TH | EN
TH | EN
หน้าแรกInterviewDigital Transformation จะเกิดขึ้นมหาศาล

Digital Transformation จะเกิดขึ้นมหาศาล

Digital Transformation จะมีอัตราการเร่งอย่างรวดเร็วมาก ซึ่ง เดลล์ เทคโนโลยีส์ ได้ทำวิเคราะห์ว่ามีอะไรบ้างที่เข้ามาเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

-YouTrip ปรับกลยุทธ์ทำแคมเปญออนไลน์ โฟกัสออฟไลน์หลังพ้นโควิด-19
-โควิด-19 กระทบสตาร์ตอัพทั้งอีโคซิสเต็มส์ ‘เงินทุน-บุคลากร-ตลาด’

อโณทัย เวทยากร รองประธานบริหาร ตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชีย และธุรกิจคอนซูเมอร์ภูมิภาคเอเชียใต้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวกับ The Story Thailand ว่า

1.การทำงานที่บ้านกลายเป็นสิ่งที่จะทำกันอย่างถาวร
2.ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) จะต้องถูกเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล รวมถึงระบบโลจิสติกส์ด้วย เช่น บางโรงงานต้องสั่งวัตถุดิบจากประเทศเดียว แต่เมื่อเกิดวิกฤติไม่สามารถส่งมาได้
3.การปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 จะเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม HealthCare จะถูกปฏิรูปอย่างมหาศาล ส่วนการศึกษาจะต้องปรับตัว ทั้งเรื่องโครงสร้างและเนื้อหา จะทำอย่างไรให้เข้าถึงคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้

ทั้งนี้ เดลล์ เทคโนโลยีส์ เคยทำวิจัยว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าหรือปี 2030 เทคโนโลยีอะไรที่จะเข้ามาผลักดันโลกให้หมุนไปในอนาคต แต่หลังจากเกิดวิกฤติรอบนี้ทุกอย่างอาจจะเร็วขึ้น

ในปี 2030 มนุษย์จะเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า Human Machine Partnership หรือคนกับเครื่องจักรจะทำงานกันอย่างแนบแน่น เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง จะเข้ามาเป็นตัวแปร

ตัวแรกคือ 5G จะมีบทบาทเป็นตัวเร่งที่สำคัญ ทั้งเรื่องระบบอัตโนมัติ หรือยานยนต์ไร้คนขับ ชาวนาอาจจะอยู่ในบ้านและทำงานผ่าน Virtual Reality (VR) ควบคุมระบบต่าง ๆ

Multi Cloud หลายคนรู้จักคลาวด์กันดีอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ในระดับองค์กรใหญ่ แต่การใช้มือถือและแอปพลิเคชัน เป็นการใช้คลาวด์โดยที่เราไม่รู้ตัว ในอนาคตจะไม่มีบริษัทไหนที่ใช้คลาวด์จากบริษัทเดียว วิกฤติรอบนี้จะเห็นว่าบางประเทศที่มีคนติดเชื้อเป็นแสนไม่สามารถกลับเข้าไปทำงานได้ บริษัทจะต้องมีหลาย ๆ บริการเข้ามารวมกันในการทำธุรกิจ

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ แมชชีนเลิร์นนิ่ง (ML) เป็นตัวที่มีผลอย่างมากในการเปลี่ยนแปลง เพราะสามารถประมวลผลได้อย่างแม่นยำ และตัดสินใจได้ ในอนาคตพนักงานอาจจะถูกประเมินผลการทำงานผ่าน AI

Extended Reality (XR) เป็นโลกที่เพราะอาจจะสับสนว่าอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริงหรืออยู่ในโลกเสมือน จะเข้ามาใช้ในเรื่องการทำงานมากขึ้นและได้ผลผลิตที่ดีขึ้น

“ทั้งหมดนี้ที่เราคาดการณ์ว่าจะเกิดในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นเร็วกว่านี้เพราะโควิด-19”

ผลกระทบจาก Human Machine Partnership

อโณทัย เชื่อว่า ในยุค Human Machine Partnership จะเกิดผลกระทบ ใน 3 ส่วน ดังนี้

1.ผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ธุรกิจดิจิทัลหรือ Digital Transformation จะเป็นตัวทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวกลับมาได้เร็วขึ้นหลังวิกฤติ จะเห็นว่าวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจต่าง ๆ ได้รับผลกระทบจริง แต่ว่าก็ไม่ได้แย่ถึงขีดสุดเพราะยังมีดิจิทัลที่ดำเนินต่อไปได้ หลังจากนี้จะเห็นผู้ประกอบการรายใหม่ที่นำนวัตกรรมเข้ามาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

2.การทำงาน

การทำงานจากบ้านจะเกิดความยืดหยุ่น สามารถใช้พนักงานที่มีความสามารถใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีในอดีต และยังสามารถจ้างพนักงานที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลกับสำนักงานได้ “งานจะวิ่งหาเรามากกว่าเราวิ่งหางานในอนาคต”

3.โครงข่ายหลายมิติ “Network Reality”

มนุษย์กำลังเข้าสู่โลกกายภาพ “Physical” และโลกเสมือน “Virtual” ที่ทับซ้อนกันอยู่ แบ่งเป็น

-โลกแห่งการเชื่อมโยง (Connected Mobility) รถยนต์จะเหมือนคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งที่เชื่อมโยงกันตลอดเวลา รถจะสื่อสารกันบนถนนเพื่อคำนวณการจราจร
-เมืองอัจฉริยะจะถูกเปลี่ยนเป็น “เมืองที่มีชีวิต” การที่มีเซ็นเซอร์ IoT ทุกที่ จะเกิดการรับข้อมูลและสามารถบอกได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้างในแต่ละจุด จะทำให้คนปลอดภัยมากขึ้น
-ผู้ช่วยอัตโนมัติ จะเข้ามาช่วยตัดสินใจโดยอัตโนมัติ ทั้งเรื่องการเปิด-ปิดไฟ ทำอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน
-หุ่นยนต์จะขยับจากอุตสาหกรรมเข้ามาอยู่ที่บ้านคนมากขึ้น เป็นเพื่อนอยู่ที่บ้าน ขณะเดียวกันหุ่นยนต์จะสื่อสารกับเพื่อนหุ่นยนต์และเรียนรู้ได้เอง

“เทคโนโลยีที่พูดถึงในปัจจุบันนั้นมีการใช้อยู่แล้วเพียงแต่ว่ายังไม่ถึงจุดสูงสุดของมัน จะต้องมีปัจจัยเข้ามาเสริม ซึ่งตัวที่จะเข้ามาทำให้เป็นจริงได้ คือ ข้อมูล รวมถึงตัวเร่งอย่างเช่นวิกฤติในรอบนี้”

โลกการทำงานเปลี่ยนหลังโควิด-19

อโณทัย กล่าวว่า จากการตรวจสอบกับลูกค้า พบว่า 40% มองว่าการทำงานจากบ้านอาจจะเป็นแผนถาวรของบริษัท และกว่า 50% ของคนทำงานในระดับมืออาชีพจะทำงานจากที่บ้าน

สิ่งที่เกิดขึ้นใน 2 เดือนทำให้เห็นว่าไม่ได้แย่อย่างที่คิด จากการที่ต้องเดินทางไปเจอกันเปลี่ยนมาเป็นระบบประชุมทางไกล ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น

ซึ่งการได้ทำงานจากบ้านมีข้อดี คือ ไม่ต้องเดินทาง การใช้พื้นที่สำนักงานก็จะใช้ได้อย่างมีประโยชน์มากขึ้น ถึงแม้ว่าผู้ให้เช่าอาจจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่เมื่อแนวโน้มของโลกหมุนไปก็จะต้องปรับตัวให้เร็ว ถ้าไม่ปรับก็จะแย่ ซึ่ง 3 เรื่องที่องค์กรจะต้องทำเมื่อเกิดวิกฤติ คือ

1.ทำอย่างไรให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยหรือถูกปกป้อง
2.ช่วยเหลือลูกค้าในยามยากลำบาก เพราะบางองค์กรอาจจะไม่มีความพร้อมให้พนักงานปรับตัวไปทำงานที่บ้าน
3.มองธุรกิจว่าจะทำอย่างไรให้มั่นคงและดำเนินต่อไปได้ เช่น ปรับโมเดลธุรกิจ หรือนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย

เดลล์ เทคโนโลยีส์ มีนโยบายให้พนักงานบริษัท 30% ทำงานจากบ้านมาแล้วกว่า 10 ปี ส่วนอีก 65% สามารถเลือกเวลาทำงานได้ แต่หลังจากวิกฤติโควิด-19 ระบาดหนัก บริษัทประกาศให้พนักงาน 90% ทำงานที่บ้าน ตั้งแต่ 15 มีนาคม 63 ที่ผ่านมา

บริษัทไม่อยากให้พนักงานออกมาเจอความเสี่ยง หรือออกมาเจอกับผลกระทบ ต้องชื่นชมพนักงานเหล่านั้น นอกจากจะต้องทำงานมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลคนที่บ้านด้วย ด้านผลผลิตของงานในภาพรวมไม่ได้เสียหายและไปในทิศทางที่ดี

“เราพบว่าการทำงานที่บ้านเป็นเรื่องที่ดี เราเห็นบริษัทมีความเป็นมนุษย์มากขึ้น เช่น การประชุมทางไกลจะเห็นคนในบ้านของพนักงานหรือสัตว์เลี้ยงมาอยู่ในหลังฉาก”

การเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ยังมีอะไรดี ๆ ซ่อนอยู่ ทำให้คนมีความเชื่อมโยงมากขึ้น เช่น การออกกำลังกายร่วมกัน เล่นดนตรีผ่านระบบประชุมทางไกล หรือรวมตัวนั่งสังสรรค์กันผ่านระบบประชุมทางไกล

อีกส่วนหนึ่ง คือ ได้เห็นผู้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันมากขึ้น เช่น ตู้ปันสุข คนที่มีเหลือให้คนที่มีน้อย ระดมทุนช่วยคนที่ยากลำบาก

“วิกฤติโควิด-19 กระทบกับทุกคนบนโลก ถือว่าเป็นครั้งแรก ทำให้คนต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต แต่ยังมีความเชื่อว่าหลายอย่างจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น วิกฤติที่เกิดขึ้นมักจะมีแสงสว่างอยู่ตรงปลายทาง มนุษย์กำลังเดินไปถึงประตูที่เปิดออกไปและเจอโลกใบใหม่ ซึ่งอะไรอาจจะไม่เหมือนเดิม”

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ