TH | EN
TH | EN
หน้าแรกTechnologyAIS ผนึกวิศวะ จุฬาฯ เปิดตัว 5G Playground & Garage ตั้งเป้าสร้าง "คน" ยุคดิจิทัล ยกระดับนวัตกรรมประเทศไทย

AIS ผนึกวิศวะ จุฬาฯ เปิดตัว 5G Playground & Garage ตั้งเป้าสร้าง “คน” ยุคดิจิทัล ยกระดับนวัตกรรมประเทศไทย

เพราะเชื่อว่าศักยภาพของ 5G จะเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส หรือ AIS จึงผนึกกำลังกับทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัว AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE ซึ่งจะเป็นพื้นที่ทดลองการประยุกต์ใช้งานเครือข่าย 5G สำหรับส่วนของการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สามารถต่อยอดไปสู่การใช้งานในชีวิตประจำวันได้ในที่สุด

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวถึง AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE ในครั้งนี้ว่า เป็นการต่อยอดจากโครงการที่ AIS จับมือเป็นพันธมิตรกับทางคณะวิศวะ จุฬา เพื่อทดสอบ 5G มาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และเป็นความร่วมมือในการเปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมให้แก่นิสิต นักศึกษา นักพัฒนา รวมถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงของเทคโนโลยี Digital ของไทย ได้มีโอกาสลงมือทดลอง ทดสอบ เพื่อพัฒนาไอเดียด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI,ML, VR, AR, MR, IoT, Metaverse, Robotic และอื่น ๆ บนเครือข่าย 5G

การเปิดตัวศูนย์วิจัยและพัฒนา 5G ที่อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา แห่งนี้ ถือเป็นแห่งแรกของสถาบันการศึกษาในเมืองไทย โดยมีการติดตั้ง LIVE Private Network ด้วยสถานีฐาน 5G กับ 2 คลื่นความถี่ 2600 MHzและ 26 GHz (mmWave) ซึ่งจะให้สัญญาณ 5G ไว้ใช้งานสำหรับการทดลองทดสอบเพื่อดูความเป็นไปได้ ก่อนที่จะนำไปขยายผลใช้งานในชีวิตจริง

“แนวคิดของ playgroud ก็คือพื้นที่ให้ได้ลองเล่นและเรียนรู้ขีดความสามารถของ 5G ในขณะที่ในส่วนของ Garage ก็คือโรงรถสำหรับเอาแนวคิดหรือไอเดียมาลงมือทำให้เกิดเป็นรูปเป็นร่าง โดยเอา 5G ไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา โดย use cases ที่เกิดขึ้นจากโรงรถแห่งนี้ส่วนใหญ่จะตอบโจทย์การใช้งานของคนเมืองเป็นหลัก” วสิษฐ์กล่าว

ทั้งนี้ ตัว AIS Playground นี้ มีเปิดให้บริการในหลายสถาบันการศึกษาของไทยแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒน์ประสานมิตร แต่สำหรับ AIS Garage นี้ ที่วิศวะ จุฬาฯ ถือเป็นแห่งแรก โดย AIS มีแผนที่จะพัฒนา ขยาย Garage ไปยังสถาบันการศึกษาทั่วประเทศไทยต่อไป โดยที่ Garage ในแต่ละแห่งก็จะมีจุดเด่นในการพัฒนานวัตกรรมใน use case ที่แตกต่างกันออกไป

สำหรับที่มาของโครงการ  AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE นี้เกิดจากแนวคิดที่ AIS ตระหนักว่า แม้วันนี้ประเทศไทยจะมีบริการ 5G เชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2563 และเป็นรายแรกที่เปิดให้บริการด้วยการมีคลื่นความถี่มากที่สุดคือ 1420 MHz แต่ประโยชน์ของ 5G ยังจะต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อยกระดับภาคอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชน โดยเฉพาะในส่วนของ Digital Transformation ที่จะพลิกโฉม Business Model ของทุกภาคส่วนให้พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจาก Digital Disruption และการเกิดขึ้นของโควิด ดังนั้นการทำงานร่วมกับภาคการศึกษา เพื่อค้นคว้า วิจัย ทดลอง ทดสอบ จึงเป็นสิ่งที่ AIS ให้ความสำคัญเสมอ

“การติดตั้งสถานีฐาน 5G ที่เลือกเอาคลื่น 2600 MHz และ คลื่น 26 GHz (mmWave) เพราะคลื่นความถี่ดังกล่าว เหมาะกับการพัฒนา Use case ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Industrial solutions, Holograms Solutions หรือ Fixed Wireless Access-FWA   เพราะช่วงความถี่อย่าง 26 GHz มีปริมาณ Bandwidth มหาศาลและความหน่วงต่ำมาก (Low Latency)” วสิษฐ์กล่าว

ในส่วนของบทบาทของ AIS คือ การสนับสนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณอย่าง 5G CPE, องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G, พร้อมทั้งการสัมมนา workshop จาก Guest Speaker หลากหลายวงการ เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิค ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill รวมไปถึงการเชิญชวนร่วม Co-Develop บริการต้นแบบบน 5G ต่อไป

“AIS ไม่ได้มองโครงการนี้ในแง่ของโอกาสทางธุรกิจ เพียงแต่เล็งเห็นว่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ไทยพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมในยุคเปลี่ยนผ่านดิจิทัลได้ทันและได้เร็ว ส่วนตัวเชื่อว่า ไทยมีศักยภาพที่จะก้าวเป็นประเทศชั้นนำและศูนย์ของภูมิภาคในด้านเทคโนโลยีต่อไปได้ในอนาคต” วสิษฐ์ ย้ำ

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคมทำให้จุฬาฯ ตระหนักได้ว่า การเรียนการสอนในแบบที่เข้ามานั่งฟังบรรยาย 3 ชั่วโมงไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ผู้เรียนจะเป็นต้องเป็นผู้ที่ได้คิด และมีโอกาสทดลองลงมือทำ พร้อมรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริงในสนาม ดังนั้น การร่วมมือกับภาคเอกชนและเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ลงมือทำ จึงเป็นหนทางในการสร้าง “คน” คุณภาพที่จะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดงานในศตวรรษที่ 21 มากที่สุด

ดังนั้น การมีสถานที่ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเสมือนจริงอย่าง AIS 5G Playground และ 5G Garage ที่มีความครอบคลุมของคลื่นความถี่ของ 5G แบบ LIVE Network จึงถือว่าตอบโจทย์และสามารถส่งเสริมให้นิสิต และ คณาจารย์ ได้ใช้เป็นแหล่งทำงานวิจัย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox ได้อย่างดี ที่สำคัญถือเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีจากเราและภาคปฏิบัติที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจริงของ AIS ที่จะมาช่วยเสริมทักษะให้แก่นิสิตและคณาจารย์ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทย ผ่าน 5G ได้อย่างตอบโจทย์ที่สุดต่อไป

“เป้าหมายการใช้สอย AIS 5G Playground และ 5G Garage แบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน ระดับแรกคือเป็นพื้นที่ให้ความรู้แก่นักศึกษาทั้งในและนอกคณะวิศวะ รวมถึงบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับ 5G โดยตั้งใจจะจัดเวิร์คชอปประมาณ 2 เดือนครั้ง ระดับที่ 2 คือให้นักศึกษาสาขาวิชาต่างๆ ในวิศวะมาทำงานตามที่อาจารย์มอบหมาย และระดับที่ 3 คือการเป็นห้องทดลองวิจัย ทดสอบระบบที่คิดค้นขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าเป็น use case ที่ใช้งานได้จริง เหมาะสมกับบริบทแวดล้อม โดยที่สามารถจำกัดความเสียหายและความผิดพลาดต่างๆ ได้ ก่อนนำไปขยายต่อยอดใช้งานจริง” คณบดีวิศวะ จุฬาฯ กล่าว

ดร.สุพจน์ กล่าวอีกว่า การศึกษาที่ดีต้องผนวกคนที่มีความรู้ และงานวิจัยเข้ากับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอย่างภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การใช้งานจริง โดยจุฬาฯ มองตัวเองเป็นแพลตฟอร์มและยอมรับว่าสถาบันไม่ได้เก่งกาจที่สุด ดังนั้นจึงต้องเปิดเอาผู้รู้จริงในสนามเข้ามาเพื่อช่วยกันสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศ รวมถึง สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) สำหรับบุคคลทั่วไป นิสิต นักศึกษา และหน่วยงานที่สนใจ

โชว์ ‘WALKIE’ หุ่นยนต์บริการในครัวเรือน

หุ่นยนต์ WALKIE

ด้าน กฤชวิชช์ ทิพยจินดากุล นักศึกษาปีที่ 3 ภาควิชา Information Communication Engineering หนึ่งในทีมนักพัฒนา หุ่นยนต์ WALKIE ซึ่งหุ่นยนต์บริการในครัวเรือน หรือ Domestic service robot  ที่สามารถทำงานบ้าน และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อาศัยภายในบ้านได้ กล่าวว่า AIS Playground และ Garage มีส่วนช่วยในการพัฒนาหุ่นยนต์ของทีมอย่างมาก เพราะตัวหุ่นยนต์มีการติดตั้งปัญญาประดิษฐ์ (AI) อัจฉริยะที่ทำให้รู้ตำแหน่งของสิ่งของต่าง ๆ และหุ่นสามารถเดินไปที่บริเวณห้องที่มีสิ่งของเหล่านั้นได้อัตโนมัติ พร้อมโต้ตอบได้แบบ Real Time ซึ่งต้องใช้ศักยภาพของ 5G ในการทำงานที่่ช่วยให้การประมวลผลข้อมูล และการส่งผ่านข้อมูลเป็นไปอย่างราบรื่น และรวดเร็ว 

กฤชวิชช์กล่าวด้วยความภูมิใจว่า หุ่นยนต์ WALKIE เป็นนวัตกรรมของชมรมหุ่นยนต์แห่งวิศวฯ จุฬาฯ (EIC Chula) ที่สามารถคว้ารางวัลอันดับที่ 2 ของโลกมาได้ในรายการ RoboCup@Home Open Platform League และมีแผนที่จะพัฒนาเพื่อนำไปแข่งขันที่ฝรั่งเศสในปีหน้า

นอกจาก หุ่นยนต์ WALKIE  ที่เป็น Use Case ที่นำมาจัดแสดงในงานแล้ว ยังมี หุ่นยนต์ไข่มุก ซึ่งเป็นหุ่นยนต์Home Healthcare ที่มีการใช้งานหลากหลายด้าน TeleHealth, หุ่นยนต์ Rehab ที่ช่วยในการฝึกทำกายภาพและเก็บข้อมูลเพื่อดูพัฒนาการ, Autonomous Shuttle Bus รถรับส่งผู้โดยสารไร้คนขับ, IntaniaVerse เมตาเวิร์สเพื่อการศึกษาและบำบัดผู้สูงวัยด้วยแอปพลิเคชันโลกเสมือนจริง

“การที่ภาคการศึกษา ให้ความสำคัญกับการฝึกฝน สร้างทักษะเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะ 5G คือเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อของ IoT และ ทำให้เครือข่ายตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด  ดังนั้นการศึกษาให้มากที่สุดย่อมทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวคิดจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่ง AIS พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่” วสิษฐ์กล่าวปิดท้าย

ข่าวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ

อีวีและพลังงานสะอาด 2 จิ๊กซอว์สำคัญสู่ การเคลื่อนที่แบบไร้รอยต่อ (SEAMLESS MOBILITY)

THAI STARTUP ร่วมกับ กทม. ดึง 6 สตาร์ตอัพ เปลี่ยนกรุงเทพฯ เป็นเมืองนวัตกรรม

STAY CONNECTED

0แฟนคลับชอบ
440ผู้ติดตามติดตาม
spot_img

Lastest News

MUST READ