TH | EN
TH | EN
หน้าแรกColumnistเลือกตั้งท้องถิ่น ต่อลมหายใจ “เศรษฐกิจรากหญ้า”

เลือกตั้งท้องถิ่น ต่อลมหายใจ “เศรษฐกิจรากหญ้า”

หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบจ.76 จังหวัดทั่วประเทศเป็นการประเดิมในการเลือกตั้งท้องถิ่นไปแล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติให้วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคมนี้เป็นวันเลือกตั้ง ส่วนการเลือกตั้งเทศบาล 2,472 แห่ง และอบต.5,300 แห่งนั้นคาดว่าจะมีขึ้นราวเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน 2564 หลังจากนั้นก็คงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และนายกเมืองพัทยาต่อไป

ในการวางไทม์ไลน์การเลือกตั้งออกมาแบบนี้ย่อมมีนัยสำคัญ เพราะอย่างน้อยการกำหนดการเลือกตั้งเป็นระลอก ๆ ต่อเนื่อง มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าได้ไม่น้อย อย่างน้อย ๆ ก็ต้องมีการจับจ่ายใช้สอยในท้องถิ่นเกิดขึ้น ตั้งแต่หลังวันรับสมัคร 2–6 พฤศจิกายน จนถึงวันเลือกตั้งสมาชิกสภาและนายก อบจ. เสร็จแล้วยังมีเลือกตั้งเทศบาลและอบต.ต่อ ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดอย่างต่อเนื่องถึงกลางปีหน้าเลยทีเดียว

อย่างที่รู้ ๆ ว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง ไม่ว่าจะเลือกตั้งใหญ่ที่เลือกส.ส. หรือเลือกตั้งเล็กแบบเลือกตั้งท้องถิ่น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไม่น้อย เพราะผู้สมัครทุกคนต้องเตรียมกระสุน (เงิน) ไว้พร้อมเต็มที่

อย่างไรก็ ตามคาดว่าการเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบจ. ในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ น่าจะมีเงินสะพัดทั่วประเทศ กระจายลงสู่ท้องถิ่นรากหญ้าหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้คึกคักขึ้นมาทันที
เนื่องจากในการหาเสียงทุกครั้ง ก็จะเกิดการจ้างงานสร้างรายได้ เช่น คณะหาเสียง คนทำอาหาร รถแห่ รถหาเสียง เวทีหาเสียง ทำป้าย ติดป้ายติดโปสเตอร์ ค่าใช้จ่ายหัวคะแนนตามชุมชน และหมู่บ้านรวม

ผู้เชี่ยวชาญการเมืองท้องถิ่นเคยประเมินว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งท้องถิ่นเที่ยวนี้ว่า มีค่าใช้จ่ายทีมละไม่ต่ำกว่า 80–100 ล้านบาทโดยเฉลี่ย จังหวัดเล็ก ๆ ก็อาจจะราว ๆ 50 ล้านบาท จังหวัดขนาดกลางต้องมีค่าใช้จ่าย 100 ล้านบาทขึ้นไป และจังหวัดใหญ่มีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 200–300 ล้านบาทต่อทีม

การเลือกตั้ง อบจ. 76 จังหวัด จะมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่ำกว่าเกือบ ๆ 20,000 ล้านบาท ไม่รวมงบเลือกตั้งอีก 3,236 ล้านบาท

สมมติเม็ดเงินเกิดการหมุนเวียนในระบบตามหลักเศรษฐศาสตร์สัก 6 รอบ นั่นแปลว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว

เหนือสิ่งใด เงินทั้งหมดนี้จะกระจายลงสู่ประชาชนรากหญ้าโดยตรง ทุกจังหวัดถึงมือประชาชน แม่นยำกว่านโยบายโปรยเงินแบบ “เฮลิคอปเตอร์มันนี่” ของรัฐบาลเสียอีก

ดังนั้น ถ้าจะประเมินการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ 7,850 แห่ง ค่าใช้จ่ายจังหวัดใหญ่เล็กและกทม.ด้วย สมมติค่าใช้จ่ายเฉลี่ยแห่งละ 100 ล้านบาท จะมีเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจรากหญ้าจำนวนมหาศาลมากกว่างบประมาณประจำปีของรัฐบาลเลยทีเดียว

แต่นั่นก็เป็นการรดน้ำใส่ปุ๋ยให้เศรษฐกิจฐานรากในชุมชนมีชีวิตชีวาแค่ระยะสั้น ๆ เท่านั้น แต่ถ้าจะให้เศรษฐกิจท้องถิ่นมีความมั่นคงยั่งยืนจะต้องให้อำนาจของท้องถิ่นบริหารจัดการกันเอง เหมือนอย่างที่หลาย ๆ ประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกันด้วยการโอนอำนาจการจัดเก็บภาษีบางส่วนให้ท้องถิ่นดำเนินการได้ เช่น ภาษีนิติบุคคล ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ห้างโมเดิร์นเทรดที่ไปลงทุนต่างจังหวัด แต่บริษัทแม่เสียภาษีให้กับส่วนกลาง ทั้งที่ในความเป็นจริงใครลงทุนที่ไหนก็ควรจะเสียภาษีที่นั่น ทำให้ท้องถิ่นมีงบประมาณใช้ในการบริหารจัดการนำไปพัฒนาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้

กระทั่งการขออนุญาตการลงทุนก็ควรให้ไปขออนุญาตลงทุนในท้องถิ่น เหมือนต่างประเทศเพื่อความคล่องตัว อย่างกรณีอิตาลีแม้รัฐบาลกลางอ่อนแอแต่ก็เจริญได้เพราะรัฐบาลท้องถิ่นและเศรษฐกิจท้องถิ่นเข้มแข็ง

แบบอย่างในบ้านเราก็มีกรณี “บุรีรัมย์โมเดล”​ อย่างที่ทราบกันดีเมื่อสักสิบกว่าปีก่อนจังหวัดบุรีรัมย์ถูกจัดอันดับเป็นจังหวัดที่ยากจนจังหวัดหนึ่ง เมื่อ “คุณเนวิน ชิดชอบ” กลับไปพัฒนาด้วยการวางคอนเซ็ปต์ให้บุรีรัมย์เป็น “มหานครกีฬา”​ สร้างทีมฟุตบอล “บุรีรัมย์ยูไนเต็ด” เป็นแม่เหล็กให้เข้ามาเที่ยว

ต่อมามีกิจกรรมกีฬาทั้งวิ่งมาราธอน จัดแข่งมอเตอร์ไซด์ เป็นอีเวนต์ระดับโลก มีการวางโปรแกรมแข่งขันตลอดทั้งปี คนหลั่งไหลไปท่องเที่ยวไปลงทุนทำธุรกิจในบุรีรัมย์กันอย่างคึกคัก

ดังนั้น การเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องไม่ใช่แค่จัดให้มีการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ต้องกระจายอำนาจในการตัดสินใจให้ท้องถิ่นด้วย และจะต้องสร้างรูปแบบการลือกตั้งให้ได้นักการเมืองท้องถิ่นที่มีความคิดแบบ “ผู้ประกอบการ” เหมือนอย่างที่คุณเนวินสร้างบุรีรัมย์จนประสบความสำเร็จ

ในประเทศไทยมีนักการเมืองท้องถิ่นที่มีการศึกษาสูง ๆ มีความคิดดี ๆ มีจิตใจเสียสละ มีวิสัยทัศน์ผู้ประกอบการอยู่มากมาย เพียงแต่รัฐบาลกลางต้องไม่หวงอำนาจและต้องให้โอกาส

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ