TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessวิสัยทัศน์ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” เดินเกมธุรกิจอนาคต ด้วยหมาก “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน”

วิสัยทัศน์ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” เดินเกมธุรกิจอนาคต ด้วยหมาก “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน”

หากมองโดยผิวเผินการบุกเข้ามาทำ “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” ของเจ้าของคาราบาวแดง ก็เป็นเพียงการต่อยอดธุรกิจเดิมเพิ่มเติมด้วยธุรกิจใหม่ ที่ไม่ได้มีความแตกต่างอย่างเด่นชัด แต่วิสัยทัศน์ของ “เสถียร เศรษฐสิทธิ์” ได้วางกลยุทธ์ให้ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ในอนาคตเป็นมากกว่า “โชวห่วย” เขาตั้งใจเชื่อมชุมชนทั่วประเทศ ด้วย “ร้านถูกดี มีมาตรฐาน” สร้างฐานข้อมูลมหึมา (Big Data) ระดับหมู่บ้าน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ในอนาคต

เสถียร เศรษฐสิทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท ทีดี ตะวันแดง จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าปลีก “ถูกดี มีมาตรฐาน” กล่าวว่า ร้านถูกดี มีมาตรฐาน คือ เครือข่ายธุรกิจค้าปลีกที่จะเจาะลึกเข้าไปในชุมชน ร้านถูกดี มีมาตรฐานเริ่มจากโชวห่วย แต่จากร้านโชวห่วย จะไปสู่ Point of Sale และ Point of Everything ในที่สุด

เขาวาง ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ไปเกินกว่าแค่ “ร้านค้าปลีก” หรือ “ร้านโชวห่วย” แต่จะเป็น “จุดเชื่อม”​ ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ที่ซื้อขายอะไรก็ได้ ไม่ใช่แค่สินค้าโชวห่วย ลูกค้าสามารถมาสั่งจองสินค้าที่ไม่มีในร้านได้ แต่มีขายในตัวจังหวัด หรือขยายสู่การบริการ ที่มีแล้ว คือ ตู้เอทีเอ็ม เครื่องเติมเงิน เครื่องชั่งน้ำหนัก เป็นต้น อาจจะเป็นจุดฝากส่งสินค้าของอีคอมเมิร์ซได้

“ในอนาคตเรามองไปไกลถึงการเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งของชมุชน (Point of Everything) ไม่ใช่แค่ร้านโชวห่วย หรือจุดรวมของสินค้าและบริการ แต่จะเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน ไม่ได้แค่ขายสินค้า แต่จะขายบริการ และในอนาคตจะมีกิจกรรมมากมายเกิดขึ้นที่ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ที่จะทำให้ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เป็นศูนย์กลางของชุมชน และมีส่วนในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ให้ชุมชนมีการเติบโตที่เข้มแข็ง” เสถียร กล่าว

และจะรองรับธุรกิจในอนาคต บริษัทมีเทคโนโลยีและทีมงานคนรุ่นใหม่จะดูแลใกล้ชิดและจะจับเทรนด์ของการเปลี่ยนแปลง จะพัฒนาร้านถูกดี มีมาตรฐานให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์

ด้วยแผนที่จะมี 50,000 สาขาทั่วประเทศในปี 2566 ร้านถูกดี มีมาตรฐานจะลงถึงระดับหมู่บ้าน (ประเทศไทยมี ทั้งหมดกว่า 70,000 หมู่บ้าน) ปัจจุบันมีคนมาใช้บริการที่ร้านถูกดีประมาณ 160-170 คนต่อสาขา ด้วยจำนวนคนที่มาใช้บริการและด้วยจำนวนสาขา จะทำให้ร้านถูก มีมาตรฐานได้ข้อมูลที่มากและลึก (Big Data) และเป็นข้อมูลที่กระจายลงไประดับหมู่บ้าน ซึ่งข้อมูลนี้เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับซัพพลายเออร์ และเห็นแนวโน้มของผู้บริโภคทั้งประเทศ ด้วยข้อมูลเหล่านี้จะทำให้มีความแม่นยำในการทำธุรกิจมากขึ้น และจะเอื้อให้สามารถทำธุรกิจอะไรก็ได้ในอนาคต

“ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีการแข่งขันที่รุนแรงขนาดนี้ เรามาใหม่ เราต้องมองไปในอนาคต แต่โชคดีที่เรามาใหม่ เราไม่มีของเก่าพะรุงพะรัง เราก็มุ่งไปข้างหน้า” เสถียร กล่าว

จาก “คาราบาวแดง” และ “ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต” สู่ “ถูกดี มีมาตรฐาน”

เสถียร ทำธุรกิจเครื่องดื่มคาราบาวแดงมาเกือบ 20 ปี ตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีนี้เขาทำธุรกิจอยู่กับร้านโชวห่วย ทั่วประเทศไทยที่มีอยู่มากกว่า 400,000 ร้านค้า ในจำนวนนั้นมีมากกว่า 200,000 ร้านค้าที่เขาและทีมงานเข้าไปเยี่ยมเยียนเป็นประจำ ทำให้รู้จักและเข้าใจธุรกิจร้านโชวห่วย

สิ่งที่พบเห็นหลายปี บอกกับเขาว่า ธุรกิจโชวห่วยที่อยู่ในประเทศไทยน่าจะไม่มีอนาคต มีร้านที่ล้มหายตายจากไป ร้านใหม่ที่เกิดขึ้นมาก็ไม่แข็งแรง หากปล่อยไปแบบนี้ก็คงจะตายไป เพราะการรุกคืบเข้ามาของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ซึ่งมีความเหนือกว่ามากมาย 

ขณะเดียวกัน เมื่อประมาณ​ 6-7 ปีที่แล้ว เขาได้มีโอกาสทำร้านค้าปลีกสมัยใหม่ คือ ร้าน CJ Supermarket ซึ่งพอทำมา 6-7 ปี ทำให้เขาเข้าใจว่า ร้านค้าปลีกสมัยใหม่เป็นอย่างไร จึงเกิดความคิดว่า หากสามารถนำองค์ความรู้ที่มี และนำจุดแข็งของร้านค้าปลีกสมัยใหม่เข้ามาช่วยร้านโชวห่วย ก็น่าจะทำให้ร้านโชวห่วยพลิกฟื้นขึ้นมาได้ 

“จากการที่ทำร้าน CJ Supermarket ทำให้รู้ว่า หากจะเข้าไปเปิดร้านในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในชนบท จะอยู่ยาก เพราะค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจะไม่คุ้ม แต่หากนำองค์ความรู้และหลายสิ่งหลายอย่างที่มีเข้าไปช่วยร้านโชวห่วย เขาน่าจะสามารถเปลี่ยนยอดขายเฉลี่ยวันละ 2,000-5,000 บาท เป็นวันละหมื่นกว่าบาท เขาน่าจะอยู่ได้ และอยู่ได้อย่างแข็งแรงในอนาคต”

เขาพบว่า ปัญหาที่ร้านโชวห่วยมี คือ โชวห่วยไม่สามารถแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ได้ เพราะสินค้ามีน้อย เมื่อสินค้าน้อยก็ขายได้น้อย เปิดมาแบบไหนก็ทำแบบนั้นจนเคยชิน ไม่มีองค์ความรู้ใหม่ที่จะมาปรับตัวเข้ากับธุรกิจสมัยใหม่ และการบริหารจัดการร้านในโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการข้อมูลเพื่อจะใช้ในการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ ร้านโชวห่วยก็ไม่มีเทคโนโลยีมาช่วย ขณะเดียวกัน ร้านแต่ละร้านก็อยู่กันอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีแบรนด์ ไม่มีโปรโมชัน ซึ่งจะสู้กับร้านค้าปลีกสมันใหม่ไม่ได้ 

“จุดสำคัญ คือ ถ้าเขาแข่งขันไม่ได้ เราต้องทำให้เขาแข่งขันได้” เสถียร กล่าว

จากการวิเคราะห์ เขาพบว่าจุดที่ร้านโชวห่วยแข่งขันกับร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไม่ได้ คือ ทุนไม่มี สินค้ามีน้อย และไม่มีองค์ความรู้ (ในการจัดการร้าน เรียงสินค้า) จึงนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยประมวลข้อมูลว่าสินค้าอะไรขายดีขายไม่ดี ข้อมูลด้านการขายและบัญชี ทำให้รู้ว่าแต่ละเดือนมีกำไรเท่าไร รวมถึงการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย และพยายามทำให้เกิดแบรนด์และคนรู้จักทั่วประเทศ

“แทนที่ร้านโชวห่วยจะต้องปิดร้านเพื่อไปซื้อสินค้ามาเติมในร้าน เราจะจัดส่งสินค้าให้เขาเป็นรอบ ๆ เรามีข้อมูลและรู้ว่าเขาต้องการสินค้าอะไร”  เสถียร กล่าว

เขาบอกว่า ตอนแรกที่คิด คือ ร้านโชวห่วยจะอยู่ได้ ต้องมียอดขายเดือนละหมื่นกว่าบาท ดังนั้น จึงทดลองเปิดร้านของตัวเองก่อนที่นครปฐม เปิดได้ประมาณ 1-2 เดือนก็มียอดขายวันละ 10,000 กว่าบาท เลยไปทดลองเปิดอีกหลายที่ในพื้นที่ต่างกัน เพื่อดูว่าด้วยแนวคิดและรูปแบบการทำร้านแบบนี้จะสามารถทำยอดขายได้เดือนละหมื่นกว่าบาทไหม จึงไปเปิดที่ขอนแก่น อุดรฯ และร้อยเอ็ด เป็นต้น ปรากฎว่าเปิดได้ 1-2 เดือนก็สามารถทำยอดขายได้วันละหมื่นกว่าบาท แต่ก็ยังขยายไปพื้นที่อื่นต่ออีก คือ ภาคเหนือ ที่พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และย้อนกลับมาภาคตะวันออกและภาคกลาง รวมทั้งสิ้นเปิดไปประมาณเกือบ 100 สาขา เพื่อทดลองว่าแนวคิดนี้เป็นไปได้ ได้รับการตอบรับจากลูกค้าที่อยู่ในชุมชนนั้น ๆ ทำให้มีความมั่นใจว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น

สิ่งที่เรียนรู้จากการที่ลงไปทำร้าน “ถูกดี มีมาตรฐาน” เอง คือ พฤติกรรมผู้บริโภคจะซื้อของใกล้บ้าน ถ้ามีของที่เขาต้องการและอยู่ใกล้บ้านเขา เขาไม่อยากเดินทางไกล เพราะว่าเสียเวลาและไม่มีความแตกต่าง พอร้านใกล้บ้านมีของที่เขาต้องการ เขาจะเกิดความเคยชิน จะไม่ไปที่อื่น ทำให้เรียนรู้ว่าหากชุมชนมีประมาณ 300-500 หลังคาเรือน ร้านถูกดี 1 ร้านจะอยู่ได้ มีกำลังซื้อพอเพียง จะทำให้สามารถมียอดขายอย่างต่ำวันละ​ 10,000 กว่าบาท 

สิ่งที่ร้านถูกดี เข้าไปช่วยร้านโชวห่วยในชุมชน สิ่งแรก คือ ต้องเข้าไปคุยกับเจ้าของร้านให้เข้าใจว่าถ้าจะมาร่วมกับร้านถูกดี ต้องทำอะไรร่วมกัน สิ่งแรก คือ สินค้าดี ราคาถูก จากประสบการณ์การทำธุรกิจ CJ Supermarket มาก่อนทำให้รู้ว่าสินค้าอะไรคือสินค้าที่ดีที่สามารถหาแหล่งที่มีราคาถูกได้ จากการที่มีอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ 

อย่างไรก็ตาม การทำธุรกิจร่วมกัน จะต้องสร้างมาตรฐานของการทำร้านถูกดี ให้มีลักษณะเหมือนกันทั่วประเทศ เพราะมาตรฐาน คือ แบรนด์ เป็นที่จดจำของคนว่าเข้ามาในร้านถูกดี มีมาตรฐาน จะเห็นอะไร ตั้งแต่ความสะอาด ความสว่าง ความสะดวกสบาย การจัดเรียงสินค้าให้น่าซื้อน่าหา ตลอดจนการใช้เทคโนโลยี 

“ถ้าจะพูดให้ชัด นี่คือ โลว์คอส คอนวีเนียนสโตร์ เป็นจุดที่หากร้านลักษณะนี้มียอดขายได้หมื่นกว่าบาทต่อวัน จะมีกำไรประมาณเท่าไร” เสถียร กล่าว

กำไรของร้านสะดวกซื้อไม่ได้มาก หากยังไม่หักค่าใช้จ่ายกำไรอยู่ที่ประมาณ 12% บวกลบ หากขายได้วันละ 15,000 บาท เดือนละ 450,000 บาท หากเอา 12% มาคูณก็จะได้กำไรประมาณ 50,000 กว่าบาท ซึ่งจะต้องเสีย VAT ประมาณ 3,000-4,000 บาท บวกหักค่าน้ำค่าไฟ ทำให้สทุธิมีรายได้อยู่ที่ประมาณ​ 40,000 กว่าบาทขั้นต่ำ เขาจะอยู่ได้ ซึ่งเขาอยู่บ้านของเขาอยู่แล้ว แล้วเขายังมีรายได้ 40,000 กว่าบาทต่อเดือน เขาจะห่วงแหนธุรกิจเขา 

“ร้านที่ยอดขายดี ๆ บางร้านได้ 60,000- 70,000 บาท หรือ 100,000 บาทต่อเดือน” เสถียร กล่าว

นโยบายของบริษัท ไม่เปิดแข่งกับผู้ประกอบการ แต่อยากจะเข้าไปช่วยโชวห่วย เพราะฉะนั้น คนที่จะมาเข้าร่วมกับร้านถูกดี จะต้องเป็นคนที่มีร้านโชวห่วยอยู่แล้ว สิ่งที่เจ้าของร้านจะต้องทำ คือ ปรับปรุงร้านของเขาให้มีมาตรฐาน คือ พื้น ฝา และไฟ เขาลงทุนตามการออกแบบของถูกดี 

ส่วนอย่างอื่น “ถูกดี” นำเข้าไปให้ ตั้งแต่ชั้นวางสินค้า ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง สินค้า เครื่อง POS และกล้องวงจรปิด สิ่งที่ถูกดีลงทุนให้เฉลี่ยต่อ 1 ร้านค้าตกประมาณ 1 ล้านบาท ขนาดร้านค้าเฉลี่ย 50 ตารางเมตรใหญ่สุดประมาณ​ 100 ตารางเมตร 

“ถ้าเขาจะมาร่วมกับเรา เขาจะต้องมีเงินมัดจำปฏิบัติตามสัญญา 200,000 บาท เมื่อผ่านไป 3 ปี เขาไม่อยากทำแล้ว เงิน 200,000 บาทจะคืนให้ ซึ่งหากร้านไหนไม่มีเงินก้อนก็สามารถกู้กับธนาคารกสิกรไทยได้”

ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ทางบริษัทได้รับจากธนาคารกสิกรไทย ที่จะให้สินเชื่อ ให้ดอกเบี้ยอัตราพิเศษ และอนุมัติรวดเร็วภายใน 2 สัปดาห์ เป็นความร่วมมือที่ช่วยรายย่อยด้วยกัน 

“เราเข้าไปเจรจากับธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลว่าหลังทำมาเอง 100 ร้านค้าบริหารเอง และไปชวนร้านโชวห่วยกว่าอีก 30 ร้านค้าการจายอยู่ 30 จังหวัดทั่วประเทศมาทำร่วมกัน ปรากฏว่าทำได้ดีกว่า เพราะเขามีความเป็นเจ้าของ”

ทำเล คือ สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำร้านโชวห่วย ดังนั้น ทำเล คือ เงื่อนไขหนึ่งของการพิจารณาว่าจะสามารถเข้าร่วมโครงการกับร้านถูกดีได้หรือไม่ ต้องเป็นทำเลที่สามารถสร้างยอดขายได้วันละ 15,000 บาท

พลังความเป็นเจ้าของ คือ ปัจจัยสำคัญของความสำเร็จ …

ทั้งนี้ “พลังของความเป็นเจ้าของ” นั้นทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่ประมาณการไว้ ซึ่งร้านถูกดีที่ทำเอง 100 สาขา เสถียรก็เปิดโอกาสให้พนักงานซื้อต่อกิจการไปเป็นของตนเองได้ ในจำนวนมีประมาณ​ 30 ร้านที่ส่งต่อความเป็นเจ้าของร้านให้กับพนักงาน ซึ่งยอดขายเดือนถัดมาขายดีขึ้น 30-40% 

“ความเป็นคนพื้นที่” ความเป็นชุมชน ความเป็นท้องถิ่น” จะรู้จักลูกค้าและความต้องการของลูกค้าดี และช่วยเสริมให้ร้านถูกดีเพิ่มสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนนั้น ๆ ได้อย่างดี แต่ทุกร้านในทุกชุมชนจะมีมาตรฐานร่วมกัน ร้านจะเปิด 7:00-20:00 น. แต่มีความยืดหยุ่นที่มีมาตรฐาน คือ บางร้านอาจจะเปิด 8:00 น. หรือ 8:30 น. ได้หากติดภารกิจชีวิตแต่จะต้องเปิดปิดเป็นเวลาสม่ำเสมอ

ยอมขาดทุน 2,000 กว่าล้านบาท เพื่อ “ธุรกิจกินแบ่ง”

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ขอแบ่งส่วนแบ่งกำไร 15% ให้ร้านค้า 85% ของกำไร ด้วยจำนวนสาขาที่มากขึ้น จะทำให้บริษัทอยู่ได้และมีกำไร แต่ตอนนี้บริษัทยังขาดทุนอยู่ การทำตรงนี้เพราะต้องการช่วยเหลือชาวบ้าน 

การขยายร้านถูกดี มีมาตรฐานด้วยโมเดลนี้ ไม่ใช่แฟรนไชส์ แต่เป็นพันธมิตรธุรกิจกัน

ร้านและทะเบียนพาณิชย์เป็นของเจ้าของร้านโชวห่วย ความเป็นเจ้าร้านของอยู่ครบถ้วน ถูกดีลงทุนให้ทั้งหมด แต่ชื่อร้านจะต้องเปลี่ยนชื่อร้านเริ่มด้วย ร้านถูกดี มีมาตรฐาน ตามด้วยชื่อร้านเดิม

“20 กว่าปีก่อน คนหนุ่มสาวจะเข้ามาที่กรุงเทพฯ แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาก การเข้ามาที่กรุงเทพฯ อาจจะไม่ใช่คำตอบของชีวิต การที่เขาได้อยู่ในท้องถิ่นและมีงานทำ มีรายได้ มีธุรกิจ เขาภาคภูมิใจที่สุด บางรายเปลี่ยนชื่อร้านเป็นชื่อลูก เพราะเขาอยากจะส่งต่อธุรกิจให้ลูก” 

ปัจจุบันมีร้านถูกดี ที่เปิดบริการแล้วประมาณ​ 1,000 แห่ง กระจายอยู่ใน 58 จังหวัด และกำลังรอเปิดอีก 1,000 แห่ง คาดว่าจนถึงสิ้นปีจะสามารถเปิดได้ประมาณ 8,000 ร้านค้า และปี 2565 จะเปิดได้ประมาณ 30,000 ร้านค้า และขยับเป็น 50,000 สาขาในปี 2566

ปัจจุบันเปิดสำนักงานท้องถิ่นกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ภายในไตรมาส 3 จะมีประมาณ​ 30 แห่ง และภายในสิ้นปีจะมีประมาณ 62 แห่งเพื่อดูแลร้านค้าทั่วประเทศ 

ความใหญ่โตของมันเป็นเรื่องที่น่ากลัว และจะยิ่งน่ากลัวมากยิ่งขึ้น ถ้าหากการเติบโตนี้โตไปพร้อมกับความคิดที่จะกินรวบ คือ เอากำไรสูงสุด

“ดังนั้น กินแบ่ง คือ สิ่งที่เราปลูกฝังให้กับพนักงานและผู้บริหารของเราทั้งหมด อย่างการแบ่งรายได้จากกำไร 15:85 มีคนถามว่าบริษัทได้ 15% แล้วจะอยู่ได้หรือ ผมเลยบอกว่า หากเรามีความคิดที่จะกินแบ่ง เราต้องแบ่งให้กับเจ้าของเดิม หากเราอยากได้เพิ่ม ให้ไปหากับธุรกิจในอนาคต เชื่อว่าในอนาคตมีธุรกิจอีกมากที่จะให้เราสามารถหารายได้และกำไร” 

ร้านถูกดี มีมาตรฐาน เปิดมาปีเศษ มีคนหลายพันคน มีผู้บริหารที่เป็นคนหนุ่มสาวราว 200-300 คน ซึ่งต้องปลูกฝังให้คิดถึงชุมชน คิดถึงชาวบ้าน เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องทำให้ชุมชนเดิมล่มสลาย แต่ใช้เทคโนโลยีทำให้ชุมชนเข้มแข็ง สิ่งที่ชุมชนไม่มี คือ ทุนและโอกาส

“หากไม่คิดถึงชุมชน ไม่คิดถึงชาวบ้าน ความใหญ่โตของเราจะไปกดทับเขาอย่างแน่นอน”

งบลงทุนต่อร้าน 1 ล้านบาท ตอนนี้ลงทุนไปแล้ว 1,000 ล้านบาท และจะลงทุนทำคลังสินค้า 8 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2564 นี้ เพื่อรองรับการจัดส่งสินค้าให้กับร้านค้าถูกดี 10,000 สาขา และปี 2565 วางแผนจะขยายคลังสินค้ามากขึ้น 

“8 คลังในปีนี้ เราใช้วิธีเช่า เพื่อเรียนรู้ว่า คลังสินค้าที่เหมาะสมกับธุรกิจของเราควรจะใหญ่ขนาดไหน และคลังสินค้าแต่ละแห่งสามารถรองรับร้านค้าได้เท่าไร เราคาดการณ์ไว้ว่า 1 คลังสินค้าจะต้องรองรับให้ได้ประมาณ 2,000-2,500 ร้านค้า”

ปี 2565 บริษัทจะลงทุนสร้างคลังสินค้าของตัวเองทั้งหมด 15 แห่ง โดยใช้งบลงทุนประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อคลังสินค้า ยอดลงทุนทั้งหมดประมาณ 45,000 ล้านบาท 

เสถียร กล่าวว่า จะต้องมีสาขา 20,000 สาขาขึ้นไปถึงจะเริ่มมีกำไร ตอนนี้เตรียมทุนไว้ขาดทุน ปีนี้คิดว่าจะขาดทุนเกิน 1,500 ล้านบาท

“คลังสินค้าของร้านถูกดี มีมาตรฐาน แยกจากของ CJ Supermarket เพราะทิศทางธุรกิจของ CJ Supermarket จะขยายสู่การเป็น Community Mall ระดับอำเภอกระจายอยู่ทั่วประเทศ เปลี่ยนเป็น ​CJ Mall ซึ่งเป็นธุรกิจของเราเองทั้งหมด ไม่มีแฟรนไชส์ ปีหน้า​​ซีเจมีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ” เสถียรกล่าว

โควิดส่งผลให้การหาพันธมิตรยากลำบากขึ้น แต่โควิดไม่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อร้านค้าที่ร่วมกับถูกดี มีมาตรฐาน เพราะโควิดทำให้คนไม่อยากไปไกล ร้านที่เปิดอยู่แล้วคนจะเข้ามาซื้อสินค้าได้ง่าย และร้านมีสินค้าที่ตอบสนองความต้องการเขาได้ครบถ้วน ประกอบการโควิดทำให้รัฐมีการใช้จ่ายช่วยเหลือประชาชนผ่านบัตรสวัสดิการต่าง ๆ ซึ่งร้านที่เข้ามาร่วมกับถูกดี มีมาตรฐานส่วนใหญ่เป็นร้านโชวห่วยที่ร่วมโครงการก็สามารถทำให้ประชาชนมาใช้จ่ายที่ร้านได้สะดวก

“ภาพรวม กำลังซื้อของคนลดลงไปเยอะมาก โควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน ทุกคนต้องปรับตัวว่าจะอยู่กับมันอย่างไร โควิดจะอยู่กับเราไปอย่างน้อยอีก 1-2 ปี เราเตรียมแผนรับมือที่จะอยู่กับโควิดที่จะอยู่กับเราอย่างเร็ว 1-2 ปี” เสถียร กล่าว

แบรนด์ ร้านถูกดี มีมาตรฐาน คือ เป็นร้านค้าของชุมชน โดยคนในชุมชนเป็นเจ้าของ เพื่อประโยชน์ของชุมชน หากร้านค้าถูกดี มีมาตรฐานมีความแข็งแกร่งขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนก็ดีขึ้น เบื้องต้น คือ มีสินค้าดี ราคาถูก เข้ามาขายในชุมชน ทำให้รากฐานของธุรกิจในชุมชนดีขึ้น เพราะนอกจากร้านค้าแล้ว ยังมีซัพพลายเออร์ท้องถิ่นที่จะได้รับประโยชน์จากความเข้มแข็งของร้านถูกดี 

“ตั้งแต่คิดที่จะทำร้านถูกดี มีมาตรฐาน สิ่งที่ท้าทายก็คือว่า การจะทำธุรกิจอย่างนี้ ผมเชื่อว่าผมไม่ได้เป็นคนคิดคนแรก มีคนคิดแบบนี้ แต่ว่าแน่ ๆ เราจะต้องขาดทุน สิ่งที่ยาก คือ เรากำลังไปทำธุรกิจกับชาวบ้านซึ่งมีความคิดที่หลากหลาย มีความรู้ความเข้าใจที่แตกต่าง มีมุมมองที่ผ่านประสบการณ์มาไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ยากในการจัดการเรื่องเหล่านี้ ผมโชคดีที่หลายปีที่ทำคาราวแดงรู้จักร้านโชวห่วยและพื้นฐานที่ผมคลุกคลีอยู่กับชาวบ้านทำให้เราเข้าใจว่าเมื่อทำกับชาวบ้านก็ต้องยืดหยุ่น” เสถียร กล่าวทิ้งท้ายและว่า

“ถ้าจะทำร้านถูกดี มีมาตรฐานให้สำเร็จ ต้องทำให้ใหญ่ ถ้าไม่ทำให้ใหญ่ไม่มีทางสำเร็จ พอทำใหญ่มีความเสี่ยงเยอะแยะไปหมด เรากล้าเสี่ยงไหม ถ้าเราคิดแค่เรื่องตัวเราเอง เราอาจจะคิดว่าเสี่ยงไปทำไม”

“แต่ถ้าเราคิดว่าเรื่องนี้มีโอกาสที่จะทำให้คนอื่น ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงได้ มันเป็นเรื่องที่น่าเสี่ยง ทำให้เกิดมีแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ และการจะทำใหญ่แบบนี้ คือ การช่วยพลิกฟื้นชีวิตผู้คนในประเทศนี้ อย่างน้อยหลายหมื่นหรือเป็นแสนครอบครัว”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ