TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistSpotlight สู่อนาคต

Spotlight สู่อนาคต

ในทุกเวทีการประกวด กว่าจะได้ผลงานคุณภาพที่หลากหลายมานำเสนอ ต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ในการตรวจสอบ คัดกรองเพื่อให้ได้ผลงานที่เหมาะสมกับรางวัล กว่าผลงานนั้น ๆ จะผ่านตั้งแต่รอบแรกถึงรอบชิงชนะเลิศ ไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน

เพราะด้วยหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ด้วยมาตรฐานระดับประเทศ และที่สำคัญ ด้วยมุมมองของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ในฐานะผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน จะสรุปว่า ผลงานใดควรได้ไปต่อ และผู้เข้าประกวดทีมใด ควรได้รางวัลอะไร ย่อมการันตี ”คุณภาพผลงาน” ได้เป็นอย่างดี 

ทุกคำถาม  ทุกความรู้พร้อมคำแนะนำ จากคณะกรรมการ นี่คือสปอตไลท์ ที่จะช่วยให้ผู้เข้าประกวด เห็นอนาคตที่จะก้าวไปอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ หนูไพโรจน์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะกรรมการการประกวด TICTA  รับหน้าที่สำคัญนี้มา 3 ปี ได้แบ่งปันมุมมองความเปลี่ยนแปลงของการประกวดฯ ได้อย่างน่าสนใจ

Mindset ที่เปลี่ยนไป

อาจารย์ณัฐวุฒิ เล่าว่า การประกวดในแต่ละปีมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ทั้งกลุ่มผู้เข้าประกวด  Mindset ที่ต่างจากเดิม และผลงานที่ยอดเยี่ยม 

“เป็นกรรมการฯ มา 3 ปี เห็นพัฒนาการต่างๆ อย่างมาก เช่น ผู้เข้าประกวดที่เป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนมีสัดส่วนมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่ารุ่นต่อไปคงได้ต้อนรับคนเก่งมีฝีมือจากกลุ่มต่างๆ มาอีก ที่สำคัญคือมุมมอง ความคิด ของแต่ละทีมที่สมัครเข้ามามีความน่าสนใจ  หลายคนมองว่าการเข้าประกวดจะเป็นการเบิกทางและมีความสำคัญทางธุรกิจ เหมือนผู้เชี่ยวชาญที่ต้องผ่านการทดสอบความรู้เพื่อรับใบประกาศนียบัตร (Certificate) ที่จะมีแต้มต่อให้กับพวกเขาเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่น ๆ”

“ถ้ามีการปรับหรือขยายการประกวดให้ใหญ่กว่าเดิม มีการจับมือกับองค์กรชั้นนำ สร้างแรงจูงใจทั้งรางวัลและการเปิดประสบการณ์ดูงานในต่างประเทศที่น่าสนใจ  ก็จะสร้างทีมต้นแบบและแรงกระตุ้นให้คนเก่ง ๆ มาเข้าประกวดมากยิ่งขึ้น” อาจารย์ณัฐวุฒิ ให้คำแนะนำเพิ่มเติม

มาตรฐานการตัดสินส่งนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยให้ไกลถึงภูมิภาค

“หลักเกณฑ์ในการตัดสินการประกวดของ TICTA  บางส่วนก็ยังอ้างอิงมาตรฐานของ APICTA มาตลอด เพราะเรามีเป้าหมายในการคัดทีมตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันในระดับภูมิภาคเลยต้องใช้รูปแบบและโครงสร้างของ APICTA มาเป็นแนวทางตัดสินในระดับหนึ่ง  แต่ก็มีบางส่วนที่แตกต่างกันบ้าง ที่สำคัญคือ การได้ผู้ชนะจะผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจนมาก” คำยืนยันจากกรรมการที่สร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้าประกวดทุกทีม

แนวคิดใหม่ทำได้จริง

อาจารย์ณัฐวุฒิ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในการประกวดฯครั้งล่าสุดไว้อย่างน่าตื่นเต้นว่า 

“ในปี 2020 ที่ผ่านมา แต่ละทีมมีผลงานคุณภาพดีขึ้นมาก ตัวอย่างเช่นผู้เข้าประกวดที่มาจากเอกชน จะเอาปัญหา (Pain Point) ที่เกิดขึ้นจริงมาเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาผลงาน เขาจะมองการได้ประโยชน์จริง ๆ มีการยกตัวอย่างของจริงและหาวิธี (Solutions) มาจัดการปัญหานั้นเพื่อพิสูจน์ว่า เขาทำได้จริง!”

“ในรอบที่ผ่านมา หลายทีมสร้างความประหลาดใจและประทับใจให้กับกรรมการ สังเกตได้ว่าคนในทีมมีความรู้ดี  แม้จะมีช่องว่างในการทำงานอยู่บ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาแต่ที่สุดก็สามารถพัฒนาผลงานออกมาสร้างความตื่นเต้น น่าสนใจให้กรรมการและผู้ชมได้อย่างน่าทึ่ง 

บางทีมมีแนวคิดดี เช่นการประสานความร่วมมือ (Collaborate) กับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างผลงาน มีทีมเก่งหลายทีมที่เข้าถึงโจทย์ยาก เช่น เจอโจทย์ในการบริหารจัดการ  Big DATA เพื่อให้ธุรกิจไปได้  ซึ่งต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการเลือกข้อมูลมาใช้ ถึงจะเดินหน้าและแก้ปัญหาได้  เรื่องนี้ถ้าผู้เข้าประกวดมีประสบการณ์ทางธุรกิจก็จะมีมุมมองในการหาคำตอบอยู่แล้ว บางทีแค่เริ่มจาก คำถามที่ดี มีประโยชน์ ก็ทำให้ปัญหาถูกแก้ไขและอาจขยายธุรกิจให้ใหญ่กว่าเดิมได้อีกด้วย”

Impact คือ อีกหนึ่งตัวทำคะแนน 

หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนในการประกวดที่อาจารย์ณัฐวุฒิให้น้ำหนักคือเรื่องของผลกระทบ (Impact) เพราะอะไรเรื่องนี้ถึงสำคัญและกลายเป็นประเด็นที่ต้องให้น้ำหนักสำหรับโจทย์ในการแข่งขัน

“มีหลายทีมที่มีคนเก่งครบ ทั้ง CEO, CTO แต่ทีมที่ประสบความสำเร็จจะต้องมี Multi Discipline  สามารถทำให้ผลงานนั้นเกิดผลกระทบ (Impact) ทางธุรกิจที่เด่นชัด  ยิ่งนำเสนอดีก็จะได้คะแนนเพิ่ม  กรณีนี้ทีมที่เลือกข้อมูลจริงมาตอบโจทย์ในการนำเสนอ แล้วตอบคำถามกรรมการในรายละเอียดได้น่าสนใจ เช่น นวัตกรรมนี้เริ่มต้นมาจากโจทย์อะไร ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่งานวิจัย มีข้อมูลประกอบมายืนยัน เมื่อวิเคราะห์ปัญหาแล้วจะเอาเทคโนโลยีอะไรไปแก้ไข สามารถหาจุดสมดุลระหว่างผลกระทบที่เกิดกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ได้ ก็จะตอบโจทย์ที่ตรงความต้องการและจัดการผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ” 

เชื่อว่าผู้เข้าประกวดในโครงการ TICTA ทุกทีม ล้วนอยากฟังมุมมองของกรรมการทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นหมวดใด ยิ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นจะเป็นสตาร์ทอัพ ก็คงอยากทราบว่า ถ้าจะไปให้ถึงเป้าหมาย ต้องเตรียมพร้อมหรือปรับปรุงเรื่องอะไรบ้าง คำตอบของ ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Depa จะไขความกระจ่างได้เป็นอย่างดี

สตาร์ตอัพของไทยพัฒนาไปไกลมาก

อาจารย์ชินาวุธ ได้ย้อนเวลาช่วงเป็นกรรมการฯโครงการ TICTA มา 2 ปี ว่า เห็นสตาร์ตอัพที่เติบโตในหลายสาขา  เขาใช้เทคโนโลยีจริงจัง มีองค์ความรู้ชัดเจน มีหลายสาขาโตอย่างแข็งแกร่ง เช่น FinTech, E-Commerce, Logistic, Digital Asset, Blockchain, EdTech และ HealthTech ซึ่งได้รับผลกระทบทางบวกจาก Disruption Technology และสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่กลุ่มอื่นเช่น TravelTech, Event Technology ก็ได้กระทบทางลบจากปัจจัยเดียวกัน

แต่…กลุ่มที่ปรับตัวได้เร็วและดี ยกตัวอย่างการจัด  อีเว้นท์ที่ทำแบบ Hybrid มีทั้งงานแสดงจริงและ Virtual Event ก็สามารถพาธุรกิจไปต่อได้ หรือกลุ่ม EdTech ที่ปรับตัวไปอยู่แพลตฟอร์มออนไลน์ก็ได้ผลดี

การที่สตาร์ตอัพเข้าประกวดในโครงการ TICTA ซึ่งเป็นเวทีเตรียมพร้อมส่งพวกเขาไปเวทีที่ใหญ่ขึ้น คือ การเฟ้นหาทีมที่มีโอกาสสูง

ที่น่าภูมิใจ คือ ในแต่ละปีจะมีผู้เข้าประกวดหน้าใหม่ที่มีศักยภาพดีเป็นของดีกลายเป็นม้ามืดที่ใช้เวทีนี้เปิดตัวให้คนรู้จักมากขึ้น ถ้าสังเกตจะพบว่า การประกวดเป็นของคู่กับสตาร์ตอัพ ที่เขาต้องการจะทำให้ทีมหรือธุรกิจเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วด้วยต้นทุนที่ถูก หรือ Growth Hacking นั่นเอง แม้จะมีบางทีมที่ไม่ได้รางวัลในปีแรกแต่เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการแนะนำของกรรมการแล้วกลับเข้ามาประกวดใหม่ปีต่อมา ในหมวดอื่นหลังจากค้นหาจุดเด่นของทีมตัวเองเจอ ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี

นวัตกรรมที่คนอื่นทำเลียนแบบได้ยาก

เรื่องที่อาจารย์ชินาวุธเน้นย้ำให้ความสำคัญและได้เห็นผู้เข้าประกวดได้ลงมือทำก็คือ สตาร์ตอัพควรทำเรื่องการแก้ปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่มากขึ้น ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง ด้วยความสามารถบางอย่างที่คนเลียนแบบได้ยาก เรียกว่ามีทรัพย์สินทางปัญญาที่แก้ปัญหาขนาดใหญ่ได้ “ถ้าผู้เข้าประกวดมีแนวคิดอย่างนี้มาก ๆ เราจะได้นวัตกรรมเทคโนโลยีที่เป็น Deep Tech บนเวที TICTA มากขึ้น”   

เรื่องของคน เรื่องของทีม

สตาร์ตอัพในยุคนี้โดยเฉพาะหน้าใหม่ ๆ มีการเรียนรู้มากขึ้น มีการจัดทัพทีมงานที่ดีขึ้น ประกอบด้วยคนที่มีความสามารถมากขึ้น เช่น ทั้ง Developer, Business Developer และ Designer ทำให้มองการเปลี่ยนแปลงได้ดี เช่นโมเดลทางธุรกิจที่เคยมุ่งทำตลาด B2C ที่เริ่มอิ่มตัวและแข่งขันยากขึ้นก็หันมาเจาะตลาด B2B แทน

เห็นได้จากการแข่งขันในหมวด Business Services, Industry, Big Data ที่มีสตาร์ตอัพเป็นผู้ได้รับรางวัล และยังเลือกเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มได้ดี พร้อมทั้งปรับวิถีแนวคิดนำระบบ Lean  มาใช้ในการบริหารจัดการด้วยการลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นและเติบโตเร็วที่สุด ถ้าอะไรที่ลงทุนสูงก็เปลี่ยนเป็นการร่วมมือกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น กลุ่มฟินเทคจับมือกับธนาคารพัฒนาบริการให้กับกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นการนำแนวคิด Lean มาใช้ก็จะทำให้ ต้นทุนต่ำ แต่เติบโต สูงสุด

ความสำเร็จ ขึ้นกับวิสัยทัศน์

โจทย์ใหญ่ที่ทำให้สตาร์ตอัพประสบความสำเร็จในการประกวดหรือไม่ ต้องหันมาพิจารณาเรื่อง วิสัยทัศน์ของทีมงาน   อาจารย์ชินาวุธ ได้ยกตัวอย่างที่สะท้อนวิธีมองของสตาร์ทอัพที่มองการจัดการปัญหาได้ดีมาเล่าให้ฟัง

“วงการสตาร์ตอัพต้องเอาปัญหามาก่อน ถ้าใหญ่พอ เช่นช่วงโควิด มีปัญหาการจองคิวร้านอาหาร ก็ต้องสร้างโซลูชันที่มีเทคโนโลยีเหมาะสมมาแก้ปัญหา ต้องดูให้ออกว่าปัญหาและเทคโนโลยีที่เหมาะสมคืออะไร เช่น เอาปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาทำงานแทนคน  และคอยเฟ้นหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาลดต้นทุนให้ต่ำลง หรือหาวิธีลดต้นทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ถูกลงและคนเลียนแบบได้ยาก” 

ต่อยอดจาก TICTA ไป APICTA ให้สตาร์ตอัพของไทยก้าวไปสู่ยูนิคอร์นได้อย่างไร ? 

เป้าหมายของผู้เข้าประกวดในกลุ่มสตาร์ตอัพ ส่วนใหญ่ก็คิดใหญ่ ฝันไกล แต่จะถึงฝั่งฝันได้หรือไม่  อาจารย์ชินาวุธได้ประเมินไว้อย่างน่าพิจารณา ดังนี้ เริ่มจากประเมินตลาดว่าใหญ่พอเป็นยูนิคอร์นได้หรือไม่ สตาร์ตอัพไทยไม่จำเป็นต้องเป็นยูนิคอร์นทุกราย แต่ต้องสร้างอิมแพคกับตลาดในประเทศได้ ในหลายตลาดของไทยอาจไม่ใหญ่พอจะสร้างยูนิคอร์นได้ ไม่เหมือนกับสตาร์ตอัพของอินโดนีเซียที่มีตลาดใหญ่

ส่วนที่สิงคโปร์ตลาดเล็กเกินไปบีบให้เหล่าสตาร์ตอัพต้องออกไปหาตลาดต่างประเทศที่มีขนาดใหญ่

“การที่สตาร์ตอัพเข้าประกวดในโครงการ TICTA และก้าวไปแข่งใน APICTA ก็จะได้แข่งขันบนเวทีระดับใหญ่ขึ้น จะได้พบกับคู่แข่งจากต่างชาติที่มีปัญหาใหญ่ในระดับภูมิภาค ได้ฟังคำแนะนำจากกรรมการที่มาจากนานาชาติมีมุมมองต่างไปทำให้เราได้ย้อนกลับมาดูตัวเอง แล้วปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตลาด ด้วยโซลูชันที่ถูกต้องอยู่เสมอ หมั่นสังเกตและประเมินตัวเองตลอดเวลา”

หลักเกณฑ์ในการตัดสินเพื่อหาผู้ชนะในแต่ละหมวดของคณะกรรมการ นอกจากที่กองประกวดได้กำหนดไว้ ก็ขึ้นกับดุลยพินิจของกรรมการแต่ละท่านจะพิจารณาอย่างไร การที่ได้ฟังการสะท้อนมุมคิดของกรรมการทั้งสองท่านที่ได้แบ่งปันในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ไม่ใช่แค่ผู้เข้าประกวดเท่านั้น หากแต่ผู้ประกอบการทั่วไปก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดและเติบโตได้เป็นอย่างดีไม่ว่าจะมีปัจจัยลบใด ๆ ที่มากระทบก็ตาม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ