TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusiness"นึกถึงอสังหาฯ นึกถึง DDproperty" มิชชันของ ‘กมลภัทร แสวงกิจ’

“นึกถึงอสังหาฯ นึกถึง DDproperty” มิชชันของ ‘กมลภัทร แสวงกิจ’

เพราะมองว่าการทำให้ผู้บริโภคมองเห็นสินค้าจากช่องทางออนไลน์ จะเป็นการช่วยผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้ไกลยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้สื่อดิจิทัลเข้ามาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ จะทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายประสบความสำเร็จ จึงทำให้ ‘กมลภัทร แสวงกิจ’ ก้าวเข้ามาสู่การเป็น ผู้จัดการใหญ่ ประจำประเทศไทย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเมืองไทย 

สื่อออนไลน์คือคำตอบ ของธุรกิจอสังหาฯ

กมลภัทร เล่าว่าก่อนหน้านี้เคยร่วมงานกับบริษัท BECi ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ดูแลในส่วนของคอนเทนต์ดิจิทัล ในขณะนั้นช่อง 3 เริ่มมีโฆษณาดิจิทัลเข้ามา เธอมองว่าเป็นอะไรที่ต้องได้รับความนิยมมาก แต่ด้วยข้อจำกัดภายในองค์กรมากมาย เลยมองว่าบางทีอาจไม่ใช่เรื่องง่าย หรือเรื่องที่จะทำคนเดียวได้ จึงย้ายมาร่วมงานกับบริษัทไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขาย (Country Sales Manager) ดูแลรับผิดชอบแผนกการโฆษณาสื่อดิจิทัลและธุรกิจรายย่อย โดยช่วยเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน Hotmail และ Windows Live Messenger ในประเทศไทยจาก 3 ล้านคนเป็น 10 ล้านคน นอกจากนี้ ภายใต้การนำทีมของเธอ ไมโครซอฟท์สามารถทำสถิติการขายระหว่างการเปิดตัว “Surface” คอมพิวเตอร์ขนาดพกพาตัวแรกของไมโครซอฟท์ โดยทำยอดขายได้กว่า 10,000 เครื่อง ภายในระยะเวลาเพียง 2 เดือน

“ตอนนั้นเรารู้สึกว่า ถ้าเราทำให้คนเห็นสินค้าจากช่องทางออนไลน์ได้ ธุรกิจนั้นจะไปได้ไกล ซึ่งเวลานั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย”

เคยแอบคิดว่าถ้าเจ้าของธุรกิจฟาสฟู้ดมาลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์หัวสีในราคาหลายแสนบาท แต่การสื่อสารจำกัดแค่เฉพาะกลุ่ม ไม่มีความหลากหลาย ทำให้ขายสินค้าได้น้อย รีเทิร์นก็อาจจะไม่ได้ ทำไมไม่มาดูธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่านั้น เช่น ขายบ้าน ขายที่ดิน ยิ่งถ้าขายบ้าน ลงโฆษณาไป 2-3 แสนบาท แต่ขายบ้านได้ 10 ล้านบาท สามารถช่วยให้เขาประสบผลสำเร็จได้ดีกว่า จึงมาร่วมกับ DDproperty

ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองไทย

กมลภัทร บอกว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ข้อมูลจากการรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทยระบุว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัดส่วนประมาณ 8-10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนสูงและมีโอกาสเกิดการจ้างงานเป็นจำนวนมาก เป็นธุรกิจที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมอื่นมากมาย อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน สถาบันการเงิน รวมไปถึงกระบวนการขายและการการตลาด การโฆษณาต่าง ๆ โดยในช่วง 2 ปีที่เกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคหรือลูกค้าที่เปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น

“ภาพรวมของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงก่อนโควิด-19 มีการพัฒนาระดับหนึ่ง แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด เราต้องเพิ่มการพัฒนาแนวคิดเพิ่มขึ้นไปอีก เป็นการพัฒนาที่รวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นนวัตกรรมที่ออกมามากมาย ผู้ซื้อยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นจากราคามาตรฐาน หากได้รับวัสดุที่คุณภาพสูง เพิ่มความสะดวกสบาย สะอาด ปลอดภัย และป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ได้มากขึ้น”

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนา และนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์เพื่อออกสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ซื้อมากขึ้น อีกทั้งยังพัฒนาโครงการใหม่ ๆ ร่วมกับพันธมิตรต่าง ๆ รวมไปถึงความพยายามที่จะเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอย่าง BTS และ MRT ส่งผลให้ผู้บริโภคซึ่งเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

“ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัว ทั้งในด้านราคา ปรับเปลี่ยนดีไซน์ บางรายขยายพอร์ต จากเดิมทำธุรกิจขายบ้าน ขายคอนโด ขายทาวเฮ้าส์ เริ่มหันไปทำธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนในระยะยาว อย่าง โรงแรม รีสอร์ท และสถานพยาบาล”

แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเริ่มคงตัว แต่การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยในไตรมาสแรกของปี 2565 อาจจะได้เห็นฟื้นตัวบ้าง อย่างไรก็ดี ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวนั้นขึ้นอยู่กับมาตรการควบคุมการระบาดของสายพันธุ์ Omicron ยอดการฉีดวัคซีนในประชากรกลุ่มต่าง ๆ (ที่ปัจจุบันเริ่มครอบคลุมกลุ่มเด็กและเยาวชน) รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการส่งออก

นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อด้านอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) มาตรการลดค่าจดทะเบียนโอน และจำนองอสังหาฯ ให้เหลือ 0.01% ที่มีผลบังคับเมื่อ 18 มกราคม 2565

รวมถึงการที่คณะรัฐมนตรีออกมาตรการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ด้วยการออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวสำหรับชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่ม (1. ประชากรผู้มีความมั่งคั่ง 2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ 3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย และ 4. กลุ่มที่มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ) ที่ต้องการอยู่ระยะยาว ให้ได้ 1 ล้านคนในเวลา 5 ปี ซึ่งต้องรอฟังรายละเอียดของแต่ละมาตรการอีกครั้ง เพื่อที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับแต่ละมาตรการ

“ปัจจุบันผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังมีความต้องการซื้ออสังหาฯ เพื่อใช้เป็นอยู่อาศัยเป็นหลัก ในแง่คนที่จะซื้อเพื่อการลงทุนมองว่ากำไรจากการลงทุน (Captital gain) ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลในระยะยาวและแน่นอน ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ที่คริปโทเคอร์เรนซีจะมีส่วนกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องดูเรื่องกฎหมายต่อไป”

นึกถึงอสังหาฯ นึกถึง DDproperty 

DDproperty เป็นบริษัทในเครือ พร็อพเพอร์ตี้กูรูกรุ๊ป ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบัน พร็อพเพอร์ตี้กูรูกรุ๊ป มีธุรกิจอยู่ในตลาดหลักครอบคลุม 5 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม มีธุรกิจที่เกี่ยวกับรางวัลด้านธุรกิจอสังหาฯ อย่าง PropertyGuru Asia Property Awards โดยนอกจากตลาดหลักแล้ว พร็อพเพอร์ตี้กูรูกรุ๊ป ยังมีตลาดที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน (Active markets) ในอีกหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ศรีลังกา จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ พม่า และฟิลิปปินส์

กมลภัทร กล่าวว่า DDproperty ต้องการเป็น ‘ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีความน่าเชื่อถือให้แก่ทุกคน Trusted advisor to everyone seeking property’ ไม่ว่าใครก็ตามที่มีความคิดอยากซื้อบ้าน คอนโด หรืออสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น ๆ เราสามารถให้คำแนะนำ รวมไปถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไม่ว่าคุณจะอยู่ฝั่งไหน (ผู้ซื้อ หรือผู้ขาย) และในขั้นตอนใดของการซื้อ ขาย เช่า หรือลงทุน

กลยุทธ์ของ DDproperty คือ การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง นอกจากเว็บไซต์จะเป็นแพลตฟอร์มที่ให้ลูกค้าสามารถหาข้อมูลต่าง ๆ ได้แล้ว ระบบหลังบ้านยังมีการนำนวัตกรรม Machine Learning มาใช้ ซึ่งจะช่วยให้แพลตฟอร์มนำเสนอข้อมูลที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งานนั้น ๆ ได้มากขึ้น เวลาที่ลูกค้าหาข้อมูล ระบบจะแสดงรายละเอียดอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นองค์ประกอบข้อมูลเพิ่มด้วย ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดการเช่าซื้อ หรืออื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับข้อมูลที่ลูกค้าค้นหา

ปัจจุบัน ในระบบ DDproperty มีรายการประกาศสินทรัพย์ประมาณ 700,000-900,000 รายการ ที่มาพร้อมรายละเอียด อาทิ ขนาดที่ดิน พื้นที่ใช้สอย แนวโน้มราคา (รวมไปถึงราคาย้อนหลัง) และข้อมูลเกี่ยวกับทำเลที่ตั้งของอสังหาฯ รายการนั้น ๆ

“บางคนไม่มีความรู้เรื่องการกู้เงินซื้อบ้าน อยากรู้ว่าบ้านราคาบ้านประมาณ 5 ล้าน จะผ่อน 20 ปี ต้องผ่อนเดือนเท่าไหร่ DDproperty มีเครื่องมือที่จะช่วยผู้ใช้งานคำนวณตรงนี้ เพราะเรามองว่าการซื้อบ้าน หรือการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างเข้ามาพิจารณาร่วม เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีราคาสูง ถ้าลูกค้ามีความพร้อมด้านข้อมูลก่อนการตัดสินใจ ก็จะช่วยให้ตัดสินใจได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น”

เป้าหมายทางธุรกิจของ DDproperty คือ ต้องการรักษาส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับหนึ่งอยู่เสมอ ข้อมูลภาพรวมธุรกิจ ณ เดือนธันวาคม 2564 มีส่วนแบ่งอยู่ที่ 60% มีผู้ที่สนใจเข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์เฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 ล้านคนต่อเดือน มีรายการประกาศสินทรัพย์แบบขาย 300,000-400,000 รายการ และแบบเช่าประมาณ 500,000 กว่ารายการ กมลภัทร กล่าว

“ปริมาณอสังหาริมทรัพย์จะมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามระยะเวลา เราต้องการรักษาความเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย เมื่อไหร่ที่มีคนนึกถึงอสังหาริมทรัพย์ ต้องนึกถึง DDproperty”

กมลภัทร กล่าวว่า การซื้อบ้านของแต่ละคนเป็นความต้องการเฉพาะที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากองค์ประกอบความพอใจ หรือไม่พอใจจุดต่าง ๆ ของแต่ละคน ทั้งเรื่องความพร้อมด้านเงิน เรื่องทำเลที่ตั้ง รวมถึงความต้องการซื้อบ้านหรือเช่า เว็บไซต์จะต้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายให้จบให้ได้จากที่เดียว

ยุคโควิด ต้องยืดหยุ่น และปรับตัวไว

กมลภัทร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์การทำงานให้กับ DDproperty มานานกว่า 6 ปี มองเห็นการเคลื่อนตัวของอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ จากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้พัฒนาโครงการประมาณ 2-3 รายเค้าบอกว่าการตลาดต่าง ๆ ที่ศึกษามาเป็นสิบปีตอนนี้โยนทิ้งหมด ต้องเปลี่ยนและเรียนรู้จากผู้บริโภครุ่นใหม่ โดยการนำเครื่องมือดิจิทัลเข้ามาใช้ทำให้บริษัทประสบผลสำเร็จทางการตลาดได้

“การเคลื่อนตัวของอุตสาหกรรมมักจะมาพร้อมการเปลี่ยนของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป มีการใช้ดิจิทัลมากขึ้น มีการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ต่าง ๆ หากใครที่มีความสามารถในการทำงานแบบยืดหยุ่นได้ จะทำให้คนคนนั้นเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว”

ก่อนมีโควิดผู้ประกอบการจะทำราคาออกมาต้องจ่ายเงินสด ต้องผ่อนต่อเดือนเท่าไหร่ แต่พอมีโควิด เริ่มเห็นโปรโมชัน ‘อยู่ฟรี 2-5 ปี’ แล้วจะได้รับผลตอบแทนกลับมากี่ปี ก็แล้วแต่แผนของแต่ละเจ้า ซึ่งต้องปรับตัวอยู่ตลอด เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่หากไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นมาอาจไม่เห็นการทำแคมเปญโฆษณาแบบนี้ ทุกวันนี้การเคลื่อนตัวของผู้ประกอบการค่อนข้างเร็ว คือ คิด วิเคราะห์ แล้วตัดสินใจทำ

จากที่กล่าวมานั้น เป็นเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น เห็นได้จากหลาย ๆ อุตสาหกรรม รวมถึงภาคอสังหาฯ คนส่วนใหญ่เข้ามาค้นหาข้อมูลที่อยู่อาศัย ผ่านทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น โดยเฉพาะประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงในอาเซียน ถ้าเป็นเมื่อก่อน สนใจอยากซื้อบ้านที ต้องโทรนัดพนักงานขายหรือเอเจนซี่ ว่าจะเข้าไปดูโครงการ

“ตอนนี้คนเริ่มค้นหาข้อมูลโครงการนั้น ๆ จากอินเทอร์เน็ต ทำการเปรียบเทียบข้อมูลของแต่ละเจ้า สุดท้ายเลือกมาในใจประมาณ 3-5 โครงการถึงจะนัดเข้าไปดูโครงการจริงอีกที”

กมลภัทร ให้ข้อมูลว่า จากรายงาน DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study ซึ่งเป็นผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคในรอบล่าสุดพบว่า ช่องทางหลักที่ผู้บริโภคสนใจใช้ค้นหาข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ อันดับหนึ่งคือโซเชียลมีเดีย 70% 2. เข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์โครงการประมาณ 54% และ 3. เข้าดูไปในเว็บไซต์อสังหาริมทรัพย์อย่าง DDproperty ประมาณ 51% ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตลอดเวลา

“นอกจากนี้ผู้บริโภคยังเปิดใจให้กับบ้านมือ 2 มากขึ้น สาเหตุส่วนหนึ่งคือไม่ต้องกังวลเรื่องของการออกแบบ ตกแต่ง เพราะได้เห็นบ้านที่ตกแต่งใหม่พร้อมขายแล้ว เห็นสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงเห็นชีวิตความเป็นอยู่จริง เมื่อเทียบกับบ้านโครงการใหม่ ๆ ที่บางครั้งต้องมาลุ้นว่าบ้านที่ได้จะออกมาตรงตามปก หรือภาพโฆษณาไหม ตรงนี้ทำให้ผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจบ้านมือ 2 กันมากขึ้น”

เทคโนโลยีทำให้แพลตฟอร์มเว็บไซต์ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การจับคู่ข้อมูลบนแพลตฟอร์ม การใช้ Machine Learning เข้ามาช่วยมอนิเตอร์คอนเทนต์บางอย่าง เช่น รูปภาพ หากมีรูปอะไรที่ไม่เหมาะสมเข้ามาในระบบ หรือรูปที่ไม่เกี่ยวข้องจะมีการแจ้งเตือน นอกจากนี้ ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาต่อยอดด้วยการนำ FinTech มาปรับใช้ เพื่ออำนวยความสะดวกในเรื่องของการให้สินเชื่อและรีไฟแนนซ์ให้กับคนหาบ้าน เป็นต้น

ทุกคนรอด เราก็รอด เติบโตไปด้วยกัน

กมลภัทร บอกว่า แม้ DDproperty จะไม่ใช่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยตรง แต่เราทำงานร่วมกับคนในภาคธุรกิจและ ecosystem นี้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งผู้พัฒนาโครงการ เอเจนท์ หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในภาคธุรกิจอสังหาฯ รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับผู้บริโภค ดังนั้น การรับฟัง และร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจนี้เดินไปข้างหน้า และเติบโตขึ้น นั่นคือสิ่งที่เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนี้เช่นกัน

ทีมเวิร์กสำคัญ

เพื่อต้องการให้ธุรกิจเติบโต กมลภัทรใช้หลักการในการทำงาน คือ ถ้าลงมือทำแล้วต้องเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่อยู่กับที่ ซึ่งการเติบโตนั้นอาจไม่ใช่การเติบโตในแง่ของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงสิ่งที่วัดผลได้เป็นการเติบโตในแง่ที่หลากหลาย รวมไปถึงการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภคในสถานการณ์ปัจจุบันและในอนาคต 

เรื่องของบุคลากร ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนองค์กร เพราะการสร้างคนขึ้นมาเพื่อให้รองรับกับความต้องการของบริษัทต้องใช้เวลา ที่สำคัญจะสร้างอย่างไรให้เขาสามารถทำให้งานกับบริษัทได้อย่างมีความสุข เป็นตัวแทนของบริษัทในการสื่อสารไปยังลูกค้าได้ นอกจากนี้ การทำงานเป็นทีม การที่แต่ละทีมสามารถทำงานร่วมกันยังเป็นสิ่งสำคัญ

ทุกวันนี้ แต่ละโปรเจกต์จะมีทีมงานเข้ามาดูแลมากกว่าหนึ่งหรือสองคนเสมอ มีทั้งพนักงานขาย ฝ่ายโปรดักส์ การตลาด โอเปอเรชัน ไฟแนนซ์ เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งการทำงานร่วมกันเป็นทีมเวิร์ก ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลาย ๆ อย่าง ยิ่งเป็นบริษัทที่มีสำนักงานอยู่ในต่างประเทศ ฉะนั้น จะมีทีมทำงานอยู่ทั้งในและต่างประเทศเช่นกัน บางคนพูดภาษาอังกฤษเก่งขึ้นคล่องขึ้น บางคนได้เรียนรู้วิธีคิดจากเพื่อนร่วมทีมที่ไม่ใช่คนไทย บางวิธีการอาจทำได้ดีในสิงคโปร์ ทำได้ดีในมาเลเชีย เราก็จะได้เรียนรู้จากคนที่เขาทำจนประสบความสำเร็จ และนำสิ่งที่ดีนั้นมาปรับใช้กับตลาดบ้านเรา นับเป็นโอกาสที่ดีของการเรียนรู้จากการทำงานในทีมที่มีความหลากหลายอีกประการหนึ่ง

บทสัมภาษณ์อื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ETRAN จากความฝัน สู่ยานยนต์พลังงานสะอาด

“พชร อารยะการกุล” CEO รุ่นใหม่ บนภารกิจปั้น “บลูบิค กรุ๊ป” ขึ้นแท่นบริษัทไทยระดับโลก

“นิพนธ์ บุญเดชานันทน์” ซีอีโอ WHAUP ตั้งเป้ายืนหนึ่งผู้นำตลาดพลังงานสะอาดแห่งภูมิภาคเอเชีย

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ