TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyGenerative AI ความชาญฉลาดที่มาพร้อมกับความเสี่ยง

Generative AI ความชาญฉลาดที่มาพร้อมกับความเสี่ยง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในช่วงปี 2566 ที่ผ่านมานี้คงไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถสร้างกระแสและสร้างความน่าตื่นตาตื่นใจได้เท่ากับเทคโนโลยี Generative AI และด้วยการเกิดขึ้นของเครื่องมือ AI เชิงสร้างสรรค์ที่กลายเป็น AI Viral เมื่อปลายปี 2565 อย่าง ChatGPT ส่งผลให้บริษัทด้านเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ และสตาร์ตอัพต่างเปิดตัว AI เพื่อแข่งขันกันอย่างดุเดือด จนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าขีดความสามารถของ AI จะพัฒนาต่อไปอย่างไร เมื่อความเก่งกาจของ AI ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกจนกลายเป็นดาวเด่นของวงการเทคโนโลยี

วันนี้ OPEN-TEC ได้หยิบยกส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาที่ให้เกียรติมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับ Generative AI ในรายการ open talk มาแบ่งปัน หากใครไม่อยากตกขบวนแล้วละก็ต้องรีบศึกษาไว้เลย

Generative AI คืออะไร

Generative AI หรือ Generative Artificial Intelligence (GenAI) เป็นอีกแขนงหนึ่งของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้เกิดเป็นผลลัพธ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนภายใต้ข้อมูลที่มีอยู่ได้อย่างหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นตัวอักษรที่เป็นข้อความโดยใช้การประมวลผลและตอบคำถาม รูปภาพ วิดีโอ เสียง โมเดลสามมิติ งานออกแบบดีไซน์ และอื่นๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้งานได้ในหลายด้าน เช่น ศิลปะ การออกแบบ การผลิตหนังสือ และโฆษณา รวมถึงสามารถนำไปใช้ในงานวิจัยและการทำนายผลในอนาคต

ยกตัวอย่าง Generative AI ที่เห็นได้ชัดอย่างเช่น ChatGPT AI Chatbot ที่ทั้งโลกกำลังจับตามองด้วยความอัจฉริยะด้านภาษา มีการโต้ตอบเสมือนพูดคุยกับคนอย่างเป็นธรรมชาติ เพียงแค่พิมพ์สิ่งที่ต้องการลงไปในระบบ จากนั้น Generative AI ใน ChatGPT จะทำงานโดยการประมวลผลจากข้อมูลที่มีอยู่มาสร้างสรรค์เป็นคำตอบให้ได้เลยทันที หรือ DALL-E AI Text-to-image ที่มีความสามารถที่น่าทึ่งในการสร้างรูปภาพจากข้อความคำสั่งและประมวลผลออกมาเป็นรูปภาพ โดยรูปนั้นเป็นผลงานชิ้นใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเอง

เหรียญมีสองด้านเสมอ เพราะความชาญฉลาดมักมาพร้อมกับความเสี่ยง

อย่างที่ทราบกันดีว่ากระแส Generative AI กำลังเป็นที่แพร่หลาย ด้วยความชาญฉลาดและความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ Generative AI โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ChatGPT AI Chatbot ที่สามารถตอบคำถามได้อย่างเป็นธรรมชาติและลื่นไหล กลายเป็นเพื่อนคู่คิดของมนุษย์ที่ช่วยรังสรรค์สิ่งต่างๆ รวมถึงอำนวยความสะดวกและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่ใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ในการลดขั้นตอนการหาข้อมูลเพื่อศึกษาข้อมูลสำหรับการเรียนรู้ ไปจนถึงพนักงานแทบทุกตำแหน่งและทุกระดับงานในองค์กรต่างหันมาใช้ประโยชน์จาก ChatGPT เพื่อประหยัดเวลาในการทำงานกันทั้งสิ้น ดังนั้นถึงแม้ว่าความสามารถของ Generative AI จะน่าประทับใจ แต่ก็ทำให้ธุรกิจและเหล่าผู้ใช้งานเริ่มตระหนักถึงข้อจำกัดหรือเกิดความกังวลเกี่ยวกับจริยธรรมของการใช้เทคโนโลยี Generative AI

โดย ดร.พิณนรี ธีร์มกร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการจัดการ Sasin School of Management, Head of Artificial Intelligence – Ignite Innovation Lab และ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัทอินเตอร์ ดาต้า รีคัฟเวอรี จำกัด ได้กล่าวไว้ในรายการ open talk EP.36 : AI: trend, skill and future ว่า “AI จะดีหรือไม่ดีนั้นขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ เปรียบเสมือนกับมีด อยู่ที่ว่าเราจะนำไปสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ทำชีวิตให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น นำไปช่วยเพิ่มโอกาสให้กับคนด้อยโอกาส หรือ นำไปใช้ในทางที่ผิด ดังนั้นเรื่องของการอบรมด้านจริยธรรมในการนำ AI ไปใช้จึงสำคัญมาก”

นอกจากนี้ ดร. ศักดิ์ เสกขุนทด” ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิด้าน Digital Transformation สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายการ open talk EP.40 : Generative AI: โอกาสและความท้าทาย ว่า “สิ่งที่น่ากลัวของ Generative AI คือผลลัพธ์ หรือ Output ที่ได้ เพราะเหมือนมนุษย์มาก เราแทบแยกไม่ออกเลยว่าคือมนุษย์หรือ AI ที่เป็นคนทำขึ้นมา ซึ่งสิ่งนี้อาจเป็นประเด็นหนึ่งที่จะเกิดปัญหาในอนาคตได้ เพราะฉะนั้นถามว่าประโยชน์มีไหมมีมโหฬาร ถามว่าความเสี่ยงมีไหมไม่น้อยเลยทีเดียว ดังนั้นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้จากการใช้ Generative AI เหล่านี้คือ ต้องรู้ว่าจะใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และในขณะเดียวกันลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดพลาดของข้อมูลด้วย นี่คือข้อพึงระวังที่เราควรมี”

การใช้งานเทคโนโลยีทุกประเภทก็เหมือน “ดาบสองคม” ที่ควรศึกษาทั้งผลดี ผลเสียก่อนใช้งาน และถึงแม้ Generative AI จะเป็นเทคโนโลยีที่น่าทึ่งแต่ยังมีข้อจำกัดสำคัญคือ Generative AI นั้นอาจมีข้อผิดพลาดในเรื่องของการให้ข้อมูลในบางเรื่อง นั่นเป็นเพราะข้อมูลพื้นฐานที่ AI เรียนรู้มาจากข้อมูลมหาศาลที่อยู่ในโลกออนไลน์ที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ที่อาจจะมีข้อมูลถูกต้องและมีข้อมูลที่บิดเบือน ข้อมูลที่ไม่มีการอัพเดต ข้อมูลที่มีอคติทางสังคมรวมอยู่ในนั้นด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมและความรับผิดชอบในการพัฒนา Generative AI เพื่อให้การนำมาใช้งานเป็นไปอย่างระมัดระวังและมีประสิทธิภาพสูงสุดโดยไม่กระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต

แม้จะมีข้อจำกัดอยู่ แต่ด้วยความสามารถทั้งหมดของ Generative AI ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายๆ คนเห็นตรงกันว่าเทคโนโลยี Generative AI เป็นเทคโนโลยีแห่งปีที่อาจเป็นอีกครั้งที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตมนุษย์และโฉมหน้าของโลกใบนี้ไปอย่างสิ้นเชิง

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

ข้อสรุปเรื่อง AI โดย ‘กระทิง เรืองโรจน์ พูนผล’ จากเวที World Economic Forum 2024

ทิศทาง Climate Tech กับบทบาท AI ต่อการรับมือภาวะโลกร้อน

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ