TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessล็อกซเล่ย์ บนเส้นทางแห่งกาลเวลา 84 ปี ‘ธุรกิจเทรดดิ้ง’ พลิกยืนหนึ่งอีกครั้งรับการเปลี่ยนแปลง

ล็อกซเล่ย์ บนเส้นทางแห่งกาลเวลา 84 ปี ‘ธุรกิจเทรดดิ้ง’ พลิกยืนหนึ่งอีกครั้งรับการเปลี่ยนแปลง

จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 84 ปีก่อน บริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ฟันฝ่ามรสุมมามากมายหลายระลอก แต่ยังยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงจนถึงวันนี้ เป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจที่ห้ามมองข้ามอย่างเด็ดขาด

บนเส้นทางธุรกิจกว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านพ้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดสายอย่างแน่นอน ระหว่างทางย่อมมีอุปสรรคขวากหนามให้ต้องฟันฝ่า ไม่ว่าจะเป็นภัยสงคราม ความเปลี่ยนแปลงนานา ทั้งการเมือง การเงิน เทคโนโลยี สินค้า ตลอดจนรูปแบบธุรกิจ หรือความสนใจความต้องการของผู้บริโภค ล้วนเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ

แต่ละช่วงจังหวะของความเปลี่ยนแปลง ผู้บริหารแต่ละรุ่น ตั้งแต่ยุคที่ 1 ถึงยุคที่ 4 ในปัจจุบันต่างวางกลยุทธ์รับมือโดยปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนองค์กร รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนสินค้าที่จำหน่ายมาหลากหลายชนิด ขึ้นกับสภาพการณ์ในห้วงเวลานั้น ๆ

หากหัวใจหลักที่ไม่เคยทิ้งเลยตามที่ ‘สุรช ล่ำซำ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ย้ำชัด ๆ คือ ธุรกิจเทรดดิ้ง ซื้อมาขายไป ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ขยายไปจนถึงสินค้าขนาดใหญ่ สำหรับใช้ในหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน บอกได้เลยว่า ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ไม่มีอะไรที่ล็อกซเล่ย์ไม่ได้ขาย

ล็อกซเล่ย์ บนเส้นทางแห่งกาลเวลา 84 ปี ‘ธุรกิจเทรดดิ้ง’พลิกยืนหนึ่งอีกครั้งรับการเปลี่ยนแปลง

มีวิสัยทัศน์ตั้งแต่รุ่นก่อตั้ง

ย้อนหลังไปในปี 2482 ล็อกซเล่ย์ จดทะเบียนตั้งขึ้นด้วยชื่อ ‘บริษัท ล๊อกสเลย์ ไรซ์ กัมปะนี (กรุงเทพฯ) จำกัด’ เพียงชื่อก็บ่งบอกว่า ขายข้าว แน่นอน ซึ่งบริษัทแห่งนี้ค้าข้าว และไม้ส่งออกต่างประเทศ สอดรับกับการเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของไทยในอดีต ที่ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในป่ามีไม้ อุดมสมบูรณ์

เพิ่งจดทะเบียนบริษัทยังไม่ครบ 8 เดือน ก็มีเหตุใหญ่ที่นอกเหนือการควบคุมให้ต้องเผชิญคือสงครามโลกครั้งที่ 2 เศรษฐกิจฝืดเคือง การค้าชะงักงัน และอีก 2 ปีต่อมาทัพญี่ปุ่นบุกเข้าไทย ผู้บริหารยุคที่ 1 ของล็อกซเล่ย์ได้ดำเนินการโอนย้ายเงินตราไปฝากในที่ที่ปลอดภัยไว้ล่วงหน้า ก่อนชะลอการค้ากับต่างประเทศด้วยเล็งเห็นว่า สุ่มเสี่ยงต่อการขาดทุน แต่ใช้วิธีประคับประคองธุรกิจโดยทำการค้าเล็ก ๆ น้อย ๆ พอเลี้ยงบริษัทและพนักงาน

‘ล็อกซเล่ย์’ 8 ทศวรรษ เดินหน้าทรานส์ฟอร์มธุรกิจต่อเนื่อง แตกบริษัทลูก จับมือพันธมิตร รุกตลาดเอกชน

กระทั่งหลังสงครามผ่านพ้น ทั่วโลกเกิดวิกฤติขาดแคลนสินค้าทางการเกษตร เสมือนฟ้าเปิดให้ล๊อกซเลย์ ไรซ์ พลิกฟื้นธุรกิจส่งออก นอกจากข้าวยังมีครั่ง น้ำมันมะพร้าว เนื้อมะพร้าวตากแห้ง และเมล็ดงา เป็นต้น จนบริษัทกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง

นอกจากส่งออกพืชผลทางการเกษตรแล้ว บริษัทยังขยายสู่การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคอื่น ๆ จากประเทศอังกฤษเข้ามาทำตลาดด้วย เช่น ตะเกียงเจ้าพายุ ยา นมข้น น้ำหอม มีด ช้อนส้อม ไล่ไปถึงของใหญ่ ๆ อย่างเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมและการเกษตร

ยุคที่ 2 บริษัทเพิ่มขอบเขตการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่น ๆ และจังหวะที่สำคัญคือ การนำระบบคอมพิวเตอร์ IBM มาใช้ในระบบบัญชีและการเก็บข้อมูลของบริษัท จนเป็นที่มาของการเริ่มทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีเต็มตัว ซึ่งเป็นอีกสายธุรกิจที่เป็นภาพจำของคนรุ่นปัจจุบันที่มองล็อกซเล่ย์เป็นบริษัทไอที และเมื่อไม่ได้ค้าข้าวเป็นหลักเช่นเดิม ชื่อบริษัทจึงเปลี่ยนเป็นบริษัท ล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) จำกัด

ยุคที่ 3 ขยายธุรกิจสู่โครงสร้างสาธารณูปโภค โทรคมนาคม พลังงาน เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ขยายฐานการลงทุนไปต่างประเทศ และเข้าสู่ธุรกิจบริการด้านระบบงานรักษาความปลอดภัยในสนามบิน ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องเข้าประมูล และใช้เงินลงทุนสูง จังหวะนี้บริษัทแปรสภาพเป็นมหาชน ชื่อบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ปรับสมดุลพอร์ต-เสริมแกร่งเทรดดิ้ง

เปลี่ยนผ่านมาถึงยุคที่ 4 ภายใต้ชื่อบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ปรับชื่อบริษัท เปลี่ยนสินค้าที่ทำตลาดมาหลากหลายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตามช่วงจังหวะ ยืนหยัดในแวดวงธุรกิจโดยเพิ่มพูนประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ รายได้และผลกำไรอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ ธุรกิจเทรดดิ้ง

สุรช ในฐานะผู้นำล็อกซเล่ย์ ยุคที่ 4 เล่าว่า เมื่อมองธุรกิจล็อกซเล่ย์ คนมักจะนึกถึงแต่เรื่องไอทีอย่างเดียว เพราะอยู่ในธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี คนทั่วไปจะไม่ค่อยนึกถึงธุรกิจอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคของบริษัท

เป็นเหตุให้ในปี 2553 บริษัทเริ่มคิดเรื่องการปรับสมดุลธุรกิจ (Balance Portfolio) ว่า ควรมีสินค้าอะไร หรือมี New S-Curve ใดเข้ามาเสริมธุรกิจนอกเหนืองานประมูลที่เป็นงานต้องประมูลตลอดเวลา

“ปี 2558-2559 ที่ผมเข้ามาดูเกือบเต็มตัวแล้วนี่ เรามีการทรานสฟอร์เมชันส่วนหนึ่ง แบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ปิดธุรกิจไปค่อนข้างมาก รวมทั้งธุรกิจมือถือที่เคยกำไรเครื่องละ 30,000-40,000 บาท เหลือเครื่องละ 20 บาท แต่ธุรกิจเทรดดิ้ง เป็นธุรกิจที่เราพยายามโฟกัสให้เติบโต”

ทั้งนี้ เครือล็อกซเล่ย์พยายามทำสัดส่วนธุรกิจแต่ละสายให้ใกล้เคียงกัน ประกอบด้วย สายบริการมีสัดส่วน 12% สายธุรกิจพลังงาน 7% สายธุรกิจเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ 20% สายธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ 21% และอื่น ๆ อีก 2% รวมมูลค่า 13,220 ล้านบาท และถ้าแบ่งตามลักษณะธุรกิจ 3 ประเภท จะมีรายได้จากงานประมูลราชการ (ไอที พลังงาน และอื่น ๆ) ประมาณ 50% งานซื้อมาขายไป (เทรดดิ้ง) 30% และงานบริการ (รักษาความปลอดภัย) 20%

ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง คว้าสิทธิ์ตัวแทนจำหน่าย “ลีกุมกี่” ซอสดังจากประเทศจีนมาทำตลาดในไทย

“เทรดดิ้งเป็นธุรกิจที่มองว่าจะเติบโตด้วยตัวเราเองได้ ทำมาร์เก็ตติ้งเอง ขายสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคน ปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบน้อย เราต้องการทำให้รายได้ของบริษัทเสถียรมากที่สุด ส่วนธุรกิจเทรดดิ้งทำให้นิ่งและเติบโตไปได้ จากช่วงปี 2558-2559 มีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาทกลาง ๆ เพิ่มเป็นประมาณ 4,800 ล้านบาทในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้น 4 เท่าภายใน 4 ปี และมีโอกาสจะเพิ่มสัดส่วนรายได้เป็น 50% ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า”

สุรช บอกว่า หากสัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจเทรดดิ้งมีประมาณ 40% จะถือได้ว่า รายได้ของกลุ่มค่อนข้างนิ่งแล้ว แม้รายได้จากกลุ่มงานประมูลจะยังแกว่งอยู่ก็ตาม

ขณะที่งานประมูลรายได้สวิง เพราะงานราชการจะเติบโตด้วยตัวเองไม่ได้เพราะต้องใช้วิธีการประมูล ซึ่งรายได้ไม่แน่นอน จากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ทิศทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลง การจัดการงบประมาณที่อาจมีจังหวะสะดุด ทำให้รายได้ล็อกซเล่ย์ ‘สวิง’ บางครั้งได้งานประมูลมูลค่า 3,000 ล้านบาท หรือ 5,000 ล้านบาท แต่บางปีมีรายได้จากงานประมูลเพียงแค่งบการบำรุงรักษา (MA) เล็ก ๆ น้อย ๆ

อย่างไรก็ตาม งานประมูลราชการยังเป็นธุรกิจที่มีอนาคต อันดับแรกคือ งานด้านพลังงานเป็นตลาดที่โตไปได้อีกนาน เพราะความต้องการใช้พลังงานมีแต่เพิ่มสูงขึ้น โดยธุรกิจพลังงานที่ทำเป็นในส่วนจากโรงไฟฟ้าถึงสถานีย่อย ตามมาด้วยธุรกิจไอที ที่ทำซอฟต์แวร์ให้แก่หน่วยงานราชการ ปัจจุบันไอทีทำส่วนแบ่งรายได้สูงสุดในกลุ่มงานประมูลที่ประมาณ 30%

แม้จะเริ่มธุรกิจจากซื้อมาขายไป แต่ในช่วงจังหวะหนึ่ง ล็อกซเล่ย์ ได้สะสมชื่อเสียงจากงานประมูลราชการมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งในปี 2561 รายได้จากงานประมูลครองสัดส่วนประมาณ 80-90% ของรายได้รวมทั้งกลุ่ม นำมาสู่การหาช่องทางสมดุลของแหล่งรายได้ให้เพิ่มขึ้น มาถึงวันนี้ ความสมดุลกำลังเห็นผล

ธุรกิจเทรดดิ้งทำต่อเนื่องไม่มีหยุด

ธุรกิจเทรดดิ้งของเครือล็อกซเล่ย์ ดำเนินการภายใต้บริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่นอกจากข้าวแล้วต่อมายังเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันพืช ‘กุ๊ก’ นมหนองโพ แป้งโกกิ น้ำปลาตาชั่ง นับเป็น ‘ธุรกิจอาหาร’ ที่ทำมาได้ 45 ปีแล้ว

ต่อมาประมาณ 5 ปีหลังนี้ได้เปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ เปลี่ยนนโยบายนำสินค้าใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา 2-3 อย่าง คือ ซอสลีกุมกี่ แปรงสีฟันจอร์แดน ล่าสุด คือ หม่ำแซ่บ ที่บริษัทเป็นทั้งผู้จัดจำหน่ายสินค้า และลงทุนในโรงงานผลิต

ความพยายามนั้นเห็นผลมากในช่วงโควิด เพราะการเติบโตมีค่อนข้างมาก (ขณะที่ไม่มีงานประมูลราชการ) และยังขยายกิจการออกไปในช่วงก่อนโควิดนิดหน่อย โดยขยายเข้าตลาดโฮเรก้า (Hotel Restaurant Catering) เพราะเห็นว่าเป็นตลาดใหญ่ และบริษัทสามารถมีพันธมิตรที่นำเข้าสินค้าต่าง ๆ ป้อนตลาดนี้ได้ โดยเริ่มทำธุรกิจนี้ในบริษัท ล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้ง จำกัด

ล็อกซเล่ย์ บนเส้นทางแห่งกาลเวลา 84 ปี ‘ธุรกิจเทรดดิ้ง’พลิกยืนหนึ่งอีกครั้งรับการเปลี่ยนแปลง

สุรช ขยายความว่า จากที่ทำร้านอาหาร ซึ่งต้องหาวัตถุดิบป้อนร้านอาหาร นำไปสู่การมองธุรกิจการนำเข้าเนื้อญี่ปุ่น เริ่มจากเป็นตัวแทนจำหน่ายเนื้อคาโกชิม่า (เลี้ยงในจังหวัดคาโกชิม่า) และเพิ่มเนื้ออื่น ๆ มาเรื่อย ๆ ล่าสุดคือ เนื้อฮิตาชิ (เนื้อฮิตาชิวากิวจากวัวพันธุ์ขนดำของญี่ปุ่นที่เลี้ยงมานานกว่า 30 เดือนในจังหวัดอิบารากิ)

หลังจากล็อกซเล่ย์ มหาชน เข้าซื้อกิจการบริษัทจำหน่ายอาหารวัตถุดิบเข้าโรงแรม “สยามสมุทร วาริน” (SSW) โดยถือหุ้นกว่า 60% (ประมาณปี 2559 – 2560) และได้นำสิทธิสินค้าเนื้อที่ถืออยู่เข้าไปไว้ในบริษัทแห่งนี้ ทำธุรกิจขายส่งวัตถุดิบอาหารสดและแช่แข็งเข้าร้านอาหาร-โรงแรม มีสินค้าหลักคือ ปลาแซลมอน ไข่ปลาสีสัน

สุรช ให้เหตุผลของการปรับเปลี่ยนโอนย้ายธุรกิจว่า เพราะความแตกต่างระหว่างธุรกิจแห้ง กับชิลล์ ทำให้อยู่ด้วยกันไม่ได้ ธุรกิจแห้ง เช่น น้ำมันพืชกุ๊ก นมยูเอชทีหนองโพ ธุรกิจชิลล์ เช่น ผักสด ผลไม้ เนื้อสัตว์ ที่ต้องขนส่งด้วยรถห้องเย็นจึงซื้อบริษัทผู้เชี่ยวชาญเข้ามา จะดีกว่าและคุ้มค่ากว่าลงทุนเอง 

“ธุรกิจของ SSW ทำรายได้ประมาณปีละ 300 – 400 ล้านบาท ช่วงโควิดตกลงไปหน่อย แต่ตอนนี้กำลังกลับขึ้นมา”

ปีที่ผ่านมา สายธุรกิจเทรดดิ้งโดยรวมทำรายได้ประมาณ 4,831 ล้านบาท เท่ากับ 38% ของรายได้ทั้งเครือล็อกซเล่ย์ ในจำนวนนี้แบ่งเป็นรายได้จากล็อกซเล่ย์ เทรดดิ้งกว่า 65% SSW กว่า 3% แอล ฟู้ด เกือบ 1.5% และอีกเกือบ 30% เป็นอื่น ๆ

จับธุรกิจร้านอาหารหนึ่งในเทรดดิ้ง

และเมื่อเร็วๆ นี้ เครือล็อกซเล่ย์ได้เปิดร้านปิ้งย่างระดับพรีเมี่ยม ‘วาคิว ยากินิคุ’ (WaQ Yakiniku) สาขาใหม่ ที่เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสาขาที่มี ร้านตกแต่งสวยงาม บรรยากาศดี รองรับสายกินนิยมปิ้งย่างไฮเอ็นด์

สุรช บอกว่า ร้านปิ้งย่างนี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท แอล ฟู้ดโซลูชันส์ จำกัด ในสายธุรกิจเทรดดิ้งของเครือล็อกซเล่ย์ มีนโยบายต้องให้บริการที่ดีที่สุด และคุณภาพอาหารต้องดี ขายคุณภาพอาหาร คุ้มค่าที่ผู้บริโภคจะกลับมา ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็น ‘รีเทิร์น’

ก่อนจะมาเป็นร้านปิ้งย่างระดับไฮเอ็นด์ เมื่อปี 2553 ล็อกซเล่ย์มีนโยบายเข้าไปทำธุรกิจอาหารจริงจัง โดยเปิดร้านอาหาร Ai Japanese Village (อัย เจแปนิส วิลเลจ) 5 แห่ง แต่ช่วงเวลานั้นรสนิยมคนไทยอาจจะไม่ค่อยชอบร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีอาหารอย่างเดียว ต้องการความหลากหลาย

“ตอนนั้น การ Execute ของเราอาจจะทำไม่ค่อยดีเท่าไร และพยายามยึดความเป็นญี่ปุ่นมาก ซึ่งอาจเป็นจุดหนึ่งที่เป็นปัญหา ประมาณปี 2558 เลยปิดเกือบหมด เก็บร้านปิ้งย่างไว้อย่างเดียว และเหลือสาขาเดียวด้วย ที่สยาม พารากอน เพราะธุรกิจปิ้งย่างเป็นธุรกิจที่พอไปได้ ตลาดที่เป็น segment ตรงนี้ เป็นตลาดที่เราเล่นได้ ระดับ medium to high”

เหตุผลที่ยืนหยัดเก็บร้านปิ้งย่างไว้ คือ จำกัดเมนูได้ ใช้เนื้อหลัก ๆ 4-5 อย่าง ซึ่งเนื้อแต่ละอย่างนำไปทำได้หลากหลาย ทำให้การควบคุมวัตถุดิบทำได้ง่ายขึ้น ต่างจากร้านอาหารแบบเดิมที่เมนูหลากหลาย แถมวัตถุดิบยังมากมาย ควบคุมยาก โดยเฉพาะผัก ซึ่งเป็นของเน่าเสียง่าย

อีกนโยบายหนึ่งคือ ไม่เลือกห้างใหญ่ที่ต้องจ่ายค่าเช่า และส่วนแบ่งรายได้ (จีพี) ค่อนข้างสูง ร้านปิ้งย่างวากิว ปัจจุบันจึงมี 4 สาขา คือ คลองเตย พระราม 2 เอสพลานาด และเอเชียทีค

กาลเวลาผันผ่านตำนานไม่สิ้นสุด

บนบันทึกปีที่ 84 นี้ สุรช สรุปยุทธศาสตร์หลักของการทำธุรกิจเครือล็อกซเล่ย์ว่า เปลี่ยนไปกับกาลเวลา จากขายเครื่องพิมพ์ดีด มาขายคอมพิวเตอร์ พอคอมพิวเตอร์ไม่ทำกำไรแล้ว ก็ปรับมาขายเป็นโซลูชั่นส์ ถือเป็นวิวัฒนาการที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเวลาที่เปลี่ยนผ่านไป และยังคงเปลี่ยนได้ต่อเนื่องตามวิวัฒนาการของเวลา

หากติดตามอย่างต่อเนื่องจะพบว่าแต่ละย่างก้าวของบริษัทอายุเกิน 8 ทศวรรษ ผ่านการเปลี่ยนแปลงมามากมาย แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรแต่ละยุคได้นำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจ การเงิน สังคม วัฒนธรรม และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

สินค้าใดไม่สร้างรายได้ ไม่ก่อให้เกิดกำไร ก็ตัดออก ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต แต่มุ่งหาสิ่งใหม่ทดแทนอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งชื่อองค์กรก็ปรับให้สอดคล้องแต่ละช่วงเวลา เมื่อไม่ได้ค้าข้าวเป็นหลักเช่นเดิมจึงเปลี่ยนชื่อเป็นล๊อกซเลย์ ไรซ์ เปลี่ยนเป็นล็อกซเล่ย์ (กรุงเทพฯ) ก่อนถึงล็อกซเล่ย์ มหาชน ในปัจจุบัน

ทุกจังหวะก้าว ทุกขวบปี ล้วนมีเรื่องราวที่ควรค่าแก่การเล่าขาน เป็นการสร้างตำนานความสำเร็จให้ผู้คนได้ศึกษา และบันทึกเป็นบทเรียนธุรกิจเล่มใหญ่ที่ไม่มีวันจบ 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ