TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ เป็นมากกว่าสถานที่รักษา

สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ เป็นมากกว่าสถานที่รักษา

โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยพบผู้เสียชีวิตมากถึงปีละ 70,000 ราย การคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และโรงพยาบาลหลายแห่งของไทยมุ่งพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่มีการค้นคว้าวิจัยด้านนี้ตลอด 7-8 ปีที่ผ่านมา จนในที่สุดได้ก่อตั้ง ‘สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์’ ซึ่งมี ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้ริเริ่มการรักษาหัวใจผิดจังหวะชนิดเรื้อรังและชนิดชั่วคราวโดยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง หรือ CFAE ablation เป็นครั้งแรกในเอเชีย เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ ที่ใช้โมเดลการทำงานแบบเดียวกับสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิกริม ลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา

การวิจัย เทคโนโลยี ทีมเวิร์ก สู่การรักษาระดับ World Class

ศ.นพ.กุลวี เนตรมณี ผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิกริม ลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา กล่าวกับ The Story Thailand ว่า สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ก่อตั้งด้วยแนวคิดที่ต้องการให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากหัวใจเป็นอวัยวะที่สำคัญ หากหัวใจทำงานได้ไม่ดี จะมีผลกระทบต่ออวัยวะอื่นทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองหรือมีเส้นเลือดอุดตันบริเวณต่าง ๆ ของร่างกาย เป็นต้น โดยเราเชื่อว่า การวิจัย เป็นรากฐานหลักที่สำคัญในการนำมาพัฒนานวัตกรรมด้านการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อให้ดูแลผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของผู้บริหารบำรุงราษฎร์เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว มีความต้องการพัฒนาการวิจัยและพัฒนาศูนย์โรคหัวใจมากขึ้น มีเป้าหมายเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยหัวใจในระดับภูมิภาคและต้องการเป็นผู้นำของโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำของไทยในการยกระดับการรักษาให้มีมาตรฐานระดับโลก

โดยเริ่มจากการนำรูปแบบการทำงานของสถาบันวิจัยหัวใจเต้นผิดจังหวะ แปซิฟิกริม ลอสแองเจลีส สหรัฐอเมริกา มาใช้ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และมีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น โดยมีการทำงานวิจัยเพื่อหาแนวทางการรักษาแบบใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีขึ้น โดยมุ่งหวังให้ศูนย์โรคหัวใจบำรุงราษฎร์เป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ในการรักษาโรคหัวใจเต้นผิดปกติรวมถึงทุกปัญหาของโรคหัวใจได้อย่างครอบคลุม นอกจากงานวิจัยแล้วสิ่งที่เราทุ่มเทคือการพัฒนาด้านการรักษาด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ต่อเนื่อง

สำหรับจุดแข็งที่เรามีคือ ‘การทำงานเป็นทีม’ เริ่มตั้งแต่ทีมวิจัย ที่พัฒนาการจัดเก็บข้อมูลของผู้ป่วย ทีมพัฒนาด้านเทคโนโลยี รวมถึงการทำงานของทีมแพทย์ซึ่งมองว่า เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้นที่ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ การทำงานร่วมกันของแพทย์ผู้ชำนาญการในหลากหลายสาขา (Many subspecialties), การทำงานที่สอดประสานกันระหว่างทีมแพทย์และสหสาขาวิชาชีพ (Team approach is needed) และการทำงานที่ใกล้ชิดแบบไร้รอยต่อระหว่างแพทย์สาขาต่างๆ (Multi-Organ involvement) โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ความปลอดภัยสูงสุดของผู้ป่วยและการทำให้ผู้ป่วยและครอบครัวกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

อีกทั้งเราได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในการทำเทคโนโลยีถอดรหัสพันธุกรรม หรือ Whole Genome Sequencing เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์สารพันธุกรรม หรือ DNA หาความเสี่ยงในการเกิดโรค

สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์เป็นมากกว่าสถานที่รักษา จะเป็นแหล่งความรู้ที่รวบรวมเหล่านักวิจัย ทีมแพทย์เฉพาะทางและนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อคิดค้นนวัตกรรมเพื่อใช้ในการรักษาโรคหัวใจแบบใหม่ ๆ เราหวังให้ทุกงานวิจัยที่เก็บข้อมูลถูกนำไปพัฒนาต่อยอดและใช้ได้จริง เป็นที่ยอมรับในระดับสากล มาตรฐานเดียวกับระดับโลก

อย่างไรก็ตาม เราบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้วเบื้องต้นในการค้นพบวิธีการรักษาใหม่ ๆ ที่เราได้นำมาใช้จริงและมีหลายประเทศให้ความสนใจ คือ กรณีผู้ป่วยใหลตาย จากการวิจัยของเราค้นพบวิธีการรักษาแบบใหม่ ด้วยการจี้พังผืดบริเวณพื้นผิวของหัวใจห้องล่างขวา ซึ่งสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์รับผู้ป่วยกลุ่มนี้เข้ามารักษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายและเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยควบคู่กันไป นับว่าเป็นผลงานวิจัยครั้งแรกจากคนไทยที่ทำการรักษาด้วยวิธีนี้สำเร็จคนแรกของโลก

ส่วนอีกกรณีศึกษาจากงานวิจัยคือ การนำนวัตกรรม Cardio Insight เพื่อตรวจวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรกและเป็นแห่งที่ 3 ของโลก และเราเป็นผู้ริเริ่มการรักษาหัวใจผิดจังหวะชนิดเรื้อรังและชนิดชั่วคราว โดยการจี้หัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง หรือ CFAE ablation เป็นครั้งแรกในประเทศไทยและเอเชีย ทำให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้ มีผู้สนใจเข้ามาดูกรณีศึกษาที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ต่อเนื่อง เช่น ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจากกลุ่มยุโรป และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

มาตรฐานการรักษาระดับ World Class

ผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ กล่าวต่อว่า เราใช้แนวทางการรักษาโดยให้ ‘ผู้ป่วย’ เป็นศูนย์กลาง เน้นการรักษาแบบเฉพาะรายบุคคลตามสาเหตุและอาการของผู้ป่วย โดยดูแลต่อเนื่องตั้งแต่การวินิจฉัยหาสาเหตุและการวางแผนการรักษาด้วยวิธีต่างๆ ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การรักษาด้วยยา เทคนิคการรักษาใหม่ ๆ การใช้เครื่องมือกระตุ้น รวมถึงการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ อีกทั้งมีการตรวจวิเคราะห์พันธุกรรม เพื่อค้นหาความเสี่ยงก่อนเกิดโรคใน 3 กลุ่ม ได้แก่ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดใหญ่โป่งพองและปริแตกและโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถวางแผนการใช้ชีวิตและป้องกันการเกิดโรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรรมได้

ทั้งนี้ บริการที่เรามีครอบคลุมกลุ่มโรคดังนี้ โรคหัวใจขาดเลือด, โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, โครงสร้างของหัวใจผิดปกติ, โรคหัวใจที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม, โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด รวมถึงการคัดกรองและการส่งเสริมสุขภาวะของหัวใจ 

สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน หรือผู้ที่ต้องการการรักษาขั้นสูง เรามีทีมแพทย์และทีมสหสาขาวิชาชีพทำงานร่วมกัน เช่น อายุรแพทย์หัวใจ, ศัลยแพทย์ทรวงอก, แพทย์กายภาพบำบัด, เภสัชกร, ทีมพยาบาล และนักโภชนาการ เป็นต้น นอกจากนี้ บำรุงราษฎร์ยังมีแผนก Cardiac Care Unit (CCU) ดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจขั้นวิกฤติและผู้ป่วยหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

สอดรับเทรนด์ Digital Health

ผู้อำนวยการสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ปัจจุบันมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องยิ่งในโลกของดิจิทัลแล้ว Digital Health เป็นเทรนด์ที่ถูกกล่าวถึงมากขึ้นเพราะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ เช่น การรวบรวมฐานข้อมูลผู้ป่วยขนาดใหญ่ หรือ Big Data เพื่อประโยชน์ในการทำวิจัย, ระบบเวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ ,ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine และการสั่งยาผ่านระบบออนไลน์ รวมถึงนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติหรือตรวจจับโรคระยะเริ่มต้น และแอปพลิเคชันในการดูแลสุขภาพ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการดูแลสุขภาพตนเองได้ในเบื้องต้น

ทั้งนี้ มองว่าในอนาคต จะเริ่มเห็นเทคโนโลยีขั้นสูงมากขึ้น เช่น ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และการใช้ Machine Learning จากการวิเคราะห์สุขภาพในเชิงป้องกันจากการถอดรหัสพันธุกรรม ถือเป็นนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีคุณค่าและสร้างสรรค์มาก เพราะสามารถคาดการณ์โรคที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ ทำให้แพทย์และผู้ป่วยได้วางแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและแนวทางการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยียังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงรายละเอียดและข้อมูลที่สำคัญได้อย่างตรงไปตรงมา จากที่ใดก็ได้บนโลกตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจในการรักษามากขึ้น

อีกทั้งการทรานส์ฟอร์มทางการแพทย์ในอนาคตจะเกิดขึ้นได้จากการนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมมาใช้อย่างต่อเนื่อง คือต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อหาแนวทางในการรักษาใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการรักษาดีขึ้น รวมถึงนำความรู้เหล่านี้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการวิจัยและมีผลลัพธ์ทางคลินิกที่เป็นที่น่าพอใจมาต่อยอดเป็นรูปธรรม มีการนำมาใช้งานได้จริง และนำมาถ่ายทอดส่งต่อให้กับแพทย์ทั้งไทยและแพทย์จากนานาประเทศเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในวงกว้างให้ได้มากที่สุด 

มุ่งมั่นสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์

ศ.นพ.กุลวี กล่าวต่อว่า เป้าหมายที่เรามีตั้งแต่แรกคือ การก้าวสู่ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ซึ่งสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ในอนาคตมีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาการวิจัยเพื่อการค้นหาวิธีการรักษาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคหัวใจ ซึ่งในปี 2566 เรายังคงขยายทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่พร้อมทำงานบนความมุ่งมั่น รวมถึงการมองหาโรงพยาบาลพันธมิตรที่มีเป้าหมายเดียวกัน

“ผมนำความรู้ความสามารถที่สั่งสมมาในระดับโลกตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี มาถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิคการรักษาใหม่ ๆ และนำมายกระดับความเป็นเลิศด้านการแพทย์ของสถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ รวมถึงแบ่งปันความรู้นี้ให้แก่นักศึกษาแพทย์ และแพทย์ทั้งจากในประเทศไทยและทั่วโลก โดยใช้สถาบันโรคหัวใจบำรุงราษฎร์ เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ จัดฝึกอบรมเพื่อช่วยยกระดับวงการแพทย์ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และอยากเห็นผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”  

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ