TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessความท้าทายของคนทำคอนเทนต์ ภายใต้ PDPA ชี้นิยาม "สื่อ" ให้ชัด

ความท้าทายของคนทำคอนเทนต์ ภายใต้ PDPA ชี้นิยาม “สื่อ” ให้ชัด

กว่า 20 วันของการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) อย่างเป็นทางการ นอกจากภาครัฐและเอกชนจะเดินหน้าทำงานปรับตัวกันอย่างเต็มที่แล้ว เหล่าผู้ผลิตคอนเทนต์ สื่อมวลชน และอินฟลูเอนเซอร์ในฐานะผู้เผยแพร่รายงานข้อมูลข้อเท็จจริงต่าง ๆ ก็มีส่วนที่จะต้องปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของตนเองเพื่อให้สอดคล้องกับ PDPA ด้วยเช่นกัน

พ.ต.อ. ณัฐพันธ์ เศรษฐบุตร ผกก.กลุ่มงานตรวจสอบฯ กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีความเข้าใจผิดในกฎหมายดังกล่าวในหลาย ๆ ประเด็น ซึ่งสำหรับคนทำคอนเทนต์ กรอบการทำงานไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก โดยยังคงทำคอนเทนต์ได้ตามปกติ เช่น การสัมภาษณ์พ่อครัวทำอาหาร ซึ่งการพูดคุยตกลงกันก่อนถ่ายทำก็ถือเป็นการยินยอมรูปแบบหนึ่งอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องระวังมากกว่าก็คือการนำเสนอข่าว หรือการรายงานข่าว ซึ่งในส่วนนี้อาจจะต้องมีการพิจารณาประกาศกฤษฎีกาเพิ่มเติม เพราะการนำเสนอข่าวหลายครั้งมีการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการที่จะทำได้หรือไม่ได้ก็จะเข้าข่ายมาตรา 4 ที่จะยกเว้นให้กับบุคคลที่เป็นประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวเท่านั้นที่สามารถทำได้

พ.ต.อ. ณัฐพันธ์ ชี้ว่า ปัญหาในขณะนี้ก็คือ การนิยามสื่อมวลชนว่าใครเป็นหรือไม่เป็นนักข่าว แล้วใคร จะใช่สมาคมนักข่าวหรือไม่ที่เป็นผู้กำหนดสถานะความเป็นนักข่าวของคน ๆ หนึ่ง

ด้าน ที่รัก บุญปรีชา หรือที่รู้จักกันดีในแวดวงคนทำคอนเทนต์ว่า พี่หลาม จิ๊กโก๋ไอที กล่าวเสริมว่า ปัญหาของวงการคอนเทต์ ครีเอเตอร์และสื่อมวลชนในขณะนี้ก็คือ ไม่มีหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รับรองสถานะของสื่อมวลชน เมื่อไม่มีปัญหาที่น่ากังวลก็คือการที่คนที่ไม่ใช่นักข่าวอ้างมาตรา 4 ในการรายงานข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลอ่อนไหวของอีกคนหนึ่ง จนสร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนให้กับคน ๆ นั้น

พี่หลามกล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการก็คือการกำหนดนิยามความเป็นสื่อมวลชน ว่าต้องกำหนดจากอะไร ทุกวันนี้ การเป็นสมาชิกสมาคมนักข่าว หรือการทำงานในองค์กรสื่อขนาดใหญ่ก็ถือว่าเป็นการรับรองในระดับหนึ่งแล้ว

“แต่ถ้าพูดให้ถูกหลักการ มันจำเป็นต้องมีภาครัฐและหน่วยงานกำกับดูแล มาดูว่าใครเป็นสื่อมวลชนบ้าง ส่วนที่น่าห่วงก็คือสื่อขนาดเล็ก เว็บไซต์เล็ก ๆ เจ้าของเพจต่าง ๆ กลุ่มนี้ จะนับว่าเป็นสื่อมวลชนด้วยหรือไม่ ทั้งหมดเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องใช้เวลาสักพัก”

พี่หลาม ย้ำชัดว่า อยากให้มีหน่วยงานรัฐมาทำหน้าที่จดทะเบียนรับรองความเป็นสื่อมวลชน ป้องกันไม่ให้มีการอ้างมาตรา 4 พร่ำเพรื่อ

ขณะที่ อิศรา เน้นแสงธรรม บรรณาธิการคอลัมน์ไอที เว็บไซต์ sanook.com กล่าวว่า กฎหมาย PDPA ไม่ได้ทำให้แนวทางการทำงานของตนเองเปลี่ยนแปลงไปมากนัก เพียงแต่มีสิ่งที่ต้องใส่ใจให้มากขึ้น นำเสนอข้อมูลข่าวสารด้วยความระมัดระวังรอบคอบให้มากขึ้น

อิศรากล่าวว่า อีกหนึ่งความเสี่ยงที่ต้องระวังก็คือการนำข้อมูลไปใช้ ขณะที่พี่หลาม เสริมว่า การรายงานข่าวเป็นงานที่ละเอียดอ่อน มีข้อมูลอ่อนไหว เช่น คนมีคดีความรับโทษไปแล้ว ตามกฎหมาย PDPA มีสิทธิ์เรียกร้องให้ลบเนื้อหานำเสนอข่าวดังกล่าวได้ ไม่ให้นำไปใช้ซ้ำอีก ขณะเดียวกัน สื่อมวลชนทั้งหลายต้องเตรียมพร้อมรับมือการการทวงถาม ขอทราบที่มา ขอให้ลบ ห้ามไม่ให้โพสต์ซ้ำ แบ่งปันเผยแพร่ต่อ หรือนำไปใช้อีก จากบรรดาผู้ฟังผู้อ่านทั้งหลาย

ทั้งนี้ พ.ต.อ. ณัฐพันธ์ เสริมว่า PDPA เป็นกฎหมายที่ค่อนข้างกระทบต่อการใช้ชีวิตของคนพอสมควร แต่เนื่องจากยังอยู่ในช่วงแรกของการนำมาบังคับใช้ จึงยังมีพื้นที่คลุมเครือ ดังนั้น ในฐานะคนทำคอนเทนต์ การจะรู้ว่าตนเองทำอะไรได้ไม่ได้ภายใต้ PDPA หมายความว่า สื่อและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ทั้งหลายต้องทำความเข้าใจ และตระหนักรู้ถึงขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่

“พื้นฐานที่เป็นเกณฑ์ตัดสินง่าย ๆ เลยก็คือ อะไรที่ทำแล้วคนอื่นเดือดร้อน หรือกระทบต่อเสรีภาพของคนอื่น นั่นแปลว่า ทำไม่ได้ ส่วนนอกเหนือจากนี้ ก็มีกฎหมายกำกับไว้ส่วนหนึ่งอย่างชัดเจน ขณะที่หน่วยงานรัฐและเอกชนในเวลานี้ต่างก็เร่งวางแนวทางตรวจสอบข้อมูลส่วนบุคคลกันอย่างเต็มที่ โดยส่วนตัวมองว่า คนทำคอนเทนต์ตอนนี้ต้องทำความเข้าใจร่วมกับรัฐและเอกชน ว่าอะไรคือข้อมูลอ่อนไหว อะไรเก็บได้ อะไรส่งต่อได้ และอะไรควรโละทิ้ง” พ.ต.อ. ณัฐพันธ์ กล่าว

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ. ณัฐพันธ์ ได้ยกตัวอย่างของกรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งถือเป็นหนึ่งในหน่วยงานภาครัฐที่มีฐานข้อมูลส่วนบุคคลมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งการบังคับใช้กฎหมาย PDPA สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติทำก็คือพิจารณาดูตัวเองก่อนว่ามีข้อมูลส่วนบุคคลเก็บไว้ในฐานข้อมูลมากน้อยแค่ไหน ระบบรักษาความปลอดภัยแข็งแกร่งดีพอหรือไม่ และเจ้าหน้าที่มีความรู้ความเข้าใจ มีวิจารณญาณ รวมถึงดุลยพินิจ เพื่อปฎิบัติหน้าที่ตามกรอบของกฎหมายที่ไดรับมากน้อยเพียงใด

พี่หลามกล่าวว่า แน่นอนว่าช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาสำหรับคนำคอนเทนต์เป็นอย่างมาก แต่ถ้ามัวแต่คิดว่า กดดันมาก ก็จะไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้น คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ ทั้งหลายจึงควรมีที่ปรึกษาทางกฎหมายไว้ข้างตัว

“ปฏิบัติตามสิทธิ์ที่มี คิดให้เยอะเข้าไว้ ขอความยินยอมตามความจำเป็น แต่สิ่งที่ห่วงมากที่สุดตอนนี้ก็คือการที่บรรดาอินฟลูเอนเซอร์ทั้งหลายหยิบยกเอาประเด็น PDPA มาเป็นเรื่องล้อเลียนขำขัน จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิด อยากให้มีการสื่อสารที่ถูกต้องสำหรับ PDPA ผ่านการร่วมมือร่วมใจจากหลายฝ่ายในการสร้างความรับรู้ร่วมกัน ทำให้คนเข้าใจผิดกันน้อยลง และวิธีการป้องกันการละเมิด PDPA ที่ดีที่สุด ก็คือ คิดดี ทำดี ทำสิ่งที่ถูกต้อง ก็ไม่ต้องกังวลอะไรเลย” พี่หลามกล่าว

ขณะที่ อิศรา กล่าวเสริมปิดท้ายว่า ในส่วนของคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ก็คือให้ศึกษาทำความเข้าใจตัวบทกฎหมาย ว่าจะใช้หรือไม่ใช้ข้อมูลแบบไหน ขณะที่คนทั่วไป ก็ควรระมัดระวัง เวลาจะกดยินยอมให้ข้อมูล ก็ให้อ่านเนื้อหาเงื่อนไขให้กระจ่างก่อนลงนามยินยอม อะไรที่ให้ได้ก็ให้ และใช้ PDPA อย่างมีสติ

การพูดคุยแลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของวงเสวนาจิบน้ำชาครั้งที่ 1/2565 จัดโดยชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เข้าร่วมเปิดการประชุมเสวนาจิบน้ำชาครั้งนี้่ โดยชัยวุฒิกล่าวว่า ความท้าทายของโลกเทคโนโลยีดิจิทัล คือการที่เทคโนโลยีมีบทบาทในการดำเนินชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจากสถิติในปี 2564 ที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 69.5% ของคนทั้งประเทศ นับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลก หรือราว 8.44 ชั่วโมงต่อวัน 

ดังนั้น กล่าวได้ว่าเกือบครึ่งวันของคนไทยส่วนใหญ่หมดไปกับการใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์ ทำให้มีโอกาสพลั้งเผลอที่อาจจะปล่อยข้อมูลส่วนตัว เข้าสู่ระบบเครือข่ายออนไลน์ จนกลายเป็นอันตรายต่อตนเองอย่างไม่ตั้งใจ

การประกาศบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา จึงมีเจตนาให้มีกรอบกฎหมายควบคุมการเรียกเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของภาคเอกชนให้มีความปลอดภัยยิ่งขึ้น  ดังนั้น PDPA จึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อขัดขวางหรือเป็นอุปสรรคต่อการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลขององค์กรแต่อย่างใด ในทางกลับกันตั้งเป้าจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยให้เข้มแข็งทัดเทียมกับนานาประเทศ

ขณะที่ภาคประชาชนเองก็จะได้มั่นใจได้ว่า ไทยมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อป้องกันการถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับความยินยอมแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเจตนาและวัตถุประสงค์ที่ดี แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า กฎหมาย PDPA กลับกลายเป็นประเด็นล้อเลียนเสียดสีที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด แทนที่จะได้ประโยชน์ก็กลายเป็นความสับสนวุ่นวาย จึงอยากให้เวทีเสวนาครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการช่วยเผยแพร่ความรู้

ทั้งนี้ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชัยวุฒิกล่าวว่า พร้อมสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจถึงข้อปฎิบัติที่ถูกต้องในทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในทางที่ถูกต้อง บนพื้นฐานของการไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้หนึ่งผู้ใด

ขณะที่แนวปฎิบัติของการบังคับใช้ในระยะเริ่มต้นนั้น ทางกระทรวงฯ ก็จะพยายามช่วยลดภาระและหาวิธีการที่เรียบง่าย ในการช่วยให้ทุกภาคส่วน สามารถจะเริ่มต้นเข้าสู่รูปแบบของ PDPAได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมออกกฏหมายลูก เพื่อผ่อนปรนการบังคับใช้ให้กับกลุ่มที่ยังไม่มีความพร้อมจริง ๆ แต่กระนั้นก็เป็นเพียงแค่การผ่อนปรนโทษ และเน้นที่การตักเตือนกลุ่มองค์กรขนาดเล็กในระยะเริ่มต้นเท่านั้น

ทั้งนี้ เจตนาของข้อกฎหมายก็เพื่อคุ้มครองการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล ให้เกิดความโปร่งใส ผู้ที่ถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ก็สามารถตรวจสอบได้ ขอยกเลิกได้ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของโลกดิจิทัลให้เกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ภาคเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐเอง ก็จะได้ปรับตัวเข้าสู่การจัดระเบียบข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับมาตรฐานการเชื่อมต่อด้านข้อมูลให้นานาประเทศยอมรับมากขึ้น

ทั้งนี้ พล.ต.ต. ปภัชเดช เกตุพันธ์ กองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี (บก.สสท.) และเธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเข้าร่วมการเสวนาในฐานะตัวแทนภาครัฐกล่าวว่า การบังคับใช้กฎหมาย PDPA ในเวลานี้ มุ่งเน้นการสร้างความตระหนัก และยุติความตระหนก ทำความเข้าใจ มุ่งเน้นกระตุ้นให้เอกชนจัดการระบบให้แข็งแกร่งปลอดภัย โดยขณะนี้ทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ในระหว่างการรวมรวบกรณีศึกษา เพื่อออกกฎหมายลูกที่ชัดเจนมากขึ้น

เธียรชัย กล่าวว่า ประเด็นที่น่าเป็นห่วงขณะนี้ก็คือกรณีของเบอร์แปลก เบอร์สแกม ที่โทรเข้ามาหลอกลวง ซึ่งทาง คณะกรรมการฯ กำลังอยู่ในระหว่างการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อวางระบบกลไกตามรอย หรือ trace back เพื่อติดตามจับกุมมิจฉาชีพเหล่านี้มีดำเนินคดีรับโทษ หากตามรอยได้ว่า คนกลุ่มนี้ก่อเหตุในประเทศไทย

ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชน ประกอบด้วย มณฑกานติ์ อาขุบุตร หัวหน้าแผนกงานป้องกันและรักษาข้อมูลส่วนบุคคล จากเอไอเอสมนตรี สถาพรกุล ผู้เชี่ยวชาญดูแลข้อมูลส่วนบุคคลจากดีแทค และฐิติรัตน์ ศิริพัฒนาเลิศ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านความปลอดภัยระบบข้อมูลสารสนเทศ จากทรู ดิจิทัล กรุ๊ป กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า แต่ละแห่งมีการเตรียมความพร้อมกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ 2-3 ปีแล้ว ซึ่งความท้าทายก็คือการที่กฎหมายที่บังคับใช้อยู่ยังขาดความชัดเจน ดังนั้นจึงต้องอาศัยการตีความเป็นหลัก แต่ก็เลือกทำในสิ่งที่ดีที่สุด และทำตามแนวทางที่มีให้อยู่

ขณะเดียวกัน ก็ดำเนินการให้ความรู้พนักงานทุกระดับให้เข้าใจกฎหมาย PDPA รวมถึง วางโครงสร้างระบบความปลอดภัยให้แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการทำให้ลูกค้าผู้ใช้งานตระหนักในสิทธิ์ของตนเอง และแจ้งให้ลูกค้ารับทราบในเรื่องของความยินยอม ตลอดจนจุดประสงค์ในการนำข้อมูลไปใช้ทุกครั้ง เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นระหว่างบริษัทกับลูกค้าต่อไป

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

อะไรที่เกิดขึ้นในคริปโทก็จะอยู่แต่ในคริปโท นักเศรษฐศาสตร์มั่นใจ ไม่กระทบเศรษฐกิจโดยรวม

1 มิ.ย. นี้ กับการบังคับใช้ PDPA ประชาชนได้ประโยชน์อะไร? แล้วธุรกิจต้องปรับตัวอย่างไร?

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ