TH | EN
TH | EN
หน้าแรกBusinessก้าวที่กล้าอย่างยั่งยืน กับ WEDO Young Talent Program “เมื่อคนเล็กอยากโต และคนโตอยากปั้น”

ก้าวที่กล้าอย่างยั่งยืน กับ WEDO Young Talent Program “เมื่อคนเล็กอยากโต และคนโตอยากปั้น”

การเติบโตของโครงการ WEDO Young Talent ปีที่สอง เพื่อปั้นฝัน “เด็กรุ่นใหม่ที่มีไฟและมีของ” มาร่วมสร้างนวัตกรรมในแบบฉบับสตาร์ทอัพหัวใจไทย เพื่อสร้างระบบเศรษฐกิจใหม่บนความยั่งยืน คือ ตัวอย่างความสำเร็จของ WEDO-SCG ในการผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพื่อพัฒนานวัตกรรมรักษ์โลกและสังคม ตามแนวทาง ESG 4 PLUS 

อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เผยถึงผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินโครงการ WEDO Young Talent Program ต่อเนื่องเป็นปีที่สองกับ The Story Thailand ว่า มีการเติบโตเกิดขึ้น 4 อย่าง คือ นักศึกษา ทีมงาน WEDO องค์กร SCG และ

น้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการ YTP เติบโตขึ้น จากปีแรกมีคนสมัคร 700 คน แต่จำนวนลดลงเกือบครึ่งเมื่อเข้าค่ายอบรม (Boot Camp) จากงานที่หนักและกดดัน ซึ่งแสดงว่าน้องยังแตะไม่ถึงแนวคิดการสร้างคนรุ่นใหม่ไฟแรงและมีพรสวรรค์ คิดว่ามาฝึกงาน พอมาถึงปีที่สอง เด็ก ๆ สมัครเข้ามา 400 คน แต่เป็นคนตั้งใจมาสู้จริงและสามารถพัฒนาผลงานที่จับต้องได้สูงมาก จากผลงานทั้ง 11 ทีมในปีนี้ สามารถต่อยอดได้เกือบครึ่ง บางผลงานพร้อมนำไปลงทุนทำธุรกิจได้เลย บางผลงานปรับนิดเติมหน่อยก็สามารถออกเป็นผลิตภัณฑ์ได้เลย เป็นตัวอย่างให้สังคมเห็นว่า เด็กมหาวิทยาลัยที่เพิ่งมาเรียนรู้นวัตกรรม 6 เดือน สามารถใช้เวลา 10 สัปดาห์ บ่มเพาะให้กลายเป็นสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ได้ 

“ทีมงานเติบโต จากเดิมไม่มีใครเชื่อว่าเราทำได้ ทำไมต้องมีการคัดเลือก ทำไมต้องทำค่ายอบรม แต่เราทำเพราะอยากให้น้อง ๆ ได้ตระหนักถึงศักยภาพของตัวเองว่า มีดีพอที่จะโตไปเป็น talent ในอนาคต ซึ่งไม่ใช่แค่เป็นคนเก่ง แต่ต้องดูดีตามแบบฉบับของ WEDO คือ มีกรอบความคิดดี ทัศนคติดี ไม่มีอคติ และมองทุกอย่างรอบด้าน”

WEDO Young Talent Hell Day 2022 ด่านทดสอบ “ทักษะ ความคิด ทัศนคติ และความอดทน” คุณสมบัติที่ Talent แห่งโลกอนาคตต้องมี

WEDO ชวนนักศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วม “WEDO Young Talent Program 2022”

นั่นหมายถึงต้องมี “ทีมงานที่ต้องเก่งและแกร่ง” ในการออกแบบจำลองสถานการณ์ที่โหด กดดัน สับสนระหว่างการทำนวัตกรรม เพื่อประเมินแนวคิดทัศนคติส่วนตัว ระหว่างการทำงาน หรือในการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นของเด็ก 200-300 คนให้ครบใน 24 ชั่วโมง เพื่อหาคนที่ใช่ในแบบที่เราต้องการ เช่น คนที่คิดนอกกรอบ คนที่ชอบความท้าทาย อย่างน้องรุ่นแรก เรารับมาทำงาน 21 คน เป็นทั้งพาร์ทไทม์ และฟรีแลนซ์ ส่วนปีที่สองกำลังอยู่ในขั้นการพิจารณา แต่สิ่งที่ได้เพิ่มขึ้นมา คือ เราได้น้องรุ่นใหม่ที่เป็นทาเลนต์ และเราอยากลงทุนธุรกิจด้วย หรือ พาไปขายงานกับพาร์ทเนอร์ของเราเพื่อชวนมาร่วมลงทุน 

องค์กรเติบโต ตรงที่เอสซีจีเริ่มเห็นความสำคัญ และอยากขยายผลโครงการในปีที่สามและปีต่อ ๆ ไปให้กับหน่วยธุรกิจอื่นในเอสซีจีนอกเหนือจากดิจิทัล ส่วนพาร์ทเนอร์ก็อยากมาให้โจทย์ หรือเป็นสปอนเซอร์โครงการ รวมถึงอยากปั้นน้อง ๆ ให้ได้มากกว่า 50 คน และสุดท้าย สังคมเติบโต คนนอกเริ่มมองเห็นและขอให้ทำในระดับมัธยมศึกษา โดยในปีที่สามซึ่งจะเปิดรับในช่วงเดือนธันวาคม เราตั้งใจเปิดรับให้ครอบคลุมมากขึ้นทั้งเด็กมหาวิทยาลัย ปวช. ปวส. จนถึงมัธยมฯ 

ติดปีกนวัตกรรมสู่ตลาดการค้า

“สำหรับโครงการรุ่นที่ 2 เรากำหนดกรอบการพิจารณาผลงานที่เรียกว่า Technology Readiness Level (TRL) ออกเป็น 4 ระดับ คือ Research ผลงานที่ยังเป็นแค่งานวิจัย Demonstration ผลงานที่ทดลองใช้แล้วตอบโจทย์ได้จริง แต่ยังไม่พร้อมออกสู่ตลาด เช่น มีราคาแพงเกินไป หรือยากเกินไป Optimization การนำเอาชิ้นงานตัวอย่างมาทำให้มีราคาถูกลง ผลิตง่ายขึ้น ใช้งานง่ายขึ้น และ Commercialization ผลงานที่ผลิตออกสู่ตลาดได้จริง”

อภิรัตน์ ยกตัวอย่าง Me Plug (มีปลั๊ก) เป็นผลงานในกลุ่มเทคโนโลยีดิจิทัลว่า สามารถดันให้เกิดเป็นธุรกิจได้ โดยกำลังอยู่ในกระบวนการ optimization เพื่อผลิตให้ได้ราคาต่ำกว่า 1,000 บาท ซึ่งจะถูกกว่าตู้จ่ายไฟ (AV Charger) ถึง 100 เท่า ด้วยคุณสมบัติความเป็นปลั๊กอัจฉริยะที่ต่อกับตัวชาร์จไฟฟ้าในรถยนต์ ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการเปิด-ปิดใช้งาน คำนวณและชำระค่าไฟผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน ซึ่งตอบโจทย์ได้ตรงกับปัญหาของคน 3 กลุ่มในคอนโดมิเนียม หนึ่ง ลูกบ้านที่ใช้รถอีวี สอง คอนโดฯ ไม่ต้องเสียพื้นที่จอดรถไปกับตู้ชาร์จแต่ใช้การติดตั้งมีปลั๊กในทุกที่จอดรถแทน รวมถึงไม่ต้องกลัวโดนขโมยไฟ และ สาม ลูกบ้านท่านอื่นมีไฟใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เสียบอุปกรณ์ดูดฝุ่น ล้างรถ เป็นต้น

“แม้ไทยตั้งเป้าการใช้รถอีวี 33% ในสิบปีข้างหน้าแต่เรามองว่า คนใช้รถอีวียังไม่คุ้มพอที่คอนโดฯ จะลงทุนติดตั้งตู้จ่ายไฟ เพราะฉะนั้น โอกาสทางธุรกิจของสินค้าตัวนี้ยังกินยาวไปได้อีกสิบปี นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ขายงานกับพาร์ทเนอร์ เช่น การไฟฟ้าฯ เพื่อหาผู้ร่วมลงทุนโดยน้อง ๆ ไม่ต้องลงเงินแต่ได้หุ้นไป และเรามาทำตลาดร่วมกัน ส่วนพาร์ทเนอร์ในฝั่งธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เมื่อมีโครงการใหม่ก็จะผลักดันให้ติดตั้งมีปลั๊กไปเลย วัตถุประสงค์ของเราอยากให้มีปลั๊กเป็นธุรกิจที่เติบโต น้องๆ ที่ร่วมทำโครงการประสบความสำเร็จโดยใช้เวลาน้อยที่สุด”

ส่วนผลงาน Never Fall ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านงานวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในประเทศอังกฤษเกี่ยวกับการตรวจสอบความเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุเพื่อลดเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม ไปสู่การใช้งานผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือร่วมกับระบบตรวจจับการเคลื่อนไหวของโครงกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ เพื่อให้สามารถทำได้เองที่บ้าน รวมถึงสามารถขอรับการปรึกษาทางการแพทย์เมื่อตรวจพบความเสี่ยงผ่านการส่งภาพโครงกระดูกเคลื่อนไหว ซึ่งช่วยเรื่องการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA ของผู้สูงอายุไปในตัว 

“Never Fall เป็นผลงานในขั้น Demonstration ที่กำลังยกระดับไปเป็น Optimization ซึ่งต้องปรับปรุงเรื่องความถูกต้องแม่นยำ เพื่อจะไปคุยต่อกับพาร์ทเนอร์ในกลุ่มโรงพยาบาล” 

ส่วนผลงานที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้น เช่น การใช้เทคโนโลยีวีอาร์เพื่อสร้างประสบการณ์ให้กับคนพิการในกิจกรรมที่เขาทำไม่ได้ อย่างการจำลองสระน้ำด้วยวีอาร์เพื่อให้ผู้นั่งรถเข็นรู้สึกเหมือนตัวเองว่ายน้ำได้จริง หรือ โครงการ นัยนา ซึ่งใช้เทคโนโลยีการสื่อสารด้วนเสียงแบบออฟไลน์ที่เราได้พัฒนาขึ้น (Offline NLP) ร่วมกับคอมพิวเตอร์วิชั่น และกล้องขนาดเล็กเพื่อสอดส่องสิ่งกีดขวางเหนือศีรษะของผู้พิการทางสายตาและแจ้งเตือนด้วยเสียง เป็นต้น

“ครั้งที่ร่วมงาน Tech Source เราชูประเด็นเรื่อง To get there, together โดยย้ำว่า การผลักดันระบบเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ เราต้องร่วมมือกัน และการมีพาร์ทเนอร์ถือว่าสำคัญ โครงการ WEDO Young Talent Program กำลังสะท้อนให้เห็นว่า เราต้องการพาร์ทเนอร์มาร่วมสนับสนุน เพราะผมมีเทคโนโลยี น้อง ๆ มีไฟในการสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่เรายังขาดผู้เชี่ยวชาญ ขาดความเข้าใจในตลาด แต่พาร์ทเนอร์มี” 

Net zero-Go Green-Lean เหลื่อมล้ำย้ำร่วมมือ

อภิรัตน์ กล่าวว่า เอสซีจีปักหมุดเรื่อง ESG 4 PLUS เพื่อย้ำความร่วมมือในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดูแลสังคม และสร้างเสริมธรรมมาภิบาล ซึ่งความยั่งยืนไม่ใช่แค่การทำให้ไม่มีคาร์บอน หรือ ใช้ทรัพยากรแล้วลดขยะ แต่เป็นความยั่งยืนของทุกสรรพสิ่ง เช่น ความยั่งยืนบนแนวทางที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้อื่นให้น้อยที่สุด รวมถึงความยั่งยืนในการลดความเหลื่อมล้ำของมนุษย์ ด้วยการลงมือทำสิ่งที่ดีงามเผื่อแผ่ไปถึงอนาคต ไม่ใช่ทำเพื่อสนองความต้องการในปัจจุบันแต่ทิ้งปัญหาไว้กับลูกหลาน เช่น นวัตกรรมอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานสีเชียว อันนี้เป็นมุมของการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ แต่ยังมีอีกหลายโครงการที่มุ่งไปที่ตัวมนุษย์ เช่น “คิวช่าง” ลดความเหลือนล้ำทำให้ช่างทุกคนมีโอกาสรับงานที่เท่าเทียมกัน  “NocNoc” เปิดพื้นที่ให้เอสเอ็มอีเฟอร์นิเจอร์ของไทยได้ขยายแบรนด์ ขยายตลาด มีเทคโนโลยีไปแข่งกับต่างชาติ  หรือ “ก็อกน้ำพูดได้” ที่นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการทางสายตา ยังชวนให้ตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างมีคุณค่าซึ่งสะท้อนถึงความยั่งยืนเช่นกัน

“การสร้างนวัตกรรมในยุคนี้ เราต้องคิด 3 แบบ เริ่มจาก Design Thinking กระบวนการคิดเพื่อออกแบบและแก้ปัญหาเพื่อทำให้ชีวิตดีขึ้นในปัจจุบัน Future Thinking  การคิดและแก้ปัญหาปัจจุบันแล้วยังสามารถตอบโจทย์ไปถึงอนาคต  และ Sustainable Thinking การคิดแก้ปัญหาที่นำไปสู่ความยั่งยืน คือ ต้องไม่ไปสร้างปัญหาให้คนอื่นที่ร่วมโลกเราอยู่ หรือก่อปัญหาอื่นตามมา”

เก็บตกไฮไลต์แห่งปี

“ผมโดนตกจากคำพูดของ Chief Digital officer ที่ว่า อยากให้คนไทยผลิตนวัตกรรมของตัวเองและแข่งขันได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมก็อยากทำ แต่เราทำคนเดียวไม่ได้และขาดคอนเนคชั่น”  

ชามินทร์ มันยา ตัวแทนทีม มีปลั๊ก (Me Plug) กล่าวว่า ทีมได้โจทย์ในการทำให้ผู้คนเข้าถึงแหล่งพลังงานได้จากทุกที่  ซึ่ง “มีปลั๊ก” ก็คือ ปลั๊กไฟอัจฉริยะที่เชื่อมกับเทคโนโลยีไอโอที และแอปพลิเคชันในการออกคำสั่งเปิด-ปิดไฟ สำหรับแก้ปัญหาการใช้ไฟในพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียมสำหรับผู้อยู่อาศัยใช้รถอีวี โดยอนาคตจะไปแก้ปัญหาการใช้ไฟในพื้นที่ส่วนกลางอื่น ๆ โดยอยู่ในขั้นบ่มเพาะ ระดมผู้ร่วมลงทุน เช่น การได้โอกาสเสนองานให้กับการไฟฟ้าฯ เป็นต้น

ชามินทร์ เล่าว่า การลุยงานด้วยตัวเองโดยไม่มีโค้ชตลอดสองปีหลังเรียนจบคณะไอซีที ม.มหิดล นั้นเหนื่อยมากที่ต้องพัฒนาตัวเองตลอดโดยไม่รู้ว่าทำถูกหรือผิด โครงการนี้ช่วยติดอาวุธให้ครบในเรื่องธุรกิจ เทคโนโลยี และการออกแบบผ่านการเข้าค่ายอบรมความรู้ 13 คลาส กิจกรรมวัน Hell Day ร่วมแข่งขันทำนวัตกรรมใน 24 ชั่วโมง ความที่ทีมไม่มีใครรู้เรื่องฮาร์ดแวร์หรือไอโอทีเลยก็มาเรียนพื้นฐานกันใหม่ โดยมีพี่ ๆ คอยช่วยเหลือและปรึกษาได้ในทุกเรื่อง ที่สำคัญ คือ การได้พัฒนากระบวนการคิดและทัศนคติ (Mindset) ในการทำงานที่คุยทุกอย่างบนพื้นฐานความเป็นจริง ไอเดียที่คิดต้องนำไปทดสอบตลาดซ้ำ ๆ ว่าตอบโจทย์ได้หรือไม่ แก้ปัญหาได้หรือไม่ ได้เรียนรู้ว่าตรงไหนที่ทำผิด เมื่อรู้แล้วก็ต้องแก้ไขให้เร็ว ต้องยอมเปลี่ยนยอมปรับเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ดีที่สุด จึงอยากบอกคนที่มีความคิดคล้าย ๆ กันว่า อย่าหยุดหาโอกาสและลองมาเข้าร่วมโครงการเพื่อที่จะได้มาเจอเพื่อน ๆ พี่ และองค์กรดี ๆ ที่ช่วยให้เราได้พัฒนาตัวเองและพัฒนานวัตกรรมที่ไปต่อยอดได้ในอนาคต”

อีกหนึ่งผลงานจากการตั้งโจทย์ด้านเทคโนโลยีในการดูแลผู้สูงอายุ หรือ ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ จึงเลือกพัฒนานวัตกรรม “การวัดความเสี่ยงในการล้มของผู้สูงอายุ 

รัฐศิลป์ โพธิ์ประพันธ์-น้องไม้กอล์ฟ ตัวแทนทีม Never Fall เล่าว่า เป็นแพลตฟอร์มที่นำเอาเทคโนโลยีเอไอในแขนงของคอมพิวเตอร์วิชั่นสำหรับวิเคราะห์ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว มาผนวกกับลักษณะโครงกระดูกของมนุษย์เพื่อศึกษาท่าทางการเดิน และช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับการเดินของผู้สูงอายุ (ในนิยามตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) โดยใช้เกณ์ตามหลักกายภาพบำบัดในการประเมินความสามารถในการเดินและเสี่ยงพลัดตกหกล้มที่เรียกว่า TUG (Timed Up and Go Test) ร่วมกับรายการตรวจสอบความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม (Fall Risk Checklist) ข้อมูลวิจัยจากในและต่างประเทศในแถบเอเชีย และคำปรึกษาทางการแพทย์ต่าง ๆ เพื่อสร้างดัชนีชี้วัดการเดินว่าเป็นปกติ เสี่ยงล้ม หรือเสี่ยงล้มสูง โดยใช้กล้องโทรศัพท์มือถือ เว็บแคม หรืออุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์บันทึกภาพส่งผ่านแอปพลิเคชันเพื่อเข้าสู่การประมวลผลโดยใส่ภาพโครงกระดูกซ้อนลงไปตามข้อต่อต่าง ๆ หากพบว่า มีสภาวะเสี่ยงล้มหรือเสี่ยงล้มสูง จะได้รับคำแนะนำให้พบแพทย์ โดยหลังจบโครงการแล้ว ทีมยังคงพัฒนาต่อยอดให้เอไอฉลาดรู้มากขึ้น ได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ และพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มบนโมไบล์ให้ได้ใน  6  เดือน ส่วนอนาคตหวังว่า จะสามารถนำไปปรับใช้กับผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับโครงสร้างร่างกาย เช่น การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูก การดามเหล็ก หรือ การเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้สูญเสียสมรรถนะการเดิน 

“โครงการนี้ไม่ใช่การฝึกงาน แต่เป็นการทำงานจริงและได้เพิ่มทักษะที่เราไม่ถนัด ผมเรียนมาด้านกระบวนการคิดเชิงออกแบบ สิ่งที่ได้ติดตัวกลับไป คือ ความรู้เพิ่มเติมในส่วนของธุรกิจ สามารถก้าวข้ามการกำหนดแนวคิดและออกแบบได้ละเอียดมากขึ้นไปจนถึงการจบเป็นชิ้นงานออกสู่ตลาด และต้องพิสูจน์ว่านวัตกรรมที่เราคิดมันไปต่อได้จริง ๆ  ส่วนน้อง ๆ ที่เข้ามาอยากให้เคล็ดลับว่า ต้องจัดสรรเวลาและตัวเองให้พร้อมทำงานภายใต้สภานการณ์จำกัด และต้องไม่กลัวที่จะล้มและลุกขึ้นก้าวข้ามปัญหาหรือความล้มเหลวให้เร็ว” 

สุดท้ายเมื่อแนวคิด “นวัตกรรมต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกคนต้องเข้าถึงและนำมาใช้ได้โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำ” กลายเป็นที่มาของโครงการ “นวัตกรรมเพื่อช่วยผู้พิการทางสายตาในการหลบหลีกสิ่งกีดขวางที่อยู่เหนือศีรษะ” ชาลิสา ตั่นวัฒนะน้องเบส ตัวแทนจากทีมนัยนา เล่าให้ฟังว่า นัยนาเป็นการทำงานร่วมกันของเทคโนโลยีเอไอในส่วนของคอมพิวเตอร์วิชัน ร่วมกับเทคโนโลยีระบบสื่อสารด้วยเสียงโดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยมีกล้องขนาดเล็กสวมติดตัวผู้พิการไว้คอยตรวจจับและแจ้งเตือนสิ่งกีดขวางด้วยเสียงในระยะ 7 เมตร 

“หนูไม่ได้เรียนด้านนวัตกรรมโดยตรงแต่มีใจอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ซึ่งพี่ ๆ ก็ให้การสนับสนุนทุกอย่าง ทั้งการให้พื้นที่ในการคิด ช่วยเรื่องการเขียนโค้ดโปรแกรม ดังนั้น ไม่ว่าจะจบสาขาอะไรมา ขอให้คว้าโอกาสนี้ไว้แล้วพิสูจน์ให้เห็นว่าคุณมีศักยภาพที่จะอยู่ตรงนี้ ภาวะกดดันที่ทำให้ท้อ ทำให้เขวไประหว่างทางก่อนจบชิ้นงานเกิดขึ้นได้ อย่างในช่วง Hell Week หรือ Hell Day ทีมหนูเรียกว่าหลงทางไปเลย ก็ขอให้ตั้งสติทบทวนในสิ่งที่ตั้งใจจะทำแต่แรกแล้วมุ่งมั่นต่อไป สุดท้ายก็จะสำเร็จ”

ปักหมุดชุดความคิดฉลาดนำ ทำเร็ว” 

“ผมตายตาหลับ เพราะ WEDO ได้ปักธงลงในเอสซีจีแล้ว”

อภิรัตน์ กล่าวว่า ตอนที่ตั้งหน่วยงานดิจิทัลออฟฟิศ “WEDO” เป็นแบรนด์ที่เราแอบปั้นมาตลอด “การคิดล้ำ ทำแปลก” โดยไม่มีผลงานที่จับต้องได้ในวันนั้นไม่ได้ทำให้หน่วยงานเป็นที่ยอมรับของเอสซีจีมากนัก แต่ผลงานสองปีจากการทำโครงการนี้ ทำให้องค์กรและสังคมเห็นว่า เราคนไทยทำได้ถ้าตั้งใจพัฒนานวัตกรรมเป็นของตนเอง และ WEDO พร้อมสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีไฟและใจรักมาขับเคลื่อนสานต่อภารกิจนี้

“ผมไม่เคยสงสัยเลยว่า เราจะทำไม่ได้ ติดแค่ว่า เราทำได้เร็วพอหรือไม่ เพราะโลกไปเร็วแต่เราเพิ่งเริ่มต้น แล้วเอสซีจีเป็นบริษัทเล็ก ทำอย่างไรที่จะขยายพื้นที่ให้ใหญ่ ให้องค์กรเชื่อ สังคมมองเห็น และพาร์ทเนอร์ยอมรับ ดังนั้น เราต้องไม่เก่งแค่เฉพาะนวัตกรรม แต่ต้องเก่งเรื่องการบริหารเงินและการลงทุน ทำอย่างไรเราจะคิดเรื่องวิศวกรรมการผลิตแล้วได้ต้นทุนถูกที่สุดในวันที่ขนาดทางธุรกิจของเรายังไม่ใหญ่เท่าประเทศจีน เพราะฉะนั้น ในปีหน้าและปีต่อไป เราต้องฉลาดคิด ฉลาดทำในทุกเรื่อง ในการสร้างนวัตกรรมเราต้องมองให้กระจ่างว่า ความท้าทายคืออะไร และมีหนทางใดที่จะเปลี่ยนสิ่งที่เราคิดให้กลายเป็นความจริงที่จับต้องได้ให้มากที่สุด ขีดจำกัดที่สำคัญอีกเรื่องที่ต้องแก้ คือ “กรอบความคิดและทัศนคติ” คนไทยเวลาคิดทำสิ่งหนึ่งแล้วมีคนบอกว่า มันยากไปให้ไปทำอะไรง่าย ๆ นวัตกรรมก็ไม่เกิดเพราะเรายังไม่ได้เริ่มทำ แต่ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติว่า เรามีความคิดสร้างสรรค์ มีศักยภาพมากพอถึงแม้จะสำเร็จแค่ 70-80% ก็ถือว่าได้ลงมือทำ ซึ่งทีมกำลังหาทางผลักดันทุกคนให้ก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ และโครงการ WEDO Yong Talent Program ปี 3 จะเป็นบทพิสูจน์ว่า เราจะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จหรือไม่” 

WEDO Young Talent Program 2023

WEDO Young Talent Program โครงการสำหรับการทำงานจริง ล้มจริง เจ็บจริง สำหรับนิสิต/นักศึกษาจากทุกชั้นปี ทุกมหาวิทยาลัย ในรูปแบบ micro-enterprise เพื่อให้เหล่าน้อง ๆ ได้มาลงมือทำงานจริง ที่บ่มเพาะทักษะความรู้แบบ T-shape ได้แก่ design, business และ technology อย่างเข้มข้นจำนวน 13 คลาสเรียน เพื่อค้นพบศักยภาพของตัวเองที่ซ่อนอยู่ ภายในด่านทดสอบสุดหิน “Hell day” ทดสอบในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง เพื่อวัดความมุ่งมั่นและความพยายามของน้อง ๆ สู่การคัดเลือกเพื่อเป็น 1 ใน YTP Gen3 สำหรับ Hell weeks จำนวน 13 สัปดาห์ ที่น้อง ๆ สามารถสร้างสรรค์โจทย์และพัฒนานวัตกรรมเชิงดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนสู่สังคมและประเทศชาติ  

ปีนี้ WEDO Young Talent Program 2023 เปิดรับสมัครเป็นรุ่นที่ 3 แล้ว สำหรับน้อง ๆ ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ ที่พร้อมเผชิญด่านทดสอบที่ทั้งโหด และเข้มข้นยิ่งกว่า โดยการรับสมัครระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเปิดโอกาสสำหรับน้อง ๆ ที่อยากมาร่วมท้าทายเพื่อผลัดกันให้น้อง ๆ ค้นพบศักยภาพของตนเอง ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นปีแรกของโครงการ WEDO Young Talent Program ที่จัดช่วง Hell Day ด่านทดสอบ 24 ชั่วโมงแบบออฟไลน์อีกด้วย เริ่มรับสมัครแล้ว วันนี้ – 30 ธันวาคม 2565 

URL: http://bit.ly/3VgN6xy 

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

เปิด 3 ประสบการณ์ทำงานจริงเจ็บจริง กับ WEDO Young Talent 2021

เอสซีจี จับมือ กกร. รีไซเคิลกระดาษเหลือใช้จากงานประชุม APEC 2022 สู่ชั้นหนังสือรักษ์โลกเพื่อเยาวชน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ