทย์ประเทศไทยในภาพรวม เนื่องจากแต่ละโอเปอร์เรเตอร์เมื่อเกิดการลงทุนแล้วเงินจะไหลออกนอกประเทศ ซึ่งเป็นการลงทุนที่อาจเกินความจำเป็น เพราะฉะนั้นสิ่งที่พยายามแก้ปัญหาคือ ทำอย่างไรให้ NT เป็นตัวกลางให้กลุ่มโอเปอร์เรเตอร์เข้ามาลงทุนที่ NT เราต้องการสร้าง Neutral Operator 

ตัวอย่างเช่น กรณีของการลากสายอินเทอร์เน็ตไปยังพื้นที่ชุมชนต่าง ๆ โอเปอร์เรเตอร์แต่ละรายจะลากสายกันเอง เมื่อลูกค้ามีการเปลี่ยนโอเปอร์เรเตอร์สายเก่าก็ยังคงอยู่ที่เดิม แต่ลากสายใหม่เข้าไปแทน NT มองว่าในพื้นที่ชุมชนใหม่ ๆ ที่ยังไม่เคยมีการลากสายอินเทอร์เน็ตเข้าไป จากแนวคิด Neutral Operator คือ NT จะลากสายให้เพื่อรอโอเปอร์เรเตอร์แต่ละรายมาเช่าใช้บริการสาย โดยเข้ามาเชื่อมต่อกับสายที่เราวางระบบไว้แล้วให้บริการอินเทร์เน็ตแก่ลูกค้า จะช่วยให้รายจ่ายด้านการลงทุนของโอเปอร์เรเตอร์ลดลง

อีกทั้งประโยชน์ในระยะยาวที่เกิดขึ้นคือส่งผลต่อภูมิทัศน์ของเมืองไทย เช่นเดียวกับกรณีของเสาสัญญาณที่จะต้องมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าตอนนี้แน่นอน หากโอเปอร์เรเตอร์แต่ละรายต่างลงทุนสร้างเสาสัญญาณในอนาคต อย่างไรก็ตา มโมเดลธุรกิจนี้ต้องมาด้วยราคาเช่าใช้ที่สมเหตุสมผลและโอเปอร์เรเตอร์ทุกรายเข้าถึงได้

“จำรัส สว่างสมุทร” ผู้อำนวยการใหญ่ส.อ.ท. ชี้เป้าภาคอุตสาหกรรม “เตรียมพร้อมสู่ความยั่งยืน”

เปลี่ยนเกมสู่นักลงทุน

กรรมการผู้จัดการใหญ่ NT กล่าวว่า ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 มี 2 ส่วนคือ การลงทุนในเทคโนโลยี 5G อย่างเป็นรูปธรรมในไตรมาส 2 ของปีนี้บนคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งให้บริการในลักษณะพื้นที่โดยรวมกระจายทั่วประเทศและคลื่นความถี่ 26 กิกะเฮิรตซ์ ให้บริการ 5G ในพื้นที่เฉพาะ 

และส่วนที่ 2 คือธุรกิจใหม่ที่มีการดำเนินธุรกิจต่างจากเดิม เช่น มีการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อทำธุรกิจนั้น ๆ อาจเป็นบริษัทที่เกิดจากการร่วมลงทุนจากภาคเอกชน หรือเป็นรูปแบบที่ NT เข้าไปลงทุนกับบริษัทเอกชนที่มีการทำธุรกิจนั้นอยู่แล้ว หรืออาจจะเป็นรูปแบบการจัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนในบริษัทใหม่ ซึ่งรูปแบบธุรกิจเหล่านั้นยังคงอยู่ในขั้นตอนการตัดสินใจของคณะทำงานแต่อย่างไรก็ตามจะต้องได้ข้อสรุปรูปแบบธุรกิจใหม่ในช่วงต้นไตรมาส 3 ของปีนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้การเป็น Tech Company ในนิยามของ NT คือการเป็นผู้พัฒนาบริการต่าง ๆ ขึ้นมาด้วยตัวเองมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบริการส่วนใหญ่ 70% มาจากพันธมิตรทางธุรกิจ ทำอย่างไรให้ NT มีบทบาทในภาพรวมธุรกิจมากขึ้น NT จะเป็น Tech Company เพื่อมุ่งเน้นรายได้จากบริการที่สร้างมูลค่า เช่น สมาร์ทเซอร์วิส บริการแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยต้องยอมรับว่า NT เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีเงินในการลงทุนและมีความเชื่อมโยงกับหน่วยงานภาครัฐ ดังนั้นจึงมองไปที่การเข้าไปลงทุนในบริษัทที่เติบโตอยู่แล้ว หรือการทำงานลักษณะ strategic parnership เพื่อรวมกันสร้างรายได้ 

ทั้งนี้ การเป็น Tech Company ต้องมีส่วนประกอบหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นทักษะของบุคลากร ซึ่งสิ่งที่จะทำคือทุกหน่วยงานในองค์กรจะต้องเปลี่ยนเป็น learning and development organization คือต้องเรียนรู้จากปัญหา สามารถแก้ไขได้และพร้อมนำมาพัฒนาให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา แต่อย่างไรก็ตาม จะเดินหน้าเร็วจนเกินไปไม่ได้จะต้องมีการสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นระหว่างโครงสร้างธุรกิจและบุคลากรด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่การเดินช้าอย่างแน่นอน 

อีกทั้งปัญหาหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะตอบโจทย์กับบริการใหม่ ๆ เนื่องจากกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ไม่เหมาะกับระบบการทำงานแบบรัฐวิสาหกิจ ดังนั้นจึงเป็นอีกเหตุผลว่าทำไมจะต้องมองหาโมเดลการทำธุรกิจในรูปแบบใหม่เพื่อให้สอดรับกับการทำงานที่คล่องตัวมากขึ้น

การเปลี่ยนวิธีเล่นเกมของรัฐวิสาหกิจครั้งนี้จึงน่าจับตามองพอสมควร หาก NT ทำตามเป้าหมายในการสร้างสร้างรายได้ใหม่ ๆ สำเร็จ นี่อาจเป็นโมเดลการทำธุรกิจต้นแบบของอีกหลายรัฐวิสาหกิจในไทย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ม.มหิดล เปิดตัวแอปฯ ‘BRAIN TRACK’ เพื่อคนไทยห่างไกลภาวะสมองเสื่อม

ดีแทค ในบ้านหลังใหม่ เพิ่มสัญญาณ 5G – WIFI ให้ลูกค้า พร้อมบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ