TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnology3 นักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ กับงานวิจัยเพื่อความยั่งยืน

3 นักวิทยาศาสตร์หญิงรุ่นใหม่ กับงานวิจัยเพื่อความยั่งยืน

“Because you’re worth it เพราะนี่คือคุณค่าที่คุณคู่ควร” พันธกิจของ ลอรีอัล ที่มุ่งส่งเสริมคุณค่าที่ไม่ใช่เพียงความงาม กับ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” โดยการสนับสนุนของ UNESCO ที่ดำเนินมาเป็นปีที่ 20 ตั้งเป้าหมายมอบทุนวิจัยปีละ 5 ทุน ทุนละ 250,000 บาท

อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสื่อสารองค์กรและสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยตัวเลขจากการศึกษาเกี่ยวกับสตรีในงานวิทยาศาสตร์ พบว่าในการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท ตัวเลขชาย-หญิง ค่อนข้างใกล้กัน คือ 50% แต่ในระดับสูงขึ้นช่องว่างจะห่างออกไปเรื่อย ๆ มีสตรีในระดับปริญญาเอกที่ 40% ตำแหน่งทางวิชาการระดับสูง เหลือแค่ 11% และสตรีที่ได้รับรางวัล Nobel Prize มีเพียง 3%

UNESCO เผยตัวเลขของสตรีในงานวิทยาศาสตร์ทั่วโลกอยู่ที่ 29.3% ในแต่ละทวีปที่แยกย่อย ภูมิภาคเอเชียใต้ มีตัวเลขอยู่ที่ 18.5% และสูงสุดที่ภูมิภาคเอเชียกลาง 48.2% ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคพบนักวิจัยสตรีสูงสุด 75.6% อยู่ที่ประเทศพม่า ในขณะที่ประเทศเนปาลมีเพียง 7.8% 

ส่วนประเทศไทย ตัวเลขนักวิจัยสตรีอยู่ที่ 53.2% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่น่ายินดี แต่หากมองที่รางวัลสูงสุดในวงการวิทยาศาสตร์ของไทย คือ รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ที่มีจุดเริ่มในปี พ.ศ. 2525 ในระยะเวลา 40 ปี มีสตรีที่ได้รับรางวัลเพียงแค่ 12% หรือ 7 ท่านเท่านั้น

ที่ลอรีอัลให้ความสำคัญกับสตรีในงานวิทยาศาสตร์ในหลากหลายโครงการ  For Girl in Science Program สร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิง ในการเรียนวิทยาศาสตร์ ทุนวิจัยสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ใน 110 ประเทศ มอบรางวัลให้สตรีนักวิทยาศาสตร์ไทย ไปแล้ว 81 ท่าน จาก 20 สถาบัน

ปี 2565 เป็นครั้งแรกในรอบ 19 ปี ที่นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมสตรีไทย ดร.พันธนา ตอเงิน ได้รับรางวัลระดับโลก International Rising Talent จากลอรีอัล และในระดับสูงสุดยังมีรางวัลเกียรติยศระดับนานาชาติ Laureates ที่มอบให้นักวิทยาศาสตร์สตรี 5 ท่านจาก 5 ทวีป

ผู้ได้รับทุนจากโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ผ่านการตัดสินอย่างโปร่งใสที่สุดจากคณะกรรมการ 10 ท่าน โดยในปีนี้มี  ศ.ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ เป็นประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ และศ.ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ เป็นรองประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์  โดยผลการตัดสินในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล 3  ท่าน ในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ 1 ท่าน และวิทยาศาสตร์กายภาพ 2 ท่าน

METAL- ORGANIC + Framework วัสดุดูดซับตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์

จากความหลงใหลในศาสตร์ทางด้านเคมี ทำให้ ผศ.ดร.กนกวรรณ กองพัฒน์พาณิชย์ เลือกที่จะศึกษาทั้งปริญญาตรีและปริญญาโท คณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อยอดด้วยการศึกษาปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น

“ชอบวิชาเคมีมากค่ะ โดยเฉพาะเคมีอนินทรีย์และเคมีอินทรีย์ แล้วเทคโนโลยีด้านวัสดุดูดซับต้องใช้ความรู้ทั้ง 2 แขนงของเคมีควบคู่กันไป ก็เลยสนใจ แล้วตอนที่เรียน วัสดุนี้ก็ยังไม่ได้มีการศึกษากันแพร่หลายทั่วโลกเท่าไหร่ ก็คิดว่ามันต่อยอดได้เยอะ แล้วมันก็มี potential ที่จะศึกษาต่อในอนาคต ก็เลยไปเรียนต่อปริญญาเอกในด้านนี้”

ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วยวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์

งานวิจัย “การพัฒนาวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์เพื่อการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม” ได้รับรางวัลทุนวิจัยจาก ลอรีอัล ประเทศไทย ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ผศ.ดร.กนกวรรณ อธิบายว่า วัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ Metal-Organic Frameworks หรือ MOFs เกิดจากโลหะและโมเลกุลของสารอินทรีย์ มาเชื่อมต่อกันเป็นโครงสร้างลักษณะเป็น 3 มิติ สามารถปรับโครงสร้างได้หลากหลาย

และด้วยคุณสมบัติที่มีรูพรุนอยู่ภายใน จึงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็น การกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ การกำจัดโลหะหนักในน้ำเสีย สารหนู ปรอท และแคดเมียม ซึ่งมีความเป็นพิษสูงและกำจัดได้ยาก ก่อให้เกิดปัญหาการปนเปื้อนในระบบนิวศ

ผศ.ดร.กนกวรรณ เริ่มศึกษาด้านวัสดุด้านวัสดุดูดซับ  ในช่วงเรียนปริญญาเอก เมื่อกลับมาเริ่มงานในประเทศไทย จึงมีเป้าหมาย ที่จะพัฒนาวัสดุชนิดนี้ เพื่อประยุกต์ใช้ตอบโจทย์ในระดับอุตสาหกรรมได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งในปัจจุบัน วัสดุดูดซับที่ใช้กันในอุตสาหกรรม มาจากการนำเข้าเป็นหลัก ไม่สามารถควบคุมราคาได้ และราคาเพิ่มขึ้นทุกปี

“การมีองค์ความรู้พื้นฐานที่เป็นของเราเอง เราก็จะสามารถนำไปต่อยอดสู่งานวิจัยที่นำไปสู่การใช้งานได้หลากหลาย  ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศได้ ถ้าเรามีเทคโนโลยีของเราเอง ผลิตเองโดยใช้วัตถุดิบที่มีในประเทศ รวมถึง เพิ่มโอกาสการจ้างงานในประเทศ ก็จะทำให้ควบคุมราคาวัสดุได้ นอกจานี้การออกแบบกระบวนการสังเคราะห์ หรือกระบวนการผลิต ให้มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ลดต้นทุนมากขึ้นอีก”

ปัจจุบัน ผศ.ดร.กนกวรรณ เป็นอาจารย์ประจำที่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล สถาบันวิทยาสิริเมธี หรือ VISTEC ซึ่งริเริ่มก่อตั้งโดยกลุ่ม ปตท. เป็นหน่วยงานการศึกษาที่ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาเอก โดยมีรูปแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถทำงานวิจัยเชิงลึกและสร้างองค์ความรู้ใหม่ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ที่ผ่านมา ผศ.ดร.กนกวรรณ มีผลงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการมาโดยตลอด และมีความใฝ่ฝันในฐานะนักวิจัย ที่ผลงานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่มีคุณภาพสูง ในสาขาเคมีและสาขาวัสดุศาสตร์ และคาดหวังว่าองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยของเธอ จะถูกนำไปต่อยอดใช้ในกระบวนการผลิตได้จริงในอนาคต

ผศ.ดร.กนกวรรณ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เป็น 1 ใน 3 ผู้ได้รับรางวัลทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทยว่า “เป็นเกียรติมากเลยค่ะ ที่ได้รับรางวัลในวันนี้ และเป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ทำให้เรารู้สึกว่า งานวิจัยที่เราทำอยู่มันมีคุณค่าจริงๆ แล้วก็เป็นกำลังใจสำคัญให้เราแบบต่อยอดงานวิจัย ทำงานวิจัยที่ดีขึ้นกว่านี้ออกมาในอนาคตค่ะ”

“ส่วนตัวคิดว่า ป้จจุบัน บทบาทชาย-หญิงในการทำงานวิจัยขั้นสูง ไม่ได้มีอุปสรรคอะไร ทุกวันนี้ผู้หญิงผู้ชายทำงานได้พอๆกันอยู่แล้ว  แต่อาจจะอยู่ที่ลักษณะงานด้วย ลักษณะงานที่ทำอยู่มันเป็นงานวิจัยทางเคมีเพราะฉะนั้น ชายหญิงมันไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรอยู่แล้ว”

รับมือ Climate Change โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐาน กับ “หญ้าทะเล”

พิมพ์ชนก บัวเพชร
รศ.ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร

ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ถือเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่สำคัญ จึงเรียกว่า “Blue Carbon” แนวหญ้าทะเล เป็นหนึ่งในพื้นที่บลูคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพสูง การสลายตัวของคาร์บอนในระบบนิเวศหญ้าทะเลยังเกิดขึ้นได้ช้ามาก ทำให้คาร์บอนเหล่านี้ สามารถถูกกักเก็บไว้ในพื้นดินตะกอนหญ้าทะเลไว้ได้อย่างยาวนาน เราพบหญ้าทะเลได้ในบริเวณแนวชายฝั่งทะเลเชื่อมต่อกับป่าชายเลน เป็นพื้นที่ที่แสงส่องถึง นั่นหมายถึงว่าน้ำต้องไม่ขุ่น

รศ.ดร.พิมพ์ชนก บัวเพชร นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวถึงที่มาของงานวิจัยหัวข้อ “การบูรณาการคุณลักษณะทางนิเวศสรีรวิทยาของหญ้าทะเล เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูระบบนิเวศและความสามารถในการกักเก็บคาร์บอน” ว่า

“งานที่ทำอยู่หลักๆ คือ ศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายฝั่ง ป่าชายเลน รวมถึงหญ้าทะเล ซึ่งสถานการณ์ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เราก็รู้ว่า หญ้าทะเลทำหน้าที่เป็นแหล่งกักเก็บดูดซับคาร์บอน แต่ในขณะเดียวกันหญ้าทะเลก็ได้รับผลกระทบจาก Climate Change ด้วย เราจึงมีแนวคิดว่า เราจะไม่หยุดงานวิจัยอยู่แค่การประเมินผลกระทบ แต่จะต้องพยายามทำอะไร เพื่อดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรของเราด้วย”

งานวิจัยทางด้านสรีรวิทยาการอนุรักษ์ เป็นสาขาใหม่ที่ได้รับความสนใจมากในปัจจุบัน สิ่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ทำมากกว่าที่จะศึกษาแค่ว่า แหล่งไหนมีหรือไม่มีหญ้าทะเล คือการศึกษาการตอบสนองของหญ้าทะเลต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม โดยใช้คุณลักษณะทางสรีรวิทยา เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของหญ้าทะเล เป็นการศึกษาลงลึกมากขึ้น แต่เพิ่มความแม่นยำ เป็นการลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ ในการตัดสินใจลงมือทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูใดๆ ซึ่งต้องใช้ทั้งเงินและทรัพยากรบุคคล

ความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับการเป็น “เนิร์ดหญ้าทะเล”

ปัจจุบัน รศ.ดร.พิมพ์ชนก ในวัย 36 ปี เป็นอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ย้อนกลับไปในวัยมัธยมปลาย อายุเพียง 18 ปี และได้รู้จักกับหญ้าทะเลครั้งแรกในการฝึกงานในฐานะนักเรียนโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ พสวท.จนเข้าศึกษาต่อปริญญาตรี สาขาชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ก่อนที่มหาวิทยาลัยสต็อคโฮล์ม ประเทศสวีเดน จะรับเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาเอกในด้านสรีรวิทยาของพืช โดยไม่ต้องผ่านการเรียนปริญญาโท

“นกทำงานเรื่องหญ้าทะเลมาตั้งแต่อายุ 18 เป็น relationship ที่ยาวนานที่สุด จริงๆ แล้ว จุดแรกที่สนใจคือ หญ้าทะเล เป็นพืชดอก กลุ่มเดียว ที่อยู่ได้ในทะเลตลอดวงชีพ มีการปรับตัวที่เป็นรอยต่อทางวิวัฒนาการ เป็นพืชที่ เก๋ และมี Strategy  มีกลไกทำโน่นทำนี่ได้ตั้งหลายอย่าง ทำให้เรารู้สึกว้าว”

“ในต่างประเทศ ศึกษาหญ้าทะเลในฐานะพืชที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพราะว่ามันสามารถเจริญเติบโตเป็นเหง้า ด้วย Genetic Material เดียวกัน ยิ่งศึกษามานาน เราก็อยากให้ทรัพยากรนี้ยังอยู่กับเราไปนานๆ” 

รศ.ดร.พิมพ์ชนก มองว่า โครงการทุนวิจัย ลอรีอัลเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์  มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สตรีเข้ามามีบทบาท ในการแก้ไขวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ ไปพร้อมกับการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน

“รู้สึกเป็นเกียรติมาก เพราะที่ ม.สงขลานครินทร์ นกเป็นคนที่ 2 ก่อนหน้านก คือศาสตราจารย์เบญจมาศ ชินสี ซึ่งอาจารย์เขาเก่งมาก นกก็เป็น FC และไม่น่าเชื่อที่เราได้ด้วย ก็ดีใจ ดีใจมาก”

“อยากให้คนรุ่นใหม่ เรียนในสิ่งที่ชอบ ถ้าชอบรักในสายวิทยาศาสตร์จริงๆ สุดท้ายมันจะมีทางไป อาชีพที่เกี่ยวข้อง กับ sustainability หรือความยั่งยืน มันเป็นอาชีพแห่งอนาคต ดังนั้น จริงๆวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา หรือวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม ก็เป็นประตูให้เราได้ ถ้าเราสนใจงานในด้านนี้”  รศ.ดร.พิมพ์ชนก ทิ้งท้ายไว้เป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจเรียนด้านวิทยาศาสตร์

นวัตกรรมต้นแบบวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม

อัญชลี จันทร์แก้ว
ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว

ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เจ้าของงานวิจัย “บูรณาการระเบียบวิธีศึกษาทางทฤษฎีเพื่อพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์และวัสดุขั้นสูงสำหรับโรงกลั่นชีวภาพและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งได้รับรางวัลทุนวิจัย ลอรีอัล ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ที่ลงลึกไปในด้าน การวิจัยเชิงคำนวณ หรือ Simulation ได้อธิบายว่า

“ปกติในปฏิกิริยาเคมี การจะเปลี่ยนสารหนึ่งไปเป็นอีกสารหนึ่งก็ต้องใช้การกระตุ้น อาจจะใช้อุณหภูมิ ความดัน หรืออัดแก๊สไฮโดรเจน เพื่อจะได้มาเป็นผลผลิตที่ต้องการ วัสดุที่เราเอาไปใส่ มันอาจจะช่วยให้การเปลี่ยนกระบวนการนั้น ทำให้อุณหภูมิลดลง หรือไม่ต้องใช้ความดันสูงมาก ทำให้ผลิตได้ดี มีสภาวะที่ดีขึ้น ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงที่จะเกิดอันตราย”

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการพัฒนาวัสดุตัวเร่งปฏิกิริยาวิวิธพันธ์ (Heterogenous catalysts) เพื่อใช้ในโรงกลั่นชีวภาพ หรือ Biorefineries โดยนำเทคนิควิธีการคำนวณทางทฤษฎีมาช่วยจำลองโครงสร้าง ข้อมูลที่ได้จากการทดลองนำมาใช้จำลองวัสดุ หรือในบางกรณี เป็นการทำนาย วัสดุ ชนิดใหม่ๆ เพื่อไปทดสอบหรือว่าคำนวณหาคุณสมบัติที่เป็นตัวบ่งชี้ว่า ควรจะปรับปรุงประสิทธิภาพอย่างไร และคัดเลือกตัวเร่งปฏิกิริยา ที่มีประสิทธิภาพสูง และมีราคาที่เหมาะสม ไปทดสอบเพื่อขยายกำลังการผลิต โดยมีเป้าหมายว่านำไปใช้จริง ในอุตสาหกรรม

“ถ้างานวิจัยนี้สำเร็จลุล่วงนะคะ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเทคโนโลยีโรงกลั่นชีวภาพของประเทศไทย เพราะว่าจะเป็นการนำทรัพยากร ที่เหลือทิ้งทางการเกษตร หรือว่าชีวมวลมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ แล้วก็เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน และลดการพึ่งพา เทคโนโลยีจากต่างประเทศ”

งานวิจัยเชิงคำนวณ คาดการณ์ – ลดการสูญเสีย – เพิ่มประสิทธิภาพ

ดร.อัญชลี จันทร์แก้ว เป็นอีกหนึ่งนักเรียนทุน โครงการพสวท. ภาคเหนือ และได้รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเคมี ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษาต่อปริญญาโท สาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนจะได้รับทุนจากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ ศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่ในสาขา Physical Chemitry จากมหาวิทยาลัยเทกซัสเอแอนด์เอ็ม สหรัฐอเมริกา โดยขยับไปศึกษาในสายวัสดุศาสตร์ และการคำนวณที่ ดร.อัญชลีมีความสนใจ

ดร.อัญชลี อธิบายถึง การวิจัยเชิงคำนวณ หรือ Simulation ว่าเป็นการจำลองทางโมเลกุล โดยใช้ทฤษฎีกลศาสตร์ควอนตัม หรือ Quantum Mechanics ที่พัฒนาโดยนักฟิสิกส์ -คณิตศาสตร์ และมีการนำมาใช้ในการศึกษาคุณสมบัติวัสดุ เพื่อที่จะปรับปรุงให้วัสดุนั้น ให้มีประสิทธิภาพดีในการใช้งาน  ซึ่งในปัจจุบัน การวิจัยเชิงคำนวณ ได้รับการความสำคัญในแง่เป็นเทคนิคขั้นสูงที่ใช้ควบคู่ไปกับการทดลอง  โดยช่วยคาดการณ์รูปแบบหรือศักยภาพที่มีความเป็นไปได้ ก่อนจะนำไปทดลองจริง

งานวิจัยโดย ดร.อัญชลีจึงถือเป็น ต้นน้ำสำคัญ ที่เป็นจุดก่อเกิดองค์ความรู้ ที่จะมีการนำไปทดลองจริง ช่วยให้การพัฒนาวิจัยเกิดได้เร็วขึ้น ลดค่าใช้จ่ายและทรัพยากร ก่อนจะไปสู่รูปธรรมในปลายน้ำ คือการถ่ายทอดเทคโนโลยีใช้ในระดับอุตสาหกรรมได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมโรงกลั่นชีวภาพ อุตสาหกรรมพลาสติก หรืออุตสาหกรรมยา โดยที่ผ่านมามีการตีพิมพ์ผลงานในวารสารต่างประเทศ อาทิ วารสาร Green Chemistry ซึ่งที่ยอมรับมากว่าเป็น High impact ของวงการวิทยาศาสตร์หรือในเชิงเคมี

“ต้องขอบคุณลอรีอัล ที่เห็นความสำคัญของงานวิจัยเชิงคำนวณ ทำให้มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยต่อไป ตรงนี้ก็จะเป็นโอกาส ที่จะสามารถบอกกับสังคมว่า งานวิจัยเชิงคำนวณสามารถเอามาใช้ประโยชน์ได้จริง และมีประโยชน์จริงในงานวิจัยและต่อประเทศด้วย และขอบคุณที่เห็นความสำคัญของสตรีในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งแนวคิดและมุมมองของสตรี เป็นส่วนที่ช่วยเติมเต็ม และขับเคลื่อนโลกได้อย่างสมดุล”

ดร.อัญชลีกล่าวก่อนจะทิ้งท้ายฝากแรงบันดาลใจไปยังเด็กรุ่นใหม่ว่า “วิทยาศาสตร์สนุกมาก และมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีกเยอะ ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือหรือแม้แต่เทคนิคการคำนวณ มันมีอะไรให้ศึกษากว่านี้อีกเยอะ เราต้องมีการพัฒนาไปเรื่อย ๆ บอกไม่ได้เลยว่าอีกมากมายขนาดไหน อยากจะให้คนที่สนใจทางด้านวิทยาศาสตร์มาลองเรียนด้านนี้ หรือมาทำงานด้านนี้ดู รับรองว่า มีโจทย์ท้าทายเยอะแยะ ทั้งในประเทศเราเองและในระดับโลก”

อศินา พรวศิน – สัมภาษณ์
น้ำผึ้ง หัสถีธรรม – เรียบเรียง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เป็น 3.2% จากแรงส่งของการท่องเที่ยว

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ สั่งห้าม AIS PLAYBOX ถ่ายทอดสดบอลโลก 2022 ผ่านโครงข่าย IPTV

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ