TH | EN
TH | EN
หน้าแรกLifeบุก 'คลังสมบัติฟาโรห์' หลบภัยน้ำป่าถล่ม 'นครเพตรา'

บุก ‘คลังสมบัติฟาโรห์’ หลบภัยน้ำป่าถล่ม ‘นครเพตรา’

เปลี่ยนใจแล้ว เล่าเรื่องผจญภัยในเพตราก่อนดีกว่า พรุ่งนี้ค่อยเล่าเรื่องเมาท์เนโบ โปรดอย่าได้โกรธกัน _//\\_

เพราะที่คนอื่นเขาไปในทริปอื่น ๆ มีทั้งที่ตั้งใจไปถ่ายรูปสวย ๆ ไปศึกษาร่องรอยอารยธรรมพันปีที่ปรากฏอยู่ทั่วทุกซอกมุมในนครศิลาสีชมพู เพตรา (The Red Rose City) 

แต่ของเราเด็ดกว่านั้น ยืนยัน!!

อาจมีบางคนเห็นข่าวพาดหัว 1,700 นักท่องเที่ยวหนีตาย หลังน้ำทะลักท่วมนครเพตรา หรืออะไรทำนองนี้ พร้อมคลิปประกอบเหตุการณ์ มวลน้ำมหาศาลสีแดงขุ่นคลั่กไหลลงจากยอดเขาหินทรายสีชมพู ระดับความสูงประมาณ 250 ฟุตไปตามทางช่องแคบระหว่างหน้าผาสองฝั่ง หรือที่เรียกกันว่า The Siq

เพราะเราเป็นหนึ่งในนั้นค่ะ เลยต้องเก็บมาเล่าซะหน่อยในฐานะผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้ตื่นตระหนกอะไรสักเท่าไร คิดว่า น้ำคงไม่ท่วมมาถึงตรงที่เราหลบอยู่หรอก เนื่องจากทางเทลาดลงไป ซึ่งตามทฤษฎีน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ และทะเลทรายดูดซับน้ำได้เป็นอย่างดี น้ำคงซึมลงพื้นไปได้ทัน ไม่น่าท่วมมั๊ง

แค่คิดว่าจะออกจากพื้นที่ได้ตอนไหน เท้าที่เย็นจัดเพราะผ่านการเปียกน้ำ เปียกฝนมาครึ่งค่อนวันจะเป็นตะคริวหรือเปล่า

ฝนตก ๆ หยุด ๆ ทำแผนเลื่อน

เล่าตามลำดับแบบนี้ดีกว่า

พวกเรา 100 ชีวิตออกจากดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ เมาท์ เนโบ เดินทางไปเพตรา เข้าที่พัก ณ Petra Moon Luxury Hotel ขอบอกว่า อยู่ใกล้ประตูทางเข้าเมืองโบราณเพตรา ในหุบเขาวาดีมูซานิดเดียว เดินเอื่อยๆ 5 นาทีก็ถึงแล้ว

ตามแผนการดั้งเดิมคือ เราจะเริ่มต้นเดินไปเวลา 8.00 น. แต่เอาเข้าจริงปรากฏว่าเช้ามาฝนตกสินะ ฝนอยู่นั่น ตกมั่ง หยุดมั่ง เวลานัดหมายเลยรวนเร เพราะต้องการรอให้ฝนหยุดจะได้เดินกันสะดวกๆ หน่อย ก็ทริปเราขนาดไม่เล็กเลย

อาจมีผู้สงสัยว่า ยุคนี้แล้ว ไม่ดูพยากรณ์อากาศกันมาล่วงหน้าหรือ ต้องบอกว่า ดูสิ ดูมาอย่างดี ว่าจะมีฝน แต่เห็นว่า ฝนนิดหน่อย พกร่มนิดก็ไปต่อได้

หากพอเจอของจริงไม่ใช่อย่างนั้นเสียนี่ จะทำอย่างไรได้ ก็มีแต่ต้องไปต่อ เพราะโดยปกติแล้ว ฝนทะเลทรายนานแสนนานจะตกสักที และไม่ตกนาน … ยกเว้นครั้งนี้ ตกจนคนจอร์แดนขอบคุณสวรรค์ที่ประทานฝนมาให้กันเลยทีเดียว

เลื่อนไปเลื่อนมา ได้ข้อสรุปว่า ถ้ารอฝนหยุด คงไม่ได้ไปไหน ฉะนั้น 9.00 น. เราเริ่มออกเดินจากโรงแรมก็แล้วกัน แบ่งคนเป็นกลุ่ม ๆ ตามบัสที่นั่งกันมา 3 คัน ก่อนออกเดินได้มีแจกเสื้อกันฝนให้ทุกคนได้คลุมตัวคลุมข้าวของที่พกติดตัว และแจกน้ำเปล่า 1 ขวด เนื่องจากต้องเดินชมสถานที่ประมาณ 4 กิโลเมตร

Petra
The siq

พอถึง Petra Visitor Center รับบัตรผ่านประตูแล้ว เดินมุ่งหน้าไปยัง The Siq ทางเดินธรรมชาติที่เกิดจากการแยกตัวของเปลือกโลก การกัดเซาะของน้ำและลมมายาวนาน ระหว่างเดิน ๆ ก็ฟังบรรยายประวัติความเป็นมาบ้าง ความสำคัญของสถานที่บ้าง 

พวกเอโดไมต์ เป็นชนกลุ่มแรกที่เข้ามายังเพตราราว 1,000 ปีก่อนคริสตกาล แต่ชาวนาบาเทียนคือชนชาติแรกที่สร้างนครเพตราขึ้นช่วง 400 ปีก่อนคริสตกาล แม้จะเป็นดินแดนที่แห้งแล้งแต่อยู่บนเส้นทางการค้าที่สำคัญของโลกยุคโบราณ 2 สายคือ เส้นทางสายตะวันออก-ตะวันตก และเส้นทางสายเหนือ-ใต้ แถมมีแหล่งน้ำจืดที่สำคัญในหุบเขาโมเสส หรือวาดีมูซานั่นเอง

ฟังบรรยายมั่ง ถ่ายรูปมั่ง ทำไปทำมา ถ่ายรูปกันเพลิดเพลิน ถ่ายเท่าไรก็ไม่พอ สวยเหลือเกิน ขนาดมีอุปสรรคเป็นฝนที่ตกๆ หยุดๆ ตลอดเวลา ส่งผลให้การเดินต้องระวังมากขึ้น จากฝนตกทางเลยลื่นนิดๆ แต่ถ้ารองเท้าพื้นดีๆ ก็ไม่มีปัญหา (ใครจะไปเที่ยวแนะนำเลือกรองเท้าดีๆ พื้นรองเท้ายึดเกาะได้ดี ถ้ามีรองเท้าสำรองไปด้วยยิ่งดีใหญ่) แถมเดินๆ ไป เจอบางช่วงมีน้ำขัง น้ำไหล เดินลึกเข้าไปหน่อยมีน้ำสูงขึ้นอีกนิด 

นักท่องเที่ยวผมทองกลุ่มหนึ่งไปหยิบเอาหินแถว ๆ นั้น ปูลงไปเพื่อเดินข้ามน้ำ แต่สังเกตแล้วก้อนหินพวกนี้ไม่มั่นคงเท่าไร เหยียบลงไปมีโอกาสหล่นได้ ซึ่งในกลุ่มเขามีคนช่วยพยุง ๆ กัน หรือบางคนมีไม้เท้าเดินป่าช่วย ยังนึกในใจเขาช่างเตรียมพร้อมดีจริง ๆ

ตรงช่วงนี้เราตัดสินใจเดินย่ำน้ำไป ดีกว่าขึ้นเหยียบหินแล้วพลาด น่ากลัวจะเจ็บตัวกว่ารองเท้าเปียก …เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแต่ละบุคคล ต้องประเมินศักยภาพของตัวเอง กลุ่มที่ไปด้วยกันก็เริ่มกระจัดกระจายแยกย้ายถ่ายรูปกันตามความสนใจ

แวะชมรูปสลักเทพเจ้าท้องถิ่น รูปคาราวานชนเผ่านาบาเทียนผู้เร่ร่อนในทะเลทรายอาหรับที่นอกจากความชำนาญด้านการอาศัยในดินแดนทะเลทรายแล้ว พวกเขายังมีฝีมือสลักหินทราย ทำอาชีพคุ้มครองความปลอดภัยแก่คนเดินทางผ่านทะเลทราย ค้าขายกำยาน ยางไม้หอม เครื่องเทศอาหรับ ทองแดง เหล็ก และเครื่องปั้นดินเผา

ช่วงที่เดินไปจะได้ชมระบบส่งน้ำเข้าตัวเมืองที่พวกเขาทิ้งร่องรอยไว้ ก่อนจะได้พบ The Treasury หมุดหมายที่ทุกคนต้องไป จุดนี้เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ถ่ายรูปยาก แต่ก็ถ่ายนะ เห็นคนอื่น ๆ รีวิวว่า เวลาปกติควรไปช่วงเย็น คนจะน้อย ถ่ายรูปสะดวก แถมแสงสีสวย …ถ้ามีโอกาสต้องกลับไปซ่อมสินะ ^_^

ร้านขายน้ำ เบดูอิน

จาก The Treasury ยังต้องเดินต่ออีกประมาณ 2 กิโลเมตรไปกินอาหารกลางวัน เดินไปถ่ายรูปไปเช่นเคย ริมทางมีชาวเบดูอินตั้งแผงขายของที่ระลึกเป็นระยะๆ บางช่วงมีเตนท์ขายน้ำขายกาแฟ ของกินเล่นด้วย จนกระทั่งไปถึงที่นัดหมายสำหรับมื้อกลางวันที่ Baizin Restaurant ที่อยู่ด้านใน ขอกระซิบว่า ขนม Um Ali ของที่นี่อร่อยจริงจัง ส่วนอาหารคาวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพียงแต่ปกติก็ไม่ถนัดของคาวอยู่แล้ว

เราใช้เวลาอยู่ในร้านอาหารตั้งแต่ 13.00 – 14.30 น. แล้วเริ่มเดินทางย้อนกลับ ซึ่งมีให้เลือกว่าจะเดิน หรือขี่ลา 

ลาตื่นร่ม-คนเกือบหล่น

THE-TREASURY

เราเลือกขี่ลา อยากสัมผัสบรรยากาศหลังลาบ้างว่าจะเป็นอย่างไร

ฝนก็ยังตกอยู่นั่นแหละ

ก่อนขึ้นลาก็ใส่เสื้อกันฝน และสอบถามเจ้าหน้าที่ว่า กางร่มได้ไหม คำตอบคือได้ ก็เลยกางร่มนั่งลาสิคะ

ลา 2 ตัว มีคนจูง 1 คนเป็นชาวเบดูอิน เนื่องจากฝนตก เขาก็ร้องเร่งลาให้เดินไวๆ ฟังเสียง จ๊ะๆ (ถ้าในหนังจีนสังเกตเสียงจะออก ย่าห์ๆ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกันนะ ^_^) อยู่เป็นพัก ๆ

แต่มีจังหวะหนึ่งลมพัดแรง ตีร่มเอียงไปมา ทำเอาลาตกใจ คนนั่งก็เสียกระบวนท่าต้องพยายามประคองตัวอยู่บนหลังลาให้ได้ ผู้คุมลาก็รีบปลอบลา ดึงร่มไปพับเก็บไว้ในกระเป๋าสัมภาระที่แขวนอยู่ข้างๆ ตัวลา และบอกกับเราว่า กางร่มไม่ได้ ลามันกลัว … เกือบไปแล้วไหมล่ะ หล่นลงไปน่าจะเจ็บพอดู เพราะลานี่ตัวสูงพอสมควรเท่ากับม้าตัวย่อมๆ ทีเดียว ตอนจะขึ้นลายังถามเลยว่า ลาแน่หรือ ไม่ใช่ม้านะ

นั่งลาต่อมาอีกนิด ฝนตกแรงขึ้น น้องที่นั่งลาอีกตัวไม่รู้ว่าลากลัวก็กางร่มมั่ง ลมก็ตีอีก ฝ่ายลาก็ตกใจอีก เบดูอินที่คุมลาก็เสียงดังรีบกระชากร่มไปเก็บ บอกเสียงดังอีกครั้งว่า กางร่มไม่ได้ ลากลัว จากนั้นก็เร่งลาให้เร็วขึ้นๆ จนส่งผู้โดยสารถึงที่หมายอย่างใจหายใจคว่ำ … รอดแล้วเรา

อ้อ ตรงนี้เตือนนิดนึงว่า ก่อนออกเดินทางให้สำรวจว่าโกลนที่เหยียบนั้น พอดีกับระดับเท้าสอดเข้าไปหรือไม่ หากสอดได้ข้างเดียว การช่วยทรงตัวจะลำบาก เพราะตัวเอียงไปข้างหนึ่ง ทางเจ้าของลาเขาปรับระดับให้ได้

ผจญภัยที่หนักกว่า

ลงจากลาแล้ว จะต้องเดินต่อไปอีกนิด เพื่อไปขี่ม้าตามแผน

แต่… ไม่ค่ะ คุณไม่ได้สิทธิ์นั้น เพราะทางข้างหน้าน้ำท่วม ไปต่อไม่ได้ ถึงว่า ทำไมระหว่างทางถึงได้เจอเครื่องประดับบ้าง ตะเกียงอาหรับบ้าง ของที่ระลึกที่ชาวเบดูอินวางขาย ร่วงหล่นรายทาง ยังสงสัยว่า ทำไมเขาถึงทิ้งกันอย่างนี้ เหมือนของไม่มีค่า ไม่ได้คิดเรื่องอันตรายใด ๆ เลย

จนกระทั่งมีชายหนุ่มคนหนึ่งเข้ามาบอกว่า เขาจะช่วยให้เดินไปกับเขา

หา! ถึงกับต้องช่วยเลยหรือ

มาเดาเอาทีหลังว่า น่าจะเป็นทีมกู้ภัยของที่นั่น คอยดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว

ชายหนุ่มคนที่ 1 ช่วยอีก 2 คนที่เดินมากับเราไปก่อน เพราะคนหนึ่งไม่ค่อยสบาย แต่พอถึงคิวเรา เขาบอกว่าอันตราย ไปไม่ได้แล้ว ให้รออยู่ตรงนี้ แล้วเขาก็จากไป…

จากนั้นมีน้องผู้หญิงอีกคนเดินมาสมทบตรงจุดที่เรายืน เลยติดค้างกันอยู่ 2 คน มีเวลามากเลยสังเกตเห็นสายน้ำไหลหลากลงมา ยิ่งนานยิ่งไหลแรง น้องคนนั้นปรึกษาว่าจะเดินกลับไปทางร้านอาหาร เราก็บอกว่า ไม่ได้ แถมให้เหตุผลด้วยว่า ธรรมชาติของน้ำจะไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ถ้าเดินกลับไปไม่ปลอดภัยแน่ 

(ช่วงเวลานั้นเหมือนไม่กลัวแต่มาคิดๆย้อนดูตอนนั้นที่พูดไปคงเป็นเพราะการเรียนรู้ในอดีตล้วนๆสมองไม่น่าจะประมวลผลสักเท่าไรและนึกๆดูแล้วโรงเรียนต้องสอนวิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ไม่คาดฝันให้มากๆจนฝังรากในหัวเผื่อเกิดเหตุใดๆจะได้จัดการได้เหมือนกับเด็กหญิงชาวอังกฤษที่สังเกตเหตุการณ์สึนามิแล้วช่วยให้ผู้คนรอดตายนับร้อยชีวิตที่หาดไม้ขาวภูเก็ตบ้านเรา)

จังหวะนั้นก็มอง ๆ หาทางว่า จะปีนขึ้นหินสูง ๆ ประมาณ 3-4 เมตรได้อย่างไร คุณธรรมชาติช่างดีเหลือเกิน ลบเหลี่ยมมุมของหินใหญ่เสียหมดสิ้น ไม่มีตรงที่ใดให้จับ ให้ปีนป่ายเลย …อยากมีวิชาตัวเบาเหลือเกิน เสียดาย มีแต่วิชาตัวหนัก ^_^ แต่ก็คิดแหละว่า หลบตรงนี้น่าจะปลอดภัยพอสมควร เพราะหินใหญ่ก้อนนั้นเป็นแง่กำบังน้ำได้นิดหน่อย แถมด้านหน้ายังมีที่กั้นน้ำ ดูเหมือนจะเป็นโต๊ะเหล็กเตี้ยๆ ยาวๆ คลุมด้วยไวนิล ซึ่งปกติคงเอาไว้วางโชว์ของที่ระลึกที่ชาวเบดูอินขายอยู่รายทาง

หลบภัยในคลังสมบัติฟาโรห์

รออยู่พักใหญ่ น่าจะเป็นสิบ ๆ นาที มีผู้ชายคนที่ 2 พยุงนักท่องเที่ยวหญิงคนหนึ่งมา บอกกับสองเราว่า ยืนอยู่ตรงนี้ไม่ปลอดภัย ให้มากับเขา เขาจะช่วยพาไปเอง เขาส่งผู้หญิงคนนั้นไปแล้ว หันกลับมาพาน้องที่หลบอยู่กับเราไป พอเราชะโงกไปดูก็มีชายหนุ่มคนที่ 3 เดินมาหาแล้วบอกให้เอาแขนพาดไหล่เขาเพื่อพยุงข้ามน้ำ ปรากฏว่า ไปได้ไม่ไกลเท่าไร สภาพเราคงไม่ไหว หรือขาสั้นเกินไปก็ไม่รู้ ^_^ เขาเรียกทีมอีก 2 คนมาช่วย เรียกได้ว่าอุ้มเราส่งต่อ ๆ กันไป จังหวะที่ได้รับการช่วยเหลือเห็นที่พื้นเตรียมเชือกมัดปมไว้หนึ่งเส้น สงสัยไว้ใช้กรณีน้ำแรงขึ้น

ส่งจนพ้นน้ำแล้วให้เดินไปรอที่ The Treasury เหมือน ๆ กับนักท่องเที่ยวชาติต่าง ๆ หลายร้อยชีวิต จากเดิมที่ติดป้าย No Entry ห้ามเข้า แปลงสภาพเป็นที่หลบภัยของนักท่องเที่ยวไปแล้ว

The Treasury หรือ Al Khazneh บางเสียงว่า เป็นวิหารที่ใหญ่ที่สุดในนครเพตรา ระดับความสูงประมาณ 40 เมตร บางเสียงว่า เป็นที่เก็บพระศพของกษัตริย์อาเรตัสที่ 4 ในคริสต์ศตวรรษที่ 1 แต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ Al Khazneh ซึ่งภาษาอาหรับแปลว่า คลัง ตามความเชื่อของชาวเบดูอินว่าเป็นที่เก็บสมบัติ เป็นชื่อที่ได้มาจากตำนานเกี่ยวกับโกศหินตกแต่งสูงบนชั้นสอง ซึ่งเป็นหินทรายแข็ง

แม้จะไม่มีข้อสรุปว่าเป็นสถานที่ทำอะไร แต่ที่เชื่อถือกันมากคือสร้างไว้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา รวมถึงเป็นสุสานฝังศพของผู้ครองเมืองที่เจาะช่องในภูเขาหลายช่อง หลายชั้น แต่เท่าที่มองๆ ดู ไม่เห็นมีโลงอยู่เลย

นครเพตราสูญหายไประยะหนึ่ง กระทั่งถึงยุคกลางได้มีผู้คนเข้ามาเยี่ยมชมซากนคร เช่น สุลต่านไบบารส์ (Sultan Baibars) ของอียิปต์ ที่เดินทางไปเยี่ยมชมช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่การเปิดเผยสู่ชาวโลกเกิดจากนักสำรวจชาวสวิตเซอร์แลนด์ โยฮันน์ ลุควิก บวร์กฮาร์ด เมื่อปี 1812 ที่เดินทางจากจอร์แดนไปอียิปต์เพื่อศึกษาแหล่งต้นกำเนิดแม่น้ำไนล์ ได้เห็น และบันทึกย่อไว้ขณะที่อูฐเดินผ่าน แต่ถูกห้ามไม่ให้ลงไปทำอะไร

กระทั่ง ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การสำรวจทางโบราณคดีได้เริ่มขึ้น จนถึงปัจจุบันการสำรวจยังคงมีต่อไป

รอความช่วยเหลือ

การช่วยเหลือนักท่องเที่ยวจำนวนมากดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รถปิกอัป โฟร์วีล ไดร์ฟ นับสิบคันวิ่งเข้าวิ่งออกระหว่าง Al Khazneh กับ Petra Visitor Center ขนนักท่องเที่ยวออกไป ผ่าน The Siq ที่คับแคบ บางจังหวะเร่งด่วน รถสวนกันต้องหลบหลีกกันอย่างดี

รอบแรกไปไม่ได้ ไม่แน่ใจด้วยเหตุผลอะไร พวกเรากรูขึ้นรถกันแล้ว บนรถเต็มไปด้วยลูกเห็บขนาดประมาณเมล็ดถั่วเขียว แต่เจ้าหน้าที่ให้ลง และรอก่อน ให้เข้าไปหลบใน Al Khazneh ที่หวงห้ามแต่เดิม พร้อมคำสัญญาไม่ต้องกังวล เราจะช่วยให้พวกคุณปลอดภัยแน่นอน วันนี้นอกจากฝนกระหน่ำ อากาศเย็นจัด ลูกเห็บตกตลอดเวลา มีบางคนเห็นหิมะด้วย แต่เราได้เห็นวันรุ่งขึ้น

ในที่สุดที่ได้ขึ้นรถ บรรยากาศบนโฟร์วีล นักท่องเที่ยวแม้จะต่างชาติต่างภาษาต่างมีน้ำใจเอื้อเฟื้อ คันที่เรานั่งเป็นรถสี่ประตูมีต่างชาตินั่งซ้อนตักกันทั้งที่นั่งข้างคนขับและด้านหลัง และมีน้องรูมเมตในทริปนี้นั่งอยู่ก่อนแล้วเรียกเรา เจ้าหน้าที่ที่ดูแลการขึ้นรถน่าจะเห็นว่ารู้จักกัน เลยเรียกเราเข้าไปนั่งซ้อนตักน้องด้วย ส่วนคนอื่นๆ ปีนขึ้นกระบะหลัง

ผ่านพ้นวิกฤติ เดินกลับโรงแรมที่พักประมาณบ่าย 3 และมีแผนยกเลิกการเดินไปชม Petra Night คืนนี้ กะว่า จะไม่กินข้าวเย็น จะอาบน้ำ สระผม ตากผ้าที่เปียก เลือกเสื้อผ้าบางชิ้นที่สภาพเกินเยียวยาทิ้ง แล้วพักผ่อนนอนยาว แต่ก็นะ พอถึงเวลาจริงก็หิว ทำไงได้ ไปกินสิคะ ^_^

ทุกคนกลับถึงที่พักอย่างปลอดภัย มีเพื่อนร่วมทริปที่วางแผนจะเดินกลับ เล่าให้ฟังว่า พอรู้ว่าไปข้างหน้าไม่ได้ มีเจ้าหน้าที่แนะนำให้ปีนขึ้นไปหลบบนอุทยาน แล้วจะมีรถมารับ กลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไปหลบบนอุทยานก็มีหลายร้อยคน รวมๆ แล้วผู้ลี้ภัยน่าจะหลักหลายร้อยถึงพันคน แต่ไม่น่าถึง 1,700 คนตามที่เป็นข่าว ตัวเลขนั้นอาจเป็นยอดผู้ซื้อตั๋วเข้าชมนครโบราณที่ซ่อนตัวมานับพันปีในวันนั้น

รายละเอียดที่ว่า ในเพตรามีอะไรบ้าง หลุมศพ สุสานของราชวงศ์นาบาเทียนอยู่ตรงไหนบ้าง อัฒจันทร์โรมันที่จุผู้ชมได้ 3,000 – 4,000 คนเป็นอย่างไร ลองหาดูจากที่ต่างๆ นะคะ เล่าเยอะเดี๋ยวยาวไปจะเบื่อกันก่อน

แต่อยากปาหัวใจรั วๆ ให้ทีมช่วยเหลือที่จอร์แดน และความเอาใจใส่ของเพื่อนร่วมทริป ตลอดจนการจัดการ ความเป็นห่วงเป็นใยของทีม KTC ที่พาพวกเราไปเปิดประสบการณ์ดีๆ ครั้งนี้จริงๆ

แปะลิงก์ข่าวจากสำนักต่าง ๆ มาให้คลิกดูเล่นๆ จะได้สัมผัสบรรยากาศและความแรงของน้ำ

บทความอื่น ๆ ของผู้เขียน

มนตร์เสน่ห์ ทะเลทราย [จอร์แดนซีรีส์]

เคทีซี ชูธง “A TRANSITION TO THE NEW FOUNDATION” ปั้นผู้บริหารรุ่นใหม่ รับเปลี่ยนแปลง-ดันกำไรนิวไฮต่อ- 3 ปี พุ่งหมื่นล้าน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ