TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeลอรีอัล เผย 3 นักวิจัยสตรี รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปี 2563

ลอรีอัล เผย 3 นักวิจัยสตรี รับทุนวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ปี 2563

บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศรายชื่อ 3 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นที่ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2563 มุ่งสนับสนุนสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์เป็นปีที่ 18 แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19

งานวิจัยที่ได้รับทุนในปีนี้ ได้แก่ 2 ผลงานที่สร้างประโยชน์แก่วงการแพทย์จากสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และ 1 ผลงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์จากการเกษตร จากสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยนักวิทยาศาสตร์สตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

อินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ลอรีอัลเชื่อมั่นมาตลอดว่าโลกต้องการวิทยาศาสตร์และวิทยาศาสตร์ต้องการสตรีเพื่อการพัฒนา ซึ่งในช่วงสถานการณ์ระบาดโควิด-19 นี้ ทุกภาคส่วนทั่วโลกต่างตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยวิทยาศาสตร์มีต่อมนุษยชาติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ลอรีอัล ประเทศไทย ได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีมากขึ้นกว่าเดิม โดยเพิ่มทุนพิเศษเพื่องานวิจัยโควิด-19 ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และยังคงทุนวิจัยฯ ประจำปีไว้เช่นเดิมเป็นปีที่ 18 เพื่อเป็นแรงผลักดันให้นักวิจัยสตรีไทยสามารถก้าวเข้าสู่วงการวิทยาศาตร์ในระดับสากล และเป็นหนึ่งฟันเฟืองหลักในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศ

จากการจัดอันดับศักยภาพการแข่งขันด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดย IMD หรือ IMD World Digital Competitiveness Ranking 2020 พบว่า ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 สำหรับประเทศที่มีนักวิจัยสตรีที่โดดเด่นในวงการวิทยาศาสตร์ จากทั้งหมด 60 กว่าประเทศทั่วโลก ในหมวด Scientific Concentration ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ใช้ประเมินศักยภาพด้านดิจิทัลของไทยและประเทศอื่น ๆ

ในปีนี้ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ได้มอบทุนให้แก่นักวิจัยสตรี 3 ท่าน จาก 2 สาขา ได้แก่  สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือ ผศ.ดร. จุฑามาศรัตนวราภรณ์จากหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวช คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัย “ไหมไทย จากอุตสาหกรรมสิ่งทอสู่นวัตกรรมเพื่อการแพทย์” และ ดร. สุวัสสาบำรุงทรัพย์ จาก ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาอนุภาคนาโนสำหรับการตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์” ด้านสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ คือ ดร. บุญญาวัณย์อยู่สุข จาก ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “เชื้อเพลิงสะอาดและสารหล่อลื่นชีวภาพ: ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืน”

3 นักวิจัยสตรี

ผศ.ดร. จุฑามาศรัตนวราภรณ์ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพจากหลักสูตรวิศวกรรมชีวเวชคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว่า ไหมไทยเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ผลิตได้ในประเทศ โดยในรังไหมไทยประกอบด้วยโปรตีนหลัก 2 ชนิด คือ เซริซินและไฟโบรอิน เซริซิน หรือ กาวไหมนิยมใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งอนุมูลอิสระและกระตุ้นการสร้างคอลลาเจน ขณะที่ ไฟโบรอินเป็นโปรตีนเส้นใยที่มีความเข้ากันได้กับชีวภาพของร่างกาย ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบ ไม่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และสามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย ขณะเดียวกันก็มีความเหนียวและยืดหยุ่นเมื่อเทียบกับชีววัสดุธรรมชาติอื่น ๆ 

ด้วยเหตุนี้ จึงสนใจสกัดไฟโบรอินจากรังไหมไทยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรม อาทิ เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสูญญากาศ การชะละลายสารก่อรูพรุน การปั่นเส้นใยด้วยไฟฟ้าสถิต การพิมพ์ 3 มิติ และ เทคนิคอิมัลชัน ในการผลิตระบบนำส่งยาจากไฟโบรอินไหมไทยรูปแบบต่างๆ ได้แก่ ไฮโดรเจลชนิดฉีดได้ เส้นใยนาโน แผ่นแปะ และอนุภาคขนาดไมครอน ซึ่งสามารถปลดปล่อยยาได้อย่างจำเพาะเจาะจงและเนิ่นนานเพื่อรักษาโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคข้อเสื่อม โรคตาอักเสบที่เกิดจากต้อหินและต้อกระจก เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังนำไฟโบรอินไหมไทยมาผลิตเป็นโครงเนื้อเยื่อเพื่อการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อผิวหนัง กระดูก กระดูกอ่อน หมอนรองกระดูก และหลอดเลือด โดยงานวิจัยจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านชีววัสดุเพื่อการแพทย์

เพิ่มมูลค่าให้ไหมไทย ลดการนำเข้าและลดการพึ่งพาอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศ ส่งเสริมการเลี้ยงหม่อนไหมในประเทศ

ทั้งยังแสดงถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์ ยกระดับการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศอีกด้วย

ดร. สุวัสสา บำรุงทรัพย์ ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า การตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ ในระยะเริ่มต้นด้วยความแม่นยำ โดยวิธีการที่ไม่ยุ่งยากและใช้เวลาน้อย เป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วย

ปัจจุบันนี้นาโนเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์เพื่อการตรวจวินิจฉัยโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะการใช้อนุภาคนาโนเพื่อให้สัญญาณการตรวจวัดในไบโอเซ็นเซอร์สำหรับการตรวจวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ของโรค

งานวิจัยนี้มุ่งเน้นการพัฒนาไบโอเซ็นเซอร์โดยใช้อนุภาคนาโนร่วมกับเทคนิคเชิงแสง 2 เทคนิค ได้แก่ เทคนิคพื้นผิวขยายสัญญาณการกระเจิงแสงรามาน และเทคนิคฟลูออเรสเซนส์ ซึ่งมีความไวสูง สามารถตรวจวิเคราะห์เป้าหมายได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้การตรวจวิเคราะห์และตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลโดยการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้พัฒนาชุดตรวจโรคติดเชื้อในกลุ่มไข้หวัดใหญ่ได้อีกด้วย

งานวิจัยจะก่อให้เกิดองค์ความรู้ด้านการออกแบบและสังเคราะห์อนุภาคนาโนในกลุ่มของอนุภาคนาโนทอง และอนุภาคซิลิกานาโนบรรจุสารฟลูออเรสเซนส์ รวมถึงการปรับปรุงคุณสมบัติทางเคมีของพื้นผิวอนุภาคนาโนให้เหมาะสมต่อการติดฉลากด้วยชีวโมเลกุล เพื่อให้ได้อนุภาคที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้พัฒนาไบโอเซ็นเซอร์ที่มีความไวและความแม่นยำสูงสำหรับการตรวจวินิจฉัยและคัดกรองโรค

ช่วยก่อให้เกิดประโยชน์ในกระบวนการเฝ้าระวังและควบคุม เพิ่มความสำเร็จในการรักษา ลดค่าใช้จ่าย และลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของคนไทยจากโรคที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศได้

ดร. บุญญาวัณย์ อยู่สุข ผู้ได้รับทุนสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย เป็นแหล่งผลิตน้ำมันเพื่อใช้เป็นอาหารและพลังงานสะอาด (ไบโอดีเซล) แต่ยังคงประสบปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาดที่ทวีความรุนแรงขึ้นในทุก ๆ ปี ปัญหานี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการส่งเสริมการใช้น้ำมันปาล์มภายในประเทศ และสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมการแปรรูปน้ำมันปาล์มให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าเพิ่มสูง โดยสารหล่อลื่นชีวภาพเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถเพิ่มมูลค่าให้แก่น้ำมันปาล์มไทยได้อย่างมาก

งานวิจัยจึงมุ่งคิดค้นกระบวนการหรือผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม วิเคราะห์คุณสมบัติ ศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต่าง ๆ ทดสอบประสิทธิภาพในสภาวะจำลอง ไปจนถึงการนำเอาไปทดสอบภายใต้สภาวะการใช้งานจริง เพื่อทดสอบประสิทธิภาพและเก็บข้อมูลเพื่อพัฒนาให้เหมาะสมกับการใช้งานมากที่สุด

งานวิจัยได้พัฒนาสารหล่อลื่นชีวภาพ ดังนี้ คือ น้ำมันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพติดไฟยาก น้ำมันผสมยางชีวภาพปราศจากสารก่อมะเร็ง และน้ำมันไฮดรอลิกชีวภาพ

ผลงานวิจัยจะช่วยยกระดับผลผลิตทางการเกษตรให้ถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ในภาคอุตสาหกรรมมูลค่าสูงด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นภายในประเทศ กระตุ้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ทางด้านโอลิโอเคมีภัณฑ์ให้เกิดขึ้น

สนับสนุนเกษตรกรปาล์มน้ำมัน และเป็นแนวทางในการพัฒนาปาล์มน้ำมันไทยอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

แต่ละปี โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 100 ท่าน

โดยในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพและสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงานโครงการมา 18 ปี มีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 69 ท่าน

ล่าสุด 2 นักวิจัยสตรี ผู้เคยได้รับทุนวิจัยจากโครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ระดับนานาชาติ ในปี 2016 ศ. เอ็มมานูแอลล์ ชาร์ปงทิเย และ ศ. เจนนิเฟอร์ เอ ดอดนา ได้คว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมี 2020 จากการคิดค้นเทคนิคกรรไกรตัดต่อพันธุกรรม

ซึ่งครั้งสุดท้ายที่รางวัลโนเบลมอบให้ผลงานของนักวิจัยหญิงล้วน คือเมื่อปี 1964 หรือ 56 ปีที่แล้ว นับเป็นรางวัลโนเบลที่ 5 ของนักวิจัยสตรีผู้ที่เคยได้รับการยกย่องจากโครงการฯ ระดับนานาชาติ โดยความสำเร็จนี้เป็นความภูมิใจของลอรีอัล ในการสนับสนุนสตรีนักวิทยาศาสตร์ที่ผลงานวิจัยเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและได้รับการเชิดชูเกียรติจากรางวัลที่สำคัญสูงสุดในวงการวิทยาศาสตร์โลก

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ