TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessกันกุล เอนจิเนียริ่ง เดินหน้าหา S-Curve ใหม่ ในธุรกิจพลังงาน

กันกุล เอนจิเนียริ่ง เดินหน้าหา S-Curve ใหม่ ในธุรกิจพลังงาน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท กันกุล เอนจิเนียริ่ง จำกัด มหาชน เปิดหน่วยงานนวัตกรรมสร้างสรรค์ด้านพลังงาน ในชื่อ “กันกุล สเปคตรัม”​ (GUNKUL SPECTRUM) พันธกิจของ กันกุล สเปคตรัม คือ เดินหน้าหา S-Curve ใหม่ ในธุรกิจพลังงาน และวางแผนทำ EnergyTech Fund เริ่มต้นที่ 3 พันล้าน ใน 5 ปีข้างหน้า เพื่อค้นหาเทคโนโลยีสำหรับการสร้าง S-Curve ใหม่

ทั้งนี้ กันกุล เอนจิเนียริ่ง ทำธุรกิจด้านพลังงานค่อนข้างครบวงจรมากว่า 38 ปี ธุรกิจเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างอุปกรณ์และระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายส่งบนถนน โรงไฟฟ้าต่าง ๆ รวมถึงธุรกิจขายไฟให้ภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

นฤชล ดำรงปิยวุฒิ์ Head of Energy Innovation Pioneer กรรมการบริหาร และผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจและวางแผนกลยุทธ์ บริษัท กันกุล เอนจิเนียริ่ง จำกัด มหาชน กล่าวกับ The Story Thailand ว่า บริษัทมองเห็นว่า disruptive technology มาแน่นอน และเห็นว่าต่อไปตลาดพลังงานจะเป็นตลาดของผู้บริโภค (end-consumer) ภาคพลังงานกำลังเปลี่ยนสู่การกระจายศูนย์ (Decentralized) คือ จะเกิดระบบไฟฟ้าหรือแหล่งจำหน่ายไฟกระจายอยู่ทั่วไป จากเดิมที่ภาครัฐหรือโรงผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่เป็นผู้จ่ายไฟให้ผู้ใช้ไฟ

“ในอนาคตผู้ใช้สามารถผลิตไฟได้ ขายไฟได้ หรือซื้อไฟจากภาครัฐก็ได้ โรงไฟฟ้ามีขนาดย่อมลง อาทิ ระบบพลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ผู้ใช้สามารถติดโซลาร์เซลล์เพื่อจ่ายไฟให้แอร์เครื่องหนึ่งได้ พลังงานคือ ปัจจัยที่ 5 ในการดำเนินชีวิตของคน Disruptive Technology ทำให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามีทางเลือกมากขึ้น”

Disruptive Technology คือ เทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคตที่จะเข้ามา อาทิ เทคโนโลยีโซลาร์เซลล์ ที่เข้ามาผลิตไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์ต่าง ๆ ที่ทำให้บ้านมีความฉลาดมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้รู้ว่าใช้อุปกรณ์ตัวไหนกินไฟมากกว่าปกติ จะลดค่าไฟอย่างไร

“ระบบการบริหารจัดการพลังงานมีความสำคัญ อาทิ หากแดดมาต้องเก็บไฟอย่างไร หากฝนเริ่มตกระบบจะบอกว่าม่านต้องปิด แอร์ต้องหรี่ เพื่อให้พลังงานไฟฟ้าอยู่ได้จนกว่าแสงอาทิตย์จะมาใหม่ในวันพรุ่งนี้”

นอกจากนี้ Disruptive Technology จะทำให้เกิดชุมชน Micro Grid ขึ้น คือ จะมีชุมชนที่จะสามารถผลิตไฟฟ้า และสามารถแลกเปลี่ยน ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันได้ภายในชุมชน เปิดโอกาสให้คนสามารถเป็นผู้ผลิตและผู้ขายไฟให้คนอื่นภายในชุมชนเดียวกันได้

ปัจจุบัน ไฟฟ้าต้องผ่านสายไฟ ในอนาคตไฟฟ้าอาจจะไม่ผ่านสายไฟ เหมือนกับเราเตอร์กระจายสัญาณ Wi-Fi ในอนาคตไฟฟ้าจะมีตัวกระจายไฟตัวหนึ่ง กระจายไฟฟ้าให้เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน คนอาจจะเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยไม่ต้องเสียบปลั๊ก หรือผู้ใช้สามารถขายไฟฟ้าให้เพื่อนบ้านได้โดยไม่ต้องผ่านสายส่ง ในอนาคตพลังงานจะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา

ทั้งนี้ จิ๊กซอว์ตัวใหญ่ที่ขาดไป คือ แบตเตอรี่ ในอนาคตจะเห็นภาพว่าสามารถหิ้วแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ไปจ่ายไฟให้กับโรงงานอุตสาหกรรมได้เลย พลังงานจะไม่ได้มาจาก Grid อย่างเดียวแต่มาจากแบตเตอรี่พกพา มาจากผู้ผลิตไฟเอกชนได้ แบตเตอรี่ที่จะทำให้พลังงานเคลื่อนที่ได้

ภาพของธุรกิจพลังงานจะไม่กลับมาเหมือนเดิม จะเปลี่ยนไปในแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เชื่อว่าในอีก 5 ปี ทุกคนจะมีโรงไฟฟ้าเป็นของตัวเอง

ด้วยระบบการผลิตไฟฟ้าระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จะเกิดชุมชน Micro Grid ขึ้นจำนวนมาก ซึ่งขนาดตลาดจะใหญ่ขนาดไหน มีหลายปัจจัยมาก อาทิ อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า จะเป็นอีกอุตสาหกรรมที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อน ตลาดไฟฟ้าไม่มีทางเล็กลงแน่ เพราะการใช้ไฟใช้พลังงานเดิมมีอยู่ บวกกับตลาดรถ EV ที่จะเติมความต้องการเข้ามาอีกจำนวนมาก

ภาพในอนาคต แหล่งพลังงานสะอาดจะกลายเป็นแหล่งพลังงานหลัก ซึ่งอาจจะให้สัดส่วน 50-60% ในตลาดโลก ส่วนในไทยน่าจะถึง 30% ใน 5 ปี ปัจจุบันมีสัดส่วน 15%

เดินหน้าหา S-Curve ใหม่

กันกุล สเปคตรัม มีแผนจะทำ EnergyTech Fund เริ่มต้นที่ 3,000 ล้านบาท เริ่มจากขนาดกลาง และจะมีพันธมิตรมาร่วม นักลงทุนที่อยากลงทุนในเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอุปกรณ์สมาร์ทโฮม สมาร์ทดีไวซ์ และระบบการบริหารจัดการพลังงาน

ภูมิทัศน์ทางธุรกิจที่กันกุล สเปคตรัมวางแผนไว้ จะมีสินค้าบางตัวที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ แต่อาจจะมีหลายเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอยู่ในประเทศอื่น ซึ่งกันกุลฯ อาจจะตั้งเป็น VC Fund เพื่อไปลงทุนในสตาร์ตอัพนั้นได้

“เรามองว่าเทคโนโลยีไม่ใช่การหยิบยืม แต่ต้องเป็นเจ้าของ ซึ่งการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีสตาร์ตอัพจะทำให้สามารถลดเวลาในการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้”

กันกุล สเปคตรัม เป็นหน่วยงานที่มีบริษัทลูกหลายบริษัท ขึ้นกับสินค้าและบริการที่จะผลิตออกมา ซึ่งจะทำงานร่วมกับพันธมิตร ณ​ ปัจจุบัน กันกุล สเปคตรัมยังใช้เงินทุนของบริษัทแม่ แต่ในอนาคต 5 ปีข้างหน้ากันกุล สเปคตรัม จะสร้าง S-Curve ใหม่ ที่จะสร้างธุรกิจใหม่ที่ขยายจน IPO ได้ ในช่วง 1-2 ปีนี้จะทดสอบตลาด และอีก 3 ปีจะขยายจน IPO ได้ ซึ่งตอนนั้นอาจจะมองหา VC

ภายใต้การเตรียมการสู่ธุรกิจ S-Curve ใหม่ ภายใต้หน่วยธุรกิจนวัตกรรมสร้างสรรค์ด้านพลังงานอย่างกันกุล สเปคตรัม ตอนนี้มี 9-10 โครงการที่กำลังพัฒนาอยู่

2 โครงการแรก คือ VOLT Energy Marketplace กับ P2P (Peer-to-Peer)

VOLT คือ ตลาดพลังงาน (Energy Market) เป็นแพลตฟอร์มตรงกลาง ซึ่งแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรก จะเป็นเฟส B2C คือ การเชื่อมระหว่างผู้อยากใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับผู้รับเหมาสร้างระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ หน้าที่ของกันกุลฯ คือ เป็นแพลตฟอร์ม และเป็นที่ปรึกษาให้สองฝ่ายเจอกัน เพื่อให้ผู้ใช้สามารถมีโอกาสใช้พลังงานสะอาดได้ง่ายขึ้น

VOLT เฟสถัดมา คือ เฟส B2B ซึ่งจะเริ่มเป็นการซื้อขายอุปกรณ์ไฟฟ้า สามารถให้ผู้รับเหมาสร้างระบบไฟฟ้าทางเลือกหรือผู้ใช้ปลายทาง สามารถเข้าถึงแหล่งจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ได้โดยตรง แม้ว่าจะซื้อในปริมาณไม่มาก อาทิ หากอยากได้แผงโซลาร์เซลล์ 2 แผ่นมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับจ่ายไฟให้เครื่องปั๊มน้ำ ก็สามารถทำได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น

เฟส 1 เปิดตัวไปแล้ว ส่วนเฟสสองประมาณสิ้นปีหรือต้นปีหน้า

VOLT มาตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการติดตั้งระบบผลิตพลังงานสะอาดในราคาต้นทุนที่สมเหตุสมผล

“เราอยากทำให้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องพลังงานมากขึ้น มีความสามารถในการเลือกใช้พลังงาน และเราอยากเป็นมาร์เก็ตเพลสให้เขา ให้สามารถเข้าถึงอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ได้ เข้าถึงผู้ก่อสร้างระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ในราคาที่ดีและมีทางเลือก รายได้จะมาจาก transaction fee ที่สามารถดูแลแพลตฟอร์มได้”​

ระบบนิเวศตลาดพลังงานเป็นตลาดที่ใหญ่มาก หมายถึง ตลาดผู้ใช้ไฟทั้งประเทศ ณ​ ปัจจุบัน เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยังไม่มา ตลาดพลังงาน คือ ตลาดผู้ใช้ไฟฟ้าตอนกลางวัน เมื่อใดที่แบตเตอรี่มา คือ ตลาดที่ทุกคนใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ซึ่งเป็นตลาดที่ค่อนข้างใหญ่มาก

“ไม่ได้มองว่ามาฆ่าธุรกิจเดิม หากจะเป็นก็จะเป็นเพียงช่วงระยะสั้น แต่ระยะยาว คือ การสร้าง S-Curve ใหม่ ที่ผ่านมาเห็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเป็นของต่างชาติ อยากเห็นคนไทยเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่ผลิตโดยคนไทยเพื่อคนไทย แล้วระบบนิเวศทุกอย่างอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจพลังงานมีอุปสรรคบ้างระหว่างทางที่ต้องค่อย ๆ แก้ไป กันกุลฯ อยากเป็นทางเลือกให้ประชาชน ด้านพลังงานทางเลือก หน้าที่ คือ ทำสิ่งที่ดีที่สุดมอบให้ประชาชน แล้วประชาชนจะเป็นคนเลือกหากมันดี เราตั้งเป้าหมายว่าจะผลิตสินค้าและบริการที่ดีเพื่อคนไทย ถ้าสินค้าดีจริง จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของธุรกิจพลังงานไปในทิศทางที่ดีขึ้น”

นอกจาก VOLT แล้ว กันกุล ยังเตรียมทำ P2P (Peer-to-Peer) หรือการซื้อขายไฟระหว่างเพื่อน ซึ่งตอนนี้มีโครงการนำร่องร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงาน หรือที่รู้จักกันในชื่อของ PEER-TO-PEER ENERGY TRADING PLATFORM เป็นการทดสอบการซื้อขายไฟฟ้าแบบ P2P ที่ต้องผ่านสายส่ง กำลังทดสอบการส่งไฟฟ้าจากกรุงเทพฯ ไปนครราชสีมา ไปพิษณุโลก ซึ่งค่อนข้างไกล ต้องผ่านการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ข้าม sub-station ข้ามจังหวัด

“P2P นี้ สามารถเกิดในระดับย่อยใน Micro Grid ได้ เริ่มจากการซื้อขายไฟฟ้ากันเองในชุมชนเล็ก ๆ ต้องรอให้การไฟฟ้าเปิดให้ทำ ซึ่งวันนั้น สามารถมาใช้แพลตฟอร์มของกันกุลได้เลย เพราะว่าจะมีการทดสอบบนระบบการใช้งานจริงแล้ว การซื้อขายไฟฟ้า จะมีการทำ settlement scheme ใช้ผ่านบล็อกเชนซึ่งมีความถูกต้องแม่นยำค่อนข้างสูง ตกลงราคาตามราคาตลาดเหมือนการซื้อขายหุ้นซึ่งมีการตั้งราคาที่หลากหลายวิธี ว่าจะซื้อขายด้วยราคาไหน ปริมาณเท่าใด ทั้งนี้ ราคาต้องถูกกว่าการไฟฟ้าฯ”

ปัจจัยที่จะทำให้ภาพนี้เป็นจริง คือ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดใบอนุญาต มีกฎระเบียบที่อนุญาตให้ทำได้ ให้เอกชนสามารถส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งของการไฟฟ้าได้ เป็นต้น จะทำให้เกิดตลาดการซื้อขายไฟฟ้าแบบเสรี

“P2P เมื่อไฟฟ้ายังต้องผ่านสายไฟ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันในระยะไกล จะต้องขายและจ่ายไฟฟ้าผ่านสายไฟของการไฟฟ้า ซึ่งต้องได้รับอนุญาตให้สามารถซื้อขายไฟฟ้าผ่านสายส่งของภาครัฐได้ และถ้าเราทำแพลตฟอร์ม B2B ได้ในฐานะของแพลตฟอร์มช่วยดัน transaction เชื่อว่าในอีก 5 ปี จะเกิดปริมาณการซื้อขายบนแพลตฟอร์มนี้ 40-50% ของปริมาณการซื้อขายรวมในตลาด ตลาดพลังงานใหญ่มาก เอาเฉพาะสายส่งไฟฟ้าที่ภาครัฐต้องลงทุนในระยะ 5 ปี ตกประมาณ 6 แสนล้านบาท”

กันกุล เอนจิเนียริ่ง มี 3 ธุรกิจหลัก ธุรกิจแรก คือ ผลิตและขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า ลูกค้าคือ ผู้รับเหมาและโรงไฟฟ้า ธุรกิจที่สอง คือ ธุรกิจรับเหมาสร้างโรงไฟฟ้า ทำสายส่งไฟฟ้า บนดิน ใต้ทะเล ทำให้ภาครัฐและเอกชน ส่วนธุรกิจที่สาม คือ ธุรกิจขายไฟฟ้า ตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าและขายไฟฟ้า ปัจจุบัน กันกุล เอนจิเนียริ่ง มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15-20% ในตลาดพลังงานทดแทน

“เราอยากทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่ออนาคตของคนไทยที่ดีขึ้น เราอยากเสนอทางเลือกให้ประชาชน ความตั้งใจอยากให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งพลังงานสะอาดได้ในราคาที่ถูกลง เราอยากทำให้ภาพนี้เป็นจริงได้ภายใน 5 ปี หมายความว่า เขาอยู่ที่ไหนก็มีพลังงานที่สามารถพกไปได้ทุกที่ทุกเวลา เหมือนที่เราสามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านมือถือ ภาพพลังงานในอนาคตจะเป็นเช่นนั้น และอยากให้คอนเทนต์พลังงานเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เพราะเมื่อคนเข้าใจและรู้ว่าพลังงานเป็นสิ่งใกล้ตัว เขาจะอยากบริหารจัดการพลังงาน รู้วิธีที่จะลดราคาหรือปริมาณการใช้งาน เพราะจะใช้พลังงานอย่างชาญฉลาด”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ