TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologySafie Plus งานวิจัยหน้ากากอนามัย ที่ให้มากกว่าการป้องกัน

Safie Plus งานวิจัยหน้ากากอนามัย ที่ให้มากกว่าการป้องกัน

Safie Plus หน้ากากอนามัยแบบ 4 ชั้น มีแนวความคิดเริ่มต้นมาจากนักวิจัยที่พยายามคิดค้นหาวิธีการที่จะสามารถป้องกันการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยเริ่มพัฒนาครั้งแรกในวิกฤติช่วงการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก่อนจะถูกนำมาพัฒนาเพิ่มเติมในส่วนของรูปทรงเพื่อนำมาใช้ป้องกันฝุ่นในวิกฤตการณ์ PM 2.5 และล่าสุดผลงานวิจัยนี้ได้ถูกนำกลับมาอีกครั้งเพื่อจุดประสงค์สำคัญคือช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ของไทยให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทั่วทุกมุมโลก ณ ปัจจุบัน

การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ หน้ากากอนามัย Safie Plus ได้ถูกผลิตมาจำนวน 400,000 ชิ้น โดยเริ่มดำเนินการทยอยแจกจ่าย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 63 ไปยังโรงพยาบาล/สถานพยาบาล 6 แห่ง คือ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 5 จ.สมุทรสาคร โรงพยาบาลใน จ.ตาก ที่ อ.อุ้มผาง อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด โรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลหาดใหญ่ และ สำนักงานเขตสุขภาพที่ 2 ที่พิษณุโลก

ยงยุทธ อุตะมะ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอุ้มผาง ผู้ได้สัมผัสและทดลองใช้หน้ากากอนามัย Safie Plus กล่าวว่า หน้ากากอนามัย Safie Plus มีความหนามากกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป ช่วยให้เพิ่มความมั่นใจได้มากขึ้น เพราะทำงานอยู่ในฝ่ายอุบัติเหตุฉุกเฉินจะต้องได้เจอกับคนไข้เป็นด่านแรก ที่มีความหลากหลายของผู้คนมาก เพราะฉะนั้น เวลาเดินคัดกรองคนไข้ก็จะมีความกังวลพอสมควร แต่เมื่อได้สวมใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองก็สร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

“ปกติจะสวมใส่วันละ 8 ชั่วโมง จะถอดบ้างในช่วงพักกลางวัน แต่ถ้าวันไหนที่ต้องเข้าเวรทั้งเช้าและบ่ายและรู้สึกว่าหน้ากากใช้งานมากเกินไปก็จะเปลี่ยนอีกชิ้นหนึ่งในช่วงผลัดเวร แต่ถ้าวันไหนไม่ได้สัมผัสกับคนไข้มากก็อาจจะใช้ต่อ” ยงยุทธ กล่าว

ด้าน สุพิตา พาซู พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าวว่า ในวิชาชีพของพยาบาล ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็สวมใส่หน้ากากอนามัยกันอยู่แล้วขณะที่ต้องอยู่กับคนไข้ แต่อาจจะถอดออกเมื่อไม่ได้พบกับคนไข้ แต่ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทุกคนจำเป็นจะต้องป้องกันตัวเองมากขึ้น เพราะไม่รู้ว่าจุดไหนที่มีเชื้อโรคอยู่บ้าง จึงจำเป็นต้องสวมใส่ตลอดเวลา นอกจากนี้วิธีการสวมใส่ยังต้องสวมใส่และถอดเก็บอย่างถูกวิธีเพื่อป้องกันเชื้อโรค จะต้องทำการทิ้งหน้ากากลงถังขยะสำหรับขยะติดเชื้อ รวมถึงมีการเปลี่ยนหน้ากากบ่อยยิ่งขึ้น

“สำหรับแผนกไอซียู เราจะไม่ได้พบเจอผู้ป่วยมาก ส่วนมากจะเป็นผู้ป่วยที่นอนประจำ แต่จะต้องสัมผัสกับคนไข้เวลาไปอาบน้ำให้ ซึ่งการสวมใส่หน้ากากอนามัย Safie Plus ที่มี 4 ชั้นช่วย เพิ่มความมั่นใจมากขึ้นในการสัมผัสกับคนไข้อย่างใกล้ชิด สามารถป้องกันกันทั้งตัวเราและคนไข้” สุพิตา กล่าว

Safie Plus งานวิจัยหน้ากากอนามัย ที่ให้มากกว่าการป้องกัน

ด้าน แพทย์หญิงกฤติยา พึงวัฒนาพงศ์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า ในช่วงวิกฤติการระบาดโควิด-19 หน้ากากอนามัยที่ใช้ส่วนหนึ่งจะได้มาจากการบริจาค ซึ่งต้องมาพิจารณาดูว่าหน้ากากเหล่านั้นมีไส้กรองหรือไม่ กันน้ำหรือไม่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นชนิดบาง แต่ Safie Plus สวมใส่แล้วกระชับกับใบหน้า เพิ่มความมั่นใจมากขึ้น และไม่ได้รู้สึกอึดอัดกับความหนา นอกจากนี้ หน้ากากอนามัย Safie Plus ยังสามารถนำมาสวมใส่ทับหน้ากาก N95 ที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน “เมดิคัล เกรด” ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกันน้ำได้มากขึ้น ในกรณีที่ต้องดูแลคนไข้ที่ติดโควิด-19

“ในอนาคตบุคลากรในโรงพยาบาลจำเป็นจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยไปตลอดเวลา จากที่ในสมัยก่อนผู้ที่จะสวมใส่จะเป็นเพียงกลุ่มของผู้ที่ตรวจคนไข้ใกล้ชิด หรือเคสที่มีปัญหาเรื่องทางเดินหายใจ แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ทั่วไปก็จะไม่ได้ใส่เพราะว่าไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดคนไข้ แต่หลังจากนี้บุคลากรทุกตำแหน่งงานก็จะต้องสวมใส่” แพทย์หญิงกฤติยา กล่าว

แนวคิด/ที่มา Safie Plus:

ด้านนักวิจัย ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์ ทีมวิจัยเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์ฝังในศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-Med) สวทช. กล่าวว่า แนวคิดการวิจัยหน้ากากอนามัย  Safie Plus มาจากการที่ห้องปฏิบัติการทำวัสดุทางการแพทย์ เรียกว่า Hydroxyapatite ที่องค์ประกอบมีความใกล้เคียงกับกระดูกของคน และมีคุณสมบัติพิเศษที่มีประจุในตัวของมันเอง เพราะฉะนั้น จะสามารถดูดหรือดักจับอนุภาคตรงข้ามให้มาเกาะที่ตัวได้ ในขณะเดียวกันก็เพิ่มสาร Titanium dioxide ที่มีคุณสมบัติเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาทางแสงที่สามารถทำงานภายใต้แสง UV เมื่อเจอกับสิ่งสกปรกต่าง ๆ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส หรือ PM 2.5 ก็จะถูกกระตุ้นโดยแสง UV และเกิดการย่อยสลายเชื้อโรคต่าง ๆ ให้มีรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถทำอันตรายเมื่อเข้าไปอยู่ในร่างกายคนได้ จึงเป็นที่มาที่นำวัสดุ 2 ชนิดนี้มาใช้เป็นวัสดุเชิงประกอบ (Composite Materials)

“ด้วยความที่เราเป็นนักวัสดุศาสตร์ เคยได้รับจ้างวิจัยทำเรื่องหน้ากากอนามัยมาก่อน จึงมองว่า จากวัสดุเชิงประกอบ น่าจะทำให้หน้ากากอนามัยที่เราใช้กันปัจจุบันมีประสิทธิภาพ ป้องกันผู้ใช้งานได้มากยิ่งขึ้นมากกว่าหน้ากากอนามัยทั่ว ๆ ไป นั่นคือความสามารถในการกรองไวรัสและ PM 2.5 ที่มากกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไป จึงได้พัฒนาขึ้นมาเป็น Safie Plus” ดร.นฤภร กล่าว

Safie Plus มีความแตกต่างจากหน้ากากอนามัยทั่วไป (Surgical Mask) เนื่องจากหน้ากากอนามัยทั่วไปจะประกอบด้วยผ้าจำนวน 3 ชั้น ชั้นนอกสุดทำหน้าที่ป้องกันน้ำ ชั้นกลางจะเป็นชั้นกรอง ส่วนชั้นในสุดจะช่วยซับน้ำที่เกิดขึ้นในขณะที่ใช้งาน

แต่ Safie Plus จะเพิ่มชั้นกรองขึ้นอีก 1 ชั้น คือผ้ากรองนอนวูฟเวนที่เป็นเส้นใยธรรมชาติผสมพอลิเอสเตอร์ที่เคลือบด้วยวัสดุเชิงประกอบ นั่นคือ Hydroxyapatite และ Titanium dioxide แทรกไประหว่างชั้นนอกสุดกับชั้นกลางของหน้ากากอนามัยทั่วไป

Safie Plus งานวิจัยหน้ากากอนามัย ที่ให้มากกว่าการป้องกัน

ซึ่งนอกเหนือจากคุณสมบัติการกรองโดยใช้ช่องว่างระหว่างเส้นใยของผ้าทั้งสามชั้น ก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถเข้ามาดักจับ PM 2.5 แบคทีเรีย และไวรัส ไม่ให้ลอดผ่านหน้ากากอนามัยไปสู่ผู้สวมใส่ และสามารถย่อยสลายสิ่งสกปรกเหล่านี้ทำให้ผู้สวมใส่มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น

“เราได้นำหน้ากากอนามัย Safie Plus ไปทดสอบประสิทธิภาพกับห้องแล็บที่ได้มาตรฐาน โดยการทดสอบด้านไวรัสส่งไปที่ เนลสัน แล็บ สหรัฐฯ และผลทดสอบพบว่า Safie Plus สามารถกรองไวรัสได้มากถึง 99% ส่วนการทดสอบด้าน PM 2.5 ส่งไปที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นแล็บมาตรฐานของสิงคโปร์ พบว่า Safie Plus สามารถกรองฝุ่น PM 2.5 ได้มากถึง 99% เช่นกัน” ดร.นฤภร กล่าว

จากความรักสู่การคิดค้นหน้ากากอนามัย

จุดเริ่มต้นของการวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัยของ ดร.นฤภร เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 

“เราทำเพราะเราเป็นแม่ที่มีลูกเล็กและต้องส่งลูกเข้าเนอสเซอรี่ตั้งแต่อายุ 3 เดือนครึ่ง ซึ่งเมื่อเข้าไปเรียนลูกกลับติดเชื้อทางเดินหายใจ (เป็นหวัด) ทำให้ต้องหาหมอสัปดาห์เว้นสัปดาห์ ความคิดในขณะนั้น เราเองในฐานะที่เป็นนักวัสดุศาสตร์เราคงจะไม่สามารถผลิตวัคซีนหรือยาเพื่อมุ่งไปสู่การรักษาได้ เราจึงมองถึงแง่มุมในส่วนของวิธีการป้องกันว่าจะทำอย่างไรเพื่อปกป้องลูกหรือคนที่อยู่ใกล้เคียงเราให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคและเห็นว่าหน้ากากอนามัยเป็นอุปกรณ์ที่ดีชนิดหนึ่งที่จะสามารถช่วยป้องกันคนที่เรารักให้ปลอดภัยจากโรคในระบบทางเดินหายใจได้” ดร.นฤภร กล่าว

ดร.นฤภร กล่าวต่อว่า ด้วยความที่ต้นทุนสมัยนั้นหน้ากากอนามัยมีต้นทุนแค่ 50 สตางค์ และการที่จะใส่แผ่นกรองเข้าไปทำให้เพิ่มต้นทุน ประกอบกับคนยังไม่ได้มีตระหนักด้านสุขภาพ จึงทำให้หน้ากากอนามัยที่ผลิตออกมายังไม่ได้รับความนิยม ณ ขณะนั้น แต่เมื่อเกิดวิกฤติ เรื่อง PM 2.5 เข้ามา คนจึงหันมาให้ความสนใจกับหน้ากากอนามัยมากขึ้น โครงการฯจึงถูกนำกลับมาอีกครั้งหนึ่งเพื่อตอบสนองวิกฤติที่เกิดขึ้นระดับประเทศ จึงนำไปทดสอบการกรอง PM 2.5 ที่มีขนาดใหญ่กว่าไวรัส

ซึ่งรูปทรงหน้ากากที่ผลิตออกมาในครั้งนี้เป็นรูปแบบที่เรียกว่า สามมิติ เพื่อให้เข้ารูปกับใบหน้ามากที่สุดเพื่อให้สามารถป้องกันฝุ่นที่เข้ามาได้จากทุกช่องทาง และเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าหน้ากากแบบสี่เหลี่ยมธรรมดาทั่วไป

“ด้วยความที่เป็นงานวิจัย ประกอบกับงบประมาณที่จำกัด เราจึงสามารถทำต้นแบบในครั้งแรกได้เพียงประมาณ 10,000 ชิ้น เป็นขนาดสำหรับผู้ใหญ่ 5,000 ชิ้น และขนาดสำหรับเด็ก 5,000 ชิ้น จากนั้นเราได้ให้ความอนุเคราะห์ไปยังโรงพยาบาล และโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง สวทช. เพื่อให้บุคลากร และประชาชนทั่วไปได้ทดลองใช้งาน เพื่อป้องกัน PM 2.5” ดร.นฤภร กล่าว

และจากจุดเชื่อมต่อระหว่างวิกฤติ PM 2.5 ไปสู่วิกฤติโควิด-19 ทำให้หน้ากากอนามัยมีการเพิ่มราคาสูงมากขึ้นจนถึงขั้นขาดตลาด รวมถึงการผลิตหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม ทำให้การจ้างต่างประเทศผลิตและนำเข้ามามีความยากลำบากมากขึ้น ขณะที่ในประเทศไทยโรงงานก็มีข้อจำกัดเรื่องการผลิตทรง สาม มิติ และโรงงานที่เคยผลิตให้ก็ไม่สามารถผลิตให้ได้ แต่อย่างไรก็ตามทีมวิจัยก็ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือประเทศในยามวิกฤกติ จึงตัดสินใจทำออกมาเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมเหมือนกับหน้ากากอนามัยทั่วไป

Safie Plus งานวิจัยหน้ากากอนามัย ที่ให้มากกว่าการป้องกัน

หลังจากได้ขออนุญาตคณะกรรมการที่ดูแลควบคุมหน้ากากอนามัย และในเดือนกรกฎาคมปี 63 ได้จ้างบริษัทผู้ประกอบการที่ได้รับมาตรฐาน ISO 13485 ที่เป็นมาตรฐานสำหรับการผลิตเครื่องมือแพทย์โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย นำผ้ากรองที่วิจัยและพัฒนาไปตัดเย็บเป็นหน้ากากอนามัยจำนวน 400,000 ชิ้น ใช้เวลาเพียงแค่ 1 วัน

“เราตีราคาต้นทุนหน้ากากอนามัยต่อ 1 แผ่นไว้ที่ 4.50 บาท จุดประสงค์หลัก ณปัจจุบัน คือเพื่อให้ผลงานวิจัยได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขวิกฤติภายในประเทศชาติ จึงผลิตเพื่อแจกจ่ายอย่างเดียว โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนมาจาก สวทช. และ สภาการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ซึ่งให้งบประมาณมาสำหรับการขยายกำลังการผลิตตัววัสดุเชิงประกอบ ไปจนถึงการตัดเย็บมาเป็นหน้ากากอนามัย ซึ่ง หน้ากากอนามัย Safie Plus ถือเป็นสิทธิบัตรของ สวทช.” ดร.นฤภร กล่าว

ดร.นฤภร มีแผนการผลิตที่มากกว่า 400,000 ชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณและกำลังการผลิต เพราะอุปกรณ์การผลิตไม่ได้เป็นของ สวทช. ซึ่งสิ่งที่ทำได้คือขยายกำลังการผลิตของตัวสารตั้งต้นวัสดุเชิงประกอบ และอัปสเกลตัวน้ำเคลือบที่จะนำไปใช้เคลือบผ้าอีกครั้งหนึ่ง วิธีการคือส่งน้ำเคลือบ ไปที่โรงงานแรกที่เป็นโรงเคลือบ จากนั้นจะได้ผ้าเคลือบมาเป็นม้วน ๆ และส่งผ้าเคลือบไปที่โรงผลิตหน้ากากอีกที ก็จะสามารถขยายการผลิตได้วันนึงประมาณ 500,000 ชิ้น

“แม้เราจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่เรามั่นใจว่าจะสามารถช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ได้มากยิ่งขึ้น เรามุ่งเป้าหลักไปที่บุคลากรทางการแพทย์ก่อนเพราะว่ามีความเสี่ยงมากกว่าบุคคลทั่วไป พวกเขาต้องคอยติดต่อกับบุคคลทั่วไปที่อาจจะไม่ได้แสดงอาการ” ดร.นฤภร กล่าว

ผลตอบรับหลังการทดลองใช้ Safie Plus

“หลังจากการใช้มาได้ 5 วัน ส่วนตัวยังไม่พบปัญหา แต่เพื่อนที่ใช้งานบางคนแจ้งว่าเมื่อใช้ไปถึงช่วงบ่ายหน้ากากจะเป็นขุย และระคายเคืองใบหน้าเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วใช้ได้ดี ส่วนตัวอยากจะให้นักวิจัยพัฒนาในส่วนของเนื้อสัมผัสเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ไปสัมผัสและหน้ากากเป็นขุยสร้างความระคายเคืองให้ผิวหน้า” ยงยุทธ อุตะมะ พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าว

“หลังจากการทดลองใช้มา 4-5 วัน โดยรวมคิดว่าดี เพราะหน้ากากมีความหนาและแน่น และจากที่ถามเพื่อนร่วมงานหลาย ๆ คนก็ชอบหน้ากาก 4 ชั้นมากกว่า เพราะรู้สึกสร้างความปลอดภัยให้กับคนทำงาน สิ่งที่อยากให้นักวิจัยพัฒนาคือเรื่องของการระบาย เพราะการใส่หน้ากาก 4 ชั้นจะรู้สึกอึดอัดมากกว่าการใส่หน้ากากปกติเล็กน้อย โดยเฉพาะเมื่อเจอกับสภาพอากาศที่ร้อนก็จะทำให้อึดอัด” สุพิตา พาซู พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลอุ้มผาง กล่าว

“สำหรับคนที่มีความสูงประมาณ 160 กว่าเซนติเมตร หน้ากากถือว่ากระชับใบหน้าดี แต่สิ่งที่อยากให้นักวิจัยทำเพิ่มเติม คือ หมอหรือพยาบาลบางคนที่ตัวสูงใหญ่มากกว่า 180 เซนติเมตร บอกว่าหน้ากากเล็กเกินไป ซึ่งถ้าทำขนาดเล็กและขนาดใหญ่เข้ามาให้เหมาะสมกับแต่ละคนมากขึ้นก็จะดี” แพทย์หญิง กฤติยา พึงวัฒนาพงศ์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าว

ดร.นฤภร กล่าวว่า ระยะเวลาการใช้งานขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนไปสัมผัสสภาพแวดล้อมที่ต้องเจอฝุ่น หรือเจอแบคทีเรีย ไวรัส มากขนาดไหน ถ้าบางคนจำเป็นที่จะต้องใช้ทั้งวันก็จะไม่แนะนำให้ใช้ต่อในวันต่อไป แต่ถ้าบางคนใช้ไม่นานและหน้ากากยังอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีการเสียหายของเส้นใยผ้าหรือสายคล้อง จะยังสามารถใช้ต่อได้ในวันต่อไป

“นับว่าเป็นความภูมิใจที่สุด เรารู้สึกภาคภูมิใจเพราะสิ่งที่เราได้ร่ำเรียนมาจากการเป็นนักเรียนทุน ใช้ภาษีของประชาชนไปเรียน ได้มีโอกาสกลับมาทำงานใช้ทุน และ ณ วันนี้ เราสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ โดยเฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์ เราก็ทำได้ จริง ๆ เราดีใจตั้งแต่ได้นำงานวิจัยมาช่วยวิกฤติ PM 2.5 ได้แล้ว และในยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ยิ่งทำให้เรารู้สึกเห็นคุณค่าของงานวิจัยที่จะเข้านำมาช่วยคนได้ในทันที สุดท้ายอยากจะขอเป็นกำลังใจให้กับนักวิจัยผู้ร่วมอุดมการณ์ทุก ๆ ท่าน อยากจะบอกว่าการเรียนวิทยาศาสตร์มันช่วยประเทศได้จริง ๆ และถึงแม้เราจะเป็นเพียงจุดเล็ก ๆ แต่ความตั้งใจของเราจะนำพาเราไปสู่โอกาสในการร่วมพัฒนาประเทศชาติได้ค่ะ” ดร.นฤภร กล่าว

เตรียมต่อยอดงานวิจัย

สำหรับการต่อยอดงานวิจัย Safie Plus ดร.นฤภร มองว่า หน้ากากอนามัยจะต้องตอบโจทย์การใช้งานประชาชนทั่วไปด้วย โดยการประยุกต์ หน้ากากอนามัยแบบ Surgical Mask กับหน้ากากอนามัย  N95 มาทำให้เหมาะสมกับประชาชนทั่วไป นำข้อดีข้อเสียของ N95 แต่ละตัว มาประกอบกับแผ่นกรอง ทำให้มีรูปทรงที่กระชับมากขึ้นและมีขนาดต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับใบหน้าของคนไทยช่วงอายุ และเพศ รวมถึงข้อจำกัดต่าง ๆ และจากที่สำรวจมาพบว่าหน้ากากอนามัยสำหรับเด็กมีตัวเลือกในการจำหน่ายค่อนข้างน้อย ซึ่งเด็กกลุ่มนี้ไม่สามารถดูแลตัวเองได้จึงเป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นมาก

Safie Plus งานวิจัยหน้ากากอนามัย ที่ให้มากกว่าการป้องกัน

“หน้ากากอนามัยก็จะต้องมีประสิทธิภาพ คนทั่วไปใช้งานได้ และราคาเหมาะสม สามารถจับต้องได้ คาดว่าต้นทุนราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15 บาทต่อ 1 ชิ้น” ดร.นฤภร กล่าว

การที่ต้องพัฒนาหน้ากากอนามัยให้มีลักษณะคล้ายกับ N95 เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานอ้างอิงและสร้างการยอมรับจากประชาชนทั่วไป หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ดร.นฤภร กล่าวต่อว่า สำหรับเทคโนโลยีของวัสดุอาจจะไม่ได้มีความจำเป็นต้องพัฒนาเพิ่ม เพราะ Hydroxyapatite ที่ผลิตมาเป็นวัสดุทดแทนกระดูกมีบริษัทรับถ่ายทอดเทคโนโลยีไปแล้ว ส่วนการนำ Hydroxyapatite มาผสมกับ Titanium dioxide ยังไม่มีความชัดเจนในการพัฒนาไปทำวัสดุอย่างอื่น เพราะ Titanium dioxide ปกติใช้กับงานสิ่งแวดล้อม กับการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเมื่อนำมารวมกันก็เห็นว่าปัจจุบันน่าจะมีแต่การนำไปผลิตหน้ากากอนามัยที่เป็นที่สนใจและนำมาใช้งานได้

“เราจะเน้นไปที่แอปพลิเคชันของการใช้งานมากกว่าว่าวัสดุเชิงประกอบตัวนี้จะนำไปใช้งานอย่างไร อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ต่อไปหน้ากากอนามัยจะยังเป็นสิ่งจำเป็นหรืออาจจะต้องหยิบมาเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับการดำเนินชีวิตในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเชื้อโรค และฝุ่น PM 2.5” ดร.นฤภร กล่าวสรุป

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ