TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessการเมืองเมียนมา เสี่ยงสูง กระทบโอกาสผลิตรถในประเทศระยะยาว

การเมืองเมียนมา เสี่ยงสูง กระทบโอกาสผลิตรถในประเทศระยะยาว

หลังการยึดอำนาจของกองทัพในเมียนมา กระแสความกังวลของนักลงทุนได้กลับมาทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งต่อสถานการณ์ความสงบในประเทศ รวมถึงทิศทางนโยบายต่าง ๆ ที่จะออกมานับจากนี้ โดยอุตสาหกรรมรถยนต์เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายและข้อกฏหมายอยู่หลายครั้งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทย แม้อดีตเมียนมาจะเป็นตลาดที่น่าสนใจต่อการเข้าไปลงทุนผลิตรถยนต์ในประเทศ จากการที่เมียนมาเป็นตลาดที่กำลังขยายตัว และนโยบายในช่วงที่ผ่านมาก็เอื้อต่อการประกอบรถยนต์ในประเทศ

นอกจากนี้ รถยนต์เก่าที่ครองตลาดอยู่อีกกว่า 1 ล้านคันในปัจจุบันก็ถึงเวลาต้องทยอยเปลี่ยนเป็นรถคันใหม่หากมีระดับราคาที่เหมาะสมแล้ว แต่จากความเสี่ยงที่สูงทางการเมืองในปัจจุบัน อาจมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนประกอบรถยนต์ในประเทศเมียนมา และทำให้การนำเข้ายังมีความจำเป็นโดยในช่วงปี 2564 ที่เมียนมาเผชิญกับความเสี่ยงในหลายทาง

โดยเฉพาะการเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมียนมาของกองทัพเมื่อวันที่ 1 ก.พ. อาจกลายมาเป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา โดยเฉพาะนักลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมรถยนต์ที่อยู่ในช่วงการก่อร่างสร้างฐานการผลิตและการตลาดในประเทศที่อาจต้องตัดสินใจชะลอแผนการลงทุนเพิ่มในอนาคตจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

ซึ่ง ณ ปัจจุบันยังไม่อาจทราบได้ว่าจะยืดเยื้อเพียงใด ดังนั้น การนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นทำให้ไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกสำคัญไปยังเมียนมาอาจจะมีโอกาสได้อานิสงส์ดังกล่าว

แต่ด้วยสภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศเมียนมาเองที่กำลังเผชิญกับปัญหารอบด้านทั้งจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงการที่อาจจะโดนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากนานาประเทศหลังเหตุการณ์การเข้ายึดอำนาจของกองทัพ ทำให้ในปี 2564 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแม้ไทยจะมีโอกาสส่งออกได้แต่การซื้อขายรถยนต์ใหม่ในประเทศเมียนมาเองน่าจะเผชิญกับความเสี่ยงทำให้ขยายตัวได้ไม่มากนักเหมือนในอดีตซึ่งจะมีผลต่อการนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศ

ตลาดรถยนต์เมียนมาเดิมมีพื้นฐานดี แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจบั่นทอนโอกาสในอนาคต

ทั้งนี้ หากพิจารณาจากพื้นฐานเดิมของสภาพตลาดรถยนต์ในประเทศของเมียนมาแล้ว ต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมาเมียนมาเป็นอีกตลาดที่กำลังขยายตัวจากความพยายามผลักดันด้วยนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลและความต้องการรถยนต์ใหม่เพื่อทดแทนรถยนต์เก่าจำนวนมากที่ครองตลาดอยู่ณปัจจุบันเป็นเหตุให้แต่ละค่ายรถต่างทยอยเข้ามาลงทุนประกอบรถยนต์ในประเทศอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์การเข้ายึดอำนาจของกองทัพ โอกาสในการขยับขึ้นเป็นฐานประกอบรถยนต์ของเมียนมาอาจถูกบั่นทอนลงไปพอสมควร โดยเฉพาะเมื่อไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวนี้จะลากยาวไปอีกนานเพียงใด  

อนึ่ง ดังได้กล่าวถึงเบื้องต้น ในอดีตที่ผ่านมาตลาดรถยนต์ใหม่ที่ประกอบในประเทศเมียนมามีภาพของการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องมาตลอดกว่า 6 ปี หลังรัฐบาลแสดงความชัดเจนต่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศ โดยเมียนมามีจุดแข็งสำคัญ 3 ประการที่ทำให้นักลงทุนหลายรายตัดสินใจขยายการลงทุนสร้างฐานประกอบรถยนต์ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น 

  1. ความต้องการรถยนต์ที่แท้จริงของเมียนมาสูงกว่ายอดขายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันของตลาด หากพิจารณาจากกลุ่มชนชั้นกลางซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อนั้น BCG คาดว่าในปี 2563 เมียนมาน่าจะมีประชากรกลุ่มดังกล่าวนี้ราว 10 ล้านคน ใกล้เคียงกับตัวเลข 12 ล้านคนของเวียดนามในปี 2555 โดยในปีนั้นเวียดนามสามารถทำตัวเลขยอดขายรถยนต์ใหม่ได้ถึง 80,453 คัน ขณะที่เมียนมาในปี 2563 ที่คาดว่าจะมีประชากรกลุ่มชนชั้นกลางอยู่กว่า 10 ล้านคน กลับขายรถยนต์ใหม่ได้เพียง 15,721 คัน แสดงให้เห็นว่าในความเป็นจริงแล้วเมียนมายังมีโอกาสขายรถยนต์ได้มากกว่าที่เป็นอยู่พอสมควร  
  2. รถยนต์ในเมียนมาปัจจุบันที่มีอยู่มากกว่า 1 ล้านคันส่วนใหญ่ราว 95% เป็นรถยนต์เก่าอายุมากกว่า 10 ปีที่รอการเปลี่ยนเป็นรถยนต์ใหม่ในอนาคต หากราคาจำหน่ายมีความเหมาะสมสามารถเอื้อมถึงได้ โดยปัจจุบัน รถยนต์ใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีในเมียนมา มีเพียง 62,000 คัน
  3. มาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ในประเทศหลายประการทั้งทางตรงและทางอ้อมทำให้รถยนต์ใหม่ประกอบในประเทศเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากขึ้น เช่น
  • การไม่ให้นำเข้ารถยนต์พวงมาลัยขวา และกำหนดปีที่รถยนต์จะนำเข้ามาในประเทศได้สำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลจะต้องผลิตไม่ต่ำกว่าปี 2562 ขณะที่รถเพื่อการพาณิชย์ต้องผลิตไม่ต่ำกว่าปี 2560 ทำให้การนำเข้ารถยนต์มือสองจากนอกประเทศมีโอกาสลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต
  • การอนุญาตออกแผ่นป้ายทะเบียนย่างกุ้งใหม่ให้กับรถที่ประกอบขึ้นในเมียนมาเท่านั้น ซึ่งทะเบียนย่างกุ้งเป็นที่ต้องการในตลาดสูงกว่าทะเบียนเมืองอื่นมาก เนื่องจากย่างกุ้งเป็นเมืองเศรษฐกิจหลักของเมียนมา รถยนต์กว่า 70% ของเมียนมาจดทะเบียนในย่างกุ้ง และปัจจุบันมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกให้รถที่จะจอดค้างคืนในย่างกุ้งได้ต้องมีแผ่นป้ายทะเบียนย่างกุ้งเท่านั้น ทำให้ความต้องการสูงขึ้นกว่าเดิมมาก
  • ไม่คิดภาษีจดทะเบียนรถยนต์ รวมถึงภาษีนำเข้าชิ้นส่วน กับรถยนต์ผลิตในประเทศ โดยภาษีนำเข้าชิ้นส่วน SKD (Semi Knocked Down) เดิมอยู่ที่ 10% ทำให้ราคารถยนต์ที่ผลิตในประเทศมีแนวโน้มถูกลง สวนทางกับรถยนต์นำเข้าที่ต้องเสียทั้งภาษีนำเข้ารถยนต์และภาษีจดทะเบียนรถยนต์ในอัตราที่ค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม แม้โดยพื้นฐานการประกอบรถยนต์ในเมียนมาจะมีศักยภาพในการเติบโตได้ แต่เมื่อเกิดการยึดอำนาจจากกองทัพย่อมมีผลทำให้การลงทุนมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมากและส่งผลเสียต่อความเชื่อมั่นในระยะยาวด้วยจึงมีโอกาสที่นักลงทุนจะชะลอการลงทุนในอนาคตออกไปและลดความเสี่ยงโดยการหันกลับมานำเข้ารถยนต์แทน 

ไทยอาจส่งออกรถไปเมียนมาได้เพิ่มขึ้น 2% – 4% ในปี 2564 แต่ความเสี่ยงในประเทศยังกดดัน

จากการลงทุนเพิ่มในอุตสาหกรรมรถยนต์เมียนมาที่มีโอกาสชะงักงัน หลังความเชื่อมั่นในระยะยาวของนักลงทุนสูญเสียไปจากความเสี่ยงทางด้านการเมือง ประกอบกับศักยภาพการผลิตรถยนต์ในเมียนมาปัจจุบันที่ยังมีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้สำหรับเมียนมาแล้วการนำเข้ารถยนต์ยังเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งนับเป็นโอกาสดีสำหรับตลาดรถยนต์นำเข้าที่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัฐบาลได้ประกาศปรับลดอัตราภาษีจดทะเบียนรถยนต์ที่ต้องเสียเฉพาะรถยนต์นำเข้าลงทำให้รถยนต์นำเข้าที่ปกติมักมีราคาสูงสามารถแข่งขันกับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศได้มากขึ้นโดยอัตราภาษีจดทะเบียนดังกล่าวแสดงดังตาราง

อัตราภาษีจดทะเบียนรถยนต์ของเมียนมาที่เสียเฉพาะรถยนต์นำเข้า

ขนาดเครื่องยนต์≤ 1,350cc1,351-1,500cc1,501-2,000cc2,001-4,000cc4,001-5,000cc> 5,000cc
อัตราเดิม30%50%50%80%80%120%
อัตราใหม่15%25%25%40%40%60%

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรวบรวมจาก Website ข่าว MYANMAR DigitalNews และ MyanmarTimes 

อย่างไรก็ตาม แม้รถยนต์นำเข้าจากไทยจะได้สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการปรับลดอัตราภาษีจดทะเบียนรถยนต์ลงดังกล่าวข้างต้น ทว่าการที่เมียนมามีโอกาสจะโดนมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจซ้ำเติมจากปัญหาเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิมจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้กำลังซื้อของผู้บริโภคนับจากนี้มีความไม่แน่นอนสูงนั้น

ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าแม้ไทยจะมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปยังเมียนมาได้เพิ่มขึ้นในช่วงปี 2564 นี้แต่ก็จะเพิ่มขึ้นได้ไม่มากนักโดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์ของไทยไปเมียนมาน่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2% – 4%หรือส่งออกได้ 86.5 ถึง 88.5 ล้านดอลลาร์ฯจากที่ส่งออกได้ 84.8 ล้านดอลลาร์ฯในปีที่แล้ว 

โดยนอกเหนือจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจในเมียนมาที่ไม่เอื้อให้การส่งออกทำได้ดีนักแล้ว การส่งออกไปยังเมียนมาของไทยยังมีโอกาสต้องเผชิญกับความท้าทายจากการแข่งขันที่สูงขึ้นด้วยแม้จะมีโอกาสส่งออกเพิ่มขึ้นในปี 2564 นี้ก็ตามจากคู่แข่ง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. รถยนต์จากประเทศคู่แข่งนอกอาเซียน เช่น เกาหลีใต้ และชาติตะวันตก ที่ได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีนำเข้าตั้งแต่ช่วงสิงหาคม 2563 ลง 10% จากอัตราเดิมที่ 30% – 40% เหลือ 20% – 30% ตามขนาดของเครื่องยนต์ ทำให้ระดับราคาลดต่ำลงมาแข่งขันกับรถยนต์จากอาเซียนได้มากขึ้น ซึ่งภาษีนำเข้าระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลดลงเหลือ 0% ไปเรียบร้อยแล้วก่อนหน้านี้
  2. รถยนต์จากจีน ที่ได้ลดภาษีนำเข้าผ่าน FTA อาเซียน-จีน ลงจาก 30% เหลือ 5% ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563
  3. รถยนต์ MPV นำเข้าจากคู่แข่งใหม่อย่างอินโดนีเซีย ที่กำลังเป็นที่นิยมในตลาด เนื่องจากสามารถบรรทุกคนได้มาก

โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การเข้ายึดอำนาจในเมียนมาของกองทัพอาจมีผลต่อการชะลอการลงทุนผลิตรถยนต์ของค่ายรถได้จากความไม่แน่นอนสูงด้านการดำเนินนโยบายต่างๆที่เกี่ยวกับการทำตลาดรถยนต์ในประเทศและอาจมีผลให้ในปี 2564 นี้ไทยมีโอกาสส่งออกรถยนต์ไปเมียนมาได้เพิ่มขึ้นแม้จะไม่มากนักเนื่องจากเมียนมายังต้องเผชิญกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจากความเสี่ยงทางด้านการเมืองและการที่เศรษฐกิจต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวภายหลังการระบาดของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว หากสถานการณ์ดีขึ้น และนักลงทุนตัดสินใจเดินหน้าลงทุนขยายโรงงานประกอบรถยนต์ในเมียนมา คู่แข่งที่รถยนต์ส่งออกจากไทยต้องเผชิญในตลาดเมียนมาอย่างแท้จริง คือ รถยนต์ที่ประกอบเองในประเทศเมียนมา

โดยปัจจุบันเมียนมาสนับสนุนการนำเข้าชิ้นส่วน SKD เพื่อไปประกอบในประเทศ และในอนาคตมีแผนจะสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศขึ้นด้วย ส่งผลให้ระดับราคาจำหน่ายรถยนต์ผลิตในประเทศมีแนวโน้มจะลดต่ำลง โดยที่ ณ ปัจจุบัน รถยนต์บางรุ่นก็มีระดับราคาเทียบเคียงได้กับรถยนต์นำเข้ามือสองจากญี่ปุ่นที่นิยมอยู่ในตลาดแล้ว

ส่วนในระหว่างที่การปกครองเมียนมายังอยู่ภายใต้การนำของกองทัพนี้ อาจยังมีค่ายรถบางสัญชาติ เช่น จีน ที่กำลังพยายามบุกตลาดโลก ที่อาจตัดสินใจลงทุนต่อ เนื่องจากโดยแท้จริงแล้วตลาดรถยนต์เมียนมาเป็นตลาดที่ยังมีศักยภาพรอการพัฒนาขึ้นในอนาคต

ซึ่งอาจต้องติดตามในระยะข้างหน้าว่า รถยนต์จากจีนที่อาจเข้ามาบุกตลาดรถยนต์เมียนมาในช่วงการยึดอำนาจของกองทัพนี้ จะมีผลทำให้ภาพการแข่งขันของตลาดรถยนต์ในอนาคตของเมียนมาเปลี่ยนไปน้อยเพียงใด

สำหรับไทยเองหากระยะยาวในอนาคตค่ายรถญี่ปุ่นตัดสินใจลงทุนต่อเนื่องเดินหน้าผลิตรถยนต์ในเมียนมาหลังสถานการณ์กลับสู่ความสงบเรียบร้อยมากขึ้นในเมียนมาไทยอาจได้อานิสงส์จากการเป็นฐานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อส่งออกไปประกอบเป็นรถยนต์สำเร็จรูปในเมียนมาที่กำลังขยายตัวขึ้นแต่ในทางตรงข้ามย่อมทำให้การนำเข้ารถยนต์ทั้งคันในอนาคตจากไทยลดลงตามไปด้วย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ