TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessจากกิจการ “หนังฟอก” สู่ ​WashTech โรงซักล้างปลอดเชื้อ “รีซัลท์ พลัส”

จากกิจการ “หนังฟอก” สู่ ​WashTech โรงซักล้างปลอดเชื้อ “รีซัลท์ พลัส”

เส้นทางพลิกธุรกิจในวันที่อุดมการณ์ชีวิตเปลี่ยน …

หนึ่งในเหตุผลหลักของเจ้าของกิจการส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจเลิกกิจการหรือเปลี่ยนโรงงานย่อมหนีไม่พ้นข้อเท็จจริงที่ว่า กิจการนั้นขาดทุนหนัก ไปต่อไม่ได้ ไม่มีโอกาส และขาดโอกาสขยายตัวเติบโตได้อีกต่อไป 

แต่ถ้ากิจการที่กำลังดำเนินไปอยู่นั้น กำลังไปได้สวย และสร้างรายได้ปีละมากกว่าร้อยล้านบาท แถมยังได้รับการยอมรับจากแบรนด์ชั้นนำในต่างประเทศ ตลอดจนรุ่งเรืองขีดสุดถึงขั้นเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมนั้น ๆ 

จะมีเจ้าของกิจการคนไหนที่จะยอมยุติหรือเลิกทำกิจการนั้น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกิจการที่กำลังไปได้สวยนี้เป็นสิ่งที่ตนเองก่อร่างสร้างมากับมือ ยกเว้น วันชัย วงศ์แสงอนันต์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท รีซัลท์พลัส จำกัด เจ้าของแบรนด์ “วอชเทค” (ประเทศไทย) โรงซักผ้าปลอดเชื้อสำหรับโรงพยาบาล ที่ตัดสินใจเลิกกิจการโรงงานหนังฟอกสำหรับรองเท้าและกระเป๋าที่ดำเนินกิจการมาแล้ว 9 ปี มีลูกค้าเป็นแบรนด์สินค้ายักษ์ใหญ่ชั้นนำต่างชาติ อย่าง เอคโค่ คาเปสซิโอ ลาคอสท์ ฟลิปฟลอป และกระเป๋าโค้ช (COACH) สร้างรายได้ต่อปีเฉลี่ยกว่า 300 ล้านบาท และมีพนักงานในโรงงานมากกว่า 150 ชีวิต 

เหตุผลเพราะมุมมองแนวคิดและทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไปหลังได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง รวมถึงได้รับการแนะนำจากพระอาจารย์ที่เคารพ ทำให้ตระหนักได้ว่า กิจการ “โรงงานหนังฟอก” ของตนเองเป็นส่วนหนึ่งของวงจรที่เบียดเบียน “ชีวิต”

วันชัย กล่าวกับ The Story Thailand ว่า แม้ไม่ได้เป็นผู้ลงมือพรากชีวิตโดยตรง แต่ก็มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะโรงงานหนังฟอกต้องใช้หนังวัวเป็นจำนวนมหาศาลในการผลิตหนังคุณภาพดีเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าต่างชาติระดับพรีเมียม ดังนั้น เมื่อ “อุดมการณ์” ในการดำรงชีวิตที่ยึดมั่นเปลี่ยนไป วันชัยยอมรับว่า ไม่อาจฝืนทำโรงงานหนังฟอกต่อจนบั่นทอนความสุขของตน 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่เว้นวรรคไป 1 ปี วันชัยก็ไม่ได้อยู่นิ่ง เพราะความมุ่งมั่นในการทำธุรกิจยังคงมีอยู่ บวกกับวัยที่เพิ่งย่างเข้าเลขสี่ตอนปลาย ซึ่งเร็วเกินไปที่จะเกษียณ เจ้าตัวจึงใช้ช่วงเวลานี้ศึกษาตลาดมองหาลู่ทางที่จะสร้างกิจการของตนเองขึ้นมาอีกครั้ง และเป็นกิจการภายใต้เงื่อนไขที่ต้อง “แบ่งเบาช่วยเหลือ” มากกว่า “เบียดเบียนทำร้ายใคร” 

จุดเริ่มต้นของโรงซักล้างปลอดเชื้อ “รีซัลท์ พลัส”

วันชัย กล่าวว่า ได้แนวคิดเรื่องของการทำโรงงานซักล้างในระดับอุตสาหกรรมจากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารของโรงพยาบาลเอกชนรายหนึ่ง ถึงปัญหาการจัดการซักล้างทำความสะอาดผ้าทุกชนิดที่ใช้ในโรงพยาบาล ตั้งแต่ผ้าปูที่นอน เสื้อคนไข้ ผ้าเช็ดตัวเช็ดเท้า ชุดเจ้าหน้าที่ ผ้าทั่วไป ไปจนถึงชุดผ่าตัด ซึ่งไม่เพียงแค่ต้องซักล้างให้สะอาดเท่านั้น แต่ยังต้องปลอดเชื้อปลอดภัย 100% และเพียบพร้อมด้วยคุณภาพในการบริการแบบครบวงจร 

เมื่อได้ลู่ทาง “ปั้น” ธุรกิจใหม่ วันชัยก็เดินหน้ามุ่งศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับกิจการซักล้างอย่างจริงจัง ถึงขั้นบินไปศึกษาดูโรงงานซักล้างที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในญี่ปุ่น จนพบปัญหาว่า โรงงานซักล้างไม่อาจปลอดเชื้อได้ 100% หากระบบที่ลำเลียงผ้าเข้าโรงงานสู่การซักล้าง กับ ระบบที่นำผ้าที่คำความสะอาดเรียบร้อยแล้วยังเป็นเส้นทางเดียวกัน 

“เพราะทุกวันนี้ โรงซักผ้าบ้านเราเครื่องซักผ้าจะเป็นฝาหน้า พอซักเสร็จก็ออกฝาหน้าเหมือนเดิม เราศึกษาว่าแล้วถ้าจะปลอดเชื้อต้องทำอย่างไร (เพราะถ้าออกฝาหน้า) จะกลับมาสู่พื้นที่สกปรกเหมือนเดิม คือ กองผ้าที่อยู่หน้าเครื่องมีผ้าติดเชื้อที่ซักแล้วและยังไม่ได้ซัก พอซักเสร็จออกมาทางเดิม มีโอกาสที่จะปนเปื้อนได้ ทั้งจากตัวบุคคล สถานที่ และภาชนะที่จะใส่ เราเลยหาเครื่องซักผ้าที่จะปลอดเชื้อ ไปเจอเครื่องซักผ้าสองฝา คือ เข้าฝาหน้าแล้วออกฝาหลัง” วันชัย กล่าว

เมื่อได้เครื่องซักผ้าสองฝาที่ผ้าที่ซักเสร็จแล้วจะไปออกฝาด้านหนังเพื่อเข้าเครื่องอบผ้าต่อไป ทำให้โรงงานซักผ้าภายใต้แนวคิดและการออกแบบของ วันชัย จึงเป็นแบบ one-way flow ที่ผ้าสะอาดแล้วจะไม่ย้อนกลับสู่ทางเดิม ซึ่งการออกแบบดังกล่าวนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของโรงงานซักล้างปลอดเชื้อ 

“พอเราได้ตัวเครื่องจักร เราต้องออกแบบโรงงานให้สอดคล้องกับตัวเครื่องจักร แล้วก็ต้องออกแบบให้เส้นทางการทำงาน (flow) สอดคล้องกับระบบควบคุมเชื้อ (infection control) ระบบ one-way flow ซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศไทย ผมก็เลยได้ไอเดียมาจากห้องสเตอริไรซ์ (ฆ่าเชื้อ) ผ้าที่มีกันอยู่ทุกโรงพยาบาล เรายกระดับ (โรงซักล้าง) ไปถึงห้องสเตอริไรซ์ผ้า แต่ไม่ได้ยกระดับไปทั้งหมด” วันชัย กล่าว

เมื่อแนวคิดโรงงานซักล้างปลอดเชื้อเป็นรูปเป็นร่าง อีกทั้งยังมีความต้องการ (ดีมานต์) ที่ชัดเจน ทำให้เจ้าตัวเดินหน้าหาทำเลสร้างโรงงาน ภายใต้เงื่อนไขว่าเป็นพื้นที่สีม่วงที่สามารถสร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้ และต้องอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เพื่อความสะดวกในการขนส่งเคลื่อนย้ายผ้าไปกลับระหว่างโรงซักล้างกับพื้นที่ CBD จนมาจบที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี พื้นที่ขนาด 4 ไร่ (ราว 2,000 ตารางเมตร) โดยใช้เงินลงทุนไปประมาณ 100 ล้านบาท 

ภายในตัวโรงซักล้างรีซัลท์ พลัส ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักเหมือนกับโรงซักล้างทั่วไป คือ ส่วนซัก อบ และรีดกับพับ เพียงแต่ความต่าง คือ โซนซักที่หมายรวมถึง ส่วนที่รับผ้าเข้ามาคัดแยกและเข้าเครื่องซักจะติดตั้งเครื่องดูดอากาศขนาดใหญ่เพื่อให้ห้องมีแรงดันอากาศเป็นลบ จุดประสงค์เพื่อไม่ให้เชื้อโรคที่แพร่ทางอากาศไปสู่ส่วนอื่นของโรงงานได้ ไม่ปะปนไปกับโซนอบ และโซนรีด 

“เราแยกโซนออกจากกันอย่างชัดเจน โซนผ้าเปื้อนเรากั้นไว้อย่างชัดเจน พนักงานที่อยู่โซนผ้าเปื้อนไม่สามารถเดินมายังโซนผ้าสะอาดได้ และก็จะไม่มีโอกาสมาสัมผัสผ้าสะอาดได้ ในทางกลับกัน พนักงานที่อยู่ฝั่งโซนผ้าสะอาดไม่สามารถเดินไปโซนผ้าเปื้อนได้ เพราะฉะนั้น เราจะแยกจากกันโดยสิ้นเชิง ทั้งพื้นที่ พนักงาน และอากาศ ไม่ปะปนกัน”

วันชัย อธิบายว่า ในโซนผ้าเปื้อนดูดอากาศออก ส่วนในโซนของผ้าสะอาดจะดูดอากาศเข้าให้แรงดันอากาศภายในห้องเป็นบวก (positive pressure) โดยทั้ง 2 โซนนี้จะอยู่ติดกัน ทำให้กรณีที่ถ้ามีโอกาสรั่วไหล จะเป็นการรั่วไหลจากห้องที่มีแรงดันอากาศเป็นบวกไปสู่ห้องที่มีแรงดันอากาศเป็นลบ พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นก็คือเป็นการไหลจากโซนสะอาดไปโซนสกปรก

ดังนั้น จึงเป็นการรับประกันได้ว่า ผ้าที่ผ่านการซักล้างจากรีซัลท์พลัส คือ ผ้าที่ผ่านการซักล้างในระดับปลอดเชื้อใกล้เคียงกับผ้าผ่าตัดที่ผ่านการสเตอร์รีไรซ์ของโรงพยาบาล ซึ่งระบบนี้ วันชัย ย้ำว่า ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่เป็นตนเองที่คิดค้นขึ้นมาโดยอาศัยประสบการณ์จากการบริหารโรงงาน และระบบอุตสาหกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ 

ปัจจุบัน กว่า 5 ปีที่ดำเนินกิจการ โรงซักล้างแห่งนี้สามารถรองรับขีดความสามารถในการซักล้างจากจุดเริ่มต้นเฟสหนึ่งที่ 10 ตัน (30,000 ชิ้น) ต่อวันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 30 ตัน (ราว 90,000 ชิ้น) ต่อวัน

มีลูกค้าหลัก คือ โรงพยาบาล และมีพนักงานโรงงานอยู่ประมาณ 170 กว่าคน เนื่องจากโรงซักล้างเป็นกิจการที่ยังคงต้องพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก (labor intensive) ในเรื่องของการคุมคุณภาพผ้า และการพับผ้า 

“เราต้องออกแบบ flow ให้เป็นอุตสาหกรรม ทำอย่างไรให้สะอาด ปลอดภัย ปลอดเชื้อ แล้วก็ไหลเวียนง่าย ๆ ควบคุมคุณภาพง่าย ๆ vision control ทำได้ง่ายๆ แต่ออกมาได้ผลดี แล้วพนักงานไม่เหนื่อย แล้วอยู่สบาย การดีไซน์ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการไหลเวียนอากาศ การควบคุมการติดเชื้อดี ๆ ต้องศึกษา โรงรีดผ้ามีทั้งความร้อนและความชื่น อากาศภายในจึงทั้งร้อนทั้งชื้น เราต้องอัดอากาศถึง 20 เท่าใน 1 ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ลมจะผ่านตัวพนักงาน ทำให้อยู่ง่าย อยู่สบาย ทำงานแล้วมีความสุขไปด้วย” 

โควิด-19 เปลี่ยนมุมมอง “ความสะอาด” ของการซักผ้า

หลักการของการซักผ้า คือ การซัก อบ และรีด โดยก่อนเริ่มการซักต้องมีการคัดแยกผ้าระหว่างผ้าสี ผ้าขาว และแยกประเภทของผ้า ผ้าปนเปื้อน ผ้าทั่วไป และผ้าขนหนู เนื่องจากผ้าแต่ชนิดก็จะมีสูตรการซักอบรีดที่แตกต่างกันออกไป ก่อนเข้าสู่โซนสะอาดคือการอบที่แยกผ้าเหมือนกัน แล้วปล่อยเข้าสู่เครื่องรีดที่พับให้เสร็จเรียบร้อย แต่ระหว่างการอบและการรีดจะมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจคุณภาพว่าสะอาดดีแล้วหรือยัง มีรอยเปื้อนต้องซักซ้ำไหม มีผ้าชำรุดหรือเปล่า แล้วก็พับเก็บตามขนาดที่โรงพยาบาลต้องการ 

“การ QC (ควบคุมคุณภาพ) ของเราได้รับการยอมรับจากลูกค้านอกเหนือไปจากความสะอาด โดยโรงงานได้รับการยอมรับคุณภาพในการแยกผ้าที่ไม่พร้อมใช้ออก ถ้าไปถึงโรงพยาบาล แล้วเราไม่แยกออกจะเจอกับผ้าไม่พร้อมใช้ จะเป็นปัญหาต่อหน้างาน ซึ่งพยาบาลมีภาระความวุ่นวาย ความเครียดในหน้าที่การงานอยู่แล้ว ตรงส่วนนี้เราจะเป็นกองหลังที่แข็งแกร่งคอยดูแลให้”

ด้วยความต้องการเป็นกองหลังที่คอยสนับสนุนเจ้าหน้าที่แพทย์และพยาบาลด่านหน้า ทำให้เมือเกิดวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด -19 “รีซัลท์ พลัส” จึงได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการจัดการด้านการซักล้างอบรีดทำความสะอาดผ้าจากการใช้งานของโรงพยาบาลสนามและโรงพยาบาลที่ให้การรักษาโควิด-19 ไปโดยปริยาย 

ความรับผิดชอบในส่วนนี้เป็นโอกาสให้ วันชัย ได้พบกับนวัตกรรมใหม่ อย่างถุงละลายน้ำ ที่นำมาบรรจุผ้าติดเชื้อโควิด-19 เหล่านี้ ทำให้พนักงานของโรงซักล้างไม่ต้องสัมผัสกับผ้า ลดความเสี่ยงของการเป็นจุดแพร่กระจายเชื้อ ภายใต้ความช่วยเหลือส่วนหนึ่งจากเชฟรอนและมูลนิธิอริยะวรารมรณ์ ที่เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ให้ 

สำหรับกระบวนการซักอบรีดทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ทำให้โรงซักล้างสามารถดำเนินการซักล้างให้กับโรงพยาบาลหมุนเวียนได้ทุกวันตลอดทั้งปี ตามรอบการส่งของโรงพยาบาล ตามขนาดของโรงพยาบาล ถ้าขนาดเล็กก็รอบส่งรอบเดียว ขนาดใหญ่ก็จะมีรอบส่ง 2-3 รอบ 

ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 โรงซักล้างรีซัลท์ พลัส ให้การรับรองโรงพยาบาลทั้งหมด 18 แห่ง ทั้งเอกชนและรัฐบาล ตามข้อกำหนดของ Hospital Accreditation และ JCI ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดของโรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่ต้องรับประกันจากลูกค้าต่างประเทศ 

แม้ว่าช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาดตั้งแต่ระลอกแรกจะทำให้ปริมาณจำนวนผ้าที่ต้องซักต่อวันลดลง แต่ รีซัลท์ พลัส ได้โรงพยาบาลสนามทั้งหมดเข้ามาชดเชยในส่วนนี้แทน กระนั้น ต้นทุนการผลิตก็ยังสูง เพราะต้องซื้อชุด PPE และระบบจัดการความสะอาดเพื่อความปลอดภัยของพนักงานของโรงซักล้าง 

นอกจากนี้ วิกฤติโควิด-19 ทำให้โรงพยาบาลทุกแห่ง รวมถึง ผู้บริหารระดับสูง เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความสะอาดและการฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด โดยทุกแห่งให้การยอมรับระบบซักอบรีดของ รีซัลท์ พลัส ถึงขั้นที่โรงพยาบาลหลายแห่งติดต่อขอให้เข้ามาช่วยออกแบบระบบซักล้างแบบ รีซัลท์ พลัส ที่มีการจดอนุสิทธิบัตรไว้ให้กับทางโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลธรรมศาสตร์  

ยึดมั่นเรื่องความปลอดเชื้อ ไม่หยุดพัฒนา 

แน่นอนว่า ก้าวต่อไปของ รีซัลท์ พลัส ยังคงยึดมั่นในเรื่องของความสะอาดปลอดเชื้ออย่างแน่วแน่เช่นเดิม และยังคงเดินหน้าพัฒนาคิดค้นไม่หยุดยั้งเพื่อให้สามารถจัดการซักล้างให้ปลอดเชื้อได้มากขึ้น รองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม และโรคอุบัติใหม่อื่น ๆ ที่จะตามมาในภายหลัง

แม้ว่าความยึดมั่นดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการให้บริการสูงกว่าโรงซักล้างทั่วไป แต่คุณภาพของความสะอาดปราศจากเชื้อโรคที่เชื่อถือไว้วางใจได้เป็นสิ่งที่สามารถทดแทนกันได้ อีกทั้ง เมื่อต้นทุนการซักล้างของโรงพยาบาลมีแนวโน้มจะแพงกว่าการใช้บริการ outsource และยิ่งโรงพยาบาลในเมืองมีพื้นที่จำกัด ทำให้ความต้องการโรงซักล้างคุณภาพปลอดเชื้ออย่าง รีซัลท์ พลัส จึงยิ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น 

ทั้งนี้ ด้วยพื้นที่ของโรงซักล้าง รีซัลท์ พลัส ในปัจจุบันที่เดินหน้าเต็มกำลังขีดความสามารถแล้ว ทำให้ วันชัย มีแผนที่จะขยับขยายโรงงานและนำเข้าตัวเครื่องจักรเพิ่มเติม ซึ่งทั้งหมดนี้ คงต้องรอดำเนินการหลังจากที่วิกฤติโควิด-19 สิ้นสุดดีแล้ว 

ขณะเดียวกัน นอกจากการขยายในส่วนของโรงงานแล้ว วันชัย ยังตั้งเป้าขยายในส่วนของการให้บริการที่มากไปกว่าแค่การซักอบรีด ทั้งการบริหารจัดเก็บตามแผนกต่าง ๆ ของโรงพยาบาล การรับส่งถึงหน้างาน ไปจนถึงการบริการจัดซื้อจัดจ้างผ้าคุณภาพแต่ละประเภทที่เหมาะกับการใช้งานของโรงพยาบาล ซึ่งซักบ่อย และมีอายุการใช้งานตามกำหนดชัดเจนและเคร่งครัด คือ ถึงเวลาต้องเปลี่ยนทิ้งทันที 

เป้าหมายของ รีซัลท์ พลัส ต้องการเป็นที่มั่นที่เป็นจุดที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะรับมือกับ pandemic ทั้งหลาย เพื่อช่วยตอบโจทย์ของการเป็น ศูนย์กลางทางการแพทย์ (medical hub) ของประเทศไทย

“ถ้ากองหน้าแข็งแกร่ง กองหลังก็ต้องแข็งแกร่งและคอยสนับสนุนให้ได้ในระดับเดียวกัน และเป็นความภูมิใจที่ยกระดับโรงซักผ้าสำหรับโรงพยาบาลขึ้นมา ไม่ใช่เราสะอาดอยู่คนเดียว เราทำมาตรฐานที่เราทำไว้กับตัวเองกระจายไปสู่โรงพยาบาลอื่น ๆ และที่สุด คือ ยังคงได้ทำธุรกิจ โดยมีส่วนช่วยให้ผู้คนมีความสะอาดดียิ่งขึ้น ผ้าของโรงพยาบาลสะอาดมากขึ้น ตอบโจทย์มากขึ้น”  วันชัย กล่าวทิ้งท้ายน้ำเสียงที่ปนไปด้วยรอยยิ้ม

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ