TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyพุทธิพงษ์ แจง ครม.ขยายเวลาบังคับใช้ PDPA ให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อม

พุทธิพงษ์ แจง ครม.ขยายเวลาบังคับใช้ PDPA ให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อม

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยถึงมติ ครม.ที่อนุมัติในหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานและกิจการที่ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 (PDPA) ว่า สาระสำคัญคือการขยายเวลาการบังคับใช้บทบัญญัติบางมาตราของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลฯ ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ค.63 นี้ โดยจะยังไม่นำมาบังคับใช้ตั้งแต่ 27 พ.ค.63-31 พ.ค.64

-สจล. เปิดตัวรถตู้ตรวจเชื้อโควิด-19 คาดตรวจได้หลักร้อยคนต่อวัน
-infoAid ชวนช่วยเหลือ รพ.ที่เดือดร้อนและประชากรกลุ่มเปราะบาง

ทำให้ผู้ที่มีข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้ที่ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ข้อมูลพนักงาน คู่ค้า หรือผู้ร่วมดำเนินงาน ทั้งในภาครัฐและเอกชน มีเวลาเตรียมความพร้อมในการจัดทำหรือปรับปรุงกระบวนการทำงาน และระบบงานของหน่วยงาน เพื่อรองรับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่กำหนดไว้ในกฎหมายให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ซึ่งต้องใช้งบประมาณและบุคลากรจำนวนมากเข้ามาดำเนินการ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าตั้งแต่ต้นปีทั่วโลกและประเทศไทยต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกองค์กรได้รับผลกระทบและยังไม่พร้อม โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนที่มีปัญหาเรื่องรายได้และการลงทุน

“รัฐบาลและท่านนายกฯ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับทราบถึงข้อจำกัดนี้ และได้รับฟังข้อเรียกร้องจากกลุ่มสมาคมและภาคธุรกิจต่าง ๆ ก็รู้สึกเห็นใจและเข้าใจ จึงได้สั่งการให้หน่วยที่เกี่ยวข้องไปหาแนวทางดูแล เพื่อให้สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ นั่นก็คือ การช่วยเหลือ ลดภาระ และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทุกกลุ่มให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีมาตรการสำหรับภาคธุรกิจหลายอย่าง เช่น มาตรการด้านประกันสังคม กองทุนและแรงงาน มาตรการภาษี รวมถึงวันนี้ที่ ครม.ได้อนุมัติอีกหนึ่งมาตรการคือ การขยายเวลาบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ บางมาตรา ออกไปก่อนด้วย”

รมว.ดีอีเอส กล่าวว่า บทบัญญัติที่ยังไม่บังคับใช้ในวันที่ 27 พ.ค.63 ได้แก่ หมวด 2 การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 3 สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หมวด 5 การร้องเรียน หมวด 6 ความรับผิดทางแพ่ง หมวด 7 บทกำหนดโทษ และมาตรา 95 ของบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นเรื่องของการเก็บรวบรวมและใช้ข้อมูลเดิม

โดยหากบังคับใช้จริง หน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภทและทุกขนาด และประชาชนทั่วไปที่มีการเก็บรวบรวม ใช้ และเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ปรับปรุงกระบวนงานและระบบสารสนเทศ เพื่อวิเคราะห์ จำแนก ระบุที่มาของข้อมูล จัดเก็บรวบรวม ใช้ เปิดเผย หรือลบข้อมูลส่วนบุคคลเมื่อพ้นกำหนด จ้างบุคคลหรือนิติบุคคลมาดูแลตรวจสอบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และปรับปรุงระบบเพื่อคุ้มครองการส่งข้อมูลส่วนบุคคลไปต่างประเทศ เป็นต้น

หากใครฝ่าฝืนทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ จะมีโทษทั้งทางอาญาและปกครอง เช่น จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับสูงสุดถึง 5,000,000 บาท ส่วนหมวดอื่น ๆ ได้แก่ มาตรา 1-7, หมวด 1, หมวด 4 และมาตรา 91-94 นั้นมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ 28 พ.ค.62 โดยหลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะเร่งออกกฎหมายลำดับรองเพื่อกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนต่อไป

“ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนรู้สึกกังวลต่อกฎหมายฉบับนี้ เพราะยืนยันว่ากฎหมายนี้คือ หลักเกณฑ์กลางเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลไม่ให้ถูกละเมิด ตามหลักสากล จึงไม่ใช่การไปล้วงข้อมูลของบุคคลใด ตามที่มีการลือและแชร์กันในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด และจากนี้ยังมีเวลาเตรียมพร้อมก่อนกฎหมายบางมาตราจะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีข้างหน้า” นายพุทธิพงษ์ กล่าว

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ