TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyAIS เดินหน้าขยายโครงสร้างพื้นฐาน 5G ยุทธศาสตร์ปี 65 สู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ

AIS เดินหน้าขยายโครงสร้างพื้นฐาน 5G ยุทธศาสตร์ปี 65 สู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะ

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส (AIS) เผยแนวทางและทิศทางบริษัทในปี 2565 ย้ำชัดยังคงเดินหน้าต่อยอดขยายพื้นที่ให้การบริการ 5G และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีให้ครอบคลุม ทันสมัยและเข้าถึงผู้บริโภคชาวไทยให้มากขึ้น พร้อมแง้มยุทธศาสตร์ปีหน้า เน้น Cognitive Telco ตั้งเป้าสู่การเป็นองค์กรที่ตอบทุกโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ปี 2565 เอไอเอสเตรียมจะยกระดับสู่ Cognitive Telco (ค็อกนิทิฟ เทลโค่) ที่นอกจากจะมุ่งมั่นกับ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างประโยชน์ให้แก่ลูกค้าอย่างสูงสุดเสมอจากธุรกิจไร้สายปัจจุบัน  2) ต่อยอดกลไกแห่งการเติบโตผ่านธุรกิจเน็ตบ้านและบริการลูกค้าองค์กร  และ 3) การลงทุนในธุรกิจดิจิทัลเพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในอนาคตแล้ว การที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนสู่อนาคตในฐานะ Cognitive Telco จะต้องไม่หยุดเพิ่มพูน ปรับประยุกต์ ผสมผสาน องค์ความรู้เดิมจากประสบการณ์ในฐานะผู้ให้บริการอันดับ 1 เข้ากับนวัตกรรมดิจิทัลระดับโลก เพื่อให้สามารถส่งมอบประสบการณ์รูปแบบใหม่อย่างสอดคล้องกับ New Normal ของโลกนี้ให้แก่คนไทยอย่างดีที่สุด 

“คำว่า Cognitive Telco ไม่ใช่ศัพท์ใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ไม่ค่อยถูกพูดถึงเท่านั้น โดย Cognitive Telco ถ้าจะนิยมให้กระชับที่สุดก็คือการที่เรามองลูกค้าเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความต้องการที่เป็นเอกลักษณ์ แตกต่างและหลากหลาย ดังนั้น หน้าที่ของเราในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายสัญญาณ ต้องทำให้ลูกค้าเกิดประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ในแบบที่เอไอเอสสามารถตอบสนองความต้องการนั้นๆ ได้โดยอัตโนมัติ ทันทีทันใด โดยคาดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 ปีในการดำเนินการก้าวเข้าสู่ระบบ Cognitive Telco ได้อย่างสมบูรณ์” สมชัย กล่าว

สมชัย ยังใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงปรัชญาของเอไอเอส ที่มุ่งสร้างความแตกต่าง ไม่แข่งขันด้านราคา ดูแลลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าอยู่กับเอไอเอสให้นานที่สุด และชัดเจนในการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย เหมือนล่าสุดที่เอไอเอสเดินหน้ายกระดับโครงข่ายไฟเบอร์ ซึ่งถือเป็นหัวใจของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมโครงข่าย 5G  เป็นการปฏิบัติตามพันธกิจในฐานะผู้รับใบอนุญาตใช้งานคลื่นความถี่ ที่จะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อคนไทย

พร้อมย้ำว่า กว่า 30 ปี ที่ผ่านมา เอไอเอสมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกด้านจนสามารถก้าวสู่การเป็น Digital Life Service Provider ชั้นนำของประเทศไทย ดังนั้น ในย่างก้าวเข้าสู่ปีที่ 32 ของ เอไอเอส ทางบริษัทจึงยังคงมุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีให้กับประเทศต่อเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทุกภาคส่วน เสริมความแข็งแกร่ง และยกระดับการใช้ชีวิตของคนไทยอย่างยั่งยืน รวมถึงการขยายเครือข่ายให้บริการ 5G ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วไทยมากที่สุดจากปัจจุบันที่ครอบคลุมอยู่ที่ 76% ของพื้นที่ 

“เราไม่เคยเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ในฐานะ Digital Life Service Provider ที่มุ่งมั่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีเพื่อประเทศ พร้อมส่งต่อความเชื่อมั่นให้แก่ทุกภาคส่วนว่า โครงข่ายและบริการ Digital จากเราจะยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และช่วยสนับสนุน ยกระดับวิถีชีวิตประชาชน และรูปแบบการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆได้อย่างเต็มที่ โดยตลอดระยะเวลา 31 ปีที่ผ่านมาได้ใช้งบประมาณเพื่อร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมประเทศไปแล้ว กว่าล้านล้านบาท แบ่งเป็นส่งมอบเงินให้ประเทศ 523,000 ล้านบาท  และลงทุนเครือข่ายและใบอนุญาตกว่า 481,000 ล้านบาท” สมชัย กล่าว

ทั้งนี้ ภายใต้บริบทของโลกใหม่ ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เอไอเอสมีการปรับตัวเพื่อให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง ยืนยันได้จากการประกาศปรับตัว Telecom Operator สู่ Digital Life Service Provider เมื่อ 6 ปีก่อน 

ด้าน วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศของเอไอเอส กล่าวเสริมว่า ทิศทางของการพัฒนาเครือข่ายหรือเน็ตเวิร์คจะดำเนินต่อไปเพื่อคนไทย ขณะเดียวกัน เพื่อให้มีขีดความสามารถทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งทัดเทียมกับนานาชาติ เอไอเอสยังได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเสริมศักยภาพให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ส่งผลให้ขณะนี้เริ่มมีการนำเครือข่าย 5G Private Network มาให้บริการจริงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้นอกจากจะสามารถสร้าง Business Process รูปแบบใหม่ ๆ หรือ ช่วยการทำ Digital Transformation ในองค์กรแล้ว ยังช่วยสร้างโอกาสในการลดค่าใช้จ่ายและข้อได้เปรียบเกี่ยวกับอัตราภาษีให้แก่บางอุตสาหกรรมอีกด้วย

เอไอเอสถือเป็นรายแรกที่ประกาศเปิดตัวการให้บริการ 5G หลังจากที่บริษัทได้รับใบอนุญาตเพียงไม่กี่วันเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563  และยังถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ 

เฉพาะในกรุงเทพมหานคร เราให้บริการ 5G ครอบคลุมพื้นที่กว่า 90% และครอบคลุม 100% ในพื้นที่ EEC โดยไม่เคยหยุดนำนวัตกรรมมายกระดับโครงข่ายด้วยเทคโนโลยีล่าสุดระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น mmWave ที่ความเร็วถึงระดับ 4 กิกะบิทต่อวินาที และ 5G CA ครั้งแรกของโลก รวมถึง Voice over 5G New Radio (VoNR) ให้สามารถโทรศัพท์ได้ชัดเจนบนเครือข่าย 5G SA รายแรกในไทย รวมไปถึงประสบการณ์ใช้งานในด้านอื่นๆ ทั้งความครอบคลุม, ความเร็ว, การเชื่อมต่อกับ IoT Device ตลอดจนอัตรา latency ที่เราโฟกัสเพื่อรักษาคุณภาพที่เป็นเลิศอยู่ตลอดเวลา”

เอไอเอส ได้ใช้โอกาสนี้เปิดตัวบริการใหม่ อินเทอร์เน็ตบ้าน ความเร็วสูงสุด 2 Gbps รายแรกและรายเดียวที่ให้บริการไฟเบอร์แท้ 100% โดย กิตติ งามเจตนรมย์ หัวหน้าฝ่ายงานบริหารธุรกิจฟิกซ์บรอดแบนด์ AIS  กล่าวว่า เอไอเอสมุ่งเน้นการแข่งขันในด้านคุณภาพและประสบการณ์การใช้งานมากกว่าการแข่งขันในเรื่องของราคาที่เอไอเอสมองว่าไม่เกิดประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งนวัตกรรมของ AIS Fibre อย่าง Mesh WiFi Solution, บริการ Speed Toggle, และ แพ็กเกจ BYOD ล้วน ตอบโจทย์การใช้งานของลูกค้าที่ต้อง Work From Home, Learn From Home, Play From Homeได้อย่างดี 

“ศักยภาพของโครงข่ายอัจฉริยะ Smart Network รวมกับความล้ำหน้าของ Smart CPE Lab และ Smart Service Monitoring ที่นำความรู้ความสามารถของ AIS Fibre ในการผสมผสานเทคโนโลยีหลากหลาย อาทิ  AI,ML,Robotic,ฯลฯ ช่วยให้บริษัทเกิดความเข้าใจในพฤติกรรมผู้บริโภค และเทรนด์การใช้งานในอนาคต” กิตติกล่าว 

เอไอเอสตั้งเป้าสู่การเป็นที่ 1 ของการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน ด้วยการผนึกกำลังพันธมิตรระดับโลก พัฒนาอุปกรณ์ High Speed Optical Converter(2.5 Gbps) ส่งความเร็วจากเน็ตเวิร์ค AIS Fibre ระดับ 2 Gbps สู่บ้านลูกค้าได้อย่างเต็มสปีด พร้อมกับนำ Device Brand name รุ่น Top ที่รองรับการใช้งานถึง 2Gpbs อย่าง Linksys เข้ามาติดตั้งเป็นครั้งแรกในไทย เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้รับประสบการณ์คุณภาพจากแพ็คเกจนี้ได้อย่างดีที่สุด ในราคาเริ่มต้นที่ 1,299 บาทต่อเดือน

นอกจากการพัฒนาในเรื่องของอุปกรณ์และโครงข่ายสัญญาณแล้ว กิตติ กล่าวว่า เอไอเอสไม่ลืมที่จะยกระดับมาตรฐานการให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยเน้นว่า เอไอเอสคือเจ้าเดียวในตลาดที่กล้าการันตีในเรื่องของการติดตั้งที่รวดเร็ว การแก้ปัญหาภายใน 24 ชม. และความตรงต่อเวลาในการให้บริการ 

“ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ทำให้เราก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นหลักของตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดเหนือตลาดมาตั้งแต่ปีแรกที่เข้าสู่ตลาด ถึงวันนี้ เราสามารถวางโครงข่ายไฟเบอร์ให้บริการครอบคลุมพื้นที่กว่า 3.5 ล้านครัวเรือนในกรุงเทพฯและปริมณฑล และรวมกว่า 8 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด ได้รับความไว้วางใจจากคนไทยแล้วกว่า 1.7 ล้านราย ท้ายที่สุดเรายังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพของการใช้งานควบคู่ไปกับการให้บริการเพื่อสร้างประสบการณ์ที่เหนือกว่าสำหรับลูกค้าและคนไทย”

ด้าน สมชัย ซีอีโอของเอไอเอส ให้คำมั่นปิดท้ายว่าในปีหน้า คนไทยจะได้เห็นนวัตกรรมและความแปลกใหม่ที่โดดเด่นแตกต่างจากเอไอเอสแน่นอน เพราะเชื่อมั่นในการทำงานเพื่อมอบประโยชน์อย่างยั่งยืนให้แก่ทุกภาคส่วน และเชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงล้วนทำให้เกิดการเรียนรู้และปรับตัว ทำให้รับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างดี ขณะที่เป้าหมายของการก้าวสู่ Cognitive Telco เป็นสิ่งยืนยันว่า องค์ความรู้ และ ประสบการณ์ จะถูกนำมาหลอมรวมเพื่อลูกค้าและผู้เกี่ยวข้องทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ เพื่อตอกย้ำว่า การเลือกอยู่กับเอไอเอสดีที่สุดเสมอ

ทั้งนี้ ในส่วนของ Cognitive Telco นี้ สมชัย กล่าวว่า จะมีการพูดถึงรายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้นในช่วงต้นปี 2565 แต่ความหมายโดยรวมในเบื้องต้นก็คือการมุ่งหน้านำเอไอเอสไปสู่การเป็นองค์กรอัจฉริยะที่ยึดความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลางการพัฒนาหลัก ทำให้ เอไอเอส สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้า และตอบสนองต่อความต้องการที่แตกต่างหลากหลายได้ดีที่สุด และรวดเร็วที่สุด ควบคู่ไปกับการเดินหน้าลงทุนใน 5G ต่อไป ด้วยเชื่อมั่นว่า 5G คือพื้นฐานของการก้าวสู่เทรนด์ของโลกยุคดิจิทัลและโลกเมตาเวิร์ส

Meta เผย 5 เทรนด์ดิจิทัลปี 2022 เปิด 4 กลุยทธ์เร่งเครื่องสู่เมตาเวิร์ส กับบทบาทยึดโยงคน-ชุมชน-ธุรกิจ

มาสเตอร์การ์ด เผย 5 ปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในปี 2565

AIS ร่วมมือ ม.ธรรมศาสตร์ ให้บริการ “รถ EV ไร้คนขับอัจฉริยะ”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ