TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 หนุนเสริมผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 หนุนเสริมผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Industry 4.0 กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีปัจจัยสำคัญคือความสามารถของผู้ประกอบการไทย ในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

ดร. รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการกลุ่มแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช. และผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ EECi เผยว่า “จากวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าคนที่ปรับตัวได้จึงจะอยู่รอดในธุรกิจ ปัจจุบัน ทั่วโลกต่างกำลังตื่นตัวต่อการปฏิวัติสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้ในสายการผลิตเพื่อยกระดับสินค้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ในขณะที่อุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของไทยยังอยู่ที่ระดับ 2–3 เท่านั้น หากไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจ การยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นความท้าทายต่อภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการขนส่งและโลจิสติกส์ ภาคแรงงาน ตลอดจนผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่”

3 เสาหลักสู่การเปลี่ยนผ่าน ประเมิน – ให้คำปรึกษา – ฝึกอบรม

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยงานวิจัยของประเทศ ที่มีผลงานเป็นงานวิจัยสำคัญมากมาย จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง NSTDA Core Business ที่มุ่งสร้างกระบวนการวิจัยและกลไกที่จะนำองค์ความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริง เพื่อแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์สำคัญเร่งด่วนของประเทศ โดยมี  Industry 4.0 Platform หรือ แพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 เป็นหนึ่งในภารกิจหลักดังกล่าว

ดร. รวีภัทร์ เน้นย้ำถึงวิสัยทัศน์ของ Industry 4.0 Platform ว่า คือการช่วยโรงงานในประเทศไทยในการวางแผนการลงทุนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างคุ้มค่า ด้วยบริการที่ครบวงจร อันประกอบไปด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่ i4.0 Maturity, i4.0 Consulting และ i4.0 Training

แพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 หนุนเสริมผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน
  1. ศูนย์ข้อมูลความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0: i4.0 Maturity โดยมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปทำการประเมินความพร้อมของสถานประกอบการด้วย ดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมของอุตสาหกรรม (Thailand i4.0 Index) ประเมิน 6 ด้าน – 17 มิติที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับ ออกมาเป็นรายงานและการวิเคราะห์ข้อมูลความพร้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รู้จักว่าองค์กรอยู่ที่จุดใด มีข้อจำกัดหรือปัญหาในเรื่องใด เพื่อหาแนวทางการพัฒนาอย่างเหมาะสมกับบริบทขององค์กร
  2. บริการให้คำปรึกษา: i4.0 Consulting เมื่อรู้ถึงระดับความพร้อมขององค์กรแล้ว ถัดมาคือการวางแผนจัดทำแผนปฏิบัติการ (Transformation roadmap) ที่มีรายละเอียดในการดำเนินงานและการลงทุนอย่างชัดเจน และสุดท้ายคือการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ในโรงงาน โดยมีบริการที่ปรึกษาทางด้านเทคนิค โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในทุกสาขาตามความจำเป็นขององค์กร ให้ข้อเสนอแนะ คำปรึกษา และคำแนะนำด้านการลงทุนและสิทธิประโยชน์ที่พร้อมสนับสนุน รวมถึงบริการวิจัยและพัฒนา บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี บริการวิเคราะห์ทดสอบ
  3. บริการฝึกอบรม: i4.0 Training พัฒนาศักยภาพบุคลากร เตรียมความพร้อม และพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ให้คนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับ ผู้บริหารระดับสูง ผู้บริหารระดับกลาง และพนักงานผู้ปฏิบัติมีความรู้ ความเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรม 4.0 ในบริบทต่างๆ กันตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน รวมถึงการพัฒนาทักษะด้าน Soft Skills ใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อองค์กรในยุค 4.0 เพื่อผลักดันองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้สำเร็จและมีความยั่งยืน

ทั้งนี้ในการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่อุตสาหกรรม 4.0 หรือ Digital Transformation สวทช.และพันธมิตร จะค่อย ๆ จูงมือโรงงาน/บริษัท ค่อยๆ ขึ้ นบันได

ขั้นที่ 1 Online & Interactive Self-assessment ประเมินความพร้อมขององค์กรในการก้าวสู่การผลิตยุคดิจิทัล ผ่านช่องทางออนไลน์ทางเว็บไซต์

ขั้นที่ 2 Initiation การประเมินระดับความพร้อมโดยผู้เชี่ยวชาญ i4.0 Readiness Assessment, Gap Analysis & Prioritization Matrix และ i4.0 Training

ขั้นที่ 3 Solutioning บริการที่ปรึกษา / บริการวิเคราะห์ทดสอบ มีศูนย์ SMC ที่มีผู้เชี่ยวชาญพร้อมให้คำปรึกษา จัดทำแผนปฏิบัติการ การลงทุน เช่น ต้องซื้ออะไร จากที่ไหน เตรียมเงินเท่าไหร่ หาสิทธิประโยชน์มาช่วยทั้งบริการจากทางภาครัฐ หรือจากธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษเพื่อการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0

และขั้นที่ 4 Implementation & Operation บริการวิจัยและพัฒนา บริการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเมื่อโรงงานตัดสินใจลงทุนติดตั้งระบบปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการยกระดับ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นคือการลดต้นทุน ลดของเสีย มีความยืดหยุ่นในการผลิตและการจัดการองค์กร ความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น

EECi กลจักรขับเคลื่อนไทยสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,454 ไร่ ณ วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรสำคัญของ สวทช. ในการดำเนินการของ Industry 4.0 Platform  โดยเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม นำองค์ความรู้จากงานวิจัยของ สวทช. มาขยายผลออกสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยมีโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยพัฒนาความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี จากระดับการพัฒนาในห้องปฏิบัติการ (Laboratory Development Level) สู่การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม (Industrial  Application) ได้แก่

  • Test Bed เช่น Industrial Automation Testbed คือพื้นที่จำลองโรงงานที่มีระบบอัตโนมัติต่าง ๆ ในรูปแบบสิ่งแวดล้อมเสมือนจริง เพื่อให้นักวิจัยนำงานทดลองจากห้องทดลองวิจัยมาทดสอบเพื่อความมั่นใจก่อนไปสู่การใช้งานจริงในโรงงานอุตสาหกรรม
  • Sandbox – การทดลองในส่วนงที่เกินจากข้อจำกัดที่กฎหมายกำหนด อันเป็นตัวจำกัดการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ EECi มี สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Sandbox) และสนามทดสอบคลื่นความถี่ (Frequency Sandbox) โดยทำการทดลองในพื้นที่ที่จำกัดความเสียหาย
  • Pilot Plant พื้นที่โรงงานต้นแบบที่จะพัฒนางานวิจัยจากระดับ Lab Scale ขยายขนาดสู่ Industrial Scale เช่น โรงงงานต้นแบบไบโอรีไฟเนอรรี่ และโรงงานต้นแบบแบตเตอรี่ทางเลือก
  • Tech Demonstration เช่น โรงเรือนอัจฉริยะ โรงเรือนฟีโนมิกส์
  • ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable manufacturing Center, SMC) คือ โครงการนำร่องของเมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ของ EECi  เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 4.0  ผ่านการบูรณาการงานภายใต้การดำเนินงานของ สวทช. เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการของ สวทช.ได้ง่ายที่สุด  โดยมีหลากหลายบทบาท ไม่ว่าจะงานด้านการประเมิน ที่ปรึกษา อบรมเผยแพร่ความรู้

“ศูนย์แห่งนี้มีเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ช่วยในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน ยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยในศูนย์แห่งนี้ มีบริการครบวงจร ตั้งแต่การประเมิน เราอยู่ที่ระดับไหน แล้วจะยกระดับไปที่ระดับไหน ก็ไม่จำเป็นว่าจะเข้าไปที่ 4.0 เลย เราอาจจะเป็นระดับที่ทางธุรกิจหรือว่าโรงงานเห็นว่าเหมาะสมกับตัวเอง

ในศูนย์ SMC แห่งนี้ยังมีผู้เชี่ยวชาญนักวิจัยหลายสาขาในการที่จะให้คำปรึกษา ทำแผนการลงทุน ทำ Translation Roadmap ให้กับโรงงานของท่าน นอกจากเรื่องของเทคนิคแล้ว ยังมีเรื่องของสิทธิประโยชน์จากทางภาครัฐ หรือสิทธิประโยชน์เรื่องเงินลงทุนต่างๆ ที่จะแนะนำให้กับผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความมั่นใจในการลงทุนสู่อุตสาหกรรม 4.0 และการลงทุนเป็นไปได้อย่างราบรื่นและคุ้มค่าที่สุด” ดร.รวีภัทร กล่าว

เสริมความแกร่งให้ภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วย IDA Platform

นอกจากบทบาทดังกล่าวข้างต้น ศูนย์ SMC ยังมีการพัฒนาและผลักดันผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรม หรือ IDA Platform (Industrial IoT and Data Analytics Platform) ที่จะช่วยติดตาม วิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิต การใช้พลังงาน รวมถึงค่าสภาวะต่าง ๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม นำไปสู่การบริหารจัดการการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำมากขึ้น เช่น ลดการสูญเสียจากการหยุดเครื่องจักร ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง ลดระดับสินค้าคงคลัง ช่วยให้การทำงานมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังผลักดันให้ภาคการผลิตสามารถแข่งขันทั้งด้านราคาและเทคโนโลยีกับต่างประเทศได้อย่างยั่งยืน

Sustainable manufacturing Center

รูปแบบการทำงานของแพลตฟอร์ม IDA จะมีอุปกรณ์ หน่วยตรวจวัดระยะไกลยูนิเวอร์แซล หรือ URConnect ซึ่งเป็น Signal Processing Platform ใช้ในการเชื่อมต่อเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้ในจุดต่าง ๆ ในสายการผลิตของโรงงาน มีระบบ IoT สามารถต่ออินเตอร์เน็ตได้ สามารถประยุกต์ใช้กับเครื่องจักรเก่า โดยการติดตั้งเซนเซอร์เพิ่ม แปลงร่างเครื่องจักรเก่าให้กลายเป็นเครื่องจักร 4.0 ได้

NETPIE คือ ระบบคลาวด์ ซึ่งจะมีระบบ IDA Platform ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่ URConnect ประมวลสัญญาณส่งต่อข้อมูลผ่าน Gateway มายังระบบคลาวด์ ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์โดย IDA Platform จะแสดงผ่าน IDA Dashboard ซึ่งผู้ดูแลหรือเจ้าของโรงงานสามารถมอนิเตอร์ได้ทุกที่ทุกเวลา

ดร. รวีภัทร์ เผยความก้าวหน้าของโครงการ Industry 4.0 Platform ในปี 2565 ที่ผ่านมา มีโครงการนำร่องในการติดตั้งระบบ IDA Platform ไปแล้ว 15 โรงงาน โดยผลตอบรับจากผู้ประกอบการค่อนข้างดี สามารถนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งในการปรับเปลี่ยนองค์กร และในปี 2566 มีเป้าหมายติดตั้ง 100 โรงงาน โดยทาง สวทช. มีทุนสนับสนุนเพื่อทำให้โรงงานเข้าถึงเทคโนโลยีได้มากขึ้น

ตอกย้ำความคุ้มค่าในการลงทุนสู่อุตสาหกรรม 4.0 กับหลากหลายสิทธิประโยชน์

ในเบื้องต้นทาง สวทช. มีแคมเปญสำหรับผู้ที่ต้องการประเมินความพร้อมในการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 กับ Free Assessment Campaign ประเมินฟรี 100 โรงงานเท่านั้น ทางโรงงานจะได้รับรายงานการประเมินระดับความพร้อมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์ในการยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ต่อไป และสามารถนำไปยื่นประกอบการขอสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ได้

มาตรการที่ออกมาแต่คนยังไม่ค่อยรู้มากนัก ได้แก่ สิทธิประโยชน์ของ BOI สำหรับการลงทุนยกระดับสู่อุตสาหกรรม 4.0 ในการเปลี่ยนเครื่องจักร เป็นระบบอัตโนมัติ หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ สามารถนำมูลค่าเงินลงทุน สัดส่วน 100% ไปหักออกจากภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้เป็นระยะเวลา 3 ปี โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องส่งแผนการลงทุนมายัง สวทช. และใช้ Thailand i4.0 Index เป็นเกณฑ์ประเมิน ถ้าคะแนนผ่านเกณฑ์สามารถนำไปยื่นขอรับการส่งเสริมจาก BOI ได้

ส่วนผู้ประกอบการโรงงานที่สนใจใช้เทคโนโลยี IDA Platform ทาง สวทช. มอบสิทธิพิเศษคุ้ม 2 ต่อให้ 100 โรงงาน กับ IDA-100 Campaign

ต่อที่ 1 ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) มอบทุนสนับสนุน โรงงานละ 100,000 บาท  สนับสนุน IDA Dashboard Cloud Storage, และ Cloud loT ฟรี 1 ปี สนับสนุน หน่วยตรวจวัดระยะไกลยูนิเวอร์แซล URCONNECT 1 ชุด (สำหรับโรงงานที่ต้องการ) และ VDO อบรมออนไลน์ IDA Fundamentals Tutorial

ต่อที่ 2 หากโรงงานเป็นนิติบุคคลไทย และเป็น SME ตามนิยาม สสว. สามารถขอรับการสนับสนุนผ่านโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) โดยสนับสนุนค่าที่ปรึกษาสูงสุดไม่เกิน 50% ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของ ITAP

ผู้ประกอบการที่สนใจอุตสาหกรรม 4.0 แต่ ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ติดต่อสอบถามได้ทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/i4platform ซึ่งกำลังจะเปิดตัว แบบประเมินความพร้อมขององค์กรในการก้าวสู่การผลิตยุคดิจิทัล หากโรงงานต้องการประเมินความพร้อมของโรงงานด้วยตัวเองสามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ ในส่วน Online & Interactive Self-assessment จะมีแบบสอบถามให้กรอกข้อมูล 17 ข้อ สามารถตรวจประเมินเบื้องต้นได้

โรดแม็ป 5 ปี ตั้งเป้า 2,000 โรงงานทั่วประเทศไทย

ดร. รวีภัทร์ เผยถึงปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาในการดำเนินโครงการแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 ว่า ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ผานมา รวมถึงสถานการณ์ของภาครัฐ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการชะลอการตัดสินใจในการลงทุนของภาคเอกชน ประกอบกับผู้ประกอบการเองอาจมีเงินลงทุนไม่เพียงพอ หากสถานการณ์ดีขึ้น ผู้ประกอบการมองเห็นโอกาสในการสร้างผลกำไร และหันมามองเรื่องความสำคัญในการทำเรื่อง Digital Transformation มากขึ้น

Sustainable manufacturing Center

“เป้าหมายสูงสุดของ Industry 4.0 คือ โรงงานในประเทศไทยที่มีนับหมื่นโรงได้รับการยกระดับ เราไม่ได้บอกว่าต้องไปที่จุดไหน เพราะว่าในแต่ละโรงงานไม่จำเป็นจะต้องไป 4.0 ทั้งโรงงาน แต่ขอให้ยกระดับขึ้นไปในจุดที่ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น สามารถเพิ่มผลกำไร ได้ลดต้นทุน โดยในแต่ละปีเมื่อโรงงานมีการทำโครงการเพื่อยกระดับหรือว่าปรับปรุงประสิทธิภาพภายในโรงงานแล้ว สามารถเข้ามาประเมินตนเองผ่านแพลตฟอร์มของเราได้ตลอด

โดยแพลตฟอร์มจะส่งเสริมให้โรงงานเช็คในเรื่อง PDCA Plan Do Check Act คือวางแผน ปฏิบัติ ตรวจสอบ แล้วก็วนลูปการทำงานให้พัฒนาต่อไปยิ่งขึ้น ๆ โดยภายใน 5 ปีเราตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะต้องมี 2,000 โรงงานที่จะเข้าสู่กระบวนการเหล่านี้ อย่างน้อยอาจจะเป็นเรื่องของการประเมิน ซึ่งตอนนี้ เรากำลังจะเปิดตัวแบบประเมินแบบออนไลน์เบื้องต้น และทำการส่งเสริมให้โรงงานเข้ามาใช้งาน เพราะฉะนั้น ภายใน 5 ปี อย่างน้อยเราจะต้องมีฐานข้อมูลของโรงงาน 2,000 โรง” ดร. รวีภัทร์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

โคบอท กับการแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคการผลิต

รวมนวัตกรรม-ดิจิทัลโซลูชันจาก SCG ในงาน Techsauce Global Summit 2023

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ