TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewวิศวะฯ มหิดล ตั้งเป้าเป็น Hub ด้านวิศวกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ

วิศวะฯ มหิดล ตั้งเป้าเป็น Hub ด้านวิศวกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวทางการขับเคลื่นการวิจัยหลัก ๆ คือ เรื่องสุขภาพ (Healthcare) และการแพทย์ (Medical) ด้านอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบ ด้วยความเข้มแข็งนี้ ทำให้เกิดความร่วมมือกับภาคเอกชน เพราะการแพทย์มีความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Medical Hub 

อุตสาหกรรมทางการแพทย์ของประเทศไทยที่ผ่านจะเป็นการลงทุนจากภายนอก มีการนำเข้าหลายหมื่นล้านต่อปี ส่งออกถึงหกหมื่นล้านต่อปี แต่โดยมากแล้วจะยังไม่ Hi-tech แต่ในช่วง 3-4 ปีนี้มีกลุ่มที่เดิมอยู่ในอุตสาหกรรมอื่น มีการทรานส์ฟอร์มตัวเองและหาอุตสาหกรรมใหม่ที่จะทำ ปรับเปลี่ยนเข้ามาเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมทางการแพทย์อยู่พอสมควร 

รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวกับ The Story Thailand ว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จึงเล่นบทบาทเป็นแพลตฟอร์มที่จะช่วยเติมเต็มในส่วนของการปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรมมาสู่อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ที่ผ่านมาจะมีบริษัทและอุตสาหกรรมจำนวนมากเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลและเรียนรู้จากคณะฯ ขณะเดียวกันคณะฯ ได้เรียนรู้โจทย์ที่อุตสาหกรรมต้องการ อาทิ เอไอเอส ที่เข้ามาร่วมมือกัน ในการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอที่รองรับเรื่องการสื่อสาร และมีเอกชนในภาคอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ EEC ที่มีส่วนร่วม นี่คือ บทบาทของคณะฯ ที่มีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมของไทย 

บทบาทของคณะวิศวะฯ ในมหาวิทยาลัยที่มีความโดดเด่นเรื่องการแพทย์ ที่ ม.มหิดล มีทรัพยากรและความต้องการเรื่องการแพทย์จำนวนมาก ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาคณะฯ เปิดตัวเองกับคณะแพทย์ฯ​ และคณะที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ (Health Science) กว้างขวาง ด้วยความที่จงใจให้เป็นคณะวิศวะฯ ที่ไม่ใหญ่ แต่เน้นเรื่องงานวิจัย เป็นนโยบายที่จะคุมขนาดนักเรียนปริญญาตรี ปีละ 400 คน แต่ไปขยายขนาดนักเรียนปริญญาโทและเอกเพื่อเน้นงานวิจัย 

ซึ่งมหาวิทยาลัยชั้นนำในโลกที่มีความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม หรือสนับสนุนสตาร์ตอัพหรือภาคเอกชน ต้องมีความเข้มข้นและความลึกในเนื้องานวิจัย 

“ที่คณะฯ มีอาจารย์ทั้งหมด 140 คน ซึ่ง 80% เป็นคนรุ่นใหม่ อายุต่ำกว่า 45 ปี ทิศทางของคณะฯ มีความชัดเจน (ไม่ทำทุกอย่าง แต่จะโฟกัส) คือ มุ่ง Healthcare Engineering เป็นหัวหอกตัวนำ” 

คณะวิศวะ ม.มหิดล มีภาควิชาเหมือนคณะวิศวะฯ ทั่วไป คือ มีภาควิชาไฟฟ้า เครื่องกล เคมี และอุตสาหการ จะมีความแตกต่างพิเศษ ก็คือ วิศวกรรมชีวะการแพทย์ ที่ที่อื่นไม่มี ที่นี่เป็นภาควิชาเต็มรูปแบบ โดยใช้สหวิทยาการ (Interdisciplinarity) เป็นหลัก โดยใช้ความเข้มแข็งบวกกับสหวิทยาการ และความเชื่อมโยงกับคณะต่าง ๆ เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน

นอกจากนี้ ยังอีก 3 ประเด็นหลักที่ยังติดตามและดำเนินการและมีความเชื่อมโยงกับภาคการแพทย์ ก็คือ Digital Engineering ซึ่งคณะฯ มีความเชี่ยวชาญเรื่อง Digital Forensics และ IT Management อีกด้านเป็นเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เกี่ยวกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) และการทดสอบด้านพลังงาน ที่คณะฯ ทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงานเป็นศูนย์ทดสอบตรงนี้ และเรื่องสุดท้าย คือ เรื่องการพัฒนาเมือง ได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ และระบบราง 

“มหิดลมีความพิเศษ เรามีเพื่อนเป็นพันธมิตรต่างชาติให้ความสนใจเรามาก เราเก่งเรื่องนานาชาติ จะมีความเชื่อมโยงกับนานาชาติได้ดี ที่ผ่านมาเราก็ใช้ Internationalization เป็นฐาน เราแลกเปลี่ยนนักเรียน อาจารย์ ทำ Dual Degree เรียนที่เราครึ่งทางไปเรียนต่อที่อังกฤษ ได้ปริญญา 2 ใบ เป็นโอกาสของเด็ก ๆ ของเรา เป็นต้น” 

จังหวะทรานส์ฟอร์ม เดิมอาจจะมองว่าภาคการศึกษาก็อยู่ของเขาไปสนใจงานวิจัย วิทยาศาสตร์แบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นจริงหรือว่าใช้งานได้จริง ในโอกาสอีกด้าน ภาคอุตสาหกรรมมีระบบรูปแบบที่ดำเนินการมา ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยมากจะเป็นบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนเอางานวิจัยเข้ามา และให้ไทยเป็นผู้ผลิต 

แต่ช่วงทรานส์ฟอร์ม มีการดิสรัปต์ มีการเปลี่ยนของเจเนอเรชันด้วย ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเปลี่ยนแปลงและต้องอัปเดตเทรนด์และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ รูปแบบการเรียนการสอนจะต่างจากเดิม ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเองก็ต้องเปลี่ยนแปลง เขาต้องมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ที่ใกล้ตัวที่สุดที่หนึ่ง ก็คือ มหาวิทยาลัย 

“มหาวิทยาลัยแทนที่จะทำงานของเราไปคนเดียว เราตอบโจทย์ในโลกแห่งความเป็นจริงดีที่สุด ตอนนี้มีการเขย่าทั้งสังคมทั้งระบบ ทำให้เจอกัน มหาวิทยาลัยต้องออกไปหาเอกชน และยอมรับความว่าเด็กรุ่นใหม่ วิธีการรับข้อมูลการเรียนรู้ต่างจากเดิม อาจารย์เองต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ”

ข้อดีจากโอกาสที่ไม่ดีที่มีโควิด-19 คือ ทำให้คณะฯ มีการเรียนออนไลน์ มีการปรับ Mindset ทั้งอาจารย์และนักเรียน เป็นจังหวะที่ดีที่มีการเปลี่ยนแปลง

เป้าหมายของ คณะวิศวะฯ ม.มหิดล ทุกภาควิชามี Favor มาด้านสุขภาพและการแพทย์ และเข้าถึงโรงพยาบาลทางการแพทย์ และทำงานร่วมกับคุณหมอจริง ๆ รับโจทย์จริง ๆ ได้ ซึ่งบางอย่างอาจจะมากกว่าที่คณะฯ ทำได้ด้วยซ้ำ 

“เราอยากจะเป็น Hub ในเรื่องของการวิจัย การศึกษา และการเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ และเราเปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นว่าฉันเป็นมหิดล บางอย่างที่พระนครฯ อาจจะเก่งกว่า บางอย่างที่ลาดกระบังฯ มีความเชี่ยวชาญกว่า เราเป็นพันธมิตรกัน ส่วนตัวผมเองเป็นนายกสภาคณบดีวิศวะฯ เราเชื่อมโยงกันอยู่ บางที่อาจจะอยากเข้าถึงคุณหมอ เข้าถึงโจทย์ การทดลอง การทดสอบ เขาอาจจะทำได้ยาก แต่เราทำได้ง่าย และอยู่ในบริบทที่เป็นที่ยอมรับในมหาวิทยาลัยเราเองและในวงกว้างด้วย”

นวัตกรรมที่จะใช้งานจริง ๆ ในโรงพยาบาล จะมีเรื่องของความปลอดภัย มาตรฐาน และอีกหลายอย่างที่เป็นรายละเอียด ที่ผ่านมาผลงานที่ใช้จริงจะเป็นเรื่อง Back Office เรื่องโลจิสติกส์ เป็น Healtcare Logistic เป็น Backbone ช่วยกระทรวงสาธารณสุขสร้างระบบและจัดการหน้ากากอนามัยในช่วงแรกของการระบาดเมื่อปีที่ผ่านมา เป็นต้น

ที่โรงเรียนแพทย์ทั้งศิริราชและรามาฯ ให้ความสำคัญกับ Healthcare Engineering อาจารย์จากคณะวิศวะฯ ต้องเข้าไปช่วยสอนนักเรียนแพทย์ ทั้งเรื่อง Systematic Thinking และ Design Thinking อย่างของ รพ.รามาฯ เป็นแพทย์-วิศวะ คือ เรียนแพทย์​ 3 ปีก่อนแล้วอีก 1 ปี มานั่งเรียนที่คณะวิศวะฯ เรียนศาสตร์ด้านวิศวะฯ 3 ปีหลัง กลับไปเรียนหมอ เข้าวอร์ด ทำวิจัย ทำโปรเจกต์ จะเอาศาสตร์ด้านวิศวะฯ ไปใช้ เรียนจบมาได้ปริญญาทั้งแพทยศาสตร์บัณฑิต และวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตในส่วนของ Bio-Med ปริญญาโท 

“เริ่มรับมาแล้ว 2 รุ่น หวังจะมี Batch ของนักเรียนที่เป็นหมอและวิศวะฯ ในตัว คณะวิศวะฯ ที่นี่เปิด 30 ปี แต่ 12-13 ปีแรก สอนหนังสืออย่างเดียว ไม่มีงานวิจัย แต่มามีการวางรากฐานไว้ดี มีการเปิดงานวิจัย อาจารย์ที่คณะฯ มีเรียนศาสตร์การแพทย์มาแทบทั้งนั้น ตัวผมเรียนหุ่นยนต์ทางการแพทย์ หุ่นยนต์ผ่าตัด ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการด้านนี้สูงมาก ได้รับการยอมรับ มีการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ ช่วง 4-5 ปีหลัง ที่ผมมาเป็นคณบดี หลายอย่างขยายตัวและเข้าเส้นทางได้ค่อนข้างดี แต่สิ่งที่สำคัญเราต้องเปิดกว้าง เรามีเพื่อน มีพันธมิตร มั้งในมหาวิทยาลัยเราเอง และนอกมหาวิทยาลัย เราไม่ต้องเก่งทุกอย่าง” รองศาสตราจารย์ ดร.จักรกฤษณ์ กล่าวทิ้งท้าย 

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ