TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewDEPA หนุนสตาร์ตอัพให้บริการดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตร

DEPA หนุนสตาร์ตอัพให้บริการดิจิทัล เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมเกษตร

อุตสาหกรรมการเกษตร ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักดั้งเดิมที่เปรียบเสมือนฐานรากของเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน แต่หลายปีที่ผ่านมาผลผลิตทางการเกษตรของไทยกลับมีมูลค่าเพิ่มน้อยเมื่อเทียบกับคู่แข่งอื่นในตลาด บวกกับเกษตรกรและกระบวนการเพาะปลูกยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคเทคโนโลยีดิจิทัล 

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) หรือ ดีป้า กล่าวว่า ดีป้ามีบทบาทในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรรายย่อย ให้รู้ เข้าใจ และเชื่อมั่น ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อยให้มากที่สุด คือ รู้ว่าต้องใช้เทคโนโลยีอะไร เมื่อไร อย่างไร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่คุ้มค่า สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคในตลาดให้มากที่สุด

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดีป้า มีมาตรการ Quick Win คือ การสร้างความเชื่อมั่นใจเกษตรการรายย่อยเข้าใจเทคโนโลยีมากขึ้น หน้าที่ของรัฐ คือ ทำให้เกษตรกรเข้าถึงการบริการดิจิทัลเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาการทำการเกษตร

อย่างไรก็ตาม หากเพียงแค่เดินเข้าไปบอกว่าเทคโนโลยีนี้ดี แล้วหยิบยื่นให้ ดร.ณัฐพล มองว่า การกระทำดังกล่าวแทบจะไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ และเป็นเรื่องที่เปล่าประโยชน์เหมือนในอดีตที่เคยเป็นมา คือ มีตั้งไว้จนกลายเป็นปูชนียสถาน 

ความผิดพลาดข้างต้น ทำให้ดีป้าหันไปปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการเข้าถึงเกษตรกรรายย่อยใหม่ด้วยการตั้งเป็นกองทัพสตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีการเกษตร (Agri Tech) เช่น คนให้บริการโดรน หรือ คนให้บริการเครื่องรถน้ำ แล้วปูทางเชื่อมโยงให้สตาร์ทอัพเหล่านี้กระจายตัวไปทั่วประเทศ แล้วเข้าไปทำงานกับกลุ่มเกษตรกรรายย่อยอย่างจริงจัง 

“ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมว่า (เกษตรกรรายย่อย) ไม่ต่ำกว่า 5,000 รายที่มีการใช้บริการของสตาร์ตอัพ”

แน่นอนว่า การใช้เทคโนโลยีเปรียบเสมือนการลงทุนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงส่วนหนึ่ง อย่างน้อยก็ค่าอุปกรณ์ IoTต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจากจะร่วมมือกับสตาร์ตอัพในการอธิบายชี้แจงให้ความรู้ว่าการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพาะปลูกดีอย่างไรแล้ว ดีป้ายังมีบทบาทในการเข้าไปช่วยแบกรับความเสี่ยง อาทิ การแบกรับค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งหรือส่วนหนึ่ง หากเกษตรกรรายย่อยรายนั้นสนใจยินยอมหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการทำการเกษตร

“วัตถุประสงค์สำคัญ คือ ทำให้เกิดความเชื่อถือและความเชื่อมั่น สอง คือ ทำให้เกิดการซึมซับความเสี่ยงกับการทดลองใช้เทคโนโลยี และสาม คือ ทำให้เกิดการตัดสินใจด้วยตัวเขาเอง ซึ่งมันก็อาจมีเหตุการณ์บ้าง เช่น สตาร์ตอัพบางคนอาจลงไปบอกป้าตกลงขายราคา 20,000 บาท แต่มูลค่าของเทคโนโลยีมันก็อาจจะแค่ครึ่งเดียว ดีป้าก็พยายามตรวจสอบ แต่การตัดสินใจไม่ได้เกิดขึ้นจากดีป้า แต่เกิดขึ้นจากคุณป้าที่ต้องเรียนรู้กับการเลือกใช้เทคโนโลยีและรัฐทำให้เกิดขึ้น และรัฐก็ช่วยกำกับให้เทคโนโลยีนั้นที่มาจากผู้ให้บริการกับคุณป้าเจอกัน บนพื้นที่ความเหมาะสม ถ้ามันเกิดข้อผิดพลาดสำหรับสังคมไทย ประชาชนอย่างคุณป้าก็จะเป็นคนตัดสินใจว่า ฉันไม่เลือกใช้รายนี้แล้ว ฉันจะไปซื้ออีกรายหนึ่ง เพราะว่ารายนี้โกหก หรือไม่ดี นั่นคือ สิ่งที่ดีป้าทำในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา”

“ข้อมูล” หัวใจสำคัญของการใช้เทคโนโลยี

ทั้งนี้ หลังจากที่ทำให้เกษตรกรรายย่อยเริ่มตระหนักรู้ถึงความสำคัญ และยินยอมพร้อมใจเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ ไปใช้ในกระบวนการเพาะปลูกของตนแล้ว ก้าวต่อไปในมุมมองของดีป้า คือ การจัดการข้อมูลใหญ่ หรือ Big Data ให้เป็นฐานข้อมูลที่จะประมวล ประเมิน วิเคราะห์ และสังเคราะห์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรรายย่อย

ดร.ณัฐพล กล่าวว่า สิ่งที่มีความสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตรที่เทคโนโลยีสามารถเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในฐานะเบื้องหลังที่จะคอยส่งเสริมสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ การจัดการข้อมูล ทั้งในส่วนที่เป็นข้อมูลที่รัฐจัดเก็บ และข้อมูลที่ภาคเอกชนเป็นผู้จัดเก็บ ซึ่งดีป้าพยายามใช้ข้อมูลของรัฐที่มีการจัดเก็บมาผสานรวมกับข้อมูลที่ภาคเอกชนจัดเก็บ เพื่อทำให้เกิดการบริการ 

“ตอนนี้ เขาเริ่มโหยหาแล้วว่า ใครจะบอกป้าได้บ้างว่า ป้าอย่าปลูกนะ ฤดูนี้พริกมันไม่ดี ราคาตก การจะรู้ได้มันต้องมีดีมานต์มาเป็นตัวบอก ไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูลพื้นที่ของอากาศและพื้นที่การเพาะปลูก อย่างผู้บริโภคเขาจะมีทิศทางอะไรบ้าง ฤดูนี้เขาไม่กิน ประจวบเหมาะกับพื้นที่ของป้าไม่ควรปลูกพริกมัน เพราะผลผลิตต่ำ พริกหงิกงอ พริกไม่สวย ต้นทุนสูง ต้องใช้น้ำเยอะ ก็ว่ากันไป อากาศไม่ดี ห้ามปลูก ข้อมูลก็บอกอีกว่า ควรปลูกพืชอันนี้ เพราะได้กำไรมากกว่า”

การมีข้อมูลดังกล่าวก็เปรียบเสมือนกับคนทั่วไปที่มีข้อมูลสนับสนุนการทำงาน หรือข้อมูลสนับสนุนการทำธุรกิจ ถ้าธุรกิจฝืนทำไปโดยไม่มีข้อมูลก็แย่ หรือต่อให้ทำธุรกิจนี้รายได้จะน้อย แต่ข้อมูลระบุว่า ตลาดยังโตต่อไปได้ นักธุรกิจย่อมเชื่อมั่นที่จะเดินหน้าทำต่อไป ดังนั้น การมีข้อมูลจะช่วยให้เกษตรกรรายย่อยของไทยมีทางเลือกในการเลือกเพาะปลูกบนพื้นที่ของตนมากขึ้น สร้างรายได้ให้มีความยั่งยืนมากขึ้นนั่นเอง

“สิ่งที่ดีป้าทำสิ่งแรกเรียกว่า Big Data ทางการเกษตร เรามีพื้นฐานข้อมูลของภาครัฐ คือ กระทรวงเกษตรฯ จากนั้นเราก็พยายามดูเอกชนว่าใครนะที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาเติมเต็มได้ ข้อมูลชั้นแรกเป็นข้อมูลเกี่ยวกับ weather station ต่าง ๆ มี pm2.5 วัดค่าอากาศ วัดน้ำ ซึ่งมีกรมอุตุฯ ก็จริง แต่มันมีใครทำได้แม่นยำระดับพื้นที่การเพาะปลูกบ้างไหม เราก็มีทำงานกับตัวบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทในการพยากรณ์ในการใช้ข้อมูลดาวเทียม 9 ดวง ซึ่งมีความแม่นยำของการบอกพื้นที่การเพาะปลูก ดิน ฟ้า น้ำ อากาศ ในระยะความแม่นยำถึง 3 กิโลเมตร ก็แสดงว่า เกษตรกรจะมีข้อมูลที่มีความชัดเจนแม่นย้ำขึ้น”

“เมื่อชั้นของข้อมูลที่ภาครัฐมีมาซ้อนกับชั้นของข้อมูลที่เป็นประสบการณ์ของเกษตรกร จะทำให้คนในพื้นที่เริ่มมีข้อมูลในการตัดสินใจ อาจจะไม่ได้สมบูรณ์แบบว่ารู้ถึงขนาดตลาดดีมานต์ เพราะนั่นคือชั้นข้อมูลถัดไป คือ ข้อมูลตลาดทั้งหมด ในประเทศไทย และตลาดส่งออก เขาต้องการผลิตผลพืชผลในฤดูกาลต่าง ๆ แบบไหน หรือคนไหนต้องการแบบไหน บางคนอาจต้องการไม่เผ็ด บางคนอาจต้องการเผ็ด ถ้าเป็นพริก หรือถ้าเป็นทุเรียน บางคนอาจต้องการกินกรอบข้างนอกนุ่มข้างใน บางคนอาจต้องการข้างนอกนุ่มข้างในกรอบ มันคือสิ่งที่เป็นพฤติกรรมของผู้บริโภคตามฤดูกาล แล้วก็มาซ้อนทับกับฤดูกาลเพาะปลูก กับอากาศ สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกษตรกรไทยมีทางเลือกมากขึ้น ”

หลังจากได้ชุดข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลผู้บริโภคในตลาดแล้ว ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ชุดข้อมูลต่อมาก็คือ วิธีการหรือช่องทางการจัดจำหน่ายต่าง ๆ ซึ่งความรู้ทั้งหมดที่ว่ามานี้ต้องใช้เวลาในการสั่งสม และจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเกษตรที่เป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย

สนับสนุน “สตาร์ตอัพ” ให้บริการดิจิทัลเพื่อการเกษตร

นอกจากสร้างความเชื่อมั่นและปูทางให้มีการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรรายย่อยแล้ว ดีป้ายังเดินหน้าสนับสนุนบรรดาสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ ขีดความสามารถ และความสนใจที่จะเข้ามาทำธุรกิจเกี่ยวกับบริการดิจิทัล (Digital Service) และ Big Data โดยดีป้าจะเข้าไปช่วยอุ้มความเสี่ยงครึ่งหนึ่ง 

“หมายความว่าไม่ได้ลงทุน 100% ที่ไปขอกู้แบงค์ ด้วยอายุยังน้อยก็คงไม่มีใครให้ ถ้าใช้เงินเก็บหรือเงินเดือนที่ทำอยู่มีความเสี่ยงสูง แต่แบบนี้อย่างน้อยมีเพื่อนเป็นรัฐ และสตาร์ตอัพที่ท Big Data ก็จะได้รับความสะดวก ได้รับการบริการ คุยกับกระทรวงเกษตรได้ง่ายขึ้น เพราะมีเพื่อนเป็นรัฐ สอง คือ ง่ายขึ้นที่ให้บริการเกษตรกรเพราะดีป้าทำให้เกษตรกรทรานฟอร์มสอยู่แล้ว (สตาร์ตอัพ) ก็จะมีลูกค้ามากขึ้น”

การทำงานของดีป้า เป้าหมายหลัก คือ ไม่ได้ให้เงินแล้วทิ้ง แต่ต้องทำให้แพตฟอร์มข้อมูลด้านการเกษตร หรือ Big Data เข้าถึงเกษตรกรมากขึ้น เป็นอีกขั้นหนึ่งต่อจากการสอนให้คนไทยรู้จักใช้เทคโนโลยี และ IoT เช่น โดรน เพื่อการเพาะปลูก โดยเป็นข้อมูลด้านอากาศ ด้านน้ำ ด้านตลาด ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรวางแผนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และจัดจำหน่ายต่อไป ลดปัญหาผลผลิตราคาตกหรือล้นตลาด จนต้องนำมาเททิ้งหรือนำมาประท้วงรัฐ ซึ่งกลายเป็นปัญหาซ้ำซากระดับประเทศ

“เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย สิ่งเหล่านี้ ข้อมูลมีความจำเป็นมาก ซึ่งถ้ารัฐทำคนเดียวคงไม่มีบริการที่ดี แล้วก็การบริการคงไม่มีการอัปเดต แต่ถ้ามีน้อง ๆ สตาร์ตอัพมาทำ weather forecast หรือ ทำตัว Big Data ทางการเกษตร เราเชื่อว่าเขาต้องมีการบริการที่ดี เพราะเขาต้องพัฒนาเพื่อทำให้มีลูค้าเพิ่มขึ้น ให้มีข้อมูลดีขึ้น แม่นยำขึ้นเรื่อย”

“สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งดีที่ทำให้เกิดการพัฒนาประเทศ แล้วดีป้าทำ ไม่ได้ทำบนกลไกที่รัฐจ้างคิดจ้างทำ หรือรัฐทำให้ทำแทน แต่คราวนี้ ทำบนพื้นฐานว่าใครมีไอเดีย แล้วทำบนพื้นฐานที่ช่วยให้ประเทศไทยดีขึ้น แล้วกลายเป็นคนทำงานที่มีความยั่งยืนในระบบ ผมว่าอย่างนี้เมืองไทยไปต่อได้ ไปรอด ในวิธีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบดิจิทัล”

ขับเคลื่อนเกษตรไทยด้วยดิจิทัล 

“สิ่งที่เราคาดหวัง คือ เกษตรกร 7-8 ล้านครัวเรือนจะเกิดการ digitize และ transform เข้าสู่ระบบใหม่ สิ่งเหล่านี้ คือ การทำให้เกิดอุตสาหกรรมเกษตรรูปแบบใหม่ ยกตัวอย่างเช่น รู้และมีข้อมูลว่า มูซานคิง (Musang King) ทุเรียน มาเลเซียจะออกสู่ตลาดราคาเท่านี้ แบรนด์แบบนี้ ถ้าออกสู่ตลาดชนกับเขาจะสู้ไหวไหม ถ้าออกก่อนล่ะ หรือออกหลังคนเบื่อแล้วหรือยัง ถ้าออกก่อนก็จะได้ราคาที่กำหนด แล้วจะมีวิธีการเพาะปลูกควบคุมผลผลิตได้อย่างไรบ้าง นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงคนไทยให้รู้จัก digitize ตนเองและอุตสาหกรรม” 

ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุสิ่งที่คาดหวัง กระบวนการทำงานของดีป้าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และนับต่อจากนี้ คือ การวางรากฐานในการจัดเก็บข้อมูล ช่วยในการจัดทำข้อมูล แล้วเปิดเผยฐานข้อมูลเหล่านั้นเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งดร.ณัฐพล ยอมรับว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นเรื่องยาก โดยดีป้าจึงเปรียบเสมือน snapshot ที่รู้ว่าอะไรควรทำ แล้วค่อย ๆ ทำทีละเรื่อง 

เริ่มจากข้อมูลด้านสภาพอากาศและข้อมูลที่เอื้อประโยชน์ต่อกระบวนการเพาะปลูก ก้าวต่อมา คือข้อมูลผลผลิตทางการเกษตรกับข้อมูลดีมานต์ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคในตลาด บวกกับข้อมูลโลจิสติกส์ และช่องทางค้าขายในระบบอี-คอมเมิร์ซ

“มันเป็น analytics บนข้อมูล ถ้าเรามีคนไทยรู้ว่า คนนี้ชอบสั่งจากฉัน คนนี้ชอบสั่งจากเขาไม่ได้สั่งจากฉัน สิ่งเหล่านี้มาซ้อนกับระยะเวลา ซ้อนกับความต้องการผู้บริโภค มันก็เป็นอีกหนึ่งเสาเข็ม ถ้าเอาหลาย ๆ เสาเข็มมาซ้อนกัน เป็นข้อมูลและวิเคราะห์ได้ จะรู้ว่าฉันควรทำอะไรดี คือ หมายความว่า ควรจะปลูกเมื่อไร ปลูกอย่างไร เวลาไหน ขายช่องทางไหน และขายอย่างไรจึงจะได้ราคาดี” 

ดร.ณัฐพล ได้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกรณี มูซานคิง (Musang King) ของมาเลเซียที่เป็นทุเรียนมูลค่าสูง ว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้ทุเรียนหมอนทองของไทยมีราคาสูงเท่ากับมูซานคิง (Musang King) โดยมูซานคิง (Musang King) เป็นทุเรียนเละ ไม่ได้กรอบนอกนุ่มในเหมือนไทย เท่ากับว่าพฤติกรรมความชอบของผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องการกินเละ ๆ 

ดังนั้น ถ้าไทยจะส่งทุเรียนไปขายแข่งก็ต้องส่งแบบสุกเละเพื่อให้ตอบโจทย์ตลาด หรือในกรณีที่ต้องการทดลองตลาดหรือสร้างแบรนด์ใหม่ เกษตรกรไทยอาจจะต้องสร้างฉลาก ระบุว่า ทุเรียนของไทยมีระดับความสุกระดับต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความชอบของผู้บริโภคในตลาดที่มีแตกต่างกันไป 

“นี่คือ พูดให้เห็นภาพว่า ข้อมูลเหล่านี้มันเห็นพฤติกรรมของผู้บริโภค ถ้าฝืนขายในสิ่งที่ขัดกับพฤติกรรมผู้บริโภค เราจะเสียเปรียบ สิ่งที่ตามมาในอุตสาหกรรมนั้นจะเกิดอะไรขึ้น เช่น ที่เมืองจีน เกษตรกรสร้างสตอรี่เป็นแล้ว มีโทรศัพท์เครื่องหนึ่งไลฟ์สดสร้างสตอรี่ให้แอปเปิ้ล ให้ลูกพีช ให้นม การทำสิ่งเหล่านี้ในการเพาะปลูกกับแพตฟอร์มใหม่ มันทำให้เกษตรกรลดขั้นตอนในการเข้าถึงผู้บริโภค”

ทั้งนี้ในมุมมองของดีป้า สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือ การเปลี่ยนแพลตฟอร์มใหม่ที่เทคโนโลยีจะเข้าไปช่วยได้ ทั้งเรื่องค้าขาย ทั้งเรื่องการเตรียมการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการใช้สตอรี่ หรือการสร้างคอนเทนต์ ซึ่งทางดีป้าทำทีละเรื่อง เนื่องจากไม่สามารถทำทีเดียวพร้อมกันหว่านทั้งประเทศได้ โดยถ้าเป็นอย่างนั้น ดีป้าต้องมีงบประมาณมหาศาล หรือมีกองกำลังให้ดีป้าทำงาน

เข็มสำคัญตอนนี้ไม่ใช่การสร้างให้คนรับรู้เทคโนโลยีแต่คือการให้รู้ว่าข้อมูลจะเป็นตัวแปรสำคัญ ดีป้ามองภาพว่าอุตสาหกรรมเกษตรไทยต้องเปลี่ยนจาก physical ไปเป็น non-physical มันจะต้องเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ไปเป็นแพลตฟอร์มแล้วทั้งหมดทั้งปวงเกษตรกรต้องมีอำนาจในการต่อรองที่สูงขึ้นแล้วรู้แล้วก็ประยุกต์ใช้เป็นไม่ใช่เพียงแค่อุปกรณ์มือถือแต่รู้ประยุกต์ใช้เป็นว่าอนาคตจะอยู่บนแพลตฟอร์มเหล่านั้นอย่างไรแล้วสามารถสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างไร” 

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
นงลักษณ์ อัจนปัญญา – เรียบเรียง

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ