TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewSEAC กับพันธกิจ กระตุ้นคนไทย "รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต"

SEAC กับพันธกิจ กระตุ้นคนไทย “รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

กว่า 30 ปี กับการทำธุรกิจด้านการฝึกอบรมพัฒนาผู้บริหารและบุคลากร ของ “ขวัญ” อริญญา เถลิงศรี มีจุดเริ่มต้นจาก “Passion” ตั้งแต่เด็ก ที่ได้ตามคุณพ่อที่เป็นอาจารย์พิเศษ ได้มีโอกาสฟังคุณพ่อสอนหนังสือ เมื่อถึงเวลาที่เรียนจบจากแคนาดา จึงมุ่งมั่นอยากทำธุรกิจในด้านการฝึกอบรมเรื่องการศึกษา จนได้ก่อตั้งบริษัท ชื่อ APM Group (Asia Pacific Management) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น SEAC (South East Asia Center) เมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว

อริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC กล่าวกับ The Story Thailand ว่า ในสมัยที่เรียนอยู่แคนาดารู้สึกว่าเด็กไทยมีการเรียนรู้แบบ “ถูกสั่งให้ไป” คือ ต้องเรียนตามหลักสูตร หรือถูกฝ่ายบุคคลส่งไปอบรมตามบริษัทต่าง ๆ ในวัยทำงาน ขณะที่คนประเทศอื่นมีการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จึงอยากจะหาทางช่วยให้คนไทยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต ถึงแม้ว่าจะสวนกระแสกับนิสัยคนไทยมาก ซึ่งส่วนตัวมองว่าคนไทยมีศักยภาพ แต่ส่วนมากไม่รู้จักการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ไม่มีความหิวกระหายที่อยากจะรู้เรื่องใหม่ ๆ ฝึกฝนตัวเองในเรื่องใหม่ ๆ

เมื่อเรียบจบจึงก่อตั้งบริษัทตัวเอง ทำเรื่องฝึกอบรมเรื่องการศึกษา “เราเริ่มต้นทำกับเพื่อนแค่ 2 คน เพิ่มเป็น 3 คน 10 คน” อริญญา กล่าว พร้อมเล่าต่อว่า “ในเมืองไทยเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว ยังไม่มีคำว่า Workshop เราเป็นคนแรกที่นำคอนเซ็ปต์ของคำว่า Workshop เข้ามาในประเทศไทย เรานำคอนเซ็ปต์ เรื่อง Organization Development เข้ามา เราพยายามนำหลักคิดการพัฒนาคนในองค์กรมาให้องค์กรในประเทศไทยได้สัมผัส”

-ปฏิรูปการศึกษาไทย ปฏิรูปอธิการบดีก่อนไหม?
-dots academy ธุรกิจและชีวิต ของนักการตลาดชื่อ “ณัฐพัชญ์”

จนกระทั่ง APM เป็นที่ 1 ในตลาดของการพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรในประเทศไทย และเป็นเบอร์ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เป็นจังหวะที่โลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว บริษัทจึงต้องมองหาอะไรใหม่ ๆ ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ทาง AP Thailand ได้มองหาการ Diversify ธุรกิจ APM จึงได้ AP เข้ามาร่วมลงทุน และได้เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น SEAC เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ออกแบบหลักสูตร กระตุ้นให้คนอยากเรียน

อริญญา กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า 30 ปีที่ผ่านมาของพฤติกรรมการเรียนการสอนในประเทศไทย เปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก มีคนที่เรียนรู้ตลอดชีวิตเพิ่มขึ้น แต่เปอร์เซ็นต์ก็ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรไทยทั้งหมด เป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากที่คนไทยไม่ได้ถูกฝึกมาให้มี Learning Mindset ไม่มีความกระหายในการเรียนรู้ อย่างคนเวียดนามหรืออินโดนีเซีย ที่ไม่ต้องขอร้องให้มาเรียนรู้

ถ้าคนไทยยังไม่ปรับตัวเรื่องการเรียนรู้ในอีก 3-4 ปีหลังจากนี้ ก็จะยิ่งเห็นความต่าง เพราะปัจจุบันการเรียนรู้มันเข้าถึงได้ง่าย คนที่กระหายในการเรียนรู้เขาจะยิ่งเรียนรู้ได้มากขึ้น และทำให้คนไทยมีความห่างกับเพื่อนบ้านมากขึ้น ซึ่งภารกิจของ SEAC ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจ คือการทำให้ประเทศชาติแข่งขันได้ และทำให้ประเทศเพื่อนบ้านยอมรับคนไทย

SEAC จึงต้องออกแบบหลักสูตรโดยใช้องค์ประกอบหลายส่วน คือ ต้องพยายามทำให้รูปแบบการเรียนรู้ไม่เหมือนเดิม เช่น การออกแบบสถานที่ที่เข้ามาแล้วไม่รู้สึกเหมือนห้องเรียน ออกแบบหลักสูตรและประสบการณ์ที่คนเรียนจะได้รับ รวมถึง อาหาร เช่น จะทำอย่างไรให้ผู้บริหารเดินเข้ามาและได้กลิ่นหอมกาแฟ

“เราออกแบบตลอดเส้นทางการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมให้คนสนุกและอยากเรียนรู้ ตั้งแต่หลักสูตร ประสบการณ์การเรียนรู้ และรูปแบบการเรียนรู้ พนักงานของเราจะต้องใกล้ชิดกับลูกค้า ต้องมีความเข้าใจลูกค้า ต้องรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร เพื่อนำข้อมูลจากลูกค้ามาออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้กับลูกค้าได้”

SEAC มีทีมที่ทำเรื่อง Scouting ตลอดเวลา ทำการค้นคว้าและวิจัย ตลอดเวลา ติดตามแหล่งความรู้ใหม่ ๆ กับทางมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัย Stanford และพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น Haier นอกจากนี้ ยังมีการรีวิวกันทุกสัปดาห์ เพราะบางเรื่องปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว เช่น ด้านการตลาด และการขาย

“เราต้องมีความต่อเนื่อง ที่จะทำให้เราไม่อยู่ข้างหลัง เช่น หลักสูตรทุกหลักสูตร เราต้องมั่นใจว่ามันสามารถอัปเดตได้อย่างต่อเนื่อง ต้องหาประสบการณ์การเรียนรู้ที่ถูกจริตกับคนไทยมากขึ้น เราต้องทำให้หลักสูตรไปอยู่ในจุดที่ดีกว่าเดิม ทั้งเนื้อหา วิธีการส่งมอบ ประสบการณ์การเรียนรู้ การสื่อสารกับลูกค้า จะต้องดีกว่าเดิม เราจะไม่หยุดพัฒนา”

องค์กรให้ความสำคัญกับ “คน” มากขึ้น

คน คือ ทรัพยการสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจ และคนที่รักการเรียนรู้ หรือคนที่มี Mindset ต่อการเรียนรู้ที่ดี คือ ทรัพยากรที่ยิ่งมีความสำคัญมาก จากประสบการณ์ตรง พบว่า 5 ปีที่ผ่านมา SEAC เห็นว่า ธนาคารใหญ่ ๆ บริษัทชั้นนำที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีการทำ People Transformation มากขึ้น เพราะเริ่มเห็นพ้องต้องกันว่าแล้วว่าการทำ Digital Transformation อย่างเดียวไม่พออีกต่อไป

“เวลาพูดถึง Digital Transformation หมายถึง เทคโนโลยีที่ถูกเปลี่ยนแปลงภายในองค์กร แต่ถ้าคนยังทำงานเหมือนเดิม ก็ต้องกลับไปที่การเปลี่ยนแนวความคิดของคน”

อริญญา กล่าวว่า ทุกองค์กรที่วิ่งมาหา SEAC เข้ามาด้วยความต้องการการเปลี่ยนแนวความคิด (Mindset) ของพนักงาน จากนั้นจะมองเรื่องทักษะใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นทักษะการขาย การบริการลูกค้า การทำการตลาด และการทำ PR เพราะสิ่งที่เรียนมาในมหาวิทยาลัยไม่สามารถใช้ได้แล้ว เนื่องจากมีทักษะใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เมื่อได้ชุดความคิดและทักษะแล้ว จากนั้นจะมีความต้องการหาครื่องมือใหม่ ๆ ที่จะทำให้เปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองการทำ Digital Transformation

ซึ่งในปี 2020 ที่ผ่านมา 5 อุตสาหกรรมที่ส่งคนเข้ามาทำเรื่อง People Transformation มากที่สุด คือ

1.การเงิน การธนาคารและบริษัทประกันภัย จำนวน 3,957 คน
2.บุคลากรในมหาวิทยาลัย จำนวน 3,629 คน
3.อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จำนวน 2,766 คน
4.อุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภค และ การขุดเจาะ จำนวน 1,427 คน
5.เทคโนโลยี และการสื่อสาร จำนวน 1,090 คน

“มีหน่วยงานที่เข้ามาเรียนและนำกลับไปใช้ อย่าง Food Passion เป็นองค์กรที่เป็นตัวอย่างของการเป็น Life Long Learner คือ เรียนทุกเรื่อง และนำไปใช้ทุกอย่าง อีกตัวอย่าง คือ เซลล์ขายรถ ที่ไม่ต้องเข้าไปเจอลูกค้าโดยตรงแต่ใช้ Social Media แทน ซึ่งขายได้ดีกว่าคนที่ไปเจอกันที่โชว์รูม จนกลายเป็น Super Sales ขององค์กร”

“การเรียนรู้” ช่วย “เศรษฐกิจชาติ”

อริญญา เชื่อว่า การทำให้คนไทยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะสามารถยกระดับวิถีชีวิตหรือเศรษฐกิจได้ จะเห็นว่าในปีนี้มี Clubhouse เข้ามา ขณะที่ Facebook, Google หรือ Linkedin ก็กำลังจะมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาตลอด แม้กระทั่ง Netflix ก็กำลังเข้ามาในตลาดการศึกษา คนจะสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าคนในไทยจะเข้าใจขนาดไหน

ซึ่งมีการเปิดเผยสถิติ การเล่น Clubhouse ของคนไทย พบว่ามีการเปิดห้องวิชาการน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ สะท้อนว่าคนไทยไม่ได้ใช้แพลตฟอร์มไปในทางบวก

“ถ้าคนไทยยังไม่เข้าใจเรื่องการเรียนรู้ ใช้เวลากับเรื่องไร้สาระมากเกินไป ก็จะทำให้ประเทศเราแย่ลง เศรษฐกิจเราจะยิ่งถดถอย”

คนที่ทำธุรกิจต้องรู้ว่าโลกมันเปลี่ยนไปเยอะมาก อย่าสบายใจกับเครื่องมือหรือประสบการณ์ที่ได้มาในอดีต ควรจะใช้เวลาลับประสบการณ์ให้คมขึ้น ให้เหมาะกับยุค เพราะธุรกิจไม่ได้แข่งกับคนแข่งเดิม ๆ อีกต่อไป แต่กำลังแข่งกับผู้เล่นใหม่ ๆ

“เราบอกกับทีมงานเสมอว่า เรากำลังทำงานที่ยาก ไม่ได้ทำงานในสิ่งที่คนอยากได้ แต่เราจะเข้ามาเปลี่ยนคนไทยให้รักการเรียน ถ้าคนไทยแค่รู้จักเรียนรู้ก็จะสามารถยกระดับในเรื่องของวิถีชีวิตหรือเศรษฐกิจได้”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ